จังหวัดสุโขทัย
น้ำอภิเษกจากจังหวัดสุโขทัย มีอยู่ ๖ แห่งด้วยกันคือ น้ำกระพังทอง น้ำพระพังเงิน น้ำกระพังโพยสี น้ำโซกชมภู่ น้ำบ่อแก้ว และน้ำบ่อทอง
สถานที่ประกอบน้ำอภิเษก คือวัดพระมหาธาตุ อำเภอศรีสัชนาลัย
น้ำกระพังทอง
กระพังทอง
เป็นสระรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒ เส้น ๑๐ วา ยาวสามเส้น ลึกประมาณวาเศษ น้ำขังอยู่ตลอด กลางกระพังมีเกาะ และมีพระสถูปเจดีย์ยุคสุโขทัย อยู่กลางเกาะ ๑ องค์ กระพังทองนี้สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ปัจจุบันตั้งอยู่ริมทางหลวงสายสุโขทัย - ตาก ณ ตำบลเมืองเก่า ห่างจากที่ทำการอำเภอเมืองสุโขทัยประมาณ ๑๒ กิโลเมตร
น้ำกระพังเงิน
กระพังเงิน
เป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒ เส้น ยาว ๓ เส้น ๑๐ วา ลึกประมาณ ๑ วา ๑ ศอก มีเกาะอยู่กลางสระและมีพระอุโบสถตั้งอยู่บนเกาะ ๑ หลัง กระพังเงินมีน้ำขังอยู่ตลอดปี ตั้งอยู่ห่างจากพระพังทองไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑ กิโลเมตร ที่ตำบลเมืองเก่า
น้ำกระพังช้างเผือก
กระพังช้างเผือก
เป็นกระพังรูปไข่ ยาว ๓ เส้น ๑๐ วา กว้าง ๒ เส้น ลึกประมาณ ๑ วา กระพังนี้อยู่นอกเขตกำแพงเมืองเก่าสุโขทัย ห่างจากกระพังเงิน ๓ กิโลเมตร ปัจจุบันน้ำในกระพังช้างเผือกแห้ง
กระพังโพยสี
ชื่อกระพังโพยสีมีอยู่ในศิลาจารึกพระเจ้ารามคำแหง แต่ไม่ปรากฎว่าในเขตกำแพงเมืองเก่าสุโขทัยมีชื่อกระพังนี้ จึงมีการสันนิษฐานเป็นสองนัยว่า กระพังโพยสีนั้นอยู่นอกกำแพงเมืองนัยหนึ่ง อีกนัยหนึ่งสันนิษฐานว่า กระพังที่มีอยู่ทั้ง ๓ แห่ง ดังกล่าวแล้ว คือกระพังเงินอยู่ทางด้านตะวันตก กระพังทองอยู่ทางด้านตะวันออก และกระพังสออยู่ทางด้านเหนือ โดยมีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นคำว่ากระพังโพยสีในศิลาจารึกจึงเป็นกระพังทั้งสามเหล่านี้
น้ำโซกชมภู่
โซก
คือ ธารน้ำไหลออกมาจากต้นน้ำบนภูเขา เป็นน้ำซับที่ไหลผ่านมาตามซอกเขาโซกชมภู่ เป็นน้ำที่ไหลซึมออกจากเขาตระโหงกวัว ผ่านช่องพระร่วงลองดาบ ไหลผ่านมาตามตีนเขา น้ำจากโซกชมภู่เป็นน้ำในสะอาด บริเวณริมโซกมีก้อนหินใหญ่น้อยประดับเรียงรายอยู่สองข้าง และมีต้นชมภู่ป่าขึ้นเรียงรายอยู่ทั่วไป มีเรื่องเล่ามาแต่โบราณว่า พระร่วงได้มาลับพระแสงดาบที่โซกชมภู่นี้ เมื่อลับพระแสงดาบเสร็จแล้ว ได้ลองความคมของพระแสงดาบ โดยฟันลงไปที่สันเขาเป็นเหตุให้เขาขาด ปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวเรียกว่า ช่องพระร่วงลองดาบ และหินที่โซกชมภู่นี้ใช้ลับมีดได้เป็นอย่างดี
น้ำบ่อแก้ว
บ่อแก้ว
เป็นบ่อน้ำที่กรุด้วยศิลาแลง ลึกประมาณ ๒ วาเศษ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของลำแม่น้ำยม ตรงกันข้ามกับวัดพระบรมธาตุ (พระพุทธปรางค์) ห่างจากวัดบรมธาตุประมาณ ๒ กิโลเมตร อยู่ข้างแนวทางเสด็จ ซึ่งเป็นถนนคดติดต่อไปยังพระแท่นศิลาอาสน์ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จากการสันนิษฐาน บ่อแก้วนี้คงจะสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย การที่เรียกว่าบ่อแก้วก็เนื่องจากน้ำในบ่อนี้ใสสะอาด เมื่อนำมาใส่ขวดขาวแล้วจะไม่ทราบว่ามีน้ำอยู่ในนั้น คือน้ำใสเหมือนแก้ว ความศักดิ์สิทธิ์ของบ่อนี้ ในสมัยโบราณถือว่าน้ำในบ่อที่ใสบริสุทธิ์นี้เทวดาเป็นผู้ประสาทให้มีขึ้น เมื่อจะทำพิธีมงคลอันใดก็จะทำพลีกรรมเอาน้ำในบ่อนี้ มาทำน้ำพระพุทธมนต์เพื่ออาบหรือประพรมถือว่าเป็นศิริมงคลแก่ผู้ใช้ ทางราชการได้ทำพิธีพลีกรรมเอาน้ำในบ่อแก้วนี้ ไปเป็นน้ำสาบานในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาและเป็นมุรธาภิเษก
บ่อทอง
บ่อทอง
เป็นบ่อน้ำที่ขุดในระหว่างดินดาน ประกอบด้วยก้อนศิลาแลง ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ ขุดเป็นสระลึกประมาณ ๖ ศอก จากคำบอกเล่าของผู้ที่ทราบประวัติมีว่า เดิมแต่สมัยโบราณ ได้มีการขุดค้นหาแร่ทองคำในบ่อนี้ เพื่อไปถลุงทำฝักเพกายอดพระปรางค์ และหล่อพระพุทธรูปที่วัดพระบรมธาตุ บ่อนี้อยู่ทางฝั้งตะวันออกของลำน้ำยม ตรงกันข้ามกับวัดพระบรมธาตุ (พระพุทธปรางค์) อยู่ห่างจากบ่อแก้วประมาณ ๑ กิโลเมตร ห่างจากวัดพระบรมธาตุประมาณ ๓ กิโลเมตร อยู่ข้างแนวทางเสด็จต่อเนื่องกันไปจากบ่อแก้ว การที่ชื่อว่าบ่อทอง คงเนื่องจากบ่อนี้ขุดหาแร่ทองคำแล้วก็มีน้ำไหลซึมมาจากดินดาน จึงมีน้ำขังอยู่ตลอดปีไม่เคยแห้ง น้ำในบ่อทองนี้สีหลืองเหมือนสีทอง ใสเย็นและจืดสนิท ผู้เดินทางผ่านไปมาในฤดูแล้งได้อาศัยดื่มกิน และถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาล
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก
ทางราชการได้ทำพลีกรรมเอาน้ำจากแหล่งต่างๆ ที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ในเขตจังหวักสุโขทัยดังกล่าวแล้ว มาประกอบพิธีในวิหารวัดพระบรมธาตุ (วัดพระมหาธาตุ) หรือที่เรียกกันว่า วัดพระปรางค์ เพราะมีพระมหาเจดีย์ คือพระปรางค์สร้างด้วยศิลาแลงฝีมือปราณีต ลวดลายสวยงาม ฐานทักษิณสร้างเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ยาวด้านละ ๑๑ วา สูง ๒๐ วา พระปรางค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้มาจากลังกาทวีป รอบพระปรางค์มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน เรียกตามศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแห่งว่า เวียงผา นับว่าเป็นของแปลกและน่าชมมาก เพราะเอาศิลาแลงแท่งใหญ่เกลากลมเป็นต้น ๆ สูงกว่า ๒ เมตร วัดรอบแท่งได้ ๓ เมตรครึ่ง มาตั้งเรียงรายกันอย่างเสาพะเนียด แล้วนำศิลาแลงแท่งใหญ่เป็นกรอบทับและเป็นขื่อประตู เวียงผานี้สร้างในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง สร้างอยู่ ๓ ปี จึงเสร็จ แต่ตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมน่าจะสร้างมาก่อนหน้านั้นแล้ว พ่อขุนรามคำแหงมาปฏิสังขรณ์
วัดพระบรมธาตุเคยเป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ของข้าราชการเมืองสวรรคโลกมาแต่โบราณ เป็นสถานที่สวดมนต์น้ำมุรธาภิเษกมาโดยลำดับทุกรัชกาล วัดนี้ตั้งอยู่ตำบลศรีสัชชนาลัย อำเภอศรีสัชชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
จังหวัดนครปฐม
น้ำอภิเษกจากจังหวัดนครปฐมมีอยู่ ๔ แห่งด้วยกันคือ น้ำกลางหาวบนองค์พระปฐมเจดีย์ น้ำสระพระปฐมเจดีย์ น้ำสระน้ำจันทร์ และน้ำกลางแม่น้ำนครชัยศรี
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก คือ พระปฐมเจดีย์
น้ำกลางหาวบนองค์พระปฐมเจดีย์
น้ำกลางหาวบนองค์พระปฐมเจดีย์ เป็นน้ำฝนบริสุทธิ์ ซึ่งได้ทำพิธีรองรับบนองค์พระปฐมเจดีย์ อันเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระโสนและพระอุตตร ได้อัญเชิญมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๙๗ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์แห่งอินเดีย
น้ำสระพระปฐมเจดีย์
พระปฐมเจดีย์ เป็นสระที่ขุดมามาเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งสร้างองค์พระปฐมเจดีย์ จึงเป็นสระน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ อันเนื่องด้วยองค์พระปฐมเจดีย์ ดังได้กล่าวมาแล้ว
น้ำสระแม่น้ำจันทร์
สระน้ำจันทร์
เป็นสระเก่าแก่ อยู่ใกล้บริเวณพระราชวังสนามจันทร์ในปัจจุบัน พระราชวังสนามจันทร์น่าจะได้ชื่อมาสระน้ำแห่งนี้ กล่าวกันว่าในสมัยโบราณ ครั้งนครปฐมเป็นราชธานี ได้ใช้น้ำในสระนี้ประกอบพิธี เพื่อความศักดิ์สิทธิ์และศิริมงคลมาแล้ว
น้ำกลางแม่น้ำนครชัยศรี
น้ำกลางแม่น้ำนครชัยศรี
เป็นน้ำพิธีที่ตักจากลางแม่น้ำนครชัยศรีตรงปากคลองบางแก้ว ชื่อของแม่น้ำสายนี้สืบเนื่องมาจากชื่อเมืองนครปฐมแต่สมัยโบราณ ซึ่งชื่อว่าเมืองนครชัยศรี มีความหมายว่าเมืองแห่งชัยชนะ เป็นมงคลนาม
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก
พระปฐมเจดีย์
เป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งของจังหวัดนครปฐม การประกอบพิธีน้ำอภิเษกของจังหวัดนี้ จึงใช้ปริมณฑลของวิหารใหญ่ คือวิหารหลวง ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้มีการเพิ่มเติมและบูรณะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
จังหวัดนครศรีธรรมราช
น้ำอภิเษกจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมีอยู่ ๖ แห่งด้วยกันคือ น้ำบ่อวัดหน้าพระลาน น้ำบ่อวัดเสมาชัย น้ำบ่อวัดเสมาเมือง น้ำบ่อวัดประตูขาว น้ำห้วยเขามหาชัย และน้ำปากนาคราช
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก คือ วัดพระมหาธาตุ
น้ำบ่อหน้าวัดพระลาน
น้ำบ่อวัดหน้าพระลาน
นั้นถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ น้ำในบ่อใสสะอาด และมีน้ำหนักผิดปกติกว่าน้ำในบ่ออื่น เชื่อกันว่าผู้ที่ได้ดื่มน้ำในบ่อนี้แล้วจะมีสติปัญญาดี และมีบุญวาสนา จะได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ การตักน้ำจากบ่อนี้ จะต้องตักจากด้านทิศอิสาณของบ่อ
น้ำบ่อวัดเสมาเมือง
วัดเสมาเมือง
ถือว่าเป็นวัดหลักบ้านหลักเมืองมาแต่โบราณ บ่อน้ำของวัดเป็นบ่อที่มีความศักดิ์สิทธิ์ใช้น้ำในบ่อนี้ประกอบพิธีสำคัญ ๆ ในทางราชการ
น้ำบ่อวัดเสมาชัย
วัดเสมาชัย
อยู่ติดกับวัดเสมาเมือง และถือว่าเป็นวัดหลักบ้านหลักเมืองอีกวัดหนึ่งเช่นเดียวกับวัดเสมาชัย และเป็นวัดชัยมงคล น้ำในบ่อนี้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้ทำพิธีสำคัญ ๆ ในทางราชการเช่นเวลามีศึกสงครามจะใช้น้ำในบ่อนี้มาทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมกองทหาร เพื่อความมีชัยในการรบ
น้ำบ่อวัดประตูขาว
น้ำในบ่อนี้มีประวัติเล่ากันมาว่า เจ้าอาวาสองค์สำคัญของวัดนี้ได้ทำการปลุกเสกน้ำในบ่อนี้ เจ้าอาวาสองค์นี้เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์สำเร็จทางไสยศาสตร์ทำให้น้ำมีความศักดิ์สิทธิ์ ใช้ประกอบทำน้ำพระพุทธมนต์ ในงานพระราชพิธีต่างๆ
น้ำห้วยเขามหาชัย
น้ำห้วยเขามหาชัย เรียกตามชื่อของภูเขามหาชัย ถือว่าเป็นน้ำที่มีโชคชัย ใช้เป็นน้ำในพระราชพิธีต่างๆ ร่วมกับน้ำจากบ่ออื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้ว
น้ำบ่อปากนาคราช
มีประวัติเล่ากันมาว่า น้ำในบ่อนี้เป็นน้ำของพระยานาคราช ลำน้ำบ่อปากนาคราชมีลักษณะคดเคี้ยว คล้ายตัวพระยานาค มีน้ำไหลอยู่ตลอดปีไม่ขาด สายน้ำนี้เกิดจากธารน้ำเล็ก ๆ หลายสายไหลมารวมกันในแอ่งน้ำเล็ก ๆ รูปร่างคล้ายอ่างน้ำ ในที่ใกล้แอ่งน้ำนี้มีต้นไม้อยู่ 3 ชนิด คือต้นใบแร็ด (ทางเมืองนครใช้ห่อยาสูบ) อยู่ ๑ หมู่ ไม้ไผ่ ๑ กอ หวาย ๑ กอ ครั้งเจ้าพระยานครได้จัดให้คนเฝ้าห้ามผู้ใดตัดและทำอันตราย ไม้ไผ่ใช้ทำกระบอกใส่น้ำ ใบแร็ดใช้ทำจุกปากกระบอกน้ำ และหวายใช้ผูดมัดกระบอกน้ำเข้าด้วยกัน ใช้ในโอกาสที่ต้องตักน้ำในบ่อนี้มาใช้ในพระราชพิธีต่าง
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก
สถานที่ประกอบพิธีใช้อุโบสถพระวิหารหลวง ซึ่งเป็นพระอุโบสถของวัดพระบรมธาตุ เป็นอุโบสถที่สร้างติดกับองค์พระบรมธาตุ เป็นอุโบสถที่สำคัญที่สุดในภาคใต้
|