เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2461 โดยทรงมีพระราชดำริว่า ราชการทหารเป็นกิจการพิเศษ จำต้องใช้กำลังและปัญญาอย่างอุกฤษฎ์ พร้อมที่จะสละชีวิตและร่างกายเป็นราชพลี จึงสมควรให้มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นพิเศษ ได้มีการกำหนดฐานันดรของผู้ซึ่งได้รับพระราชทานตามชั้นยศของเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ เป็น 4 ชั้นด้วยกัน คือ
ชั้นที่ 1 มีฐานันดร เรียกว่า เสนางคะบดี หมายอักษร ส.ร. ข้างท้ายนาม
ชั้นที่ 2 มีฐานันดร เรียกว่า มหาโยธิน หมายอักษร ม.ร. ข้างท้ายนาม
ชั้นที่ 3 มีฐานันดร เรียกว่า โยธิน หมายอักษร ย.ร. ข้างท้ายนาม
ชั้นที่ 4 มีฐานันดร เรียกว่า อัศวิน หมายอักษร อ.ร. ข้างท้ายนาม
มีเหรียญอีก 2 ชั้น คือ เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร หมายอักษร ร.ม.ก. และเหรียญรามมาลา หมายอักษร ร.ม. ข้างท้ายนาม
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 ได้ระงับการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ไประยะหนึ่ง
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2503 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีขึ้นใหม่ ได้ถวายอำนาจแก่ พระมหากษัตริย์ที่จะพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้โดยไม่ต้องผ่านคณะที่ปรึกษาเหมือนแต่ก่อน ผู้ที่จะได้รับพระราชทาน กฎหมายได้กำหนดลักษณะความชอบไว้ว่า ต้องทำความดีความชอบเป็นพิเศษ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ราชการทหาร ทั้งในยามสงบและยามสงคราม ตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชดำริเห็นสมควร ผู้ที่มีเกียรติอย่างยิ่งชาวต่างประเทศ อาจพระราชทานได้เป็นกรณีพิเศษ
สำหรับฐานันดรของผู้ได้รับพระราชทาน ตามกฏหมายเดิมได้ยกเลิกไป และแบ่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เป็น 6 ชั้น คือ
ชั้นที่ 1 เสนางคะบดี ใช้อัษรย่อ ส.ร. ประกอบด้วย ดารารูปไข่ ทำด้วยทอง มีปลายแหลมออกไปทั้งสี่ทิศ กลางดาราด้านหน้าเป็นรูปพระปรศุรามาวตารปราบพญาการตวีรยะ อยู่บนพื้นลงยาสีลูกหว้าอ่อน ด้านหลังเป็นรูปอักษรพระปรมาธิไธยย่อ ร.ร. กับเลข 6 อยู่ใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ บนพื้นลงยาสีขาว ขอบสีขาบ มีรัศมีเงินแฉกใหญ่แปดแฉก รัศมีทองแฉกเล็กแทรกแปดแฉก การประดับให้ประดับที่หน้าอกเสื้อเบื้องซ้าย แพรแถบสายสะพายกว้าง 10 เซนติเมตร สีดำมีริ้วแดงกว้าง 2 เซนติเมตร อยู่ใกล้ขอบทั้งสองด้าน มีดวงตราสำหรับห้อยกับสายสะพาย เป็นรูปไข่ทำด้วยทอง มีลายรูปอย่างเดียวกับกลางดาราแต่ไม่มีรัศมี สายสะพายนี้ให้สวมเฉียงจากขวาไปซ้าย
ชั้นที่ 2 มหาโยธิน ใช้อัษรย่อ ม.ร. ประกอบด้วยดารา มีลักษณะเช่นเดียวกับเสนางคะบดี แต่ใช้ประดับที่หน้าอกเบื้องขวา ดวงตรามีลักษณะเช่นเดียวกับเสนางคะบดี แต่ใช้ห้อยแพรแถบ กว้าง 45 มิลลิเมตร สีเดียวกับสายสะพายเสนางคะบดี สำหรับห้อยคอ
ชั้นที่ 3 โยธิน ใช้อัษรย่อ ย.ร. มีดวงตราลักษณะเดียวกับมหาโยธิน ห้อยกับแพรแถบคล้องคอ ไม่มีดารา
ชั้นที่ 4 อัศวิน ใช้อัษรย่อ อ.ร. มีดวงตราลักษณะเดียวกับโยธิน แต่ขนาดย่อมกว่า ใช้ห้อยกับแพรแถบ ขนาดกว้าง 32 มิลลิเมตร ประดับที่หน้าอกเสื้อเบื้องซ้าย
ชั้นที่ 5 เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร ใช้อัษรย่อ ร.ม.ก. ตัวเหรียญเป็นรูปไข่ ทำด้วยเงิน ด้านหน้าเป็นรูปปรศุรามาวตารปราบพญาการตวีรยะ ด้านหลังเป็นพระปรมาภิไธยย่อ ร.ร. กับเลข 6 อยู่ใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ห้อยกับแพรแถบ กว้าง 32 มิลลิเมตร มีเครื่องหมายวชิราวุธที่แพรแถบ ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย ในกรณีแต่งเครื่องแบบ ให้ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา ในกรณีที่แต่งชุดสากลให้ประดับที่คอพับเสื้อนอกเบื้องซ้าย ใต้ดุมเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ชั้นที่ 6 เหรียญรามมาลา มีลักษณะเช่นเดียวกับ ชั้นที่ 5 แต่ไม่มีเครื่องหมายวชิราวุธที่แพรแถบ ใช้ประดับที่หน้าอกเสื้อเบื้องซ้าย
ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ตั้งแต่ชั้นอัศวินหรือชั้น 4 ขึ้นไป จะได้รับพระราชทานประกาศนียบัตร ลงพระปรมาภิไธย และประทับตราพระราชลัญจกร ส่วนผู้ที่ได้รับพระราชทานชั้น 5 และชั้น 6 จะประกาศนามในราชกิจจานุเบกษาอย่างเดียว ไม่มีประกาศนียบัตร เมื่อผู้ได้รับวายชนม์หรือได้รับเลื่อนชั้นสูงขึ้นไม่ต้องส่งคืน เว้นแต่จะทรงเรียกคืนเป็นกรณีไป
|