เหรียญกล้าหาญ

 
 

 

เหรียญกล้าหาญ

ใช้อักษรย่อว่า ร.ก. สร้างขึ้นตามพระราชกำหนดเหรียญกล้าหาญ พ.ศ. 2484 สำหรับพระราชทานแก่ผู้ที่กระทำหน้าที่อย่างทหารหรือตำรวจ ที่ได้กระทำการสู้รบกับราชศัตรูอย่างกล้าหาญ ผู้ได้รับพระราชทานจะได้รับประกาศนียบัตรลงพระปรมาภิไธย ประทับตราพระราชลัญจกร การพระราชทานจะให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้รับหรือทายาทโดยชอบธรรมของผู้รับ แต่ถ้าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดร้ายแรง หรือประพฤติตนไม่สมเกียรติ ก็อาจทรงเรียกคืนได้
เหรียญกล้าหาญมีลักษณะเป็นเหรียญโลหะกลม ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กำลังทรงกระทำยุทธหัตถีกับราชศัตรู มีอักษรที่ริมขอบเหรียญว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกู้ชาติ ด้านหลังมีรูปจักร กลางจักรมีอักษรว่า เรากล้ารบเพื่อเกียรติศักดิ์ไทย ตัวเหรียญห้อยด้วยแพรแถบสีแดงกับขาว กว้าง 3.5 เซนติเมตร เบื้องบนมีเข็มโลหะรูป คฑาจอมพล มีอักษรว่า กล้าหาญ ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย
ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญนี้แล้ว ถ้าได้กระทำการสู้รบอย่างกล้าหาญต่อไปอีก จะได้รับพระราชทานเครื่องหมายรูปช่อชัยพฤกษ์ ทำด้วยโลหะสีทอง ติดที่แพรแถบครั้งละหนึ่งเครื่องหมาย

เหรียญชัยสมรภูมิ


ใช้อักษรย่อว่า ช.ส. สร้างขึ้นตามพระราชกำหนดเหรียญชัยสมรภูมิ พ.ศ. 2484 สำหรับพระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ หรือผู้ที่กระทำหน้าที่ อย่างทหารหรือตำรวจ ที่ได้รับคำสั่งจากหน่วยทหารหรือตำรวจให้ไปทำการรบ และได้เคลื่อนที่ไปปฏิบัติการแล้ว
การพระราชทานกรรมสิทธิและการเรียกคืนเช่นเดียวกับเหรียญกล้าหาญ เหรียญนี้ไม่มีประกาศนียบัตร แต่ประกาศนามผู้ได้รับพระราชทานในราชกิจจานุเบกษา
ตัวเหรียญเหมือนเหรียญกล้าหาญ ห้อยกับแพรแถบเป็นสีต่าง ๆ ตามที่ได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นคราว ๆ ไป (ยกเว้นการรบในสงครามอินโดจีนที่ได้กำหนดแพรแถบไว้ในพระราชบัญญัติ) ให้ประดับที่หน้าอกเสื้อเบื้องซ้าย
ผู้ได้รับเหรียญชัยสมรภูมิ หากได้กระทำการจนได้รับคำชมเชยจากทางราชการ หรือกระทำความชอบมีบาดเจ็บ จะได้รับเครื่องหมายสีทองเป็นรูปขีด ประกอบด้วยเปลวระเบิดติดที่แพรแถบทุกครั้ง

เหรียญชัยสมรภูมิสงครามอินโดจีน
แพรแถบสีแดง กว้าง 3.5 เซนติเมตร มีริ้วสีขาวใกล้ขอบทั้งสองข้าง ข้างบนมีเข็มโลหะรูปคฑาจอมพล จารึกอักษรว่า ชัยสมรภูมิ

เหรียญชัยสมรภูมิสงครามเอเชียบูรพา
แพรแถบสีเขียว กว้าง 3.5 เซนติเมตร มีริ้วสีแดงที่ขอบ และถัดริ้วสีแดงเข้าไป เป็นริ้วสีขาวทั้งสองข้าง ข้างบนมีเข็มโลหะรูปคฑาจอมพล จารึกอักษรว่า ชัยสมรภูมิ

เหรียญชัยสมรภูมิสงครามร่วมรบกับสหประชาชาติ
ณ ประเทศเกาหลี
แพรแถบสีฟ้า กว้าง 3.5 เซนติเมตร มีริ้วสีฟ้าที่ขอบ ถัดริ้วสีฟ้าเข้าไปเป็นริ้วสีขาวทั้งสองข้าง ข้างบนมีเข็มโลหะรูปคฑาจอมพล จารึกอักษรว่า ชัยสมรภูมิ

เหรียญชัยสมรภูมิการรบ ณ สาธารณรัฐเวียดนาม
แพรแถบสีเหลือง กว้าง 3.5 เซนติเมตร มีริ้วสีแดงที่ขอบ ถัดริ้วสีแดงเข้าไปเป็นริ้วสีขาวทั้งสองข้าง ข้างบนมีเข็มโลหะรูปคฑาจอมพล จารึกอักษรว่า ชัยสมรภูมิ

เหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้นที่ 1

ใช้อักษรย่อว่า ส.ช. สร้างขึ้นตามพระราชบัญญัติเหรียญพิทักษ์เสรีชน พ.ศ. 2512 สำหรับพระราชทานแก่ผู้กระทำการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ด้วยความกล้าหาญ หรือได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือตายในการสู้รบ โดยที่การสู้รบนั้นได้ก่อให้เกิดผลดีอย่างยิ่งแก่การปราบปราม
การพระราชทานกรรมสิทธิ์และการเรียกคืน เช่นเดียวกับเหรียญกล้าหาญ
เหรียญนี้ทำด้วยทองแดงรมดำรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ 23 มิลลิเมตร ย่อกลางทั้งสี่ด้าน มุมบนห้อยกับแพรแถบ ด้านหน้าเหรียญตรงกลางมีรูปจักร ซ้ายขวามีรูปปีกนกพับอยู่บนพระแสงดาบ เขนและโล่ห์ ตอนบนเป็นรูปครุฑพ่าห์ ด้านหลังมีอักษร จารึกว่า อสาธุ สาธุนาชิเน แพรแถบกว้าง 34 มิลลิเมตร ลายริ้วจากบนลงล่างเป็นสีแดงขาวสลับกัน ขอบทั้งสองข้างมีริ้วแดง รวม 17 ริ้ว ข้างบนมีเข็มโลหะ จารึกอักษรว่า พิทักษ์เสรีชน มีเครื่องหมายทำด้วยโลหะสีทอง เป็นรูปช่อชัยพฤกษ์ช่อเดียวติดกลางแพรแถบ
ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายเหรียญนี้ไม่มีประกาศนียบัตร ผู้ได้รับจะประกาศนามในราชกิจจานุเบกษา
เหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้นที่ 2 ประเภทที่ 1

ใช้อักษรย่อว่า ส.ช. 2/1 สร้างขึ้นเช่นเดียวกับ ส.ช.1 พระราชทานแก่ผู้ที่ปฏิบัติการสู้รบ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะได้รับพระราชทาน ส.ช.1 ลักษณะเหรียญเช่นเดียวกับ ส.ช.1 แต่เปลี่ยนเครื่องหมายช่อชัยพฤกษ์เป็นเครื่องหมายทำด้วยโลหะสีทองเป็นรูปขีด ประกอบด้วยเปลวระเบิดติดที่กลางแพรแถบ รายละเอียดอื่น ๆ เช่นเดียวกับ ส.ช.1
เหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้นที่ 2 ประเภทที่ 2

ใช้อักษรย่อว่า ส.ช.2/2 ลักษณะเช่นเดียวกับเหรียญ ส.ช.1 แต่แพรแถบไม่มีเครื่องหมายใดประดับ สำหรับพระราชทานแก่ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และราษฎร ซึ่งได้ปฏิบัติการเป็นผลดีแก่การปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
รายละเอียดอื่น ๆ เช่นเดียวกับ ส.ช.1

เหรียญปราบฮ่อ

ใช้อักษรย่อว่า ร.ป.ฮ. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2427 สำหรับพระราชทาน แก่ผู้ที่ไปราชการกองทัพ ปราบโจรฮ่อที่เข้ามาย่ำยีชายราชอาณาจักรทางเหนือ ลักษณะเป็นเหรียญเงินรูปทรงกลม ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพักตร์เสี้ยว มีอักษรที่ริมขอบว่า จุฬาลงกรณบรมราชาธิราช ด้านหลังเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงของ้าวขี่คอช้าง ที่ริมขอบมีอักษรว่า ปราบฮ่อ 1239 1247 1249 ห้อยกับแพรแถบสีดำริมสีเหลือง กว้าง 2.5 เซนติเมตร ที่แพรแถบมีเข็มบอกปีจุลศักราชที่มีการปราบฮ่อคราวละเข็ม คือ 1239 1247 และ1249 เหรียญนี้มีชั้นเดียว ไม่มีประกาศนียบัตร ประดับ ที่หน้าอกเบื้องซ้าย

เหรียญงานพระราชสงครามยุโรป

ใช้อักษรย่อว่า ร.ส. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2461 สำหรับพระราชทานแก่ ผู้ไปพระราชสงครามในทวีปยุโรป คือสงครามโลกครั้งที่1
ลักษณะเป็นเหรียญเงินทรงกลม ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพักตร์เสี้ยว มีอักษรที่ริมขอบว่า รามาธิปติสฺยามินฺโท วชิราวุธวิสฺสุโต ด้านหลังมีรูปวชิราวุธมีรัศมี พานรองสองชั้น มีฉัตรสองข้าง และมีอักษรที่ริมขอบว่า งานพระราชทานสงครามในทวีปยุโรป พระพุทธศักราช 2461 ห้อยกับแพรแถบสีเลือดหมู มีริ้วสีดำสองข้าง กว้าง 3.5 เซนติเมตร เหรียญนี้มีชั้นเดียว ไม่มีประกาศนียบัตร ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

เหรียญราชนิยม

ใช้อักษรย่อว่า ร.น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตราพระราชบัญญัติทรงสถาปนาเหรียญราชนิยม ร.ศ.131 ตรงกับ พ.ศ. 2455 ต่อมาได้ยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติเหรียญราชนิยม พ.ศ. 2484
เหรียญนี้จะพระราชทานแก่ผู้ที่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ให้เป็นประโยชน์อย่างสำคัญ อันแสดงว่าผู้นั้นมีความปรารถนาและเต็มใจกระทำหน้าที่พลเมืองดี เข้าฝ่าอันตรายโดยไม่เกรงภัยที่อาจเกิดแก่ชีวิตของตนหรือได้เสี่ยงภัยช่วยผู้อื่นให้พ้นอันตราย แต่ต้องมิใช่เป็นการกระทำเพราะความจำเป็น หรือทำตามตำแหน่งหน้าที่ของตน
ลักษณะเป็นเหรียญเงินรูปกลม ด้านหน้ามีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอักษรจารึกพระปรมาภิไธยว่า มหาราชา ปรเมน์ทรมหาวชิราวุโธ สยามรัชกาล พุทธศาสนุ ปัตถัมภโก ด้านหลังจารึกอักษรว่า ทรงพระราชนิยมพระราชทาน ข้างบนมีห่วงห้อยกับแพรแถบสีดำและเหลือง กว้าง 3 เซนติเมตร สำหรับสตรีแพรแถบเป็นรูปแมลงปอ ไม่มีประกาศนียบัตร ประดับที่หน้าอกเสื้อเบื้องขวา

เหรียญศานติมาลา

ใช้อักษรย่อว่า ศ.ม. สร้างขึ้นตามพระราชบัญญัติเหรียญศานติมาลา พ.ศ. 2489 สำหรับพระราชทานแก่ผู้ที่ทำความดีความชอบในการต่อต้านผู้รุกราน และยอมเสียสละแก้ร้ายให้กลายเป็นดี ยังผลให้ประเทศไทยบรรลุถึงศานติภาพ ธำรงไว้ซึ่ง เอกราชและอธิปไตย แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
ชนิดสามัญ เป็นเหรียญดีบุกรูปไข่ ด้านหน้ามีรูปไอยราพต ด้านหลังบันทึกภาษาภาษิต เป็นอักษรไทยและโรมันว่า นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ NATTHI SANTI PARAM SUKHA ห้อยกับแพรแถบสีแดง กว้าง 40 มิลลิเมตร ตรงกลางมีริ้วสีน้ำเงินกว้าง 4 มิลลิเมตร และมีริ้วสีขาวกว้าง 2 มิลลิเมตร ประกอบสองข้างริ้วสีน้ำเงิน
ชนิดพิเศษ มีรูปลักษณะอย่างชนิดสามัญ แต่เป็นเหรียญเงิน ที่เหนือเหรียญขึ้นไปมีดาบดั้งทำด้วยเงินไขว้กัน สำหรับสตรี ใช้ห้อยแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ไม่มีประกาศนียบัตร ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

เหรียญราชการชายแดน

ใช้อักษรย่อว่า ช.ด. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเหรียญนี้ขึ้นสำหรับพระราชทาน แก่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และผู้ที่ทำหน้าที่อย่างทหารหรือตำรวจ ซึ่งเจ้ากระทรวง หรือหน่วยทหาร หรือตำรวจ สั่งให้ปฏิบัติราชการชายแดนเป็นพิเศษ เกี่ยวกับการป้องกันราชอาณาจักร และปฏิบัติหน้าที่สมความมุ่งหมายของทางราชการ ทั้งได้ประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยอันดี
ลักษณะเป็นเหรียญรูปกลมทำด้วยโลหะสีทอง ด้านหน้ามีพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กำลังกระทำยุทธหัตถีกับราชศัตรู ด้านหลังมีอักษรจารึกว่า เราปฏิบัติหน้าที่เพื่อเกียรติศักดิ์ไทย เหรียญห้อยกับแพรแถบสีม่วงกว้าง 3.5 เซนติเมตร มีริ้วสีขาวใกล้ขอบทั้งสองข้าง ที่แพรแถบมีเข็มโลหะรูปคฑาจอมพล จารึกอักษรว่า ราชการชายแดน ไม่มีประกาศนียบัตร ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย