สมัยอยุธยา
อยู่ในห้วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๓ ในขั้นต้นน่าจะมีที่มาจากสมัยอู่ทอง ต่อมาในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ศิลปสมัยสุโขทัยแพร่หลายมาถึงอยุธยามากขึ้น ช่างจึงสร้างพระพุทธรูปตามแบบสุโขทัย แต่ไม่งามเท่า มาถึงรัชสมัยพระเจ้าประสาททอง ได้มีการสร้างพระพุทธรูปด้วยศิลาทรายแบบเขมร ปลายสมัยอยุธยา นิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบมหายาน
ลักษณะโดยทั่วไป วงพระพักตร์และพระรัศมีทำตามแบบสุโขทัย ที่ต่างกันคือ มีไรพระศก และสังฆาฏิใหญ่สำหรับพระทรงเครื่อง พระรัศมีทำเป็นก้นหอยหลายชั้น บ้างก็เป็นแบบมงกุฎของเทวรูปสมัยลพบุรี ถ้าทรงเครื่องใหญ่มักทำเป็นมงกุฎแบบพระมหากษัตริย์ ถ้าทรงเครื่องน้อย มักเอาแบบมาจากศิลปะสุโขทัย ต่างกันที่ในสมัยอยุธยาจะมีครีบยื่นออกมาสองข้างเหนือพระกรรณ
ยังมีพระพุทธรูปสกุลช่างทางใต้ พบมากที่นครศรีธรรมราช จึงเรียกว่าสมัยอยุธยาแบบนครศรีธรรมราช ลักษณะเหมือนสมัยเชียงแสนรุ่นแรก ลักษณะทั่วไปพระรัศมีเป็นต่อมกลางคล้ายดอกบัวตูม เส้นพระศกใหญ่ พระโอษฐกว้างกว่าสมัยเชียงแสน ชายสังฆาฏิอยู่เหนือพระอุระ ชายจีวรใหญ่มีหลายแฉกซ้อนอยู่ใต้ชายสังฆาฏิ พระอุระนูน องค์พระอวบนั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย ฐานไม่มีบัวรอง ชนิดไม่มีบัวรองก็ไม่เหมือนบัวแบบเชียงแสน
สมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงปัจจุบัน มีลักษณะผสมกันของแบบสุโขทัย และแบบอยุธยา มีที่ต่างกันคือ พระเกตุมาลาและพระรัศมีสูงกว่า เส้นพระเกษาละเอียดกว่า มีวิวัฒนาการตามลำดับ ดังนี้
สมัยรัชกาลที่ ๑ และ รัชกาลที่ ๒ คงทำตามแบบอยุธยา
สมัยรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม
สมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้า ฯ ให้แก้ไขพุทธลักษณะ ให้คล้ายคนธรรมดามากยิ่งขึ้น ได้แก่ ตัดพระเกตุมาลาออก คงมีแต่พระรัศมีเป็นเปลวอยู่บนพระเศียร
สมัยรัชกาลที่ ๕ พระพุทธรูปกลับมีพระเกตุมาลาอีก
สมัยรัชกาลปัจจุบัน เมื่อคราวฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ได้สร้างพระพุทธรูปปางลีลา มีลักษณะเหมือนมนุษย์สามัญ แต่มีศิลปแบบสุโขทัยปนอยู่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระพุทธรูปโดยพระราชนิยมขึ้น ๒ ปาง คือ พระพุทธรูปประทับนั่ง ปางประทานพร และพระพุทธนวราชบพิตร เป็นปางมารวิชัย |