๓ บุญข้าวจี่หรือบุญเดือนสาม
ข้าวจี่ เป็นอาหารชนิดหนึ่งของคนอีสาน อาจจะถือกำเนิดขึ้นโดยการที่ขณะที่นั่งฝิงไฟในหน้าหนาว และเป็นช่วงที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จใหม่ๆ โดยธรรมชาติของข้าวใหม่ก็มีกลิ่นหอมอยู่แล้ว ในขณะที่นั่งฝิงไฟอยู่นั้นก็เอาข้าวเหนียวที่นึ่งแล้วมาปั้นโรยเกลือทาไข่ไก่ นำมาอังไฟหรือนำมาย่างไฟให้เกรียมก็ถือว่าสุกแล้วและรับประทานได ้เพราะโดยอุปนิสัยเนื้อแท้ของคนอิสานแล้วเป็นคนที่ขยันและช่างคิดอยู่แล้วและต่อ มาได้นำข้าวจี่นี้ไปถวายพระจนกระทั่งได้กลายมาเป็นประเพณีงานบุญข้าวจี่มาจนถึงทุกวันนี้ การทำบุญให้ทานมีข้าวจี่เป็นต้นเรียกว่า"บุญข้าวจี่"และนิยมทำกันในช่วงเดือนสามข้างแรม จนกระทั้ง มีคำผญาอีสานโบราณท่านได้แต่งผญาไว้ว่า... "เดือนสามค้อยเจ้าหัว คอยปั้นข้าวจี่ ข้าวจี่บ่ใส่น้ำอ้อยจัวน้อยหลั่งน้ำตา" เกี่ยวกับเรื่องประเพณีบุญเดือนสามนี้ นักปราชญ์อีสานโบราณได้แต่งผญาไว้ว่า...
ฮอดเดือนสามท้องฟ้าปลอดโปร่งสดใส
ไปทางใดเห็นแต่คนใจบุญซั่วแซวเต็มคุ้ม
เหลียวเห็นซุมสาวน้อยพากันปันข้าวจี่
เฮือนละห้าสี่ปั้นพอได้ออกใส่บุญ
พ่องกันบีบข้าวปุ้นตกแต่งอาหาร
มีเทิงหวานเทิงคาวหนุ่มสาวมาโฮมต้อม
สำหรับมูลเหตุของเรื่องนี้มีปรากฎในหนังสือธรรมบทว่าในสมัยหนึ่งนางปุณณทาสีได้ทำขนมแป้งจี่(ข้าวจี่) ที่ทำจากรำข้าวอย่างละเอียดถวายแด่พระพุทธเจ้าและพระอานนท์ นางคิดว่าเมื่อพระพุทธองค์กับพระอานนท์รับแล้วคงไม่ฉันเพราะอาหารที่เราถวายไม่ใช่อาหารที่ดีหรือประณึตอะไรคงจะโยนให้หมู่กา และสุนัขกินเสียกลางทางพระพุทธเจ้าทรงทราบวาระจิตของนางและเข้าใจในเรื่องที่นางปุณณทาสีคิดจึงได้สั่งให้ พระอานนท์ผู้เป็นพุทธอุปัฎฐากได้ปูลาดอาสนะลงแล้วประทับนั่งฉันสุดกำลังและในตอนท้าย หลังการทำภัตตกิจด้วยขนมแป้งจี่เรียบร้อยแล้ว พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมให้ฟังจนกระทั่งนางปุณณทาสีได้บรรลุโสดาบัน เป็นอริยอุบาสิกาเพราะมีข้าวจี่เป็นมูลเหตุ ด้วยความเชื่อแบบนี้ คนอีสานโบราณจึงได้จัดแต่งให้บุญข้าวจี่ทุกๆปี ไม่ได้ขาด ดั่งที่ปรากฎในผญาซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า...
ยามเมื่อถึงเดือนสามได้พากันเอาบุญข้าวจี่
ตั้งหากธรรมเนียมนี้มีมาแท้ก่อนกาล
ได้เฮ็ดกันทุกบ้านทุกถิ่นเอาบุญ
อย่าได้พากันไลเสียฮีตบุญคองเค้า
นอกจากนี้แล้วได้มีการเพิ่มการทำบุญอีกอย่างหนึ่งเข้ามาในเดือนนี้ นั้นก็คือบุญมาฆะบูชา เพราะว่าวันมาฆะบูชานั้นเป็นวันที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงวางรากฐานของพุทธศาสนา โดยพระองค์ได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ท่ามกลางพระอรหันต์สาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูป ณ วฬุวันมหาวิหาร ในเวลาตะวันบ่ายคล้อย ซึ่งเป็นวันเพ็ญเดือนสามหรือที่ภาษาบาลีเรียกว่า"มาฆมาส" สำหรับโอวาทปาฏิโมกข์หรือหลักการของพุทธศาสนาที่สำคัญที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้นั้นมี ๓ ข้อ คือ...
๑.การไม่ทำบาปทั้งปวง
๒. การทำความดีให้ถึงพร้อม
๓. การทำจิตใจให้บริสุทธิผ่องแผ้ว
การทำบุญในวันมาฆะบูชานี้ เพื่อเป็นการบูชาให้ถูกต้องตามหลักการของคำว่า "มาฆะบูชา"ที่แปลว่า การบูชาพระรัตนตรัยในวันเพ็ญเดือนมาฆะหรือเดือนสามนอกเหนือจากการบูชาตามปกติของวันสำคัญทางพุทธศาสนาด้วยการสมทานศีล ฟังธรรม ถวายทาน และเวียนเทียนแล้ว ควรจะมีการปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ดังที่ได้กล่าวแล้วด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชา ซึ่งเป็นการบูชาที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าเป็นยอดแห่งการบูชาทั้งปวง..
|