พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตรากฎหมายคณะสงฆ์ที่เรียกว่า กฎพระสงฆ์ ขึ้นในระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๓๔๔ รวม ๑๐ ฉบับ ดังที่ปรากฎอยู่ในกฎหมายตราสามดวง แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นกฎหมายคณะสงฆ์ชุดแรก ที่ปรากฎหลักฐานอยู่ถึงปัจจุบัน
ในการตรากฎหมายคณะสงฆ์โดยส่วนรวม ทรงมีพระราชประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์และสามเณร ประพฤติปฏิบัติตนเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ให้พระราชาคณะ เจ้าอธิการ และเจ้าหน้าที่สังฆการี ทำการกำกับดูแลและลงโทษผู้ที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย ตามสมควรแก่โทษหนักเบา ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ รวมทั้งที่ทรงตราไว้ในกฎพระสงฆ์นี้ด้วย นอกจากนั้น ในแต่ละฉบับจะทรงปรารภเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะกรณี ๆ ไป อันเป็นสาเหตุให้ต้องตรากฎพระสงฆ์ฉบับนั้น ๆ ขึ้นมา
การที่มีกฎพระสงฆ์ขึ้นมานี้ สะท้อนให้เห็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น โดยเริ่มจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เกิดสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ประชาชนพลเมืองเกิดความระส่ำระส่ายไปทั่ว ภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก ประพฤติปฏิบัติย่อหย่อนในพระธรรมวินัย บรรดาพระราชาคณะ พระอุปัชฌาย์อาจารย์ และเจ้าอาวาสปล่อยปละละเลย ไม่ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ การคณะสงฆ์จึงตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของประชาชนเช่นที่เคยเป็นมาในสมัยก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ในฐานะที่เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก จึงทรงเร่งรับฟื้นฟูสถานภาพของพระพุทธศาสนาไปพร้อม ๆ กันกับที่ทรงเร่งรีบฟื้นฟูสภาพของบ้านเมือง ให้พ้นจากจุดวิกฤติโดยเร็วที่สุด
กฎพระสงฆ์ที่ทรงตราขึ้นมามีอยู่ ๑๐ ฉบับ เนื้อหาสาระของแต่ละฉบับ จะประกอบด้วยข้อความที่ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละเรื่อง ว่าผิดพระธรรมวินัยข้อใด ทำให้พระศาสนาเสื่อมเสียอย่างไร แล้วทรงมีพระบรมราชโองการ ห้ามมิให้ทำเช่นนั้นอีกต่อไป พร้อมทั้งกำหนดโทษทางบ้านเมือง เพิ่มจากโทษทางพระธรรมวินัยอีกส่วนหนึ่ง สาระสำคัญของกฎพระสงฆ์แต่ละฉบับ ดังนี้
กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๑
๑. กฎให้ไว้แก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือน ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ขอเฝ้าจ้าวต่างกรมๆ พระราชวังบวรสถานมงคล ผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการ แลสังฆการีธรรมการ ราชาคณะ พระสงฆเจ้า อธิการ อนุจร ฝ่ายคันทธุระ วิปัสนาธุระ อรัญวาสี คามวาสี นอกกรุง ในกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา แลหัวเมืองเอก เมืองโท เมืองตรี เมืองจัตวา ตะวันตก ตะวันออก ปากใต้ ฝ่ายเหนือ จงทั่ว
จึงพระบาทสมเด็จพระบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทุกวันนี้มีพระราชปณิธานปรารถนาพระโพธิญาณ ..... เป็นเอกอัครมหาสาสะนูปถัมภก พระพุทธศาสนา..... เสด็จออก ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทโดยบูรพาภิมุข พร้อมด้วย อัครมหามนตรี กวีชาติ ราชปุโลหิต โหรา ราชบัณฑิตยเฝ้าพระบาทบงกชมาศ ทรงพระราชวิจารนุญาณรำพึงถึง พระปริยัติศาสนา พระไตรปิฎกนี้เป็นต้น ปฏิบัติมรรคผล ให้ได้โลกียสมบัติ โลกุตรสมบัติ เพราะพระไตรปิฎก จึงมีพระราชโองการ ฯ ดำรัสว่า
โดยต่ำแต่ให้มีพระธรรมเทศนา แลสำแดงพระธรรมเทศนาให้ธรรมเป็นทานนั้น มีผลประเสริฐกว่า สรรพทานทั้งปวง ชื่อว่าให้พระนิพพานเป็นทาน..... เหตุฉะนี้จึงทรงพระกรุณา แสวงหาอุบายที่จะให้สมณพราหมณ์ เสนาบดี ประชาราษฎรทั้งปวง ให้ได้สมบัติทั้งสามประการ พ้นจากจตุราบายทุกข์ แลสงสารภัย จึงทรงพระอนุเคราะห์ให้ข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย สมาทานพระไตรสรณาคมน์ ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ในสำนักพระสงฆ์ทุกวัน ทุกเพลาเป็นปฏิบัติบูชา กองมหากุศลวิเศษ ประเสริฐกว่า อามิสบูชา จตุปัจจัยทาน..... แลพระปริยัติไตรปิฎกธรรมนี้ เมื่อบุคคลประพฤติเป็นสัมมาคารวะแล้ว ก็มีผลอันนับประมาณมิได้.....
แลทุกวันนี้อาณาประชาฎรทั้งปวงลางบาง ให้มีพระมหาเวสสันดรชาดกนี้มิได้มีความสังเวชเลื่อมใส เป็นธรรมคารวะ ฟังเอาแต่ถ้อยคำตลกคะนอง อันหาผลประโยชน์มิได้ พระสงฆ์ผู้แสดงนั้นบางจำพวกมิได้เล่าเรียนพระไตรปิฎก ได้แต่เนื้อความแปลร้อยเป็นกาพย์กลอน แล้วก็มาสำแดงเป็นถ้อยคำตลกคะนอง หยาบช้า เห็นแต่ลาภสัการเลี้ยงชีวิต มิได้คิดที่จะร่ำเรียนสืบไป ทำให้พระศาสนาฟั่นเฟือนเสื่อมสูญ ชวนกันประมาทในพระธรรมเทศนา.....
ครั้งนี้ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า ให้สมเด็จพระสังฆราช ราชาคณะ พระสงฆ์ฝ่ายปริยัติ นักปราชญ์ราชบัณฑิตย ให้พิจารณาค้นดูพระไตรปิฎกนั้น ก็พบเห็นบทว่า ผู้สำแดง แลผู้ฟังธรรมอันประมาท กล่าวถ้อยคำตลกคะนอง เอาธรรมนั้นมากล่าวเป็นอธรรม โทษนั้นเป็นครุโทษอันใหญ่หลวง..... เหตุฉะนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งว่า
แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ให้พระสงฆ์ผู้สำแดงพระธรรมเทศนา และราษฎรผู้จะฟังพระมหาชาติชาดกนั้น สำแดง แลฟังแต่ตามวาระพระบาลี แลอรรถกถา ฎีกา ให้บริบูรณ์ด้วยผลอานิสงค์นั้น ก็จะได้พบสมเด็จพระศรีอารยิเมตไตรในอนาคต.....
และให้พระภิกษุสงฆ์ เถร เณรฝ่ายคันถธุระ วิปัสนาธุระ แลอาณาประชาราษฎรทั้งปวง ประพฤติตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้จงทุกประการ ถ้า..... ผู้ใดมิได้ประพฤติตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้ จะเอาตัวผู้มิได้กระทำตามกฎ แลญาติโยมพระสงฆ์ เถร เณรรูปนั้นเป็นโทษตามโทษานุโทษ
กฎให้ไว้ ณ วันเสาร์ เดือนสิบ ขึ้นสิบห้าค่ำ จุลศักราชพันร้อยสี่สิบสี่ ( พ.ศ. ๒๓๒๕ ) ปีขาล จัตวาศก
กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๒
๒. กฎให้ไว้แก่สังฆการีธรรมการ.....
ด้วยสมเด็จพระบรมบพิตร ฯ..... มีพระราชโองการ ฯ สั่งว่า
มีพระราชอุตสาหะ มิได้คิดแก่พระกายแลพระชนม์ชีพ จนได้สิริราชสมบัติ ทั้งนี้ด้วยตั้งพระทัยจะบำรุง พระบวรพุทธศาสนาตามพุทธฎีกาว่า พระปาติโมกข์สังวรวินัยนี้ชื่อว่าพระศาสนา ถ้าพระภิกษุยังทรงประปาติโมกข์บริบูรณ์อยู่ตราบใด ชื่อว่าพระศาสนายังตั้งอยู่ ณ ตราบนั้น เหตุฉะนี้จึงทรงพระราชศรัทธา บริจาคพระราชทรัพย์เป็นอันมาก เป็นจตุปัจจัยทานถวายพระสงฆ์ แลมีพระราชโอวาทานุศาสนตักเตือน เพื่อจะให้พระสงฆ์ทั้งปวง ในกรุงนอกกรุงเทพมหานคร และนานาประเทศ ให้ทรงพระปาติโมกขสังวรณ์ศีลบริสุทธิ์ ให้เป็นเนื้อนาบุญแก่สัตว์โลก..... ฝ่ายฆราวาสแต่ก่อนก็มีศรัทธา มิได้กระทำให้เป็นเสน่หาอาลัย ทำให้เจ้ากูเสียศีลสิกขาบทบริสุทธิ์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย พระศาสนาก็รุ่งเรืองสืบมา
แลภิกษุสงฆ์ทุกวันนี้ตั้งอยู่ในภูมิอันประเสริฐแล้ว มิได้รักษาประปาติโมกข์ตามอริยวงศ์ประเพณี ปฏิบัติเข้าระคนคบหาฆราวาส ติดด้วยเบญจกามคุณ มิได้เห็นแก่พระศาสนา เห็นแก่หน้าบุคคล รับฝากเงินทองของฆราวาส ฆราวาสมิได้คิดแก่พระศาสนา เข้าเป็นญาติโยมปฏิบัติด้วยเสน่หาอาลัย ให้กะปิจังหันแก่ภิกษุโดยคุณปัติคุณแก่กัน ให้เสียศีลสิกขาบทไป ดุจหนึ่งสมีรักวัดบางหว้าใหญ่ รับเข้าของเงินทองของอี่เพงไว้เป็นอันมาก อี่เพงเป็นกบฎโทษถึงตาย สิ่งของอี่เพงเป็นของหลวงตามบทพระไอยการ ราชอาณาจักรสืบมาโดยโบราณราชประเพณี เนื้อความทั้งนี้ก็ปรากฏทั่วพระนครแขวงจังหวัด ถ้าสมีรักรักสิกขาบทจริง ก็จะขวนขวายเอาของฝากนั้น มาแจ้งแก่สมเด็จพระสังฆราช และราชาคณะผู้ใหญ่ทั้งปวง ให้ปรึกษาตามบทพระวินัยว่า ทรัพย์นี้เป็นของของหลวง หรือยังเป็นของอี่เพงอยู่ จึงควรแก่สมณ นี่สมีรักปิดบังไว้ มิได้ให้ราชาคณะทั้งปวงรู้ อนึ่งก็ได้โปรดให้ป่าวร้องเป็นหลายครั้ง สมีรักก็มิได้บอกแก่ผู้ใด ต่อไอ้มีชื่อให้การออกว่าของอี่เพงฝากไว้แก่สมีรักเป็นอันมาก จนตรัสใช้ให้ราชบุรุษมา สมีรักจึงสำแดงแก่ราชบุรุษ..... ฉะนี้ก็เห็นในสมีรักว่าสมีรักองอาจหยาบช้า หาอาลัยต่อสิกขาบทไม่หลายครั้งมาแล้ว เกลือกสมีรักแกล้งบังเอาของของเขาไว้ เจ้าของขาดอาลัยก็จะขาดสิกขาบทอยู่ก่อนแล้ว หากแต่สมีรัก กลัวภัยในปัจจุบันกว่ากลัวภัยในอนาคต จึงสู้สบถสาบาน ให้การต่อพระราชาคณะ พระราชาคณะพิพากษาว่าต้องแต่อาบัติปาจิตตีย์ สมีรักเป็นโลกีย์มีภยาคติ ยังกลัวความตายอยู่ จะเชื่อเอาสบถสาบานสมีรักนั้นไม่ได้ ก็เห็นว่าสมีรักยังหาปราศจากมลทินโทษไม่ โดยกระแสทางการพิจารณา เห็นเนื้อความใหญ่ทั้งสองข้อ ฝ่ายพุทธจักราณาจักร เป็นปัจจัยถึงกันติดพันสมีรักอยู่ แต่หากทรงพระกรุณาว่า ยังหามีพระราชกำหนดกฎหมายไม่ จึงงดโทษสมีรักไว้
แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า อย่าให้ภิกษุสามเณรดูเยี่ยงอย่างสมีรัก ห้ามอย่าให้ภิกษุสามเณรดูเยี่ยงอย่างสมีรัก ห้ามอย่าให้ภิกษุสามเณรทั้งปวงรับของฝากฆราวาส จะเสียพระวินัยพระศาสนาไป ถ้าภิกษุไม่รับฝาก ห้ามปรามผู้ฝาก ผู้ฝากมิพัง กลัวภัยขืนทิ้งไว้ที่กุฏิ..... เร่งเอาเพื่อนพรหมจรรย์ที่ใกล้กันให้หลายองค์รู้เห็นเป็นพยาน..... พาสงฆ์ซึ่งรู้เห็นนั้นไปแจ้งเนื้อความ และสิ่งของแก่พระราชาคณะเจ้าอธิการ พระราชาคณะเจ้าอธิการจงประชุมนุมกันปรึกษาจงละเอียด ให้ต้องตามพระวินัยบัญญัติ.... ถ้าพระสงฆ์ราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยจะปรึกษาประการใด จงประพฤติตาม ให้สงฆ์เป็นอันมากรู้เห็นเป็นพยานไว้..... อย่าให้ผู้อื่นแคลงในพระพุทธศาสนา แลห้ามฝ่ายฆราวาส อย่าให้เอาของเงินของทองไปฝากภิกษุสามเณรไว้ ทำให้เจ้ากูเสียวินัยสิกขาบทเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าผู้ใดมิได้กระทำตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้ ฝ่ายภิกษุสามเณรจะลงพระอาชญาโทษดุจโทษ อทินนาทานปาราชิก จะสึกออกขับเฆี่ยนจงสาหัส ฝ่ายฆราวาสจะให้ริบราชบาทขับเฆี่ยนจงหนักโดยโทษานุโทษ
อนึ่ง....ถ้าสามเณรรูปใด มีอายุสมควรจะอุปสมบทแล้ว ก็ให้บวชเข้าร่ำเรียนคันถธุระ วิปัสนาธุระ อย่าให้เที่ยวไปมาเรียนความรู้อิทธิฤทธิ์ให้ผิดธุระทั้งสองไป..... สามเณรรูปใดอายุถึงอุปสมบทแล้วมิได้บวช เที่ยวเล่นโว้เว้อยู่ จับได้จะเอาตัวสามเณรแลชีต้น อาจารย์ ญาติโยมเป็นโทษจงหนัก
กฎให้ไว้ ณ วันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นห้าค่ำ จุลศักราชหนึ่งพันร้อยสี่สิบห้า (พ.ศ. ๒๓๒๖) ปีเถาะ เบญจศก
กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๓
๓. กฏให้ไว้แก่สังฆการีธรรมการ.....
สมเด็จบรมนาถบพิตร..... รับพระราชโองการ ฯ สั่งว่า
พระศาสนาจะวัฒนาการตั้งไปได้ อาศัยพระราชอาณาจักร...สงเคราะห์พระศาสนา ฝ่ายพระวินัยบัญญัติเล่า พระพุทธองค์ตรัสสอนอนุญาตไว้ว่า ถ้ากุลบุตรบวชเป็นภิกษุสงฆ์ในพระศาสนาแล้ว ให้อยู่ในสำนักหมู่คณะสงฆ์ในพระศาสนาแล้ว ให้อยู่ในสำนักหมู่คณะสงฆ์แลอุปัชฌาย์อาจารย์ก่อน จะได้รู้กิจวัตรปฏิบัติ ถึงมาทว่าจะประพฤติผิดทำทุจริตอันมิควร ก็จะมีความละอายกลัวเพื่อนพรหมจรรย์ แลครูอุปัชฌาย์จะว่ากล่าวติเตียน ความชั่วทุจริตที่ทำนั้นจะสงบลง ศีลนั้นจะบริสุทธิ์ เป็นที่ตั้งแก่สมาธิปัญญา วิปัสนามรรคญาณ สำเร็จมรรคผลในหมู่คณะสงฆ์...แม้นมาทจะมีปรารถนาจะหาที่อยู่อันสบายสมควรแก่พระกัมมัฏฐานก็ดี ก็ย่อมจักชวนเพื่อนพรหมจรรย์ร่วมศรัทธาด้วยกัน...จะได้ทำสังฆกรรมแลอุโบสถกรรมด้วยกัน เพื่อจะได้ศีลบริสุทธิ์เป็นที่ตั้งแก่พระกัมมัฏฐาน.....
แลภิกษุสงฆ์ทุกวันนี้ ละพระวินัยบัญญัติเสีย มิได้ระวังตักเตือนสั่งสอนกำชับว่ากล่าวกัน ครั้นบวชเข้าแล้วก็มิได้ให้ศิษย์อยู่นิสัยในหมู่คณะสงฆ์ ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ก่อน ละให้เที่ยวไปโดยอำเภอใจ..... ทำมารยารักษาศีลภาวนา ทำกิริยาให้คนเลื่อมใสนับถือ สำแดงความรู้วิชาอวดอิทธิฤทธิ์ เป็นอุตริมนุษธรรมเป็นกลโกหก ตั้งตัวว่าผู้มีบุญ ว่าพบคนวิเศษมีวิชามาแต่ถ้ำแต่เขา..... ทำให้แผ่นดินและพระศาสนาจลาจล.... เพราะเหตุพระสังฆราชาคณะอธิการผู้ใหญ่ผู้น้อยมิได้เอาใจใส่ตักเตือน ว่ากล่าวตามพระวินัยบัญญัติ..... ฝ่ายฆราวาสข้าทูลลอองธุลีผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ละเมินเสีย มิได้เอาใจใส่ระวังรักษา ให้ไอ้อีมีชื่อผู้ศัตรู เข้ามาทำอันตรายถึงในพระราชฐาน..... ถ้าจะว่าตามโบราณราชกำหนดกฎหมาย ฝ่ายสมณฆราวาสมิได้พ้นจากมหันตโทษ..... แต่หากทรงพระกรุณายกโทษไว้เพราะยังมิได้มีพระราชกำหนดกฎหมายก่อน.....
แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ให้พระราชาคณะจัดแจงตั้งแต่งภิกษุสามเณร..... ให้เป็นราชาคณะแลอธิการ ให้มีตราตั้งแต่เป็นอักษร ชื่ออารามเป็นอักษรขอมสำหรับตัว ประจำที่ราชาคณะเจ้าอธิการ ทุกตำแหน่ง ทุกอาราม ถ้าแขวงใดเมืองใดพระสงฆ์มาก วัดหนึ่งให้มีอธิการหนึ่งอันดับ เก้ารูปสิบรูปขึ้นไป ถ้าพระสงฆ์น้อย อารามหนึ่งให้มีอธิการหนึ่งอันดับ สี่ห้ารูปขึ้นไป ให้ปรนนิบัติรักษาพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ อย่าให้เป็นอันตราย ถ้าแลพระสงฆ์ แลสามเณรแขวงจังหวัด เมืองเอก โท ตรี จัตวา จะมีศรัทธาเที่ยวเข้ามาร่ำเรียน คันถธุระ วิปัสนาธุระ และสมณกิจประการใด ก็ให้เขียนฉายาแลชีต้น แลพระวสา แลชื่ออุปัชฌาย์อาจารย์ ศัตราราชาคณะ หัวเมืองนั้น ๆ มาเป็นสำคัญ จะอยู่อารามใด เมืองใดก็ดี ให้เอาหนังสือ แลศัตราสำคัญนั้น แจ้งแก่ราชาคณะเจ้าอธิการในกรุง ถ้าราชาคณะอธิการในกรุงเห็นหนังสือ แลตราสำคัญแล้ว จึงให้รับไว้ร่ำเรียน..... ถ้าแลฝ่ายพระสงฆ์สามเณร ณ กรุงเทพ ฯ..... อาการดั่งนี้แม้นจะชั่วแลดี จะได้สืบสาวรู้ง่าย อนึ่งก็เป็นที่คำนับ รู้จักเค้ามูล แห่งกัน จะได้กระทำสังฆกรรม อุโบสถกรรมด้วยกันเป็นอันดี หาความรังเกียจแก่กันมิได้
อนึ่งถ้ากุลบุตรจะบวชเรียน อำลาประจุสึกก็ดี ให้รู้ว่ากุลบุตรชื่อนั้น อยู่บ้านนั้น เป็นลูกหลานผู้นั้นๆ
แลให้พระราชาคณะเจ้าหมู่เจ้าคณะอธิการ แลกรมการหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา นายอำเภอแขวงจังหวัดทั้งปวง กำชับว่ากล่าว สอดแนมระวังระไว ดูหมู่คณะในแว่นแคว้น แขวงจังหวัดวัดวาอารามบรรดาขึ้นแก่ตน อย่าให้มีคนโกหกมารยาคิดทำร้าย แผ่นดินแลพระศาสนา ให้จลาจลดุจครั้งนี้ได้เป็นอันขาดทีเดียว ห้ามอย่าให้ อาณาประชาราษฎรทั้งปวง นับถือ คบค้า ปรนนิบัติไอ้โกหก..... แลผู้ได้รู้เห็นว่าเหล่าร้ายคิดกลโกหกมารยาแล้ว แลมิได้จับกุมว่ากล่าว บอกให้กราบทูลพระกรุณา ละเมินเสีย..... จะเอาเจ้าคณะเจ้าอารามเจ้าอธิการเจ้าเมืองเจ้าแขวงจังหวัดประเทศนั้น ๆ เป็นโทษกบฎ ดุจโทษไอ้คนโกหกคิดทำร้ายแผ่นดิน และพระศาสนาเป็นจลาจล
กฎให้ไว้ ณ วันพฤหัสบดี เดือนหก ขึ้นแปดค่ำ จุลศักราชพันร้อยสี่สิบห้า (พ.ศ. ๒๓๒๖) ปีเถาะ เบญจศก
กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๔
๔. กฎให้ไว้แก่สังฆการีธรรมการ อธิการ
สมเด็จพระบรมนารถบพิตร..... มีพระราชโองการ ฯ สั่งว่า
เป็นประเพณีในพระพุทธศาสนาสืบมาแต่ก่อน มีพระพุทธฎีกาโปรดไว้ให้ภิกษุสามเณรอันบวชในพระศาสนา รักษาธุระสองประการ คือ คันถธุระ วิปัสนาธุระ..... เป็นประเพณีมนุษย์มีปัญญา พบเห็นพระศาสนาเข้าแล้วก็มีความเพียร ปฏิบัติตามธุระทั้งสอง อยู่นิสัยในสำนักครู อุปัชฌาย์อาจารย์ อุปัชฌาย์อาจารย์ก็ตั้งใจสั่งสอนตักเตือนกำชับว่ากล่าวกัน มิได้ละเมินพระศาสนาหามิได้ พระศาสนาก็บริบูรณ์มา แลภิกษุสามเณรทุกวันนี้ ลางพวกบวชเข้ามาแล้ว มิได้ปฏิบัติตามธุระทั้งสอง..... เอาแต่กาสาวพัตร์เป็นที่พึ่ง เพื่อจะเอาแต่ความสะบายให้บริบูรณ์กายเนื้อหนัง ดุจพระพุทธฎีกาตรัสว่าเหมือนโคแลกระบือ เกิดมาแต่บริโภคอาหารให้เจริญแต่เนื้อหนัง จะได้เจริญศีล สมาธิ ปัญญานั้นหามิได้..... อุปัชฌาย์อาจารย์ก็เมินเสีย..... ทำร้ายแผ่นดินแลพระศาสนาให้เศร้าหมองฉะนี้ ไม่ควรนักหนา
แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ห้ามอย่าให้มีภิกษุโลเล ละวัตรปฏิบัติ แลปฎิญาณตัวว่าเป็นกิจวัด มิได้ร่ำเรียนธุระทั้งสองฝ่าย อย่าให้มีได้เป็นอันขาดทีเดียว..... แลพระศาสนาจะรุ่งเรืองขึ้นนั้นก็เพราะพระราชาคณะ ให้พระราชาคณะเร่งตักเตือนพิจารณาเห็นศิษย์ควรร่ำเรียนคันถธุระ วิปัสนาธุระ อันใดอันหนึ่งได้ ก็ให้ร่ำเรียนอันนั้น แล้วปฏิบัติตามพระปริยัติปฏิบัติศาสนา ให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่เทพามนุษย์ทั้งปวง แล้วให้พระราชาคณะ เจ้าคณะอธิการ ทำบัญชีหางว่าวภิกษุสามเณรฝ่ายคันถธุระ วิปัสนาธุระ ส่งให้สังฆการีธรรมการกราบทูลพระกรุณา..... ถ้าภิกษุสามเณรองค์ใด กักขละ หยาบช้า สอนยาก อุปัชฌาย์ อาจารย์จะว่ามิฟัง..... ให้กำจัดเสีย อย่าให้เข้าหมู่คณะได้เป็นอันขาดทีเดียว พระศาสนาจึงจะรุ่งเรืองสืบไป
ถ้าแลราชาคณะ เจ้าคณะ อธิการ ภิกษุ สามเณร สังฆการีธรรมการผู้ใด มิได้กระทำตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้ จะเอาตัวญาติโยมเป็นโทษตามโทษานุโทษ
กฎให้ไว้ ณ วันอาทิตย์ เดือนแปด ขึ้นสิบห้าค่ำ จุลศักราชพันร้อยสี่สิบห้า (พ.ศ. ๒๓๒๖) ปีเถาะ เบญจศก
กฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๕
๕. กฎให้ไว้แก่สังฆการีธรรมการ
สมเด็จพระบรมนารถบพิตร ฯ..... มีพระราชโองการ ฯ สั่งว่า
ไอ้มาต้องเมถุนปาราชิกแล้ว มิได้กลัวบาปละอายแก่บาป ปฏิญาณตัวว่าเป็นภิกษุ เข้ากระทำสังฆกรรมด้วยพระสงฆ์ เป็นอุปัชฌาย์บวชนาค ปลอมเข้าผูกโบสถ์แลรับกฐิน..... ไอ้ชูต้องอทินนาทานปาราชิก..... แล้วปกปิดโทษไว้ ปฎิญาณตัวว่าเป็นภิกษุสมณะนั่งหัตถบาทบวชนาค เข้าผูกอุโบสถทำสังฆกรรมด้วยสงฆ์ ให้พระศาสนาเศร้าหมอง แลไอ้แก้วต้องอทินนาทานปาราชิก..... แลเอามลทินไปโทษป้ายท่านผู้มีศีลบริสุทธิ์ พระสงฆ์ว่ากล่าวแล้วฉะนี้ หวังจะให้ทายกทั้งปวงที่ศรัทธากระทำกุศลไว้ สอดแคล้วกินแหนงท่านผู้มีศีลบริสุทธิ์ จะให้ผลของทายกนั้นน้อยไป มิควรหนักหนา
แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าภิกษุองค์ใดต้องจตุปาราชิกทั้งสี่ แด่อันใดอันหนึ่งปาราชิกแล้ว ให้มาบอกแก่สงฆ์ จงแจ้งแด่ในอุโบสถเดียวนั้น อย่าให้ปกปิดโทษจตุปาราชิกไว้ ปฎิญาณตัวเป็นสงฆ์สมณะ เข้ากระทำสังฆกรรม อุปสมบทกรรมด้วยคณะสงฆ์ให้เป็นมณทิลในสังฆกรรมทั้งปวง..... ให้ศาสนาเศร้าหมอง ถ้ามีผู้โจทนาว่ากล่าวพิจารณาเป็นสัจ จะเอาตัวเป็นโทษถึงสิ้นชีวิต แล้วให้ริบราชบาท ขับเฆี่ยนตีโบยญาติโยมจงหนัก อย่าให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป
กฎให้ไว้ ณ วันอาทิตย์ เดือนแปด ขึ้นสิบห้าค่ำ จุลศักราชพันร้อยยี่สิบห้า (พ.ศ. ๒๓๒๖) ปีเถาะ เบญจศก
|