3. นักบวชหรือสาวก
นักบวช คือ ผู้สละเหย้าเรือนหรือการครองชีวิตอย่างคฤหัตถ์อุทิศตนเพื่อศาสนาที่ตนนับถือ ในศาสนาเทวนิยมนักบวชนอกจากจะเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์แล้วยังมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทั้งปวงตั้งแต่เกิดจนตาย ศาสนกิจต่าง ๆ เช่น คำจารึก จดหมายเหตุ พิธีกรรม การเซ่นไหว้บูชา นักบวชนั้นทำได้ โดยเป็นผู้กำหนดรูปแบบ พิธีกรรม วันเวลา รวมทั้งบุคคลและการกระทำอย่างใดที่เทพเจ้าโปรดปรานหรือเกลียดชัง
โดยทั่วไปนักบวชจะเป็นผู้ทรงอำนาจ เพราะเป็นคนของเทพเจ้า ได้รับสิทธิพิเศษเป็นคนอภิสิทธิ์ไม่ต้องถูกเก็บภาษีให้รัฐ แต่รัฐต้องคอยอุปถัมถ์ฉะนั้นนักบวชจึงเป็นผู้เสียสละการทำเป็นธุรกิจผลประโยชน์ส่วนตัว มุ่งปฎิบัติธรรมแก่คนทั้งหลายแนะนำพิธีกรรมและสอนศีลธรรมแก่ประชาชนทั่วไป
ในชีวิตประจำวันของนักบวชนอกจากิจวัตรการสวดมนต์อ้อนวอนเทพเจ้าแล้วต้องทำพิธีเกี่ยวกับตนเองให้มีรูปร่างลักษณะแตกต่างจากคนทั่วไป เช่น โกนศีรษะ และโกนขนตามร่างกายส่วนอื่น ๆ อาบน้ำชำระร่างกายวันละ 2-3 ครั้ง อดอาหารตั้งแต่ 7 วันขึ้นไป ตามจำนวนของเทพเจ้าที่ตนบูชา แต่งกายด้วยสีที่แตกต่างจากคนทั่วไป เช่น แต่งกายด้วยสีขาว สีแสด หรือสีดำ อาจจะคลุมทั้งร่างกายอย่างมิดชิด หรือเปลือยกาย แสดงถึงความหมดกิเลส เป็นต้น
ส่วนในศาสนาอเทวนิยมเช่นพุทธศาสนา นักบวชคือผู้เข้าสู่ธรรมวินัย ปฏิบัติตามหลักพรหมจรรย์คือศีล สมาธิ ปัญญา เพื่ออบรมขัดเกลาชีวิต มุ่งตรงต่อนิพพานเรียกภิกษุบ้าง สมณะบ้างทำหน้าที่อบรมตนและช่วยเหลือสังคม
ประเภทของนักบวช
โดยทั่วไปนักบวชแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1. นักบวชประเภทตัวแทน (Intermediary) เป็นผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้าในระดับไสยศาสตร์เรียกหมอไสยศาสตร์ (magician) ในระดับวิญญาณเรียกหมอผี (Witchdoctor) ในระดับเทวนิยมเรียกนักบวช (Priest) ซึ่งเกิดจากการสืบทอดสายโลหิต เช่น วรรณะพราหณ์ในสาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือจากการอภิเษกจากบุคคลธรรมดาไม่ได้มาจากบุคคลวรรณะนักบวช เช่นศาสนายิว ศาสนาคริสต์ เป็นต้น
2. นักบวชประเภทฤาษี (Ascetic) หมายถึงบุคคลที่ออกบำเพ็ญเพียรในป่าตามถ้ำ ตามเขา ดำรงชีพอยู่ด้วยผลไม้ นุ่งห่มเปลือกไม้หรือหนังสัตว์ ใช้ชีวิตอยู่กับการสวดมนต์ ภาวนา ไม่สังกัดศาสนาใด สละชีวิตทางโลก รักษาพรหมจรรย์ มักน้อย สันโดษ มุ่งแสวงหาความสุขความสงบทางจิตใจ
3. นักบวชประเภทภิกษุ (Monk) หมายถึงบุคคลผู้เสียสละชีวิตฆราวาสออกบวช ถือเพศบรรพชิต เพราะเลื่อมใสในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าปฏิญาณเป็นสาวก ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการบิณฑบาต อุทิศการบวชเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดคือนิพพาน ผ่านพิธีกรรมที่เรียนกว่าอุปสมบทวิธี สมัยพุทธกาลภิกษุอาศัยอยู่ตามโคนต้นไม้ ราวป่า รองฟาง ถ้ำหรือภูเขา เมื่อสังคมวิวัฒนาการจึงอนุญาตให้อยู่จำพรรษาในอารามหรือวัดที่ตั้งอยู่ในหมูบ้านเป็นศูนย์กลางของชุมชนศาสนกิจไม่เกี่ยวกับเทพเจ้าแต่มีจุดมุ่งหมายขัดเกลาจิตใจให้สะอาด อยู่ในความสงบ
นักบวชในศาสนาเทวนิยมทำหน้าที่เป็นผู้แทนของพระเจ้าประกอบการบูชานมัสการโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ ประกาศเทวโองการ สอนธรรมและสวดมนต์ประจำวัน อุทิศตนให้แก่สังคมด้วยศาสนกิจ โดยการนำประชาชนไปสู่ความสามัคคีในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายหรือวิญญาณ ฉะนั้นนักบวชจึงเป็นผู้นำด้านวิญญาณทำหน้าที่เป็นหมอ เป็นโหราจารย์ ทำนายอนาคตหรือโชคชะตาของชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักบวชยังสามารถคำนวณสถิติความเป็นไปของภูมิศาสตร์ ฟ้าฝนเพื่อการเกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งชำระอรรถคดีการก่อสงครามและการยุติสงคราม เป็นต้น
ส่วนภิกษุในพุทธศาสนาทำหน้าที่ 2 ประการ คือ หน้าที่ต่อตนเอง และหน้าที่ต่อสังคม หน้าที่ประการแรกคือ การศึกษาพระธรรมวินัยเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องและบรรลุธรรมตามความเป็นจริงและหน้าที่ต่อสังคมคือ ปฏิบัติตนในฐานะกัลยาณมิตรของสังคม 6 ประการ คือ
1. แนะนำอบรมชี้แจงให้ประชาชนละเว้นความชั่ว
2. แนะนำสั่งสอนเชิญชวนให้เขาปฏิบัติความดี
3. สงเคราะห์ประชาชนด้วยจิต เมตตา กรุณา มุ่งปรารถนาดีต่อเขา
4. ให้ประชาชนได้ยิน ได้ฟัง เรื่องที่เขาไม่ได้ยินได้ฟัง
5. อธิบายสิ่งที่เขาได้ยินได้ฟังมาแล้วแต่ยังไม่แจ่มแจ้งให้เขาเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนยิ่งขึ้น
6. บอกทางสุขทางเจริญและทางสวรรค์ให้แก่ประชาชน
|