กรุงศรีอยุธยา

 

มหรสพ

เนื่องจากอาณาจักรอยุธยารุ่งเรืองยาวนานถึง ๔๑๗ ปี จึงมีมรดกทางวัฒนธรรม และประเพณีการละเล่นมากมาย หลักฐานที่ปรากฏตามพงศาวดาร จดหมายเหตุและวรรณคดี เช่น หนัง โขน ละคร ระบำต่าง ๆ การเล่นเบิกโรง โมงครุ่ม ระเบ็ง กุลาตีไม้ เทพทอง กระบี่กระบอง มวยปล้ำ หกคะเมน ไต่ลวด รำแพน ลอดบ่วง หุ่น เสภา และสักวา เมื่ออยุธยาล่มสลายลงการแสดงจึงตกทอดเป็นแบบแก่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ต่อมา แต่สำหรับอยุธยานั้นคงมีตกทอดในหมู่ชาวบ้านไม่มากนัก รวมทั้งยังมีมหรสพใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปมาแทน
ปัจจุบันมหรสพพื้นบ้านที่ยังคงนิยมเล่นกันอยู่ในอยุธยา คือ ลิเก ลำตัด ปี่พาทย์ และละครแก้บน

 

ลิเกอยุธยา

ลิเกชื่อดังเป็นชาวบ้านห้วยทราย ตำบลโพธิ์ลาว อำเภอมหาราช ทั้งสิ้น และมีลิเกในอยุธยาอยู่หลายอย่างกระจายอยู่ในอำเภอต่าง ๆ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมือง บริเวณหัวรอ ประตูชัย ตลาดสวนจิตร (ตลาดอุทุมพร) และแถวสถานีรถไฟ นับเป็นหมู่บ้านลิเกแหล่งใหญ่สุดของอยุธยา ส่วนใหญ่คณะลิเกจะไปเล่นในงานบวช งานศพ งานกฐิน งานผ้าป่า งานไหว้เจ้า และงานประจำปีของวัดต่าง ๆ ปัจจุบันเรื่องที่เล่นจะแต่งให้สอดคล้องกับยุคสมัย ส่วนเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่เคยนิยมแต่เดิมไม่นิยมเล่นกันเท่าใดนัก นอกจากในงานศพ

ลำตัด

ผู้เล่นลำตัดส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิม ต่างจากลิเกที่ผู้แสดงจะเป็นคนไทยล้วน ๆ เพราะลิเกต้องไหว้ครูฤาษี ซึ่งขัดกับหลักของศาสนาอิสลาม ปัจจุบันคณะลำตัดที่มีชื่อเสียงในอยุธยา จะมีอยู่ ๒ คณะ คือ คณะซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ และคณะคนไทยซึ่งเป็นชาวมุสลิม
การแสดงลำตัด เป็นการเฉีอนคารมกันด้วยเพลง (ลำ) โดยมีการรำประกอบ แต่ไม่ได้เล่นเป็นเรื่องอย่างลิเก และการแสดงต้องมีทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง และเป็นที่นิยมกันมาก เนื่องจากเป็นการแสดงโดยการใช้ไหวพริบปฏิภาณในการด้นกลอนสด ส่วนการประชันลำตัดระหว่าง ๒ คณะ จะใช้เสียงฮาของคนดูเป็นเกณฑ์ คณะใดได้เสียงฮาเสียงปรบมือมากกว่า ก็จะถือเป็นฝ่ายชนะ

สำหรับเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงลำตัด มีเพียงกลอง รำมะนา ฉิ่ง ฉาบ และกรับ เท่านั้น

ปี่พาทย์

อยุธยานับเป็นถิ่นที่มีวงปี่พาทย์แหล่งใหญ่แหล่งหนึ่ง ในท้องถิ่นภาคกลาง มีอยู่ด้วยกันหลายวง โดยสืบทอดหลักการทางเพลงดนตรีไทยจากบ้านครู จางวางทั่ว พาทยโกศล ไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด จึงมีเพลงไทยเก่าแบบโบราณอยู่มาก
การแสดงปี่พาทย์ จะใช้แสดงทั้งงานมงคลและงานอวมงคล เช่น งานบวช งานแต่ง งานศพ ฯลฯ และเครื่องใช้ที่เล่นจะขึ้นอยู่กับเจ้าภาพว่าต้องการเครื่องน้อยหรือเครื่องมาก

ละครแก้บน

ละครแก้บน มีปรากฎตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า ไม่ว่าจะเป็นละครโนรา ละครชาตรี ละครในหรือละครนอก ซึ่งเกี่ยวกับความเชื่อของผู้คนที่มีต่อสิ่งสักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เมื่อบนขอสิ่งใดแล้วและได้ผลสมตามความปรารถนาแล้ว ก็ต้องชดใช้
การแก้บนจะใช้การแสดงหรือละครประเภทใด ขึ้นอยู่กับผู้บน หากไม่ระบุมักแก้บนด้วยละครชาตรี ต่อมาระยะหลังนิยมใช้ละครนอก ซึ่งมิได้ยึดถือรูปแบบและขั้นตอนการแสดงแบบดั้งเดิมอีกต่อไป และการ "ยกเครื่อง" จัดเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของละครแก้บน โดยทำให้เสร็จในช่วงเที่ยงวัน

ละครแก้บนในอยุธยา มีหลายคณะในระบบครอบครัว งานแสดงจะมีมากในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม ส่วนใหญ่ในอดีตจะเป็นการแก้บนในเรื่องที่เกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วย การให้ได้มาในสิ่งที่ตนปราถนา กลายเป็นแก้บนในเรื่องอื่น ๆ


พุทธปฏิมากร

 

พระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงที่พบในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ที่รู้จักกันดีได้แก่ พระประธานวัดพนัญเชิง หรือพระพุทธไตรรัตนายก ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่ากันว่า "หลวงพ่อโต" พระพุทธประธานวัดมงคลบพิตร พระพุทธประธานวัดหน้าพระเมรุ และเศียรพระพุทธรูปวัดธรรมิกราช (อยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเจ้าสามพระยา) พระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ นั้น จะแตกต่างกันที่พระพักตร์ ซึ่งจะลำดับตามยุคสมัย ได้ดังนี้

พระพุทธไตรรัตนายก พระประธานวัดพนัญเชิง (หลวงพ่อโต)

พระพักตร์พระประธานวัดพนัญเชิงนี้ ค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม ไม่แสดงลักษณะเด่นชัดว่าเป็นศิลปอู่ทอง แต่มีเค้าโครงผสมผสานกับศิลปะก่อนกรุงศรีอยุธยา ถึง 26 ปี คือสมัยอโยธยาตอนปลาย เพราะพุทธลักษณะของพระพักตร์คลายความเคร่งเครียดลงไป น่าจะอยู่ในสมัยที่ชาวกรุงศรีอยุธยาเริ่มนับถือศาสนาพุทธแบบหินยาน

พระพุทธรูปวัดธรรมมิกราช

เป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ คงเหลือเพียงพระเศียร (ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา) พระพักตร์เป็นสี่เหลี่ยม เคร่งฌาน ชาวบ้านนิยมเรียกว่า " หลวงพ่อแก่ " ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะเป็นไปตามแบบของพระอู่ทองทั่วไป ในสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา พระพักตร์เช่นนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะของความมีอำนาจและพลังอันเข้มแข็ง เป็นสมัยการนับถือพระพุทธศาสนามหายาน ร่วมกับอาณาจักร " นครหลวง "

หลวงพ่อวัดมงคลบพิตร

เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น พระพักตร์มีลักษณะยังเป็นเหลี่ยมแต่ค่อนข้างรี เส้นพระขนงโค้งอ่อนหวาน แสดงถึงการผสมกับศิลปะสมัยสุโขทัย ซึ่งคงสร้างก่อนสมัยพระเจ้าทรงธรรม
ในคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 วิหารมงคลบพิตร ถูกไฟเผาผลาญจนทรุดโทรม เครื่องบนหักพังลงมาต้องพระเมาฬี และพระกรข้างขวาเสียหาย ต่อมาจึงซ่อมแซมบูรณะจนดีดังเดิม ส่วนพระวิหารได้สร้างขึ้นในภายหลังราวปี พ.ศ. 2498

พระประธานวัดหน้าพระเมรุ

เป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่พุทธลักษณะที่ปรากฏอยู่นั้นเป็นศิลปสมัยอยุธยาตอนกลาง ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง (แบบพระทรงเครื่อง) ด้วยมีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปก่ออิฐในเมรุทิศ เมรุรายวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งพระเจ้าปราสาททองสร้างขึ้น ส่วนพระประธานวัดหน้าพระเมรุ คงจะได้รับการปฏิสังขรณ์ในยุคสมัยนั้น
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ วัดนี้ใช้เป็นที่ลงพระนามสงบศึกกับพม่า จนกระทั่งคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 พม่าได้ใช้วัดนี้ตั้งเป็นกองบัญชาการ จึงรอดจากการถูกทำลาย


กรุงศรีอยุธยามรดกไทยและมรดกโลก

การอนุรักษ์โบราณสถานต่าง ๆ อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกรมศิลปากร ซึ่งได้เริ่มงานอย่างจริงจัง ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยเริ่มขุดแข่งบูรณะพระราชวังโบราณ วิหารพระมงคลบพิตร วัดพระศรีสรรเพชญ วัดพระราม วัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ก็ได้ดำเนินการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานต่าง ๆ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๐ จึงได้ประกาศ เขตอุทยานประวัติศาสตร์ มีพื้นที่ครอบคลุมโบราณสถานดังกล่าว มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น ๑๘๑๐ ไร่
ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ กรมศิลปากร ได้เริ่มจัดทำแผนแม่บท นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้ขยายขอบเขตพื้นที่ จากบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์เดิมให้ครอบคลุม เกาะเมืองทั้งเกาะ รวมทั้งบริเวณโดยรอบ รวมทั้งฟื้นฟูบรรยากาศของเมืองเก่า และสภาพแวดล้อม เช่น สร้างป้อมและกำแพงเมืองขึ้นมาใหม่ เป็นบางส่วน ตามแนวกำแพงเมืองเดิม ขุดลอกคูคลองโบราณให้ใช้สัญจร ได้สมจริง ตลอดจนพัฒนาย่านการค้าและหัตถกรรม ที่มีอยู่แต่โบราณ เป็นต้น

ปี พ.ศ. ๒๔๓๔ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( United Nation Education Science and Culture Organization) ได้คัดเลือกให้นครประวัติศาสตร์ศรีอยุธยา เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม นับเป็นเกียรติอันสูงส่ง ของไทย ที่นานาชาติได้เห็นคุณค่า และความสำคัญ อย่างยิ่งยวดของมรดกไทยอันมีคุณค่ายิ่งของไทย

โบราณสถานทั้งในเกาะเมืองและรอบเกาะเมืองมีอยู่มากมายหลายร้อยแห่ง เมื่อกาลเวลาผ่านไปก็ได้ถูกทำลายลงไป ในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ พบว่า ในบริเวณดังกล่าวมีโบราณสถานมากกว่า ๔๐๐ แห่ง แต่ต่อมาอีก ๒๐ ปี คือเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ โบราณสถานดังกล่าวได้ถูกทำลายไปจนเหลืออยู่เพียง ๒๔๙ แห่งเท่านั้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล ห่วงใยในมรดกของชาติในส่วนนี้เป็นอย่างยิ่ง สมควรที่ชาวไทยทุกหมู่ทุกเหล่าได้มีจิตสำนึก ในการอนุรักษ์มรดกไทย ซึ่งแม้แต่ประชาคมโลกก็ยังเห็นคุณค่าอันสูงส่งนี้ ให้ดำรงคงอยู่เป็นเกียรติประวัติ เป็นความภาคภูมิใจ ของประชาชาวไทยตลอดไป