กรุงเทพมหานคร
 

 

กรุงเทพมหานคร

 

หลักเมืองกรุงเทพมหานคร

การสร้างหลักเมืองเป็นประเพณีของไทยมาแต่สมัยโบราณ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการสร้างเมืองต่าง ๆ เพื่อให้เป็นสิ่งที่คู่กันกับเมืองที่สร้างขึ้น
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อทรงสร้างกรุงเทพมหานคร ฯ ได้ทรงประกอบพิธีสร้างหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือนหก ขึ้นสิบค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 ฤกษ์เวลาย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325 ได้ดวงชะตาของเมืองลงในแผ่นทองคำ ดังนี้
ลัคนาสถิตราศีเมษ กุมอาทิตย์
เกตุอังคารอยู่ราศรีพฤกษภ มฤตยูอยู่ราศีเมถุน
จันทร์ราศีกรกฎ เสาร์และพฤหัสราศีธนู
ราหูศุกร์ และพุธราศีมีน

เสาหลักเมืองเป็นไม้ชัยพฤกษ์มีไม้แก่นจันทร์ประทับนอก ขนาดยาว ๑๘๗ นิ้ว ลงรักปิดทอง มีเม็ดยอดสวมที่ปลายหลัก ภายในกลวงเป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชาตาพระนคร มียันต์โสฬสมงคล ทำด้วยแผ่นศิลาสำหรับรองเสาหลักเมือง มียันต์พระไตรสรณาคมน์ ทำด้วยแผ่นเงิน ปิดที่ปลายเสาหลักเมือง และ ยันต์องครักษ์
ธาตุทั้งสี่ทำด้วยแผ่นเงินเช่นกัน สำหรับปิดที่ต้นเสาหลักเมือง แล้วขุดดินในพระนครจากทิศทั้งสี่ ปั้นเป็นก้อน สมมติเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ ทำพิธีใส่ลงในหลุมสำหรับฝังเสาหลักเมือง แล้ววางแผ่นศิลาบนดินทั้งสี่ก้อน จากนั้นจึงเชิญ เสาหลักเมืองลงหลุมโดยวางบนแผ่นศิลา
หลักเมืองในครั้งนั้นไม่ได้มีสิ่งปลูกสร้างปกคลุมเหมือนปัจจุบัน มีเพียงศาลากันแดดกันฝนเท่านั้น ไม่มีเทพารักษ์รวมอยู่ด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ ตัวศาลเป็นรูปปรางค์ยอดตามแบบเดิม ที่กรุงศรีอยุธยา แล้วจัดพระราชพิธีบรรจุ พระชาตาพระนคร โดยจารึกลงบนแผ่นสุพรรณบัฎในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเชิญบรรจุบนยอดหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรมเก้าค่ำ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช 1215 ตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2396