การบริหารคณะสงฆ์สมัยกรุงธนบุรี
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามและพระสงฆ์รวมทั้งคัมภีร์ และศิลปกรรม จิตรกรรมทางพุทธศาสนาก็ได้ถูกทำลายไปด้วยอย่างย่อยยับ เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชขับไล่กองทัพ พม่าออกไป จากราชอาณาจักรและตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีขึ้นใหม่แล้ว ก็ได้ทรงรวบรวมคณะสงฆ์ตั้งเป็นปึกแผ่นขึ้นมาใหม่ โดยตั้งพระอาจารย์จากวัดประดู่ให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกแห่งกรุงธนบุรี เมื่อพระสังฆราช (ดี) สิ้นพระชนม์ก็ได้ตั้งพระอาจารย์สี จากวัดบางหว้าใหญ่ ซึ่งเป็นพระราชาคณะสมัยกรุงศรีอยุธยาอยู่วัดพนัญเชิง เป็นสมเด็จพระสังฆราชได้ทรงส่งพระราชาคณะออกไปจัดการสังฆมณฑล ตามหัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งวิปริตไปตั้งแต่เจ้าพระฝาง ได้ทรงให้เสาะแสวงหาพระไตรปิฎก ที่กระจัดกระจายอยู่ ณ ที่ต่าง ๆ มารวบรวมไว้ เพื่อให้เป็นหลักในการบริหารคณะสงฆ์ได้ถูกถ้วนสมบูรณ์ ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเป็นจำนวนมาก โดยโปรดเกล้า ฯ ให้ว่าจ้างข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนร่วมกันสร้างพระอุโบสถ วิหาร เสนาสนะและกุฎีสงฆ์ มีจำนวนมากกว่า ๒๐๐ หลัง พระอารามที่ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ได้แก่ วัดราชคฤห์ (วัดบางยี่เรือเหนือ) พระอารามที่ทรงปฏิสังขรณ์ ได้แก่ วัดระฆังโฆษิตาราม (วัดบางหว้าใหญ่) วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) วัดอินทาราม (วัดบางยี่เรือใต้) และวัดหงส์รัตนาราม (วัดหงส์อาวาสวิหาร) ฯลฯ
การบริหารคณะสงฆ์ในสมัยรัตนโกสินทร์
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดหลายแห่ง ที่สำคัญได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดสุทัศน์ ฯ วัดสระเกศ ฯ และวัดพระเชตุพน ฯ เป็นต้น เจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการก็พากันสร้างวัด โดยเสด็จพระราชกุศล กันมากเช่น สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างวัดมหาธาตุ ฯ เป็นต้น
ทรงแก้ไขความวิปริตในสังฆมณฑทหลายประการ เช่น เปลี่ยนนามพระราชาคณะที่พ้องกับพระนาม พระพุทธเจ้าเป็นนามอื่น ตั้งสมเด็จพระสังฆราช ตั้งพระราชาคณะ และตั้งพระราชาคณะฝ่ายรามัญ ที่ว่างอยู่
โปรดเกล้า ฯ ให้ประชุมพระสงฆ์ และบัณฑิตทำการสังคายนาพระไตรปิฎก เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑ แล้วคัดลอกสร้างเป็น พระไตรปิฎกฉบับหลวง ๓ ฉบับ โปรดเกล้า ฯ ให้มีการสอนพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนวังเจ้านาย และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทรงตรากฎหมายพระสงฆ์ เพื่อควบคุมและกวดขันความประพฤติของพระสงฆ์ รวม ๑๐ ฉบับ เป็นการชำระพระศาสนาให้บริสุทธิ์ และทรงสืบต่อประเพณีพระราชปุจฉาคณะสงฆ์
การคณะสงฆ์ในสมัยพระองค์ คงจัดตามแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา และมีการแก้ไขบางประการให้เหมาะสมแก่ สภาพความเป็นจริง เช่น คณะอรัญวาสีมีน้อยไม่พอตั้งเป็นคณะ จึงคงมีเพียง ๒ คณะ คือ คณะเหนือ และคณะใต้
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณ ฯ วัดโมฬีโลก และวัดสุทัศน ฯ เป็นต้น โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระสังฆราช (มี) จัดสมณฑูตไปสืบสวนศาสนาวงศ์ในลังกาทวีป ทรงมีพระราชดำริด้วยสมเด็จพระสังฆราช ให้ทำพิธีวิสาขบูชาขึ้นเป็นครั้งแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์ และสมเด็จพระสังฆราช (มี) ได้ขยายหลักสูตรการเรียนบาลี ๓ ชั้นเดิม คือ บาเรียนตรี โท เอก ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นเปรียญ ๙ ประโยค ต่อมาสมัยสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้โปรดให้สังคายนาบทสวดมนต์
การบริหารคณะสงฆ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ
ถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงเพิ่มจำนวนขึ้นไว้อีกหลายฉบับให้ครบสมบูรณ์กว่าเดิม โปรดเกล้า ฯ ให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นพระสูตร ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์ พระอารามหลวง ทรงอุปการะอุดหนุนให้มีผู้สร้าง และปฏิสังขรณ์วัดวาอารามขึ้นเป็นจำนวนมาก พระราชทานอุปถัมภ์ ภิกษุ สามเณร ที่สอบได้ ตลอดไปถึงบิดามารดา โปรดเกล้า ฯ ให้รวมพระอารามหลวง และวัดราษฎร์ ในกรุงเทพ ฯ เข้าเป็นคณะกลาง เมื่อรวมกับคณะเดิมจึงมี ๔ คณะ คือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง และคณะอรัญวาสี (มีแต่ตำแหน่งเจ้าคณะ)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงสร้างวัดบรมนิวาส วัดโสมนัสวิหาร วัดปทุมวนาราม วัดราชประดิษฐ และ วัดมงกุฎกษัตริยาราม ทรงบูรณะพระปฐมเจดีย์ โปรดเกล้า ฯ ให้มีพิธีมาฆบูชาขึ้นเป็นครั้งแรก ให้การรับรองเป็นทางการ แก่พุทธศาสนามหายานขึ้นเป็นครั้งแรก
การบริหารคณะสงฆ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ
พระองค์ได้ทรงสร้างวัดขึ้นใหม่ ๖ วัด โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้น ตามวัดต่าง ๆ โดยเริ่มที่วัดมหรรณพาราม ย้ายที่ ราชบัณฑิตบอกปริยัติธรรมแก่ภิกษุ สามเณร จากใน วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกมาจัดเป็นบาลีวิทยาลัย ขึ้นที่วัดมหาธาตุ ฯ ให้ชื่อว่า มหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งต่อมา ได้เปลี่ยนเป็นมหาจุฬาราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศ จัดการเล่าเรียนในหัวเมือง เป็นการประกาศเพื่อ ให้พระสงฆ์ทั่วพระราชอาณาจักรเอาใจใส่สั่งสอนธรรมแก่ประชาชน และฝึกสอนวิชาความรู้ต่าง ๆ แก่กุลบุตร
ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศ พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ เพื่อให้ฝ่ายพุทธจักรมีการปกครอง คู่กันกับฝ่ายพระราชอาณาจักร พระองค์ได้พระราชทานสมณศักดิ์แก่พระหัวหน้าพระจีน และพระญวณ โดยให้หัวหน้าฝ่ายจีน เป็นพระอาจารย์ รองลงมาเป็นผู้ช่วย หัวหน้าฝ่ายญวณเป็นพระครู รองลงมาเป็นปลัด รองปลัดและผู้ช่วย เดิมขึ้นกับกรมท่าซ้าย ต่อมาจึงย้ายมาขึ้นกับกระทรวงธรรมการ เป็นการเริ่มต้นคณะสงฆ์จีนนิกายและอนัมนิกายในปัจจุบัน
การบริหารคณะสงฆ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ
ถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ใช้ พุทธศักราช (พ.ศ.) แทนรัตนโกสินทรศก (ร.ศ.) ตั้งแต่ วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๖ ดังนั้นวันที่ ๑ เมษายน จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ ในครั้งนั้น ได้มีเพลงมีเนื้อร้องว่า "วันที่หนึ่ง เมษายน ตั้งต้นปีใหม่..."
สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงริเริ่มการศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่ง เพิ่มเติมจากการสอนบาลีสนามหลวง เรียกว่า นักธรรม โดยมีการสอบครั้งแรก เมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๕๔
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้จัดระเบียบสมณศักดิ์ใหม่ โดยแยกสมณศักดิ์ออกเป็น ฝ่ายฐานันดร และฝ่ายตำแหน่ง ฝ่ายฐานันดรคือยศจัดเป็น ๒๑ ขั้น ตั้งแต่สมเด็จพระมหาสมณ ไปจนถึงพระพิธีธรรม ดังนี้
สมเด็จพระมหาสมณ สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะชั้นหิรัญบัตร พระราชาคณะชั้นธรรม พระราชาคณะชั้นเทพ พระราชาชั้นราช พระราชาคณะชั้นสามัญ พระครูสังฆปาโมกข์หัวเมืองนิตยภัติ ๑๒ บาท และพระบาเรียน ๙ ประโยค พระครูนิตยภัติ ๘ บาท และบาทบาเรียน ๘ ประโยค พระครูนิตยภัติ ๖ บาท และพระบาเรียน ๗ ประโยค พระครูเจ้าคณะรองหัวเมือง พระครูเจ้าคณะแขวงมีราชทินนาม พระครูปลัดและพระบาเรียน ๖ ประโยค พระครูวินัยธร พระครูวินัยธรรมและพระบาเรียน ๕ ประโยค พระครูคู่สวด และพระบาเรียน ๔ ประโยค พระปลัดของพระราชาคณะสามัญและพระบาเรียน ๓ ประโยค พระครูรองคู่สวด พระครูสงฆ์และพระผู้อุปการะโรงเรียนหนังสือไทย พระครูเจ้าคณะแขวงไม่มีราชทินนาม พระครูสมุห์พระครูใบฎีกา พระสมุห์และพระใบฎีกา พระถานานุกรมเจ้าอธิการและพระอุปัชณาย์ พระอธิการ พระพิธีธรรม
ฝ่ายตำแหน่ง จัดเป็น ๑๑ ลำดับ คือ สกลสังฆปริณายก มหาสังฆปริณายกหรือเจ้าคณะใหญ่สังฆนายก หรือเจ้าคณะรอง เจ้าคณะมณฑลและคณาจารย์เอก รองเจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวงในกรุงเทพฯ ปลัดและคณาจารย์โท รองเจ้าคณะเมือง เจ้าคณะหมวดในกรุงเทพฯ และคณาจารย์ตรีรองเจ้าคณะแขวง เจ้าอาวาสและอาจารย์ใหญ่ รองเจ้าอาวาสและอาจารย์รอง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐจบละ ๔๕ เล่ม พระราชทานไปยังต่างประเทศด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มีสาระที่สำคัญคือ จัดการปกครองสงฆ์ให้อนุโลมตามระบอบการปกครองบ้านเมืองเท่าที่ไม่ขัดกับพระธรรมวินัย
สรุปแล้วคณะสงฆ์ไทย เป็นลัทธิหินยานแบบเถรวาท ยึดถือ พระธรรมวินัย อันเป็นพุทธบัญญัติ
มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เป็นราชธานี จนถึงปัจจุบัน
|