ปัจฉิมสาวกอรหันต์และพวงดอกไม้มาร


ย่างเข้ายามที่สองแห่งราตรี ลมเย็นพัดผ่านมาเป็นครั้งคราว รอบๆ อุทยานสาลวันเปียกชุ่มไปด้วยอัสสุชลธาราแห่งมหาชนผู้เศร้าสลดสุดประมาณ เขาหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความรักและรันทดใจ พระจันทร์วันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะโผล่ขึ้นเหนือทิวไม้ทางทิศตะวันออกแล้ว โตเต็มดวงสาดแสงสีนวลใยลงสู่อุทยานสาลวันพรมไปทั่วบริเวณมณฑล ต้องใบสาละ ซึ่งไหวน้อยๆ ดูงามตา แต่บรรยากาศในยามนี้สลดเกินไปที่ใครๆ จะสนใจกับความงามแห่งแสงโสมที่สาดส่องเหมือนจงใจจะบูชาพระสรีระแห่งจอมศาสดานั้น

เงียบสงบ วังเวง จะได้ยินอยู่บ้างก็คือ เสียงสะอึกสะอื้น และทอดถอนใจของคนบางคนที่เพิ่งมาถึง
ท่ามกลางบรรยากาศดังกล่าวนี้ นักบวชเพศปริพพาชกหนุ่มคนหนึ่ง ขออนุญาตผ่านฝูงชนเข้ามา เพื่อเข้ามาใกล้เขาบอกว่าขอเฝ้าพระศาสดา พระอานนท์ได้สดับเสียงนั้นจึงออกมารับ และขอร้องวิงวอนว่าอย่ารบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย

"ข้าแต่ท่านอานนท์!" ปริพพาชกผู้นั้นกล่าว "ข้าพเจ้าขออนุญาตเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทูลถามข้อข้องใจบางประการ ขอท่านได้โปรดอนุญาตเถิด ข้าพเจ้าสุภัททะปริพพาชก"
"อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่ารบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย พระองค์ทรงลำบากพระวรกายมากอยู่แล้ว พระองค์ประชวรหนัก จะปรินิพพานในยามสุดท้ายแห่งราตรีนี้แน่นอน"

"ท่านอานนท์!" สุภัททะเว้าวอนต่อไป "โอกาสของข้าพเจ้าเหลือเพียงเล็กน้อย ขอท่านอาศัยความเอ็นดู โปรดอนุญาตให้ข้าพเจ้าเฝ้าพระศาสดาเถิด"

พระอานนท์คงทัดทานอย่างเดิม และสุภัททะก็อ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ย่อมย่อท้อ จนกระทั่งได้ยินถึงพระศาสดา
เรื่องก็เป็นไปอย่างที่เคยเป็นมา พระศาสดามีพระมหากรุณาอันไม่มีที่สิ้นสุด รับสั่งกับพระอานนท์ว่า "อานนท์! ให้สุภัททะเข้ามาหาเราเถิด"

เพียงเท่านี้สุภัททะปริพพาชก ก็ได้เข้าเฝ้าสมประสงค์ เข้ากราบลงใกล้เตียงบรรทมแล้วทูลว่า "ข้าแต่พระจอมมุนี! ข้าพระองค์นามว่า สุภัททะ ถือเพศเป็นปริพพาชกมาไม่นาน ได้ยินกิตติศัพท์เล่าลือเกียรติคุณแห่งพระองค์ แต่ก็หาได้เคยเข้าเฝ้าไม่ บัดนี้พระองค์จะดับขันธปรินิพพานแล้ว ข้าพระองค์ขอประทานโอวาทซึ่งมีอยู่น้อยนี้ ทูลถามว่าข้อข้องใจบางประการ เพื่อจะได้ไม่เสียใจภายหลัง"

"ถามเถิดสุภัททะ" พระศาสดาตรัส
"พระองค์ผู้เจริญ! คณาจารย์ทั้ง ๖ คือปูรณะ กัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุทธะ กัจจายนะ สัญชัย เวลัฏฐบุตร และนิครนถ์ นาฏบุตร เป็นศาสดาเจ้าลัทธิที่มีคนนับถือมาก เคารพบูชามาก ศาสดาเหล่านี้ยังจะเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสหรือประการใด"

"เรื่องนี้หรือ สุภัททะ ที่เธอดิ้นรนขวนขวายพยายามมาหาเราด้วยความพยายามที่อย่างยิ่งยวด" พระศาสดาตรัส ยังหลับพระเนตรอยู่
"เรื่องนี้เองพระเจ้าข้า" สุภัททะทูลรับ

พระอานนท์รู้สึกกระวนกระวายทันที เพราะเรื่องที่สุภัททะมารบกวนพระศาสดานั้นเป็นเรื่องไร้สาระเหลือเกิน ขณะที่พระอานนท์จะเชิญสุภัททะออกจากที่เฝ้านั้นเอง พระศาสดาก็ตรัสขึ้นว่า
"อย่าสนใจกับเรื่องนั้นเลย สุภัททะ เวลาของเรา และของเธอยังเหลือน้อยเต็มทีแล้ว จงถามสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เธอเองเถิด"

"ข้าแต่ท่านสมณะ! ถ้าอย่างนั้นข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหา ๓ ข้อ คือรอยเท้าในอากาศมีอยู่หรือไม่มี สมณะภายนอกศาสนาของพระองค์มีอยู่หรือไม่ สังขารที่เที่ยงมีอยู่หรือไม่?"

"สุภัททะ! รอยเท้าในอากาศนั้นไม่มี ศาสนาใดไม่มีมรรคมีองค์ ๘ สมณะผู้สงบถึงที่สุดก็ไม่มีในศาสนานั้น สังขารที่เทียงนั้นไม่มีเลย สุภัททะ ปัญหาของเธอมีเท่านี้หรือ?"

"มีเท่านี้พระเจ้าข้า" สุภัททะทูลแล้วนิ่งอยู่
พระพุทธองค์ผู้ทรงอนาวรณญาณ ทรงทราบอุปนิสัยของสุภัททะแล้วจึงตรัสต่อไปว่า "สุภัททะ ถ้าอย่างนั้นจงตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงธรรมให้ฟังแต่โดยย่อ ดูก่อนสุภัททะ! อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นทางประเสริฐสามารถให้บุคคลผู้เดินไปตามทางนี้ถึงซึ่งความสุขสงบเย็นเต็มที่ เป็นทางเดินไปสู่อมตะ ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุหรือใครๆ ก็ตามพึงอยู่โดยชอบ ปฏิบัติดำเนินตามมรรคาอันประเสริฐประกอบด้วยองค์ ๘ นี้อยู่ โลกนี้จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์"
สุภัททะ ฟังพระพุทธดำรัสนี้แล้วเลื่อมใส ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้ที่เคยเป็นนักบวชในศาสนาอื่นมาก่อน ถ้าประสงค์จะบวชในศาสนาของพระองค์จะต้องอยู่ติตถิยปริวาส คือบำเพ็ญตนทำความดีจนภิกษุทั้งหลายไว้ใจเป็นเวลา ๔ เดือนก่อน แล้วจึงจะบรรพชาอุปสมบทได้ นี้เป็นประเพณีที่พระองค์ทรงตั้งไว้เป็นเวลานานมาแล้ว สุภัททะทูลว่า เขาพอใจอยู่บำรุงปฏิบัติภิกษุทั้งหลายสัก ๔ ปี

พระศาสดาทรงเห็นความตั้งใจจริงของสุภัททะดังนั้น จึงรับสั่งให้พระอานนท์นำสุภัททะไปบรรพชาอุปสมบท พระอานนท์รับพุทธบัญชาแล้ว นำสุภัททะไป ณ ที่ส่วนหนึ่ง ปลงผมและหนวดแล้วบอกกรรมฐานให้ ให้ตั้งอยู่ในสรณคมน์และศีล สำเร็จเป็นสามเณรบรรพชาแล้วนำมาเฝ้าพระศาสดา พระผู้ทรงมหากรุณาให้อุปสมบทแก่สุภัททะเป็นภิกษุโดยสมบูรณ์แล้ว ตรัสบอกกัมมัฏฐานอีกครั้งหนึ่ง

สุภัททะภิกษุใหม่ ตั้งใจอย่างแน่ว่าจะพยายามให้บรรลุพระอรหัตตผลในคืนนี้ ก่อนที่พระศาสดาจะนิพพาน จึงออกไปเดินจงกรมอยู่ในที่สงัดแห่งหนึ่ง ในบริเวณอุทยานสาลวันนั้น

จงกรมนั้นคือเดินกลับไปกลับมา พร้อมด้วยพิจารณาข้อธรรมนำมาทำลายกิเลสให้หลุดร่วง บัดนี้ร่างกายของสุภัททะภิกษุห่อหุ้มด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ เมื่อต้องแสงจันทร์ในราตรีนี้ดูผิวพรรณของท่านเปล่งปลั่งงามอำไพ มัชฌิมยามแห่งราตรีจวนจะสิ้นอยู่แล้ว ดวงรัชนีกลมโตเคลื่อนย้ายไปอยู่ทางท้องฟ้าด้านตะวันตกแล้ว สุภัททะภิกษุตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะบำเพ็ญเพียรคืนนี้ตลอดราตรี เพื่อจะบูชาพระศาสดาผู้จะนิพพานในปลายปัจฉิมยาม ดังนั้นแม้จะเหน็ดเหนื่อยอย่างไรก็ไม่ย่อท้อ

แสงจันทร์นวลผ่องสุกสกาวเมื่อครู่นี้ดูจะอับรัศมีลง สุภัททะภิกษุแหงนขึ้นดูท้องฟ้า เมฆก้อนใหญ่กำลังเคลื่อนเข้าบดบังแสงจันทร์จนมิดดวงไปแล้ว แต่ไม่นานนัก เมฆก้อนนั้นก็เคลื่อนคล้อยไป แสงโสมสาดส่องลงมาสว่างนวลดังเดิม
ทันใดนั้นดวงปัญญาก็พลุ่งโพลงขึ้นในดวงใจของสุภัททะภิกษุ เพราะนำดวงใจไปเทียบด้วยดวงจันทร์
"อา!" ท่านอุทานเบาๆ "จิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใส มีรัศมีเหมือนจันทร์เจ้า แต่อาศัยกิเลสที่จรมาเป็นครั้งคราว จิตนี้จึงเศร้าหมอง เหมือนก้อนเมฆบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง"

แลแล้ววิปัสสนาปัญญาก็โพลงขึ้น ชำแรกกิเลสแทงทะลุบาปกรรมทั้งมวลที่ห่อหุ้มดวงจิต แหวกอวิชชาและโมหะอันเป็นประดุจตาข่ายด้วยศัสตรา คือวิปัสสนาปัญญา ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสาสวะทั้งมวล บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา แล้วลงจากที่จงกรมมาถวายบังคมพระมงคลบาทแห่งพระศาสดาแล้วนั่งอยู่

สุภัททะภิกษุ ปัจฉิมสาวกอรหันต์ผู้นี้ ชื่อพ้องกับสุภัททะอีกผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรแห่งสหายของพระผู้มีพระภาคผู้มีนามว่าอุปกะ มีประวัติเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธองค์อันน่าสนใจยิ่งผู้หนึ่ง

นับถอยหลังจากนี้ไป ๔๕ ปี สมัยเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ทรงดำริจะโปรดปัญจวัคคีย์ ณ อิสิปตนมิคทายะ เสด็จดำเนินจากบริเวณโพธิมณฑลไปสู่แขวงเมืองพาราณสี ในระหว่างทางได้พบอาชีวกผู้หนึ่งนามว่า อุปกะอยู่ในวัยค่อนข้างชราแล้ว เขาเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเดินสวนทางไปจึงถามว่า "สมณะ! ผิวพรรณของท่านผ่องใสยิ่งนัก อินทรีย์ของท่านสงบน่าเลื่อมใส ท่านบวชในสำนักของใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน?"
"สหาย!" พระศาสดาตรัสตอบ "เราเป็นผู้ครอบงำไว้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นใหญ่ในตนเองเต็มที่ เรารู้ทุกสิ่งทุกอย่างในทางธรรม เราหักกรรมแห่งสังขารจักร เป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิดได้แล้วด้วยตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้จะพึงอ้างใครเล่าว่าเป็นศาสดา"

อาชีวกได้ฟังดังนี้แล้วนึกดูหมิ่นอยู่ในใจว่าสมณะผู้นี้ช่างโอหัง ลบหลู่คุณของศาสดาตน น่าจะลองถามชื่อดูเพื่อว่าจะมีคณาจารย์เจ้าลัทธิใหญ่ๆ จะจำได้บ้างว่าเคยเป็นศิษย์ของตน คิดดังนี้แล้วจึงถามว่า
"สมณะ! ที่ท่านกล่าวมานี้ก็น่าฟังอยู่ดอก แต่จะเป็นไปได้หรือ คนที่รู้อะไรๆ ได้เองโดยไม่มีครูอาจารย์ แต่ช่างเถิดข้าพเจ้าไม่ติดใจในเรื่องนี้นักดอก ข้าพเจ้าปรารถนาทราบนามของท่าน เผื่อว่าพบกันอีกในคราวหน้าจะได้ทักทายกันถูก"

พระศากยมุนี ผู้มีอนาคตังสญาณทราบเหตุการณ์ภายหน้าได้โดยตลอด ทรงคำนึงถึงประโยชน์บางอย่างในอนาคตแล้วตรัสตอบว่า "สหาย! เรามีนามว่าอนันตชิน ท่านจำไว้เถิด"

"อนันตชิน!" อุปกะอุทาน "ชื่อแปลกดีนี่"
แล้วอุปากาชีวกก็เดินเลยไป พระศาสดาก็เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปสู่พาราณสี
อุปกะเดินทางไปถึงหมู่บ้านพรานเนื้ออาศัยอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่งใกล้หมู่บ้านนั้น
ตอนเช้าเขาเข้าไปภิกขาจารในหมู่บ้านพรานเนื้อนั้น หัวหน้าพรานเห็นเข้าเกิดความเลื่อมใสจึงอาราธนาให้มารับภิกษาที่บ้านของตนทุกๆ เช้า อุปกะรับอาราธนาด้วยความยินดี แต่ซ่อนความรู้สึกนั้นไว้ภายใน ตามวิสัยแห่งนักบวชผู้ยังมีความละอายอยู่

ต่อมาไม่นาน นายพรานเนื้อจำเป็นต้องเข้าป่าใหญ่เป็นเวลาหลายวันเพื่อล่าเนื้อ จึงเรียกลูกสาวมาแล้วกล่าวว่า "สุชาวดีลูกรัก พ่อจะต้องออกป่าเป็นเวลาหลายวัน พ่อเป็นห่วงพระของพ่อ คือท่านอุปกะ ขอให้ลูกรับหน้าที่แทนพ่อ คือตลอดเวลาที่พ่อไม่อยู่ ขอให้ลูกถวายอาหารแก่ท่านแทนพ่อ ปฏิบัติบำรุงท่านเหมือนอย่างที่พ่อเคยทำ"
เมื่อสุชาวดี สาวงามบ้านป่ารับคำของพ่อแล้ว นายพรานก็เข้าป่าด้วยความโล่งใจ รุ่งขึ้นอุปกะก็มารับภิกษาตามปกติ สุชาวดีเชื้อเชิญให้นั่งบนเรือนแล้วถวายภิกษาอันประณีต สนทนาด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส อุปกะเห็นอาการของนางดังนั้นก็ยินดียิ่งนัก เพราะท่านย่อมว่า

"-- มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส มีใจอารี มีความยินดีที่จะสนทนา เปล่งวาจาไพเราะ มีกิริยาสุภาพ เหล่านี้เป็นเครื่องหมายของผู้ตั้งใจคบ

-- มีหน้าตาจืดบึ้งไม่ยิ้มแย้ม ลืมความหลัง มีกิริยาอันน่าชัง เอาความเสียไปนินทา เวลาสนทนาชอบนำเอาเรื่องคนอื่นมาพูดให้ยุ่งไป เหล่านี้เป็นเครื่องหมายของผู้มีใช่มิตร"

สุชาวดีงามอย่างสาวบ้านป่า ผมดกดำ นัยน์ตากมลโต ใบหน้าอิ่มเอิบมีเลือดฝาดมองเห็นชัดที่พวงแก้ม อุปกะมองเธอด้วยความรู้สึกกระวนกระวาย แม้อายุจะเหยียบย่างเข้าสู่วัยชรา แต่ก็ยังตัดอาลัยในเรื่องนี้ไม่ได้ สุชาวดีอยู่ในวัยสาวและสวยสด เป็นดอกไม้ที่ไม่เคยมีแมลงตัวใดมากล้ำกราย นางสังเกตเห็นอาการของอุปกะแล้วก็พอจะล่วงรู้ถึงความปั่นป่วนภายในของนักพรตวัยชรา แต่ด้วยมรรยาทแห่งเจ้าของบ้านอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งเป็นนักบวชที่บิดาเคารพนับถือ นางจึงคงสนทนาพาทีอย่างละมุนละไมตามเดิม

จริงทีเดียว สตรีสามารถเข้าใจวิถีแห่งความรักได้อย่างรวดเร็ว แม้เธอจะไม่ชอบชายที่รักเธอ แต่เธอก็อดภูมิใจมิได้ที่มีชายมารักหรือสนใจ แม้สุชาวดีจะเป็นเด็กสาวชาวป่า แต่เล่ห์แห่งโลกีย์นั้นเป็นเรื่องธรรมดาของสรรพสัตว์ที่พอจะเข้าใจได้ มนุษย์และสัตว์เกิดมาจากกามคุณ จึงง่ายที่จะเข้าใจในเรื่องกามคุณ และจิตใจก็คอยดิ้นรนที่จะลงไปคลุกเคล้ากับกามคุณนั้น เหมือนวานรเกิดในป่า ปลาเกิดในน้ำ ก็พยายามที่จะดิ้นรนเข้าป่า และกระโดดลงน้ำอยู่เสมอ สตรีเปรียบประดุจน้ำมัน บุรุษเล่าก็อุปมาเหมือนเพลิง เมื่อเพลิงอยู่ใกล้น้ำมันก็อดที่จะลามเสียมิได้
ในวันที่ ๒ และวันที่ ๓ อุปกะคงมารับภิกษาที่บ้านของสุชาวดีดังเดิม และอาการก็คงเป็นไปทำนองนั้น
"สุชาวดี" ตอนหนึ่งอุปกะถามขึ้น "พอจะทราบไหมว่า คุณพ่อของเธอจะกลับวันไหน?"

"ไม่ทราบ พระคุณเจ้า" สุชาวดีตอบก้มหน้าเอานิ้วขีดพื้นด้วยความขวนอาย "ธรรมดาที่เคยไป ก็ไม่เกิน ๗ วัน"
"เธอคิดถึงคุณพ่อไหม?" อุปกะถามเพ่งมองสุชาวดีอย่างไม่กระพริบตา
"คิดถึง" สุชาวดีตอบ
"คุณพ่อของเธอมีบุญมาก" อุปกะเปรย
"เรื่องอะไรพระคุณเจ้า?" สุชาวดีถาม เงยหน้าขึ้นนิดหน่อย
"มีลูกสาวดี ทำอาหารอร่อย" อุปกะชม "สุภาพเรียบร้อย อยู่ในโอวาทของบิดา"

สุชาวดีก้มหน้านิ่ง คงเอานิ้วขีดไปขีดมาอยู่กับพื้นที่ชานเรือน "แล้วก็" อุปกะพูดต่อ "สุชาวดีสวยด้วย สวยเหมือนกล้วยไม้ในพงไพร"

"!!" สุชาวดีอ้าปากค้าง ไม่นึกว่านักพรตวัย ๔๕ จะพูดกับเธอซึ่งรุ่นราวคราวลูกด้วยถ้อยคำอย่างนี้
"จริงๆ นะ สุชาวดี" อุปกะยังคงพล่ามต่อไป "ฉันท่องเที่ยวไปแทบจะทุกหนทุกแห่งในชมพูทวีป ยังไม่เคยพบใครสวยเหมือนเธอเลย"

พูดเท่านั้นแล้วอุปกะก็ลากลับ เขาจากไปด้วยความอาลัย สุชาวดีมองอุปกะด้วยสายตาที่บรรยายไม่ถูก ขันก็ขัน สังเวชก็สังเวช แต่ความรู้สึกภูมิใจซึ่งซ่อนอยู่อย่างมิดเม้นนั้น ก็ดูเหมือนจะมีอยู่ เมื่ออุปกะเลยเขตรั้วบ้านไปแล้ว นางจึงวิ่งเข้าห้องนอนหยิบกระจกส่องหน้าขึ้นมาดู "เออ! เราสวยจริงซีนะ" นางเปรยกับตัวเอง พลางสำรวจไปทั่วสรรพางค์
อย่างนี้เอง ผู้หญิง!! คงเป็นผู้หญิงอยู่นั่นเอง ไม่ว่ามหาราชินีหรือคนหักฟืนขาย เมื่อถูกชมว่าสวยก็อดจะลิงโลดไม่ได้ เธอปักใจเสียเหลือเกินว่ารูปของเธอเป็นทรัพย์ แต่ความจริงก็น่าจะเป็นเช่นนั้น มีสตรีมากหลายที่ก้าวขึ้นสู่ความ

รุ่งโรจน์เพราะรูปงาม
โกกิลามํ สทฺทํ รูปํ
นกกกิลาสำคัญที่เสียง
นารี รูปํ สุรูปตา
นารีสำคัญที่รูป
วิชฺชา รูปํ ปุริสานํ
บุรุษสำคัญที่วิทยาคุณ
ขมา รูปํ ตปสฺสินํ
นักพรตสำคัญที่อดทน

ถ้าสามอย่างถูกต้อง เรื่องนารีสำคัญที่รูปจะผิดไปได้อย่างไร แต่นารีที่ทรงโฉมสะคราญตานั้น ถ้าไร้เสียแล้วซึ่งนารีธรรม เธอจะเป็นสตรีที่สมบูรณ์ได้ละหรือ เหมือนดอกไม้งามแต่ไร้กลิ่น ใครเล่าจะยินดีเก็บไว้ชมเชย ของจะมีค่าต่อเมื่อมีผู้ต้องการ

วันนั้นสุชาวดีมีความสุขสดชื่น รื่นเริงไปทั้งวัน แต่เธอหารู้ไม่ว่าขณะเดียวกันอุปกะกำลังเศร้าซึมอยู่ที่อาศรม
อุปกะก็เหมือนผู้ชายโง่ๆ ทั่วไป ที่พอเห็นสตรีที่ดีด้วย ก็ทึกทักเอาว่าเขารักตน บัดนี้ศรกามเทพได้เสียบแทงอุปกะเสียแล้ว ความรักไม่เคยปรานีใคร เที่ยวเหยียบย่ำ ทำลายมนุษย์ และสัตว์ทั่วหน้า เข้าตั้งแต่กระท่อมน้อยของขอทาน ไปจนถึงพระราชวังอันโอ่อ่าของกษัตริยาธิราชผู้ทรงศักดิ์ กัดกินหัวใจของคนไม่เลือกว่าวัยเด็ก หนุ่มสาว หรือวัยชรา ใช้ดอกไม้ของมาร ๕ ดอกเป็นเครื่องมือ เที่ยวไปในตามนิคมราชธานีต่างๆ ดอกไม้ ๕ ดอกนั้นคือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ เมื่อใครหลงใหลมึนเมาแล้วก็ห้ำหั่นย่ำยีจนพินาศลง
บัดนี้ อุปกะได้หลงใหลมึนเมาในพวงดอกไม้ของมาร คือรูปและเสียงของสุชาวดีแล้ว แม้จะไม่เคยได้กลิ่นแก้มและสัมผัสกาย อย่างนี้เสียอีกทำให้มีจินตนาการอันเตลิดเจิดจ้า และก็ซึมเซาเศร้าหมอง
คนที่ไม่เคยรบก็มักจะทะนงว่าตนกล้า คนที่ไม่เคยงานมักจะทะนงว่าตนเก่ง คนที่ไม่เคยรักก็มักจะทะนงว่าตนรักได้โดยไม่มีทุกข์ ทั้งนี้เพราะคนประเภทแรกไม่เคยรู้กำลังของศัตรู ประเภทที่สองไม่เคยรู้ความยากและความละเอียดของงาน ประเภทที่สามเพราะไม่เคยรู้ซึ่งถึงกำลังของนารี จริงทีเดียว ท่านกล่าวไว้ว่าพระอาทิตย์มีกำลังในเวลากลางวัน พระจันทร์มีกำลังในยามราตรี แต่นารีมีกำลังทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งบนบกและในน้ำ ทั้งในเวหาและป่ากว้าง มิฉะนั้นแล้วทำไมเล่าขุนพลผู้เกรียงไกรเอาชนะดัสกรได้ทั้งทางบกทางน้ำ ทั้งบนเวหาและป่าใหญ่ แต่มายอมแพ้แก่หัตถ์น้อยที่ไกวเปล มีแต่ความงามและน้ำตาเป็นอาวุธประจำตน
บางที นักพรตผู้ทรงศีล มีตบะมีอำนาจและมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ แต่เมื่อถูกพิษแห่งความรักแทรกซึมเข้าสู่หัวใจโดยสตรีเป็นผู้หยิบยื่นให้ ศีลก็พลันเศร้าหมอง ตบะและอำนาจก็พลันเสื่อม วาจาศักดิ์สิทธิ์ก็กลายเป็นกลับกลอก สิ่งใดเล่าในโลกนี้จะสามารถทำลายความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวของชาย ได้เท่ากับกำลังแห่งสตรี ชายใดไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งสตรี ไม่ยินดีในลาภและยศ ชายนั้นชื่อว่าผู้เข้มแข็งอย่างแท้จริง เป็นผู้ชนะโลก