พระพุทธรูปประจำวัน

 

พระพุทธรูปประจำวันพฤหัสบดี


เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย พระหัตถ์ขวาซ้อนพระหัตถ์ซ้าย พระกายตั้งตรง
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากการบำเพ็ญเพียรทางจิตของเจ้าชายสิทธัตถะ เพื่อแสวงหาโมกขธรรม เพื่อความหลุดพ้นแห่งอาสวะ อันนำไปสู่ความสิ้นสุดแห่งวัฎสงสาร จนได้บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมสัมพุทธเจ้าในโลก ที่ใต้ควงไม้โพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลคยาสีสะ ประเทศมคธ ในสมัยนั้น ปัจจุบันคือ พุทธคยาในประเทศอินเดีย ณ วันเพ็ญเดือนหก ที่เราเรียกว่า วันวิสาขบูชา ในปัจจุบัน การตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เป็นผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ที่หาผู้เสมอเหมือนมิได้ มีกระบวนการโดยย่อดังนี้ คือ
ในปฐมยามแห่งราตรีนั้น พระองค์ทรงนั่งสมาธิบัลลังก์ ด้วยลักษณะอาการ ดังกล่าวข้างต้น แล้วบำเพ็ญเพียรทางจิต ตามหลักของสัมมาสมาธิ เริ่มต้นด้วยการ ละนิวรณ์ ๕ อันทำให้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม จนบรรลุฌาณที่ ๑,๒,๓ และ ๔ ตามลำดับ จนจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน จากนั้นได้น้อมใจไปสู่ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก จนนับประมาณมิได้ เป็นการบรรลุวิชชาที่หนึ่ง ได้ความรู้แจ้งชัดในวัฎสงสาร คือ การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์นั้นมีจริง
ต่อมาในมัชฌิมยาม ด้วยสภาพจิตเช่นเดิม พระองค์ได้น้อมจิตไปสู่จุตูปปาตญาณ ทรงรู้ชัดถึงสัตว์ผู้กระทำกรรมอย่างใดไว้ จะได้รับผลแห่งกรรมนั้น เป็นการบรรลุวิชชาที่สอง ได้ความรู้แจ้งชัดในเรื่องของกรรมว่ามีอยู่จริง
ต่อมาในปัจฉิมยาม ด้วยสภาพจิตเช่นเดิม พระองค์ได้น้อมจิตไปสู่อาสวขยญาณ ทรงรู้ชัดถึงอริยสัจสี่ และความหยั่งรู้ในธรรม อันเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ เป็นการบรรลุวิชชาที่สาม อันเป็นวิชชาที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา
ตามคติโบราณกำหนดให้มีคาถาบูชาพระพุทธรูปปางสมาธิ มีข้อความดังนี้

 

บทสวดบูชาประจำวันพฤหัสบดี

 

ค ปูเรนตัมโพธิสัมภาเร นิพพัตตัง โมระโยนิยัง
เยนะ สังวิหิตารักขัง มะหาสัตตัง วะเนจะรา ฯ
จิรัสสัง วายะมันตาปิเนวะ สักขิงสุ คัณหิตุง
พรัหมะมันตันติ อักขาตัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ

นายพรานทั้งหลายเพียรพยายามอยู่นาน ก็ไม่สามารถจับพระมหาสัตว์ ผู้เกิดเป็นนกยูงทอง ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อจะบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ผู้คุ้มครองตนอย่างดีแล้วด้วยพระปริตรใด ขอเราทั้งหลายร่วมกันสวดพระปริตร ที่ถือว่าเป็นมนต์อันประเสริฐนั้นเถิด

พระพุทธรูปประจำวันศุกร์


เป็นพระพุทธรูปปางรำพึง มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปยืน พระหัตถ์ทั้งสองทาบอยู่บนพระอุระ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระบาทชิดกัน ทอดพระเนตรไปข้างหน้า
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากเหตุการณ์หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จ พระราชดำเนินเปลี่ยนพระอิริยาบถ พักผ่อนอยู่ภายใต้ร่มไม้อชบาลนิโครธ ทรงรำพึงถึงพระธรรม ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ ว่าเป็นธรรมที่สุขุมลึกซึ้ง ยากที่คนทั่วไปจะรู้ตามได้ แต่เมื่อทรงคำนึงถึงคนสามประเภท อันเปรียบได้กับดอกบัวสามชนิด คือ พวกที่อยู่เหนือน้ำ เป็นพวกที่มีสติปัญญา จะเข้าใจหลักธรรมได้โดยฉับพลัน พวกอยู่เสมอน้ำ สามารถเข้าใจหลักธรรมได้ โดยอธิบายขยายความโดยพิสดารออกไป พวกที่อยู่ใต้น้ำ เป็นพวกที่พอแนะนำได้ด้วยการแนะนำฝึกสอนอบรม เมื่อคำนึงได้ดังนี้ จึงตกลงพระทัยที่จะเผยแพร่พระธรรม ทรงระลึกถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส ว่าเป็นบุคคลที่ควรไปโปรดก่อน แต่ก็ทราบว่าทั้งสองท่านได้ตายไปแล้ว จึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ ที่เคยติดตามพระองค์มาสมัยที่ออกทรงผนวช พระองค์จึงเสด็จไปโปรด ได้แสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนา ณ ป่าอิติปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี จบพระธรรมเทศนา โกณทัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ได้ดวงตาเห็นธรรม
ตามคติโบราณกำหนดให้มีคาถาบูชาพระพุทธรูปปางรำพึง มีข้อความดังนี้

 

บทสวดบูชาประจำวันศุกร์

 

ค อับปะสันเนหิ นาถัสสะ สาสะเน สาธุ สัมมะเต
อะมะนุสเสหิ จัณเฑหิ สะทา กิพพิสะการิภี
ปะริสานัญจะ ตัสสันนะ มะหิงสายะ จะ คุตติยา
ยันเทเสสิ มะหาวีโร ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ

พระมหาวีรเจ้าทรงแสดงพระปริตรใด เพื่อคุ้มครองพุทธบริษัทสี่ มิให้ถูกเบียดเบียนจากเหล่าอมนุษย์ผู้ดุร้าย หยาบกระด้างอยู่เสมอ ไม่เลื่อมใสคำสอนของพระโลกนาถ อันบัณฑิตยกย่องว่าเป็นคำสอนที่ดี ขอเราทั้งหลายจงร่วมกันสวดพระปริตรนั้นเถิด

 

พระพุทธรูปประจำวันเสาร์


เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิเช่นเดียวกับ ปางสมาธิ บนขนดของพญานาค เบื้องหลังมีพญานาค ๗ เศียร แผ่พังพานอยู่เหนือพระเศียร
พระพุทธรูปปางนี้ มีที่มาจากเหตุการณ์หลังที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข ณ สถานที่ต่าง ๆ ด้วยพระอิริยาบทต่าง ๆ แห่งละเจ็ดวัน ในห้วงเวลาที่ประทับอยู่ใต้ต้นมุจลินทร์ (ต้นจิก) และเข้าฌาณอยู่ ได้เกิดพายุฝนตกหนัก พญานาคที่อาศัยอยู่ในสระมุจลินทร์ข้างต้นจิต จึงได้ทำขนดล้อมพระวรกายของ พระพุทธองค์ แล้วแผ่พังพานปกคลุมพระองค์ไว้จากลมและฝน
ตามคติโบราณกำหนดให้มีคาถาบูชาพระพุทธรูปปางนาคปรก มีข้อความดังนี้

 

บทสวดบูชาประจำวันเสาร์

ค ยโตหัง ภะคินิ อะริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชา นามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ ฯ

ดูก่อนน้องหญิง นับแต่เราเกิดโดยอริยชาตินี้แล้ว เราไม่เคยคิดปลงชีวิตสัตว์เลย ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแด่เธอ ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของเธอ