กรุงเทพมหานคร
เสาชิงช้า
ตั้งอยู่หน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นเสาชิงช้าขนาดใหญ่ โครงยึดหัวเสาทั้งคู่ แกะสลักอย่างสวยงาม ทั้งหมดทาสีแดงชาด ตั้งอยู่บนแท่นหินขนาดใหญ่
เสาชิงช้าใช้ในพิธีโล้ชิงช้าซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีตรียัมปวาย เป็นการต้อนรับพระอิศวรซึ่งเป็นหนึ่งในสามเทพเจ้า ของศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดู เสด็จลงสู่โลกในวันขึ้นเจ็ดค่ำเดือนยี่ มีการแห่พระเป็นเจ้าไปถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อพระเป็นเจ้าเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์ก็ได้เชิญเทวดาองค์อื่น ๆ มาเฝ้าและมาร่วมพิธีด้วย ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระคงคา และพระธรณีเทวดาเหล่านี้ พราหมณ์จะแกะเป็นเทวรูปลงในไม้กระดานสามแผ่น เมื่อทำการบูชาในเทวสถานแล้ว จะนำไปปักในหลุมหน้าโรงพิธีนั่งดูโล้ชิงช้า หันหน้ากระดานเข้าหาที่มีพระยายืนชิงช้าจะมานั่ง เรียกว่ากระดานลงหลุม ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือนยี่
พระราชพิธีตรียัมปวาย ทำที่เทวสถานสำหรับพระนคร 3 เทวสถาน คือ เทวสถานพระอิศวร เทวสถานพระมหาวิฆเนศวร และเทวสถานพระนารายณ์ โลกบาลทั้งสี่ (พระยายืนชิงช้า และนาลิวัน) จึงต้องโล้ชิงช้าถวายและรับน้ำเทพมนตร์
ท้องสนามหลวง
ท้องสนามหลวง เป็นสนามกว้างใหญ่อยู่ทางด้านเหนือของพระบรมมหาราชวัง เป็นสถานที่สำคัญมาแต่เดิม ของกรุงเทพ ฯ แห่งหนึ่ง ในสมัยแรกของกรุงเทพ ฯ นั้น บริเวณนี้เรียกว่า ทุ่งพระเมรุเพราะเคยเป็น สถานที่ตั้งพระเมรุ พระราชทานเพลิงศพเจ้านายพระองค์ต่าง ๆ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่า ชื่อทุ่งพระเมรุนี้ฟังไม่เป็นมงคล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า ท้องสนามหลวง สืบมาจนถึงทุกวันนี้
ท้องสนามหลวง เป็นสถานที่สำหรับชาวพระนครได้พักผ่อน และเป็นสถานที่จัดงานพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในฤดูร้อนเป็นสถานที่เล่นว่าวปักเป้าและว่าวจุฬา รอบบริเวณสนามหลวง ล้วนเป็นที่ตั้งของสิ่งสำคัญคู่กรุงเทพ ฯ เช่น ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง กระทรวงกลาโหม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง มหาวิทยาลัยศิลปากร วัดมหาธาตุยุวราชรัง-สฤษดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ อนุสาวรีย์ทหารอาสา (สงครามโลกครั้งที่ 1) แม่พระธรณี และกระทรวงยุติธรรม
ถนนราชดำเนินในซึ่งต่อจากถนนราชดำเนินกลาง จะทอดผ่านด้านตะวันออกของท้องสนามหลวง ไปโดยตลอดรอบสนามหลวงจะปลูกต้นมะขามไว้โดยรอบเป็นที่ร่มรื่น สดชี่นสวยงามยิ่งนัก
พระบรมรูปทรงม้า
พระบรมรูปพระองค์นี้ เป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ตลอดจนพ่อค้า ประชาชน ทั้งปวงได้ร่วมใจกันสมทบทุนสร้างถวายโดยเห็นว่า พระองค์เสวยราชสมบัติมานานปีกว่า สมเด็จพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ในอดีตกาลและตลอดเวลาที่ครองราชย์อยู่พระองค์ท่านได้ทรงใช้ ความพยายามทุกวิถีทางที่จะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ อันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและอาณาประชาชน พระองค์ท่านจึงได้ทรงรับความรักใคร่และเคารพบูชาของชนทั้งปวง ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ประชาชนทุกหมู่เหล่า จึงร่วมใจกันจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายพระเกียรติแก่พระองค์ พร้อมใจกันบริจาคเงินถวายเป็นราชพลี สร้างพระบรมรูปของพระองค์ท่าน เป็นรูปทรงม้าหล่อด้วยโลหะ ขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริง ประดิษฐานไว้ ณ พระลานหน้าพระราชวังดุสิต
พระองค์ท่าน ได้ทรงพระกรุณาให้มีพระราชพิธีเปิดพระบรมรูปทรงม้าพระองค์นี้ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
พิพิธภัณฑ์นี้ อยู่ในเขตตอนหนึ่งในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เดิมตั้งอยู่ที่ถนนหน้าพระธาตุ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพ ฯ
การจัดพิพิธภัณฑ์ จัดโดยใช้พระที่นั่งต่าง ๆ แห่งพระราชวัง สถานมงคลเป็นที่ตั้งแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น "พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน" เป็นที่รวบรวมหนังสือ ตัวเขียน ใบลาน สมุดข่อย และหลักศิลาจารึกโบราณ ที่สำคัญที่สุดคือ ศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช "พระที่นั่งพุทไธสวรรค์" เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระพุทธสิหิงค์ "พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย" เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และเทวรูปต่าง ๆ ในศาสนาพราหมณ์ เป็นต้น
|