จังหวัดสุราษฎร์ธานี
น้ำอภิเษกจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีอยู่มากแห่งด้วยกัน จากอำเภอต่าง ๆ ๗ อำเภอ คือ อำเภอเมืองฯ อำเภอไชยา อำเภอกาญจนดิฐ อำเภอบ้านนาสาร กิ่งอำเภอพระแสง อำเภอเกาะสมุย และอำเภอท่าขนอน รวม ๒๑ แห่งด้วยกัน
สถานที่ประกอบน้ำอภิเษก คือ วัดพระมหาธาตุ
น้ำคลองท่าเพชร
คลองท่าเพชร อยู่ที่ตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นลำคลองใหญ่และยาว ต่อเนื่องจากปากน้ำบ้านดอน และคลองท่าทอง ต้นน้ำเกิดจาก เทือกภูเขาหลวงในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนต้นน้ำเป็นคลองเล็ก ๆ และลำห้วย น้ำใสสะอาด น้ำที่ใช้ตักมาจากคลองท่าเพชรบริเวณหน้าวัดท่าเพชร (วัดสาวนาราม) การที่ได้ชื่อว่า ท่าเพชร เพราะมีหินหรือปูนเพชร เป็นแผ่นใหญ่หนาประมาณ ๑ เมตร ยาวประมาณ ๒ เมตร มีสีเทาเรียกกันว่าปูนเพชรหรือหินเพชร มีมานานแล้วไม่ทราบว่ามีมาแต่สมัยใด และมีภูเขาอยู่ห่างจากคลองประมาณ ๒ กิโลเมตร ติดต่อกันสองลูก เรียกว่า เขาท่าเพชร
น้ำบ่อวัดพระธาตุ
บ่อวัดพระธาตุ ตั้งอยู่ที่อำเภอไชยา เป็นบ่อพิเศษอยู่ในบริเวณพุทธาวาส คือ เขตของพระบรมธาตุ ข้างพระวิหารเก่าซึ่งสร้างคู่กันมากับองค์พระธาตุ สันนิษฐานว่าเป็นบ่อน้ำสำหรับพิธีกรรมทางศาสนามาแต่เดิม วัดพระธาตุเป็นวัดโบราณสร้างมาแล้วกว่าพันปี เป็นสถานที่ศักสิทธิ์สูงสุดกว่าบรรดาวัดอื่นๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาแต่โบราณกาลตราบจนทุกวันนี้
น้ำบ่อวัดแก้ว
วัดแก้ว ตั้งอยู่ที่อำเภอไชยา เป็นวัดโบราณอายุเกินกว่าพันปีเช่นเดียวกับวัดพระธาตุ มีโบราณสถานสมัยศรีวิชัยที่สำคัญ สันนิษฐานว่า ต้องเคยเป็นวัดที่มีความสำคัญคู่กันกับวัดพระธาตุ น้ำในบ่อวัดแก้วจึงเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองมาแต่โบราณ
น้ำบ่อเขานางเอ (บ่อน้ำเดชราชา)
บ่อเขานางเอ อยู่หน้าถ้ำเขานางเอ อยู่ที่อำเภอไชยา เชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีกรรม ทรางโบราณสถานบริเวณนี้แสดงให้เห็นว่า ในสมัยโบราณเป็นศูนย์กลางความเจริญ มีวัดเรียกว่าวัดหลวง มีสระน้ำใหญ่ขนาดสระน้ำประจำเมือง ในสมัยที่เมืองไชยาเป็นราชธานี สถานที่แห่งนี้น่าจะเป็นสถานที่สำหรับทำพิธีเกี่ยวกับความเป็นพระราชา
น้ำคลองไชยา
คลองไชยา อยู่ในเขตอำเภอไชยา คำว่าไชยาเป็นมงคลนาม และใช้เป็นชื่อเมืองที่เก่าแก่อายุกว่าพันปี น้ำในคลองไชยาจึงถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับน้ำในแม่น้ำคงคาของอินเดีย ตามจารีตของชาวอินเดียที่นำเข้ามาสั่งสอนตั้งแต่สมัยนั้น
น้ำคลองคงคาชัย
คลองคงคาชัย อยู่ในอำเภอไชยา เคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตั้งแต่ครั้งที่เมืองไชยากวาดล้างพม่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กองทัพชาวเมืองไชยาได้ชัยชนะ ต่อมาจึงได้ใช้เป็นที่ดำเกล้า หรืออาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับเกียรติในทางราชการ
น้ำคลองท่าชนะ
คลองท่าชนะ อยู่ในอำเภอไชยา ได้นามนี้ตามที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ ยกกองทัพมาขับไล่พม่าทางปักษ์ใต้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อตอนยกทัพกลับได้ทรงหยุดสร้างวัดที่ตำบลนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ และได้มอบเชลยศึกจำนวนหนึ่งเป็นของวัด จึงให้ชื่อว่าวัดท่าชนะ ทำให้คลองนี้และตำบลนี้มีชื่อว่าท่าชนะไปด้วย นับเป็นมงคลนาม
น้ำเขาแก้ว (หรือห้วยเขาแก้ว)
เขาแก้ว เป็นเขาเล็ก ๆ อยู่ในเขตตำบลทุ่งกง อำเภอกาญจนดิษฐ์ มีวัดอยู่ ๑ วัด เรียกว่าวัดเขาแก้ว มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่าแต่เดิมบนยอดเขานี้มีแก้วส่องไปไกลถึงทะเลบ้านดอน ต่อมาได้มีผู้มาเอาแก้วบนเขานี้ไปเสีย คนจึงเรียกเขานี้ว่าเขาแก้ว ที่เชิงเขามีน้ำพุใสสะอาดอยู่แห่งหนึ่ง น้ำจากน้ำพุแห่งนี้เรียกว่าน้ำเขาแก้ว นำไปประกอบพระราชพิธี
น้ำคลองราม
คลองราม อยู่ในตำบลพลายวาศ อำเภอกาญจนดิษฐ์ มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อ บ้านโพราม และมีวัดที่หมู่บ้านนี้ชื่อวัดราม และมีคลองชื่อคลองราม โบราณวัตถุในหมู่บ้านดังกล่าวนี้ไม่ปรากฎ จึงสันนิษฐานว่า ชื่อรามนี้มาจากผู้ที่บุกเบิกเข้าไปตั้งถิ่นฐาน ณ ชุมชนแห่งนี้
น้ำคลองไชยคราม
คลองไชยคราม อยู่ในเขตหลายตำบล ของอำเภอกาญจนดิษฐ์ หนึ่งในตำบลเหล่านั้นคือตำบลไชยคราม ตอนต้นน้ำของคลองนี้เรียกว่าคลองไชยคราม ตอนปลายน้ำของคลองนี้ซึ่งออกทะเลเรียกว่า คลองท่าทอง เดิมทั้งสองคลองนี้เป็นคนละคลองกัน น้ำในคลองไชยครามเป็นน้ำจืด ส่วนน้ำในคลองท่าทองเป็นน้ำเค็ม ในสมัยที่เมืองท่าทอง หรือเมืองกาญจนดิษฐ์ตั้งอยู่ที่บ้านท้อน ในตำบลท่าทอนปัจจุบัน ก่อนตั้งเมืองสุราษฎร์ธานี ที่ตลาดบ้านดอนริมแม่น้ำตาปีปัจจุบัน พระวิสูตรสงครามรามราชภักดิ์ หรือที่ชาวบ้านเรียก พระท่าทอง เป็นเจ้าเมือง เห็นว่าควรเอาน้ำจืดในคลองไชยครามให้ไหลมาสู่คลองท่าทอง เพื่อราษฎรจะได้อาศัยใช้บริโภค จึงได้ขุดคอคอดที่บ้านวัดประดู่ น้ำจืดในคลองไชยครามจึงไหลมาบรรจบกับน้ำในคลองท่าทองมาจนถึงปัจจุบัน
น้ำห้วยรัตนโกศัย
ห้วยรัตนโกศัย อยู่ในตำบลท่าเรือ อำเภอบ้านนาสาร โดยมีต้นน้ำอยู่ที่ตำบลทุ่งเตา แล้วไหลลงแม่น้ำตาปีที่ตำบลท่าเรือ เป็นห้วยเล็ก ๆ ยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘ นายอำเภอนาสารกับนายอำเภอพุนพินไปดูเส้นเขตแดนระหว่างอำเภอ พบห้วยแห่งนี้ไหลตัดเป็นเส้นตรงตลอดด้านที่ติดต่อกันของสองอำเภอ จึงให้ถือเป็นเขตแดนระหว่างสองอำเภอ พระพิไชยเดชะ (เลียบ กาญจนสุวรรณ) นายอำเภอบ้านนาสาร ครั้งนั้นเห็นว่าน้ำในห้วยใสสะอาดประดุจแก้ว ประกอบกับชาวบ้านในแถบนั้นถือว่าเป็นห้วยอันศักดิ์สิทธิ์ จึงขนานนามว่าห้วยรัตนโกศัย
น้ำคลองแม่น้ำตาปี
คลองแม่น้ำตาปี เป็นแม่น้ำสายสำคัญในภาคใต้ ต้นน้ำเกิดจากภูเขาหลวง อำเภอท่าศาลา ไหลผ่านหลายอำเภอในสองจังหวัดคือสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ความยาว 380 กิโลเมตร คลองแห่งนี้เดิมชื่อ แม่น้ำหลวง ครั้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสลำแม่น้ำนี้ เห็นว่าเป็นแม่น้ำใหญ่มีน้ำไหลตลอดปี จึงพระราชทานนามใหม่ว่าแม่น้ำตาปี ตามประวัติเล่าสืบกันมาว่า ต้นน้ำของแม่น้ำสายนี้ชาวบ้านถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ มีการทำศาลขึ้นบูชาที่วังเทวดา กิ่งอำเภอพระแสง โดยถือว่าเป็นที่สถิตย์ของเทวดายอดน้ำ และในดังวังก็ถือว่าเป็นที่สถิตย์ของนาคราช เฉพาะที่ท่าพิกุลที่ตักน้ำอภิเษกนั้นเป็นคุ้งน้ำวน ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เล่ากันว่าในสมัยก่อนในวันธรรมสวนะจะมีจรเข้ใหญ่ลอยตัวอยู่เหนือน้ำเป็นประจำ
น้ำคลองเทพา
คลองเทพา เป็นลำธารเล็ก ๆ เกิดจากเขานุ้ย ตำบลพ่วงพรมคร อำเภอบ้านนาสาร ไหลลงแม่น้ำตาปีที่ท่าบ้านเทพา ตำบลพ่วงพรมคร ความยาว ๒๐ กิโลเมตร มีน้ำไหลอยู่ตลอดปี คลองเทพานี้ได้ชื่อมาอย่างไรไม่ปรากฎที่มา ชาวบ้านนับถือว่าเป็นคลองศักดิ์สิทธิ์มีเทวดารักษา
น้ำคลองบางสวัสดิ์
คอองบางสวัสดิ์ ชาวบ้านเรียกกันว่า คลองบางสวรรค์ อยู่ที่ตำบลอิปัน กิ่งอำเภอพระแสง ไหลจากเขาครอบน้ำ ลงสู่คลองอิปัน ยาวประมาณ 10 กิโลเมตร ตอนต้นน้ำมีน้ำจากควนเขาหลายแห่ง ไหลมารวมกัน น้ำที่ไหลมาแต่ละแห่งโดยมากเป็นน้ำที่ไหลผ่านห้วยหนองซึ่งเป็นน้ำที่ขุ่นข้น แต่เมื่อไหลลงสู่ลำธารแล้วกลับกลายสภาพเป็นน้ำใสสะอาด ชาวบ้านถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ มักนำไปเสกเป็นน้ำพระพุทธมนต์ให้คนไข้ดื่ม หรือประพรมศีรษะแก้ป่วยไข้
น้ำธารเสด็จ
ธารเสด็จ เป็นธารน้ำที่สวยงาม อยู่ที่ตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะสมุย ต้นน้ำเกิดจากภูเขาปะหา แล้วไหลลงสู่ทะเลทางด้านทิศตะวันตก มีน้ำใสสะอาดและไหลอยู่ไม่ขาดสายตลอดปี
การที่ได้ชื่อว่าธารเสด็จนั้นเนื่องจากว่า ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ พระยาวิชิตภักดิ์ศรีสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองไชยาได้ตามเสด็จด้วย และได้นำเสด็จพระราชดำเนินมาที่ธารสายนี้ พระองค์ได้สรงน้ำที่แอ่งแห่งหนึ่งของธารสายนี้ แล้วได้มีลายพระหัตถ์ไว้ที่หินแห่งหนึ่งว่า ธารเสด็จ จึงได้ชื่อนี้แต่นั้นมา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการได้ให้นำน้ำธารเสด็จไปเข้าพิธีอภิเษก
น้ำธารน้ำเมืองชัย
ธารน้ำเมืองชัย เป็นธารน้ำที่สวยงามมาก อยู่ที่ตำบลเกาะพงัน อำเภอเกาะสมุย ต้นน้ำไหลจากยอดเขาหรา ซึ่งเป็นยอดเขาสูงสุดในตำบลในตำบลเกาะพงัน ไหลลงสู่ทะเลทางทิศตะวันตกของยอดเขา น้ำในธารแห่งนี้ไหลไม่ขาดสายตลอดปี ชาวบ้านนับถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ น้ำแห่งนี้ได้นำมาใช้ในพิธีอภิเษกครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
น้ำคลองไกรษร
คลองไกรษร อยู่ที่อำเภอท่าขนอน ชื่อนี้มีมาช้านานแล้วไม่ทราบที่มาของชื่อแต่เนื่องจากมีชื่อเป็นเดช จึงได้นำเอาน้ำจากแหล่งนี้ไปใช้ในพิธีทำน้ำอภิเษกตลอดมา
น้ำคลองพระแสง
คลองพระแสง อยู่ที่อำเภอท่าขนอน มีชื่อนี้มาช้านานแล้ว ไม่ทราบที่มาของชื่อ แต่เนื่องจากมีชื่อเป็นเดช จึงได้ใช้น้ำจากแหล่งนี้ไปใช้ในพิธีทำน้ำอภิเษกตลอดมา
น้ำคลองเบญจา
คลองเบญจา อยู่ในอำเภอท่าขนอน มีชื่อเป็นมงคลนาม มีชื่อนี้มาช้านาน ไม่ทราบที่มาของชื่อ แต่เนื่องจากมีชื่อเป็นมงคลนาม จึงได้ใช้น้ำจากแห่งนี้มาใช้ในพิธีทำน้ำอภิเษกตลอดมา
น้ำคลองยัน
คลองยันต์ อยู่ในอำเภอท่าขนอน มีรูปร่างคดเคี้ยวคล้ายรูปยันต์ ถือว่าเป็นมงคล จึงได้ใช้น้ำจากแห่งนี้มาทำน้ำอภิเษกตลอดมา
น้ำคลองสุข
คลองสุข ชาวบ้านเรียก คลองศรีสุข ยู่ในอำเภอท่าขนอน ได้ชื่อนี้มาช้านานแล้ว ไม่ทราบที่มาของชื่อนี้ เนื่องจากมีชื่อเป็นมงคลจึงได้ใช้น้ำจากแหล่งนี้มาทำน้ำอภิเษก
ตลอดมา
น้ำคลองนารายณ์
คลองนารายณ์ อยู่ในอำเภอท่าขนอน ได้ชื่อนี้มาช้านานแล้ว ไม่ทราบที่มาของชื่อนี้ เนื่องจากมีชื่อเป็นเดช จึงได้ใช้น้ำจากแหล่งนี้มาทำน้ำอภิเษกตลอดมา
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก
เป็นวัดที่นับถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์กว่าวัดทั้งหลายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ พระวิหารหลวงในวัดพระธาตุ ที่ใช้ประกอบทำน้ำอภิเษก ก็มีหลักฐานว่าสร้างมาพร้อมกับองค์พระบรมธาตุ จึงเป็นพระวิหารที่ศักดิ์สิทธิ์
วัดพระธาตุ ได้มีมาแล้วตั้งแต่สมัยศรีวิชัย คือกว่าหนึ่งพันสองร้อยปีมาแล้ว มีร่องรอยทางโบราณคดีอยู่มาก ทั้งทางศาสนา และวัฒนธรรมสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน
จังหวัดภูเก็ต
น้ำอภิเษกจากจังหวัดภูเก็ตมีอยู่ ๒ แห่งด้วยกันคือ น้ำเขาโต๊ะแซะ และน้ำเขาโตนไทร
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษกคือ วัดพระทอง
น้ำเขาโต๊ะแซะ
เขาโต๊ะแซะ อยู่ในตัวเมืองภูเก็ต สูงประมาณ ๒๕๐ เมตร รูปทรงคล้ายฝาชี ตามประวัติมีอยู่ว่า เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีเศษมาแล้ว มีชาวชะวาคนหนึ่งชื่อ โต๊ะแซ่ เป็นผู้ถือศีลเคร่งครัด เที่ยวธุดงค์มาถึงภูเก็ต เห็นเขาลูกนี้เหมาะที่จะเป็นที่พัก จึงได้อยู่จำศีลภาวนาอยู่บนยอดเขา พวกที่ไปทำเหมืองตามบริเวณเชิงเขาลูกนี้ เห็นนายโต๊ะแซ่ ในระยะห่างเป็นครั้งคราว เข้าใจว่าเป็นเทพ จึงเล่าต่อกันมา
บนยอดเขาลูกนี้มีบ่อน้ำ และมีธารน้ำใสสะอาดผุดขึ้นตลอดปี ประชาชนนับถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์นำไปใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ต่อมานายโต๊ะแซ่ได้หายสาบสูญไป แต่เชื่อยังอยู่ จึงได้ตั้งชื่อเขาลูกนี้ว่าเขาโต๊ะแซ่ เมื่อเวลาผ่านไปชื่อนี้ได้เพี้ยนเป็น โต๊ะแซะ มาจนถึงทุกวันนี้
น้ำเขาโตนไทร
น้ำตกโตนไทร อยู่ที่ตำบลเทพสตรี อำเภอถลาง ตัวน้ำตกอยู่บนเขาพระแทวซึ่งเป็นภูเขาที่สูงสุดของอำเภอถลาง เขาพระแทวได้ชื่อมาจากบุคคลผู้หนึ่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชื่อพระแทวนำผู้คนมาตั้งถิ่นฐานบริเวณภูเขาเทือกนี้ เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป ต่อมาได้หายสาบสูญไปแล้วมาเข้าฝันชาวบ้านว่าไม่ได้หายไปไหนคงอยู่บนเขาเทือกนี้ จึงเรียกเขาเทือกนี้ว่าเขาพระแทว และนับถือพระแทวว่าเป็นเทพารักษ์
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก
วัดพระทอง อยู่ที่ตำบลเทพกษัตริย์ อำเภอถลาง วัดพระทองสร้างแต่เมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นภายหลังศึกพม่าที่ยกทัพมาตีเมืองถลาง เมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า เดิมพื้นที่บริเวณที่สร้างวัดนี้เป็นทุ่งนาป่าละเมาะ มีเด็กเลี้ยงควายผู้หนึ่ง ได้นำควายไปผูกไว้กับเกศพระ ซึ่งโผลพ้นพื้นดินขึ้นมา ด้วยเข้าใจว่าเป็นหลักหรือตอไม้ เสร็จแล้วเกิดอาการจุกเสียดนอนสลบอยู่ เมื่อมีผู้ไปพบและสอบถามสาเหตุแล้ว จึงทราบว่าสิ่งที่เด็กเข้าใจว่าเป็นหลักนั้น ความจริงเป็นเกศพระที่โผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน ต่อมาจึงได้ดำเนินการก่ออิฐโบกปูน สร้างเป็นพระพุทธรูปครึ่งองค์สวมปิดพระเกศ แล้วสร้างพระอุโบสถขึ้นไปให้ชื่อว่าวัดพระทอง สถานที่นี้ใช้ประกอบทำน้ำอภิเษกมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระทองเป็นที่เคารพนับถือทั้งชาวไทยและชาวจีนอย่างมาก ทั้งจังหวัดภูเก็ตและพังงา มีอภินิหารที่เห็นชัดคือ น้ำไม่ท่วมพระทองทั้งที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำ ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง
จังหวัดปัตตานี
น้ำอภิเษกของจังหวัดปัตตานีมีอยู่ ๕ แห่งด้วยกันคือ น้ำสระวังพลายบัว น้ำบ่อทอง น้ำบ่อไชย น้ำบ่อฤาษี และน้ำสระแก้ว
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษกคือ วัดตานีนรสโมสร
น้ำสระวังพลายบัว
สระวังพลายบัว อยู่ในตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ ๑๐ กิโลเมตร เป็นแอ่งน้ำกว้างประมาณ ๔ เมตร ยาวประมาณ ๑๐ เมตร ลึกประมาณ ๒ เมตร มีธารน้ำที่มีต้นน้ำจากภูเขาสันกาลาคีรีไหลลงแอ่งแห่งนี้
ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อประมาณปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา มีผู้พบช้างพลายเชือกหนึ่งที่แอ่งน้ำนี้ ช้างเชือกนี้ได้แสดงอภินิหารหลายประการ เช่น หายตัวได้ พอช้างหายตัวก็มีดอกบัวผุดขึ้นในแอ่งน้ำ แล้วจมหายไป ชาวบ้านจึงเรียกแอ่งน้ำนี้ว่า สระวังพลายบัว ชาวบ้านนับถือว่าสระนี้มีรุกขเทวดารักษาอยู่
น้ำบ่อทอง
บ่อทอง เป็นบ่อที่เกิดในหิน อยู่บนเขาช่องคุด ตำบนคอกกระบือ อำเภอปานาเระ รูปร่างของบ่อมีลักษณะเป็นรอยเจาะลงไปในหินแผ่นเดียว ปากบ่อเป็นรูปตราอาร์ม กว้าง ๑ ศอก ลึก ๒ ศอก และระดับน้ำลึก ๓ คืบ มีน้ำอยู่ตลอดปี ไม่ปรากฎประวัติ ราษฎรถือว่าเป็นบ่อศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ
น้ำบ่อไชย
บ่อไชย อยู่บนยอดภูเขาไชย ในตำบลคอกกระบือ อำเภอปานาเระ รูปบ่อเป็นรอยเจาะลึกลงไปในหินเหมือนบ่อทอง น้ำลึกประมาณ 2 คืบ บ่อมีสัณฐานกลม ไม่ปรากฏประวัติ ราษฎรถือว่าเป็นบ่อศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ
น้ำบ่อฤาษี
บ่อฤาษี อยู่บนภูเขาฤาษี ในตำบลมายอ อำเภอมายอ เขาฤาษีมีรูปสัณฐานค่อนข้างกลม เนื้อที่ประมาณ ๑๕ ไร่ ยอดเขาเป็นพื้นราบสูงประมาณ ๕๐ เมตร เนื้อที่ประมาณ ๖ ไร่ โดยรอบประดับด้วยหินเป็นรูปกำแพง แต่ปัจจุบันหักพังหมดแล้ว บริเวณกลางพื้นที่มีบ่อน้ำรูปร่างกลมขุดลงไปในหิน กว้างประมาณ ๗๕ เซนติเมตร ลึกประมาณสองเมตรครึ่ง มีตำนานเล่าสืบมาว่าฤาษีผู้หนึ่งมาสร้างไว้ ราษฏรถือว่าน้ำในบ่อนี้ศักดิ์สิทธิ์
น้ำสระแก้ว
สระแก้ว เป็นสระหินอยู่ในถ้ำวัดคูหาภิมุข บนภูเขาพระพุทธไสยาสน์ ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมืองยะลา ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๖ กิโลเมตร ลักษณะของสระเป็นแอ่งหินกว้างประมาณ ๒ เมตร ยาวประมาณ ๔ เมตร ลึก ๑ เมตรเศษ มีน้ำซึมจากภูเขาลงสู่สระนี้ มีน้ำขังอยู่ตลอดปี น้ำใสสะอาดมองเห็นก้นสระได้ชัดเจน ตัวสระอยู่กลางถ้ำ ซึ่งทะลุได้ ๒ ด้าน
มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า สมัยเมื่อแผ่นดินส่วนนี้ยังอยู่ในสภาพเป็นทะเล ภูเขาลูกนี้จึงเป็นเกาะ ได้มีพ่อค้าผ่านไปมาเสมอ และได้ใช้เกาะนี้เป็นที่กำบังคลื่นลม ดังนั้นภูเขาอีกลูกหนึ่งซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเขาลูกนี้จึงชื่อว่า เขากำปั่น เมื่อประมาณ พ.ศ.๑๓๐๐ ถึง พ.ศ.๑๕๐๐ เศษ มีกษัตริย์ศรีวิชัยแห่งวงศ์คีรี ได้ปกครองดินแดนส่วนนี้ตลอดถึงอำเภอไชยา ต่อมาถึงสมัยพระเจ้ามหาราช ทรงนับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ทราบว่าได้เคยมีผู้อัญเชิญพระบรมสาริกธาตุมายังดินแดนส่วนนี้ จึงประกาศให้รางวัลทองเท่าลูกฟักแก่ผู้ที่สามารถชี้สถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุให้ทรงทราบ ได้มีผู้เฒ่าคนหนึ่งรับอาสาพาไปพบพระเจดีย์ เมื่อขุดเข้าไปก็พบหุ่นพยนต์ประตูกล พระเจ้ามหาราชก็เอาทองเท่าลูกฟักผูกคอม้า แล้วประกาศให้รางวัลแก่ผู้ที่สามารถแก้หุ่นยนต์และประตูกลได้ มีชายผู้หนึ่งชื่อจันที ชาวเมืองโลมพิสัย รับอาสาแก้หุ่นยนต์และประตูกลได้ด้วยอำนาจเวทมนต์ จึงได้พระบรมธาตุมา แล้วโปรดให้สร้างเจดีย์สูงใหญ่กว่าเดิม ๑๐ เท่า โดยเกณฑ์บรรดาเจ้าเมืองทั้ง ๑๒ นักษัตร มาช่วยกันก่ออิฐถือปูนก่อพระบรมธาตุ
เมื่อสร้างเสร็จก็เดินทางกลับบ้านเมืองตน เมื่อเดินทางผ่านถึงตำบลนี้เห็นถ้ำสว่างเป็นที่รโหฐาน จึงได้ช่วยกันก่อพระพุทธไสยาสน์ไว้ ยังสร้างไม่เสร็จก็เกิดภัยแล้ง จึงได้เชิญผู้ทรงคุณทางไสยศาสตร์ประกอบพิธีทางไสยเวทย์อยู่ ๗ วัน ก็เกิดเสียงในถ้ำมืด เมื่อเข้าไปดูก็เห็นธารน้ำไหลออกมาจากภายในถ้ำมืด โดยไหลมาจากสระแก้วซึ่งไม่เคยมีมาก่อน น้ำจากสระนี้ใช้เท่าใดก็ไม่หมดและบำบัดโรคภัยไข้เจ็บได้ทุกประการ จึงเป็นที่นับถือว่าเป็นสระและเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่ครั้งนั้น
สถานที่ประกอบน้ำอภิเษก
วัดตานีนรสโมสร เป็นสถานที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และประกอบน้ำอภิเษก โดยรวมเอา ๓ จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งสมัยเมื่อยังปกครองเป็นมณฑล เรียกว่ามณฑลปัตตานี มีสมุหเทศาภิบาลเป็นผู้สำเร็จราชการ เวลาประกอบพระราชพิธี มีการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น ก็จะพลีเอาน้ำในสระแก้วรวมกับน้ำอีก ๔ แห่ง ดังกล่าวแล้ว รวมเป็น ๕ แห่ง เรียกว่า ปัญจมหานที แล้วนิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์มาเจริญพุทธมนต์ เป็นพระราชพิธีประจำปี
|