๑๑ บุญเข้าพรรษาหรือบุญเดือนสิบเอ็ด
หลังจากที่หมู่พระภิกษุสงฆ์ได้อยู่จำพรรษา ๓ เดือน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ การออกจากขอบเขตจำกัดไปพักแรมที่อื่นได้เรียกว่า "ออกพรรษา" ประเพณีการทำบุญในเดือนนี้ที่นอกเหนือไปจากการทำบุญตักบาตร ให้ทานรักษาศีลแล้ว การทำบุญตามประเพณีท้องถิ่นอื่นๆ ในช่วงระยะนี้เรียกว่า "บุญออกพรรษา"
ในส่วนของพระสงฆ์แล้ว มีการเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันและกัน โดยไม่มีการถือโทษโกรธเคืองกัน โดยพระเถระจะตักเตือนสงฆ์ให้เล็งเห็นความสำคัญในการปวารณา เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยความบริสุทธ์ใจ เพื่อจะได้มีการแก้ไขปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น โดยปกติแล้ว คนเรามักจะไม่เห็นความผิดของตน มักจะมีความคิดว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกต้องเสมอ ซึ่งก่อนจะมีการปวารณาก็ได้มีการสวดญัตติหรือการตั้งญัตติก่อน
ในวันออกพรรษามักจะมีกิจกรรมในการบูชาทางพุทธศาสนาหลายอย่าง โดยเฉพาะแถบอีสานบางท้องถิ่น ได้จัดให้มีการไหลเรือไฟ ตามประทีปโคมไฟ บางท้องถิ่นทำปราสาทดอกผึ้งไปถวายพระ นอกจากนี้ ยังมีการแข่งเรือหรือที่คนอีสานเรีอกว่า "ซ่วงเฮือ" อีกด้วย ทั้งนี้
ขึ้นอยู่กับความเชื่อและการสืบทอดประเพณีท้องถิ่นที่บรรพบุรุษปฎิบัติสืบๆ กันมา จนกระทั่งว่าประเพณีเหล่านั้นไม่สามารถที่จะแยกออกไปจากวิถีชีวิตของคนอีสานในแต่ละท้องถิ่นได้
สำหรับประเพณีการไหลเรือไฟนั้น ได้กลายมาเป็นประเพณีของชาวจังหวัดนครพนมและเป็นกิจกรรมที่เชิดหน้าชูตาชองจังหวัด ในวันเพ็ญเดือน ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกๆ ปี จะมีการไหลเรือไฟ ทั้งนี้เพื่อเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าได้ประทานไว้ให้กับพระยานาค โดยได้มีเรื่องเล่าไว้ในปุณโณวาทสูตรว่า ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำ นัมมทานที อันเป็นสถานที่อยู่ของพระยานาค และพวกพระยานาคได้อาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองนาค แล้วกระทำการถวายสักการะบูชาพระพุทธเจ้า ก่อนเสด็จกลับพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมให้พระยานาคฟัง
พอจบธรรมเทศนาพระยานาคได้ทูลขอให้พระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทเอาไว้ ณ ริมฝังแม่น้ำนัมมทานที เพื่อให้ นาค คนธรรม์ ครุฑ ตลอดจนเทวดาและมนุษย์ ได้พากันกราบไหว้สืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
เรือไฟในสมัยก่อนทำด้วยท่อนกล้วยหรือไม้ไผ่ที่ต่อเป็นลำเรือหรือแพ ยาวประมาณ ๕ - ๖ วา ภายในบรรจุขนม ข้าวต้ม ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียงหรือประทีปจุดบนเรือให้สว่างไสว แล้วปล่อยไหลไปตามลำแม่น้ำ แต่ในสมัยปัจจุบันได้ประยุกด์เอาวัสดุที่มีความคงทน สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ เช่น พวกโครงเหล็ก ขวดบรรจุน้ำมัน (ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ไม่ข้อวิจารณ์ในที่นี้)
นอกจากจะมีการไหลเรือไฟทางน้ำแล้ว ในบางท้องถิ่นที่อยู่ไกลจากแหล่งน้ำ ก็ได้จัดให้มีการไต้ประทีป โดยพระสงฆ์สามเณร ทายก ทายิกา ได้จัดทำเรือไฟขึ้นภายในวัดตรงหน้าโบสถ์ ใช้เสาไม้และต้นกล้วย ๔ ต้น พื้นปูด้วยกาบกล้วย มีหัวท้ายรูปลักษณะคล้ายๆ เรือ ตกกลางคืนหลังจากทำวัตรสวดมนต์เสร็จแล้วจะนำประทีป ธูป เทียนมาจุดบูชาพระพุทธเจ้า โดยถือคติเดียวกันกับการไหลเรือไฟ
นอกจากนี้ บางท้องถิ่น ก็ได้ทำปราสาทผึ้งไปถวายพระ โดยถือว่า การถวายของที่มีความบริสุทธิ์แก่พระนั้นได้อานิสงส์มาก ผึ้ง หรือภาษาอีสานเรียกว่า "เผิ้ง" เป็นของที่บริสุทธิ์ไม่มีมลทิน เป็นสิ่งที่ทำให้เรามองเห็นถึงความอุตสาหะพยายาม และความสามัคคีในการอยู่ร่วมกันแบบแมลงผึ่ง นักปราชญ์โปราณอีสานได้คิดกุศโลบายนี้ และเอามาสอนคน จึงได้ให้มีการทำปราสาทผึ้งไปถวายพระ
ในอีกความเชื่อหนึ่งคือ ได้มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทและเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสามัคคีเช่นเดียวกันว่า ในสมัยหนึ่ง พวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพี เกิดวิวาทกัน พระพุทธเจ้าเสด็จไปตักเตือนห้ามปราม แต่ก็ยังไม่เชื่อฟัง พระองค์จึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่ในป่า "รักขิตวัน" โดยมีช้างและลิงเป็นพุทธอุปัฎฐาก ในขณะที่จำพรรษาในป่ารักขิตวันนั้น ช้างได้ตักน้ำ และต้มน้ำร้อนถวาย ฝ่ายลิงหารวงผึ้งและน้ำผึ้ง ตลอดทั้งผลไม้ในป่ามาถวาย จนกระทั่งออกพรรษา ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีเกิดสำนึกได้ถึงโทษของการวิวาท จึงไปกราบทูลอารธนาให้พระพุทธเจ้าเสด็จกลับ
ในหนังสือธรรมบทได้กล่าวอีกว่า ในระหว่างที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาอยู่นั้น วันหนึ่ง ลิงเกิดความลิงโลดดีใจที่พระพุทธเจ้ารับประเคนรังผึ้ง เกิดปีติดีใจอยู่ไม่เป็นสุขตามประสาลิง กระโดดโลดเต้นจากกิ่งไม้ไปทั่วราวป่า เกิดพลาดไปจับได้กิ่งไม้ผุ กิ่งไม้หักตกลงมาทับลิงตายในขณะที่กำลังดีใจที่ได้ทำบุญ จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์
สำหรับพิธีถวาย หลังจากที่ชาวบ้านได้ช่วยกันทำจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยภายในปราสาทนั้น จะมีขนม ข้าวต้ม กล้วย อ้อย เสื่อ หมอน เป็นต้น แล้วตั้งขบวนแห่ลงวัด เวียนขวารอบศาลาโรงธรรม ๓ รอบ แล้วนำไปถวายพระ ในเมื่อพระท่านรับแล้ว ก็จะอนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี
นอกจากประเพณีต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว บางท้องถิ่นยังจัดให้มีการ "เส็งกลอง" (ตีกลองแข่งกัน) การส่วงเฮือ (แข่งเรือ) และตักบาตรเทโว ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน และได้บุญด้วยขณะเดียวกัน.
|