กรุงศรีอยุธยา

 

 

หลังกรุงแตก

ภายหลังที่กรุงศรีอยุธยาแตก ครั้งที่ ๒ ถึงแม้ว่าผู้คนจะล้มตายมากมายและถูกกวาดต้อนไปพม่า ก็ยังมีพวกที่หนีตาย เข้าไปอยู่ในป่าอีกไม่น้อย ส่วนเชลยไทยที่ถูกพม่าต้อนไปพม่า ปัจจุบันยังตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งคลองชะเวตาชอง หรือ คลองทองคำ ห่างจากเมืองมัณฑเลย์ ประมาณ ๑๓ กม. มีวัดระไห่เป็นศูนย์กลางหมู่บ้านและมีตลาดโยเดีย (เป็นคำที่ชาวพม่าเรียกคนอยุธยา) รวมทั้งมีการรำโยเดีย คล้ายท่าพรหมสี่หน้าแบบไทย ปรากฏอยู่เป็นหลักฐาน


ส่วนพวกคนไทยที่หนีตายไปอยู่ป่าและได้กลับมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น จึงน่าจะเป็นหลักฐานว่าคนฝั่งธนบุรีส่วนใหญ่จะเป็นคนกรุงเก่านั่นเอง นอกจากกลุ่มคนไทยส่วนแรกนั้น ก็ยังมีบางส่วนกลับมาทำมาหากินอยู่ในชุมชนเดิมสมัยกรุงศรีอยุธยายังไม่เสียแก่พม่า โดยอาศัยอยู่ทั้งในตัวเกาะเมือง และนอกเกาะเมือง และได้แบ่งการปกครองออกเป็น ๔ แขวง คือ แขวงรอบกรุง แขวงนคร แขวงอุทัย และแขวงเสนา จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๕

ศิลปวัตถุจากกรุ
มีการพบกรุสมบัติในสมัยกรุงศรีอยุธยา นับเป็นหลักฐานยืนยันถึงความรุ่งเรืองมั่งคั่ง ของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา และจากการที่จับคนร้ายที่ลักลอบขุดกรุที่วัดราชบูรณะ รวมกับที่กรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นต่อไปอีก หลังจากนั้นได้พบเครื่องทอง และสมบัติต่าง ๆ มากมาย


ทรัพย์สมบัติที่ขุดพบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ มีหลายประเภทส่วนใหญ่จะเป็น เครื่องราชูปโภคที่ทำเป็นชุดเชี่ยนหมาก ตัวถาดรูปยาวรีคล้ายใบพลู หูล้อมสุพรรณศรี จอกน้ำและลูกหมากทองคำ เครื่องตันหรือเครื่องทรง สำหรับพระมหากษัตริย์ เช่น กรองศอ สร้อยข้อมือ สร้อยคอ กำไล พาหุรัด ทองพระกรที่ล้วนแต่ทำเป็นลวดลายและฝังอัญมณีต่าง ๆ ที่วิจิตรงดงาม

รูปเคารพในทางศาสนา เช่น สถูปจำลองทำเป็นเจดีย์ทรงลังกา พระพุทธรูปปางมารวิชัยในซุ้มเรือนแก้ว ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ พระพุทธรูปทองคำดุน ปางมารวิชัย ในซุ้มเรือนแก้วและพระคชาธาร ทรงเครื่องพร้อมสัปคับ ประดับพลอยสี เป็นต้น

จากหลักฐานข้อมูลการค้นพบทั้งหมด สามารถจำแนกเครื่องทองที่ขุดได้จากกรุ พระปรางค์วัดราชบูรณะได้เป็น ๔ ส่วน
ส่วนที่ 1 ทองจากที่คนร้ายขุดได้ จะเป็นทองคำหนักทั้งสิ้น ประมาณ ๗๕ กก.
ส่วนที่ 2 เป็นเครื่องทองที่เป็นกองกลาง เนื่องจากเป็นวัตถุสิ่งของขนาดใหญ่ มีน้ำหนักไม่ตำกว่า ๑๐ กก.
ส่วนที่ 3 เป็นเครื่องทองที่กรมศิลปากรขุดได้ภายหลังเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๒,๑๒๑ ชิ้น ทั้งที่ทำด้วยทอง นาค เงิน รวมทั้งเพชรนิลจินดา มีน้ำหนักรวมทั้งสิ้นประมาณ ๑๙,000 กรัม พลอยหัวแก้วหัวแหวนและทับทิมหนัก ๑,๘๐๐ กรัม แก้วผลึกชนิดต่าง ๆ หนัก ๑,๐๕๐ กรัม และลูกปัดเงินกับทับทิมปนกันหนัก ๒๕๐ กรัม
ส่วนที่ 4 เป็นเครื่องทองส่วนที่ตกสูญหาย ประมาณว่าไม่ต่ำกว่า ๑๐ กก. รวมทั้งเครื่องทองที่ยึดคืนมาได้ ที่ไม่ถึง ๑ ใน ๑๐ ส่วน

จากที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า เครื่องทองที่บรรจุในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะแห่งเดียว นั้นมีทองคำหนักกว่า ๑๐๐ กก. นอกจากนั้นการที่กรุงศรีอยุธยามี พระปรางค์ เจดีย์ ศาสนวัตถุมากมาย ประกอบกับอดีตนั้นคนกรุงเก่ามีความเชื่อในเรื่อง การสืบอายุพระพุทธศาสนา โดยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลด้วย ทอง เงิน นาค แก้วแหวนต่าง ๆ น่าจะทำให้กรุงศรีอยุธยา เป็นอาณาจักรที่ร่ำรวยอุดมสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ และปัจจัยที่ทำให้ผู้คนในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา มีความพรั่งพร้อมก็คือ

ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้ง
เนื่องจากกรุงศรีอยุธยา เป็นที่รวมหรือชุมทางของ แม่น้ำลำคลองหลายสิบสาย เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ทั้งที่เป็น ธรรมชาติและที่ขุดขึ้นใหม่ภายหลัง ทำให้กรุงศรีอยุธยา เป็นแหล่งชุมชนทางน้ำ ซึ่งพงศาวดารเหนือได้กล่าวไว้ว่า "กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา เป็นเมืองท่าสำเภา และเมืองท่าน้ำ" ส่วนชาวเปอร์เซีย กล่าวว่า "เป็นเมืองแห่งนาวา"

ปัจจัยด้านศิลปะวัฒนธรรม

เนื่องจากกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ท่ามกลางอาณาจักรเก่าแก่โบราณมากมาย เช่น ทวาราวดี ขอม และสุโขทัย เป็นต้น แม้ว่าบางแห่งจะล่มสลายไปแล้ว แต่แบบอย่างแนวทางในการศึกษาเรียนรู้ในมรดกทางศิลปะวัฒนธรรม ยังคงอยู่ เช่น สุโขทัยจะมีฝีมือเป็นเอกทางด้านงานประติมากรรม ส่วนกรุงศรีอยุธยาเองนั้นจะเป็นเอกในด้านงานประณีตศิลป์ เป็นต้น