๒ บุญคูณลานหรือบุญเดือนยี่


เดือนยี่หรือเดือนสอง นักปราชญ์โบราณอีสานได้จัดการให้มีประเพณีในการทำบุญประจำเดือนนี้ คือบุญคูณลาน โดยท่านได้กล่าวไว้เป็นผญาว่า...

ฮอดเมื่อเดือนสองอย่าช้าข้าวใหม่ปลามัน
ให้เฮามาโฮมกันแต่งบุญประทายข้าว
เชิญให้มาโฮมเต้าอย่าพากันขี่ถี่
บุญคูณลานตั้งแต่กี้มาถ่อนซ่อยฮักษา


สำหรับมูลเหตุของเรื่องนี้มีปรากฎในหนังสือธรรมบทว่าในสมัยหนึ่งนางปุณณทาสีได้ทำขนมแป้งจี่(ข้าวจี่) ที่ทำจากรำข้าวอย่างละเอียดถวายแด่พระพุทธเจ้าและพระอานนท์ นางคิดว่าเมื่อพระพุทธองค์กับพระอานนท์รับแล้วคงไม่ฉันเพราะอาหารที่เราถวายไม่ใช่อาหารที่ดีหรือประณึตอะไร คงจะโยนให้หมู่กาและสุนัขกินเสียกลางทางพระพุทธเจ้าทรงทราบวาระจิตของนางและเข้าใจในเรื่องที่นางปุณณทาสีคิด จึงได้สั่งให้พระอานนท์ผู้เป็นพุทธอุปัฎฐากได้ปูลาดอาสนะลงแล้วประทับนั่งฉันสุดกำลังและในตอนท้าย หลังการทำภัตตกิจด้วยขนมแป้งจี่เรียบร้อยแล้ว พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมให้ฟังจนกระทั่งนางปุณณทาสีได้บรรลุโสดาบัน เป็นอริยอุบาสิกาเพราะมีข้าวจี่เป็นมูลเหตุ ด้วยควาเชื่อแบบนี้คนอีสานโบราณจึงได้จัดแต่งให้บุญข้าวจี่ทุกๆปี ไม่ได้ขาดดั่งที่ปรากฎในผญาซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า...

ยามเมื่อถึงเดือนสามได้พากันเอาบุญข้าวจี่
ตั้งหากธรรมเนียมนี้มีมาแท้ก่อนกาล
ได้เฮ็ดกันทุกบ้านทุกถิ่นเอาบุญ
อย่าได้พากันไลเสียฮีตบุญคองเค้า


สถานที่นวดข้าวเรียกว่า"ลาน" การนำข้าวที่นวดแล้วมากองให้สูงขึ้นเรียกว่า "คูณลาน" คนอีสานสมัยก่อนมีอาชีพทำนาเป็นหลักและต้องการจะทำบุญด้วยการบำเพ็ญทาน ก็ได้จัดให้ลานข้าวเป็นสถานที่ทำบุญ การทำบุญในสถานที่ดังกล่าวเรียกว่า"บุญคูณลาน"โดยกำหนดเอาเดือนยี่หรือเดือนสองเป็นเวลาทำเพราะมีกำหนดทำเอา ในเดือนยี่นี้เองจึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า"บุญเดือนยี่"


สำหรับประฐมมูลเหตุของเรื่องนี้มีอยู่ว่าในสมัยของพระกัสปะพุทธเจ้าได้มีชาวนาสองพี่น้องทำนาร่วมกัน ยามเมื่อข้าวเป็นน้ำนม น้องชายต้องการที่จะทำข้าวมธุปยาสถวายแด่พระสงฆ์ มีพระกัสสปะพุทธเจ้าเป็นประธาน ชวนพี่ชาย แต่พี่ชายไม่เห็นด้วยจึงได้ทำการแบ่งนากันคนละครึ่งพอได้กรรมสิทธิในที่นาแล้วก็เอาข้าวในนาของตนทำบุญถึง ๙ ครั้ง คือในเวลาที่ข้าวเป็นน้ำนม๑ ในเวลาที่ข้าวเป็นข้าวเม่า ๑ ในเวลาเก็บเกี่ยวข้าว ๑ ในเวลาที่จักตอกมัดข้าว ๑ ในเวลาที่มัดข้าวเป็นฟ่อน ๑ ในเวลาที่กองข้าวไว้ในลาน ๑ ในเวลาที่ทำเป็นลอม ๑ ในเวลาที่นวดข้าว ๑ ในเวลาที่ขนข้าวใส่ยุ้งฉาง ๑ ในการถวายทานทุก ๆ ครั้ง น้องชายตั้งความปรารถนาการบรรลุเป็นอรหันตสาวกเป็นองค์แรก ในสมัยสมณโคดมพุทธเจ้า ครั้นมาถึงศาสนาของพระพุทธโคดม น้องชายได้มาเกิดเป็นพราหมณ์ชื่อว่า"โกณฑัญญะ" และได้ออกบวชเป็นพุทธสาวก และได้บรรลุพระอรหันต์เป็นองค์แรก รวมทั้งได้รับเอตทัคคะคือ เป็นผู้เลิศในรัตตัญญู


ส่วนพี่ชายได้ถวายข้าวเพียงครั้งเดียวคือในเวลาที่ทำนาแล้ว และได้ตั้งอธิฐานว่า ขอให้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลครั้นมาถึงศาสนาของพระพุทธโคดมได้มาเกิดเป็น สุภัททปริพพาชกและได้บวชในพระพุทธศาสนา แต่ไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ในเวลาที่พระองค์จวนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพานได้เข้าทูลถามความสงสัย พอเวลาฟังเทศน์จบลงได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี เป็นพระอริยะสาวกองค์สุดท้ายในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่
การถวายข้าวเป็นทานถือได้ว่าเป็นกาลทานชนิดหนึ่งและเป็นการทำบุญที่มีอนิสงส์มากดังที่ได้กล่าวแล้ว นักปราชญ์โบราณอีสานจึงได้ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบมาจนถึงทุกวันนี้.