ทิฏฐิ 62
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ยังมีธรรมอย่างอื่นอีกที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ที่เป็นเหตุให้กล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ ธรรมเหล่านั้นเป็นไฉน
ปุพพันตกัปปิถาทิฏฐิ 18 ลัทธิที่ปรารภขันธ์ส่วนอดีต 18 อย่าง
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง กล่าวถึงขันธ์ส่วนอดีต แสดงทิฏฐิหลายชนิดด้วยเหตุ 18 ประการ ดังนี้
สัสสตทิฏฐิ 4 มีทิฏฐิว่าเที่ยง บัญญัติอัตตา และโลกว่าเที่ยง ด้วยเหตุ 4 ประการ
ปุพเพนิวาสานุสสติ สมณพราหมณ์บางคน บรรลุเจโตสมาธิ ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ ได้หนึ่งชาติบ้าง..... หลายแสนชาติบ้าง เขากล่าวว่าอัตตา และโลกเที่ยง คงที่ ส่วนสัตว์นั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติ เกิด นี้เป็นฐานะที่ 1
ในฐานะที่ 2 และ 3 สมณพราหมณ์บางคน บรรลุเจโตสมาธิ ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้ วัฏฏวิวัฏฏกัปหนึ่งบ้าง..... สี่สิบบ้าง เขากล่าวว่าอัตตา และโลกเที่ยง คงที่ ส่วนสัตว์นั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติ เกิด
ในฐานะที่ 4 สมณพราหมณ์บางคน เป็นนักตรึก นักค้นคิด กล่าวตามที่ตนตรึกได้ ค้นคิดได้ ว่า อัตตา และโลกเที่ยง คงที่ ส่วนสัตว์นั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไปจุติ เกิด
เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า ฐานะเป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิเหล่านี้ อันบุคคลถือไว้ยึดไว้แล้ว ย่อมมีคติอย่างนั้น มีภพเบื้องหน้าอย่างนั้น และตถาคตย่อมรู้เหตุนั้นชัด ทั้งไม่ยึดมั่นความรู้ชัดนั้นด้วย เมื่อไม่ยึดมั่น ก็ทราบความเกิดขึ้น ความดับไป คุณและโทษ เวทนาทั้งหลาย กับอุบายเป็นเครื่องออกไปจากเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง จึงทราบความดับได้เฉพาะตน เพราะไม่ถือมั่น ตถาคตจึงหลุดพ้น
เอกัจจสัสติกทิฏฐิ 4 มีทิฏฐิว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ 4 ประการ
บางครั้ง โดยระยะกาลช้านาน เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ เหล่าสัตว์ย่อมเกิดในอาภัสสรพรหม เหล่าสัตว์นั้นได้สำเร็จทางใจ..... สถิตอยู่ในภพนั้น บางครั้งสิ้นกาลยาวนาน เมื่อโลกกำลังเจริญอยู่ วิมานของพรหมปรากฎว่าว่างเปล่า ครั้งนั้น สัตว์ที่จุติขึ้นจากชั้นอาภัสสรพรหม เพราะสิ้นอายุ หรือเพราะสิ้นบุญ ย่อมเข้าถึงวิมานพรหมอันว่างเปล่า สัตว์ผู้นั้นก็ได้สำเร็จทางใจ..... สถิตอยู่ในภพนั้น เกิดความกระสันความดิ้นรน ว่าแม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง บรรดาสัตว์เหล่านั้น ผู้ใดเกิดก่อน ผู้นั้นย่อมมีความคิดว่า เราเป็นพรหม เราเป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ไม่มีใครข่มได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้ว และกำลังเป็นสัตว์เหล่านี้เรานิรมิต แม้พวกสัตว์ที่เกิดภายหลัง ก็มีความคิดว่า ท่านผู้นี้แลเป็นพรหม..... พวกเรา อันพระพรหมผู้เจริญนี้นิรมิตแล้ว บรรดาสัตว์เหล่านั้น ผู้ใดเกิดก่อนผู้นั้นอายุยืนกว่า มีศักดิ์มากกว่า
สัตว์เหล่านี้ได้บวชเป็นบรรพชิต แล้วบรรลุเจโตสมาธิ ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้ จึงได้กล่าวว่า ท่านผู้ใดเป็นพรหม..... พระพรหมผู้ใดนิรมิตพวกเรา พระพรหมผู้นั้นเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงทน มีอันไม่แปรผัน ส่วนพวกเราเป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีอายุน้อย ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้ นี้เป็นฐานที่ 1
ในฐานะที่ 2 เทวดาพวกหนึ่ง หมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ สติย่อมหลงลืม เมื่อจุติจากชั้นนั้นแล้ว มาเป็นอย่างนี้ จึงออกบวชเป็นบรรพชิต แล้วบรรลุเจโตสมาธิ ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้ จึงกล่าวว่า พวกเทวดาที่ไม่หมกมุ่นอยู่ในความรื่นรมย์ สติย่อมไม่หลงลืม จึงไม่จุติจากชั้นนั้น เป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงทน ไม่แปรผัน ส่วนพวกตนเป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีอายุน้อยยังต้องจุติ นี้เป็นฐานะที่ 2
ในฐานะที่ 3 เทวดาพวกหนึ่งมักเพ่งโทษกันและกัน มุ่งร้ายกัน พากันจุติจากชั้นที่ตนอยู่ แล้วมาเป็นอย่างนี้ จึงออกบวชเป็นบรรพชิต แล้วบรรลุเจโตสมาธิ ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้ จึงเกิดความเห็นเช่นเดียวกับฐานะที่ 2
ในฐานะที่ 4 สมณพราหมณ์บางคนเป็นนักตรึก นักคิดค้น กล่าวตามที่ตนตรึกได้ คิดค้นได้ว่า สิ่งที่เรียกว่า จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย นี้ได้ชื่อว่าอัตตา เป็นของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ไม่คงทน มีอันแปรผัน ส่วนที่เรียกว่าจิต หรือใจ หรือวิญญาณนี้ชื่อว่าอัตตา เป็นของเที่ยง.....
เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า..... เพราะไม่ถือมั่นตถาคตจึงหลุดพ้น
อันตานันติกทิฏฐิ 4 มีทิฏฐิว่าโลกมีที่สุด และหาที่สุดมิได้ ด้วยเหตุ 4 ประการ
สมณพราหมณ์บางคน บรรลุเจโตสมาธิ ย่อมมีความสำคัญในโลกว่ามีที่สุด กลมโดยรอบ นี้เป็นฐานะที่ 1
ในฐานะที่ 2 สมณพราหมณ์บางคน บรรลุเจโตสมาธิ มีความสำคัญในโลกว่าไม่มีที่สุด หาที่สุดรอบมิได้ พวกที่ว่าโลกนี้มีที่สุด กลมโดยรอบนั้นเท็จ นี้เป็นฐานะที่ 2
ในฐานะที่ 3 สมณพราหมณ์บางคน บรรลุเจโตสมาธิ มีความสำคัญในโลกว่า ด้านบน ด้านล่าง มีที่สุด ด้านขวางหาที่สุดมิได้ พวกที่ว่าในฐานะที่ 1 และในฐานะที่ 2 นั้นเท็จ นี้เป็นฐานะที่ 3
ในฐานะที่ 4 สมณพราหมณ์บางคน เป็นนักตรึก นักค้นคิด กล่าวตามที่ตนตรึกได้ ค้นคิดได้ว่า โลกนี้มีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ พวกที่ว่าในฐานะที่ 1,2 และ 3 นั้นเท็จ
เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัด.....
อมราวิเขปิกทิฏฐิ 4 มีทิฏฐิดิ้นได้ไม่ตายตัว ด้วยเหตุ 4 ประการ
สมณพราหมณ์บางคน ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล ถ้าตนพยากรณ์ไปก็จะเป็นเท็จ จึงไม่กล้าพยากรณ์ เพราะเกลียดการกล่าวเท็จ จึงกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัวว่า ความเห็นของเราว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ ไม่ใช่ก็มิใช่ นี้เป็นฐานะที่ 1
ในฐานะที่ 2 สมณพราหมณ์บางคน ไม่รู้ตามความเป็นจริง..... เกรงว่าพยากรณ์ไปแล้วจะเป็นอุปาทาน จึงกล่าววาจาดิ้นได้.....
ในฐานะที่ 3 สมณพราหมณ์บางคน ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง เกรงว่าเมื่อถูกซักไซ้แล้วตอบไม่ได้ จึงกล่าววาจาดิ้นได้.....
ในฐานะที่ 4 สมณพราหมณ์บางคนเป็นคนเขลา งมงาย เมื่อถูกถามว่าอย่างไร ตนมีความเห็นว่าเป็นอย่างไร ก็จะตอบไปตามนั้น จึงกล่าววาจาดิ้นได้.....
เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัด.....
อธิจจสมุปปันนิกทิฏฐิ 2 มีทิฏฐิว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ ด้วยเหตุ 2 ประการ
พวกเทวดาชื่อว่าอสัญญีสัตว์มีอยู่ เมื่อจุติจากชั้นนั้นเพราะความเกิดขึ้นแห่งสัญญา มาเป็นอย่างนี้ แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต บรรลุเจโตสมาธิ ย่อมระลึกถึงความเกิดขึ้นแห่งสัญญาได้ เบื้องหน้าแต่นั้นไประลึกไม่ได้ เขากล่าวว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ เพราะตนเมื่อก่อนไม่มี เดี๋ยวนี้ตนมี นี้เป็นฐานะที่ 1
ในฐานะที่ 2 สมณพราหมณ์บางคน เป็นนักตรึก นักคิดค้น เขากล่าวตามที่ตรึกได้ค้นคิดได้ว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ
เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัด.....
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวถึงขันธ์ส่วนอดีต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิดด้วยเหตุ 18 ประการนี้
เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัด.....
อปรันตกัปปิกทิฏฐิ 44 ลัทธิที่ปรารภขันธ์ส่วนอนาคตและปัจจุบัน 44 อย่าง
สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต.. กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ 44 ประการ
สัญญีทิฏฐิ 16 มีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา ด้วยเหตุ 16 ประการ คือ อัตตามีรูป ไม่มีรูป ทั้งที่มีรูปทั้งที่ไม่มีรูป ทั้งที่มีรูปก็ไม่ใช่ ทั้งที่ไม่มีรูปก็ไม่ใช่ ที่มีที่สุด ที่ไม่มีที่สุด ทั้งที่มีที่สุดทั้งที่ไม่มีที่สุด ทั้งที่มีที่สุดก็มิใช่ทั้งที่ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ที่มีสัญญาอย่างเดียวกัน ที่มีสัญญาต่างกัน ที่มีสัญญาย่อมเยา ที่มีสัญญาหาประมาณมิได้ ที่มีสุขอย่างเดียว ที่มีทุกข์อย่างเดียว ที่มีทั้งสุขทั้งทุกข์ ที่มีทุกข์ก็มิใช่ สุขก็มิใช่ ยั่งยืนมีสัญญา
เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า.....
อสัญญีทิฏฐิ 8 มีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือไปจากการตายไม่มีสัญญา ด้วยเหตุ 8 ประการ คือ อัตตาที่มีรูป ที่ไม่มีรูป ทั้งที่มีรูปทั้งที่ไม่มีรูป ทั้งที่มีรูปก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีรูปก็มิใช่ ที่มีที่สุด ที่ไม่มีที่สุด ทั้งที่มีที่สุดทั้งที่ไม่มีที่สุด ทั้งที่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ยั่งยืนไม่มีสัญญา
เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัด.....
เนวสัญญีนาสัญญีทิฏฐิ 8 มีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือไปจากการตาย มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ 8 ประการ คือ อัตตาที่มีรูป..... ทั้งที่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ยั่งยืนมีสัญญา
เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัด.....
อุทเฉททิฏฐิ 7 มีทิฏฐิว่าขาดสูญ ย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิดของสัตว์ ด้วยเหตุ 7 ประการ คือ
สมณพราหมณ์บางคนมีวาทะว่า เพราะอัตตานี้มีรูป สำเร็จด้วยมหาภูตรูป 4 มีมารดา บิดา เป็นแดนเกิด เพราะกายแตกย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมเลิกเกิด อัตตานี้จึงเป็นอันขาดสูญ
สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า ยังมีอัตตาอื่นที่เป็นทิพย์ เป็นกามาพจร บริโภคกวฬิงดาราหาร เพราะกายแตก อัตตานั้นย่อมขาดสูญ
สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า ยังมีอัตตาอย่างอื่นที่เป็นทิพย์ มีรูปสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะใหญ่น้อยครบครัน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง เพราะกายแตก อัตตานั้นย่อมขาดสูญ
สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า ยังมีอัตตาอื่นที่เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ มีอารมณ์ว่าอากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจในนานัตตสัญญา เพราะกายแตก อัตตานั้นย่อมขาดสูญ
สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า ยังมีอัตตาอื่นที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ เพราะกายแตก อัตตานั้นย่อมขาดสูญ
สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า ยังมีอัตตาอื่นที่เข้าถึง อากิญจายตนะ เพราะกายแตก อัตตานั้นย่อมขาดสูญ
สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า ยังมีอัตตาอื่นที่เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะกายแตก อัตตานั้นย่อมขาดสูญ
เรื่องนี้ตถาคตย่อมรู้ชัด.....
ทิฏฐธรรมนิพพานทิฏฐิ 5 มีทิฏฐิว่า นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ ด้วยเหตุ 5 ประการ คือ
สมณพราหมณ์บางคนกล่าวว่า เพราะอัตตานี้อิ่มเอิบ พรั่งพร้อม เพลิดเพลินอยู่ด้วยกามคุณ 5 จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบัน
สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า ยังมีเหตุอื่นอีก เพราะเหตุว่ากามทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จึงเกิดความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัส คับใจ เพราะอัตตานี้สงัดจากกาม จากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาณ มีวิตก วิจาร มีปิติ และสุขเกิด แต่วิเวกอยู่ จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบัน
สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า ปฐมฌาณยังหยาบ เพราะอัตตานี้บรรลุทุติยฌาณ..... จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบัน
สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า ทุติยฌาณยังหยาบ เพราะอัตตานี้บรรลุตติยฌาณ..... จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบัน
สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า ตติยฌาณยังหยาบ เพราะอัตตานี้บรรลุจตุตถฌาณ..... จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบัน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้น กล่าวถึงขันธ์ส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ 44 ประการนี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้น กล่าวถึงขันธ์ส่วนอดีตก็ดี ส่วนอนาคตก็ดี ทั้งส่วนอดีต ทั้งส่วนอนาคตก็ดี กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ 62 ประการนี้เท่านั้น หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไม่มี
เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัด.....
ธรรมเหล่านี้แลลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ที่เป็นเหตุให้กล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์..... กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ 62 ประการ แม้ข้อนั้น ก็เป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา เป็นความดิ้นรนของคนมีตัณหาเหมือนกัน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์..... กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ 62 ประการ ก็เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ 62 ประการ สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวก ถูกต้อง ๆ แล้วด้วยผัสสายตนะทั้ง 6 ย่อมเสวยเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิด ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส เมื่อใดภิกษุรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งความเกิด ความดับ คุณและโทษแห่งผัสสายตนะทั้ง 6 กับอุบายเป็นเครื่องออกไปจากผัสสายตนะเหล่านั้น เมื่อนั้น ภิกษุนี้ย่อมรู้ชัดยิ่งกว่าสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมด ก็สมณพราหมณ์พวกใด กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ถูกทิฏฐิ 62 อย่างเหล่านี้เป็นดุจข่ายปกคลุมไว้ อยู่ในข่ายนี้เอง เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในข่ายนี้ ติดอยู่ในข่ายนี้ ถูกข่ายนี้ปกคลุมไว้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคต มีตัณหาอันจะนำไปสู่ภพขาดแล้ว ยังดำรงอยู่ เทวดา และมนุษย์ทั้งหลายจักเห็นตถาคต ชั่วเวลาที่กายของคถาคตดำรงอยู่ เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้ว เทวดา และมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นคถาคต
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระอานนท์ได้กราบทูลว่า น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ธรรมบรรยายนี้ชื่ออะไร พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอจงจำธรรมบรรยายนี้ว่า อรรถชาละก็ได้ ธรรมชาละก็ได้ พรหมชาละก็ได้
ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสพระสูตรนี้จบแล้ว ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นมีใจชื่นชม เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาค และเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ หมื่นโลกธาตุได้หวั่นไหวแล้ว แล
|