สมัยศรีวิชัย
อยู่ในห้วงเวลาพุทธศตรวรรษ ที่ ๑๓-๑๘ มีราชธานีอยู่ที่เกาะสุมาตรา ทางด้านตะวันตกของ เมืองปาเล็มบังในปัจจุบัน ได้แก่ อาณาเขตไปถึงเกาะชะวา และแหลมมะลายูขึ้นเหนือมาถึงเมือง นครศรีธรรมราชสมัยนั้นมีชื่อว่า ตามพรลิงค และเมืองไชยา (สมัยนั้นชื่อว่าครหิ) นำศิลปวิทยาของ สกุลช่างศรีวิชัย เข้ามาแพร่หลายในภาคใต้ของไทยในปัจจุบัน บรรดาศิลปวิทยาดังกล่าวก็มีที่มาจาก อินเดีย เช่น อาณาจักรทวาราวดี
พระพุทธรูปในสมัยนี้ จะมีลักษณะองค์พระอวบกว่าสมัยทวราวดี คล้ายกับพระพุทธรูปครั้งราชวงศ์ปาละในอินเดีย พระเกตุมาลาเป็นต่อมสั้น ขมวดพระเกศเล็กและละเอียด และมักจะมีใบโพธิ์ ติดอยู่ทางด้านหน้าของพระเกตุมาลา พระพักตร์แบน พระนลาฏเรียบ พระขนงโก่ง พระโอษฐ์ไม่แบะ พระหนุไม่ป้าน ชายสังฆาฏิมีทั้งแบบสั้นเหนือพระอุระ และชนิดยาวถึงพระนาภีเช่นเดียวกับสมัยทวาราวดี ชายจีวรมักจะซ้อนกันเป็นริ้ว อยู่บนพระอุราเบื้องซ้าย พระหัตถ์และบัวรองฐานกลีบใหญ่ มีกลีบเล็กแซม เกษรละเอียด
สมัยลพบุรี
อยู่ในห้วงเวลาพุทธศตรรรษที่ ๑๗-๑๙ สมัยขอมมีอำนาจแผ่เข้ามาถึงบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้ตั้งเมืองลพบุรีเป็นเมืองของอุปราช และตั้งเมืองหน้าด่านออกไป ทางเหนือถึงเมืองศรีสัชนาลัยและสุโขทัย ทางใต้ถึงเมืองเพชรบุรี
พระพุทธรูปสมัยนี้ มีทั้งฝ่ายลัทธินิกายมหายานและลัทธิ นิกายหินยาน มีลักษณะพระเกตุมาลาแบ่งออกได้เป็นสี่แบบ คือ เป็นต่อมแบบก้นหอยเป็นแบบฝาชีครอบ เป็นแบบมงกุฎเทวรูป และเป็นแบบดอกบัว เครื่องศิราภรณ์มีแบบกระบังหน้าแบบมี ไรพระศกเสมอ และแบบทรงเทริด (แบบขนนก) เส้นพระศก ทำอย่างเส้นผมคนทั่วไป พระพักตร์กว้าง พระโอษฐแบะ พระหนุป้าน พระกรรณยาวจรดพระอังสา
การห่มจีวร ถ้าเป็นพระยืนจะห่มคลุมส่วนพระนั่ง มีทั้งห่มคลุมและห่มดอง ชายสังฆาฏิ ยาวถึงพระนาภี ขอบอันตรวาสก (สบง) ข้างบนเป็นสัน สำหรับพระทรงเครื่องจะมีฉลองพระศกกำไลแขน และประคด
บัวรองฐานมีทั้งแบบบัวคว่ำบัวหงายและแบบบัวคว่ำอย่างเดียวกับบัวหงายอย่างเดียว
สมัยเชียงแสน
อยู่ในห้วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๒๒ อยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย มีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง เชียงแสนเก่า ชาวไทยได้เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้มาแต่โบราณ ดังนั้นพระพุทธรูปในพื้นที่นี้ ซึ่งให้ชื่อว่าสมัยเชียงแสนจึงเป็นฝีมือช่างไทย เราสามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ รุ่น
รุ่นแรก ที่เรียกกันว่ารูปสิงห์หนึ่ง น่าจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบปาละของอินเดีย มีลักษณะองค์พระอวบ พระรัศมีเป็นต่อมกลมคล้ายดอกบัวตูม เส้นพระศกใหญ่เป็นต่อมกลมหรือเป็นก้นหอยไม่มีไรพระศก พระพักตร์กลมสั้น พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็ก พระหนุป้านพระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือพระอุระด้านซ้าย ตรงชายมักทำเป็นแฉกหรือแบบเขี้ยวตะขาบ
ฐานมีบัวรองมีทั้งบัวคว่ำบัวหงาย มีกลีบแซมและมีเกสรกับแบบฐานเอียงแบบโค้งออก
รุ่นที่สอง ที่เรียกกันว่ารุ่นสิงห์สอง ส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนรุ่นแรก แต่องค์พระจะอวบน้อยกว่า และชายสังฆาฏิจะยาวลงมาอยู่เหนือพระนาภี
รุ่นหลัง ที่เรียกกันว่ารุ่นสิงห์สาม เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นแรกค่อนข้างมาก ทำตามแบบสุโขทัยเป็นส่วนใหญ่ กล่าว คือ พระรัศมีเป็นเปลว เส้นพระศกละเอียดมีไรพระศกกับระหว่างเส้นพระเกศากับพระนลาฏ ชายสังฆาฏิอ้างถึงพระนาภี ฐานเอียงแบบโค้งออก |