พระอสีติมหาสาวก

พระมหากัจจานะ

จากมาหกัจจายนเถรวัตถุกล่าวว่า มีพระหมณ์ผู้หนึ่งสีกายดุจทอง ชื่อกัจจายนพราหมณ์ เป็นปุโรหิตในเมืองอุชเชนี พระยาจัณฑปโชต ใช้ให้ไปเมืองราชคฤห์ กับพราหมณ์บริวาร ๘ คน ให้นิมนต์พระพุทธเจ้ามาเมืองอุชเชนี ครั้งมาถึงพระเวฬุวันได้ฟังเทศนาก็บรรพชาเป็นเอหิภิกขุ บรรลุพระอรหันต์ทั้งสิ้น แล้วกลับมาเมือง ถึงบ้านนาลีนิคม รับบิณฑบาตรนางเศรษฐีเข็ญใจ ขายผมเพื่อซิ้อสุปพยัญชนะถวาย แล้วเธอก็มาถึงเมือง ยังพระยาจัณฑโชตให้เลื่อมใส ภายหลังก็ได้เอตทัคคะยิ่ง ฝ่ายจำแนกออกซึ่งอรรถแห่งธรรม

 

พระมหากัจจานะนั้น เป็นบุตรพราหมณ์ปุโรหิต กัจจานโคตร กัจจายนโคตรก็เรียก ในกรุงอุชเชนี ชื่อ กัญจนะ เติบใหญ่ขึ้น เรียนจบไตรเพทแล้ว เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้ว ได้เป็นปุโรหิตแทนที่ ในรัชสมัยแห่งพระเจ้าจัณฑปัชโชต

ในคราวพุทธุปบาทกาล ท้าวเธอได้ทรงตรัสสดับว่า พระศาสดาได้ตรัสรู้แล้วทรงสั่งสอนประชุมชน ธรรมที่ทรงแสดงนั้น เป็นธรรมอันแท้จริง ให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติตาม มีพระราชประสงค์จะใคร่เชิญเสด็จพระศาสดาไปประกาศพระศาสนาที่กรุงอุชเชนี จึงตรัสสั่งกัจจานปุโรหิตไปเชิญเสด็จ กัจจานปุโรหิตทูลลาจะบวชด้วย ครั้งทรงอนุญาตแล้ว ออกจากกรุงอุชเชนีพร้อมด้วยบริวารเจ็ดคน มาถึงที่ประทับพระศาสดาแล้ว เข้าไปเฝ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนา บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งแปดคนแล้ว ทูลขออุปสมบท พระศาสดาก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยพระพุทธพจน์โดยนัยหนหลัง ท่านทูลเชิญเสด็จไปกรุงอุชเชนี ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต พระศาสดารับสั่งว่า ท่านไปเองเถิด เมื่อท่านไปแล้ว พระเจ้าแผ่นดินจักทรงเลื่อมใส ท่านถวายบังคมลา พาภิกษุบริวารเจ็ดองค์กลับไปกรุงอุชเชนี ประกาศพระพุทธศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวพระนครเลื่อมใสแล้ว กลับมาสำนักพระศาสดา

พระมหากัจจานะนั้น เป็นผู้ฉลาดในการอธิบายความแห่งคำที่ย่อให้พิสดาร ได้สรรเสริญแต่พระศาสดาว่า เป็นเยี่ยมกว่าสาวกอื่นในทางนั้น วันหนึ่ง พระศาสดาทรงแสดงธรรมว่า ผู้มีปัญญา ไม่ควรตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรจะมุ่งหมายสิ่งที่ยังไม่มาถึง เพราะว่าสิ่งที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละเสียแล้ว สิ่งใดยังมาไม่ถึงแล้ว สิ่งนั้นก็ยังไม่ได้มาถึง ผู้ใดเห็นแจ้งในธรรมที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้าในที่นั้น ๆ ในกาลนั้น ๆ ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ครั้นรู้ธรรมนั้นแล้ว พึงให้ธรรมนั้นเจริญเนือง ๆ ความเพียรควรทำเสียในวันนี้แล ใครเล่าจะพึงรู้ว่า ความตายจะมีต่อพรุ่งนี้ เพราะว่าความผัดเพี้ยนต่อมฤตยูราช ที่มีเสนาใหญ่ ไม่มีเลย ผู้รู้ที่เป็นคนสงบระงับ ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้ว่า ผู้มีราตรีเดียวเจริญ ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เสด็จลุกเข้าวิหารที่ประทับ ภิกษุทั้งหลายไม่ได้ช่องเพื่อจะกราบทูลถามความแห่งคำที่ตรัสโดยย่อให้เข้าใจกว้างขวาง เห็นความสามารถของพระกัจจานะ จึงไปหา อาราธนาให้ท่านอธิบาย ท่านอธิบายให้ฟังว่า ท่านผู้มีอายุ เรารู้ความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยย่อนั้น ตามความพิสดารว่า เมื่อบุคคลคิดว่า ในกาลไกลล่วงแล้ว ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับสิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย ใจกับอารมณ์ที่เกิดกับใจของเรา มีแล้วอย่างนั้น ความกำหนัดพอใจในสิ่งเหล่านั้นก็ผูกพันวิญญาณ เพราะวิญญาณอันความกำหนัดพอใจผูกพันแล้ว ผู้นั้นก็เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ ผู้ที่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ ชื่อว่ตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่คิดอย่างนั้น ความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น ๆ ก็ไม่ผูกพันวิญญาณได้ ผู้นั้นก็ไม่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ ผู้ที่ไม่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ ชื่อว่าไม่ตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว บุคคลตั้งจิตไว้เพื่อหมายจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้แล้วว่า ในกาลไกลข้างหน้า นัยน์ตากับรูปเป็นต้นของเราจักเป็นอย่างนี้ เพราะความตั้งจิตอย่างนั้นเป็นปัจจัย ผู้นั้นก็เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ ผู้ที่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ ชื่อว่ามุ่งหมายสิ่งที่ยังไม่มาถึง บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะหมายได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้แล้วอย่างนั้น ก็ไม่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ ผู้ที่ไม่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ ชื่อว่าไม่มุ่งหมายสิ่งที่ตนยังไม่มาถึงแล้ว นัยน์ตากับรูปอย่างละสอง ๆ อันใดเกิดขึ้นจำเพาะหน้า ถ้าว่าความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น ๆ ผูกพันวิญญาณได้แล้ว บุคคลก็เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ ผู้เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ ชื่อว่าง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้า ถ้าความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น ๆ ไม่ผูกพันวิญญาณได้ บุคคลก็ไม่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ ผู้ที่ไม่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้า ท่านผู้มีอายุ เราเข้าใจเนื้อความธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยย่อ ตามความพิสดารอย่างนี้ ถ้าท่านทั้งหลายประสงค์ ก็จงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามความนั้นเถิด พระองค์ทรงแก้อย่างไร จงจำไว้อย่างนั้นเถิด ภิกษุเหล่านั้น ลาพระกัจจานะกลับมา เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลความนั้นให้ทรงทราบ พระองค์ทรงตรัสสรรเสริญพระกัจจานะว่า ภิกษุทั้งหลาย กัจจานะเป็นคนมีปัญญา ถ้าท่านถามความนั้นกะเรา แม้เราก็คงแก้เหมือนกัจจานะแก้แล้วอย่างนั้น ความของธรรมที่เราแสดงแล้วโดยย่อนั้น อย่างนั้นแล ท่านทั้งปวงจำไว้เถิด พระกัจจานะเป็นผู้ฉลาดในการอธิบายคำที่ย่อให้กว้างขวาง พระศาสดาทรงสรรเสริญในทางนั้น มีดังนี้เป็นตัวอย่าง
ยังมีธรรมภาษิตอื่นอีกของพระเถระ อันพระธรรมสังคาหกาจารย์ยกขึ้นสู่สังคีติ คือ มธุปิณฑิกสูตร และอุทเทสวิภังคสูตร ที่แจกธรรมอันพระศาสดาทรงแสดงแล้วโดยย่อเหมือนกัน และมธุรสูตร แสดงความไม่แตกต่างกันแห่งวรรณะสี่เหล่า ในมัชฌิมนิกาย

การรู้ทั่วถึงธรรม จำรู้จักถึงเอาความแห่งภาษิตที่ย่อได้โดยกว้างขวาง เหมาะแก่ภูมิแห่งตนผู้ปฏิบัติและแห่งอื่นอันตนสั่งสอน และจำรู้จักย่อถือเอาความแห่งภาษิตที่พิสดาร เพื่อทรงไว้เป็นหลักและสั่งสอนผู้อื่นให้รู้จักกำหนด ประการที่ต้น สงเคราะห์ในอัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาอันแตกฉานในอรรถคือเนื้อความ ประการที่หลัง สงเคราะห์ในธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาอันแตกฉานในธรรมคือหัวข้อ การแสดงแก่ผู้อื่นให้ประโยชน์สำเร็จในสองทางนั้น สงเคราะห์ในนิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาอันแตกฉานในนิรุตติ คือภาษาเข้าใจพูด และปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาอันแตกฉานในปฏิภาณ คือความฉลาดไหวพริบ การรู้ทั่วถึงธรรมอันยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่ตนและผู้อื่น สงเคราะห์ในปฏิสัมภิทาสี่อย่างนี้ พระสาวกผู้สามารถในทางนี้ย่อมเป็นกำลังใหญ่ของพระศาสดา ในการประกาศพระพุทธศาสนา พระกัจจานะเป็นเยี่ยมแห่งพระสาวกพวกนี้ จึงทรงยกย่องในที่เอตทัคคะเป็นพิเศษ

ครั้งหนึ่ง พระมหากัจจานะ อยู่ ณ เขาโกรก คือมีทางขึ้นด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นโกรก อีกนัยหนึ่งว่าอยู่ ณ ภูเขาชื่อปวัตตะแขวงเมืองกุรรฆระ ในอวันติชนบท อุบาสกคนหนึ่งชื่อ โสณกุฏิกัณณะ ผู้อุปฏฐากของท่านปรารถนาจะบวช ท่านได้ชี้แจงแก่โสณอุบาสกถึงการประพฤติพรหมจรรย์ลำบากอย่างไร แนะนำให้บำเพ็ญศาสนปฏิบัติในฆราวาส แต่โสณอุบาสกยังปรารถนาเพื่อจะบวช ได้อ้อนวอนขอให้ท่านสงเคราะห์เนือง ๆ มา ในที่สุดท่านรับบรรพชาให้ ในครั้งนั้นพระศาสดาประทานพุทธานุญาต ให้พระสงฆ์เป็นเจ้าหน้าที่รับอุปสมบทคนผู้ขอเข้าคณะแล้ว สงฆ์มีจำนวนภิกษสิบรูป ที่เรียกว่า ทสวรรค จึงให้อุปสมบทได้ ในอวันติทักขิณาชนบทมีภิกษุน้อย กว่าพระมหากัจจานะจะชุมนุมภิกษุเข้าเป็นสงฆ์ทสวรรคอุปสมบทโสณสามเณรได้ ต่อล่วงสามปีแล้ว ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระโสณะลาเพื่อจะไปเฝ้าพระศาสดาผู้เสด็จประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถีในเวลานั้น ท่านสั่งให้ไปถวายบังคมพระบาทแห่งพระศาสดาด้วยเศียรเกล้าตามคำของท่าน และให้กราบทูลถึงการปฏิบัติพระวินัยบางอย่าง อันไม่สะดวกแก่ภิกษุผู้อยู่ในชนบทนั้น มีการอุปสมบทนั้นดังกล่าวแล้วเป็นอาทิ เพื่อได้รับพระพุทธดำริแห่งพระศาสดา พระองค์ได้ทรงทราบจากพระโสณะแล้วได้ทรงอนุญาตผ่านปรน ในข้ออุปสมบทไม่สะดวกนั้น ประทานพระพุทธานุญาตว่าในปัจจันตชนบท คือแคว้นนอกจากมณฑลกลางเหมือนอย่างอวันติชนบท ในสงฆ์มีจำนวนห้ารูป ทั้งพระวินัยธร

พระมหากัจจานะ เป็นผู้มีรูปงาม มีผิวเหลือง ผิดจากเข้าใจกันว่าอ้วนล่ำ อุทรพลุ้ย เนื่องด้วยรูปสมบัติของท่าน มีเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบทว่า เศรษฐีบุตรเมืองโสเรยยะ เห็นท่านแล้ว นึกด้วยความลำพองว่า ถ้าได้ภรรยามีรูปอย่างท่านจะดีนักหนา ด้วยอำนาจบาปนั้น เพศแห่งเศรษฐีบุตรนั้นกลับเป็นสตรี ได้ความอายเป็นอย่างยิ่ง ต่อได้ขมาท่านแล้ว เพศจึงกลับเป็นบุรุษตามเดิม

พระมหากัจจานะนั้น ตามความในมธุรสูตร อยู่มาถึงภายหลังแห่งพุทธปรินิพพาน ในสูตรนั้นเล่าว่า ครั้งท่านอยู่ที่คุนธาวัน แขวงมธุรราชธานี พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรเสด็จไปหา ตรัสว่า พวกพราหมณ์ถือว่าพวกเขาเป็นผู้ประเสริฐบริสุทธิ์ เกิดจากพรหม ท่านเข้าใจอย่างไร พระมหากัจจานะทูลตอบว่า นั่นเป็นแต่คำบันลือของเขา ท่านชักอุทาหรณ์มาแสดงเป็นข้อ ๆ ที่วรรณะสี่เหล่าไม่ต่างอะไรกันดังนี้

๑. ในวรรณสี่เหล่านี้ วรรณะเหล่าใดเป็นผู้มั่งมี วรรณะเดียวกันและวรรณะอื่น ย่อมเข้าเป็นเสวกของวรรณะนั้น
๒. วรรณะใด ประพฤติอกุศลกรรมบถ เบื้องหน้าแต่มรณะวรรณะนั้น ย่อมเข้าสู่อบายเสมอกันหมด ไม่มีพิเศษ
๓. วรรณะใด ประพฤติกุศลกรรมบถ เบื้องหน้าแต่มรณะวรรณะนั้น ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกันหมด
๔. วรรณะใด ทำโจรกรรม ทำปรทาริกกรรม วรรณะนั้นต้องรับราชอาญาเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น
๕. วรรณะใด ออกบวช ตั้งอยู่ในศีลในธรรม วรรณะนั้นย่อมได้รับความนับถือ และได้รับบำรุง และได้รับคุ้มครองรักษาเสมอกันหมด

พระเจ้ามธุรราช ตรัสสรรเสริญธรรมภาษิตของพระเถรเจ้าแล้วแสดงพระองค์เป็นอุบาสก ถึงพระเถรเจ้ากับพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ ท่านทูลห้ามว่า อย่าถึงท่านเป็นสรณะเลย จนถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นสรณะของท่านเป็นสรณะเถิด พระเจ้ามธุรราชตรัสถามว่า เดี๋ยวนี้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เสด็จอยู่ ณ ที่ไหน ท่านทูลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเสียแล้ว พระเจ้ามธุรราชตรัสว่า ถ้าพระองค์ได้ทรงสดับว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ในที่ใด แม้ไกลเท่าไกล พระองค์คงจักเสด็จไปเฝ้าให้จงได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเสียแล้ว พระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ปรินิพพานแล้วนั้น กับพระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ
พระมหากัจจายนชื่อว่า พรหมบุตรเถระ มีรูปกายงามยิ่งกว่าพระเถระทั้งปวง เว้นไว้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียว เมื่อท่านไปบิณฑบาตที่ใด ผู้ที่พบเห็นต่างพากันสรรเสริญว่า พระบรมครูมาโปรดเราแล้ว ก็ชวนกันมาสักการะบูชาคารวะ เหตุว่ารูปท่านงามปานประหนึ่งว่า เป็นองค์พระพุทธเจ้า เมื่อพระเถระเห็นดังนั้น จึงคิดว่าเป็นเรื่องไม่สมควร จำจะนิรมิตกายให้แปรปรวนแปลกไปจากรูปเดิม รูปกายของท่านก็ปรากฎมาตราบเท่าทุกวันนี้ การที่เรียกท่านว่าพระควัมปติเถระ เหตุว่าท่านรูปงามยิ่งนัก จะเทศนาก็ไพเราะปานหนึ่งพระพุทธเจ้า