พระป่าและวัดป่าของไทย

 
 


กิจวัตรของพระป่า

กิจวัตรที่สำคัญในพระพุทธศาสนา เป็นแนวปฏิบัติของพระป่า ที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำมีอยู่สิบประการคือ
๑. ลงพระอุโบสถในอาวาสหรือที่ใด ๆ มีพระภิกษุตั้งแต่สี่รูปขึ้นไป ต้องประชุมกันลงฟังพระปาฏิโมกข์ ทุก ๑๕ วัน (ครึ่งเดือน)
๒. บิณฑบาตเลี้ยงชีพตลอดชีวิต
๓. ทำวัตรสวดมนต์ เช้า - เย็นทุกวัน เว้นแต่เจ็บไข้อาการหนัก พระป่าจะทำวัตรสวดมนต์เอง ไม่ได้ประชุมรวมกันทำวัตรสวดมนต์เหมือนพระบ้าน
๔. กวาดเสนาสนะ อาวาส ลานพระเจดีย์ ลานวัด และบริเวณใต้ต้นมหาโพธิ ถือเป็นกิจวัตรสำคัญ เป็นเครื่องมือขจัดความเกียจคร้านมักง่ายได้เป็นอย่างดี

พระวินัยได้แสดงอานิสงส์ไว้ ห้าประการ คือ หนึ่งในห้าประการนั้นคือ

ผู้กวาดชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินตามคำสั่งสอนของพระศาสดา เบื้องหน้าแต่ตายเพราะทำลายขันธ์ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
๕. รักษาผู้ไตรครองคือ สังฆาฏิ จีวร และสบง
๖. อยู่ปริวาสกรรม
๗. ปลงผม โกนหนวด ตัดเล็บ
๘. ศึกษาสิกขาบท และปฏิบัติอาจารย์
๙. แสดงอาบัติคือ การเปิดเผยโทษที่ตนทำผิดพระวินัยที่เป็นลหุโทษ แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งให้ทราบ และสัญญาว่าจะสำรวมระวังมิให้เกิดทำผิดเช่นนั้นอีก
๑๐. พิจารณาปัจจเวกขณะทั้งสี่ ด้วยความไม่ประมาท คือ พิจารณาสังขาร ร่างกาย จิตใจ ให้เป็นของไม่เที่ยงถาวรที่ดีงามได้ยาก ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อเป็นอุบายทางปัญญาอยู่ตลอดเวลาในอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน

ธุดงควัตรของพระป่า

ธุดงค์ที่พระผู้มีพระภาคให้ปฏิบัติเพื่อขจัดกิเลสที่ฝังอยู่ภายใจจิตใจของปุถุชน มีอยู่ ๑๓ ข้อ ดังนี้
๑. ปังสุกูลิกังคะ ถือใช้แต่ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
๒. เตจีวริกังคะ ถือใช้ผ้าเพียงสามผืนเป็นวัตร
๓. ปิณฑปาติกังคะ ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
๔. สปทานจาริกังคะ ถือการเที่ยวบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร เพื่อเป็นความงามในเพศสมณะในทางมรรยาท สำรวมระวังอยู่ในหลักธรรม หลักวินัย
๕. เอกาสนิกังคะ ถือการฉันมื้อเดียวเป็นวัตร เพื่อตัดกังวลในเรื่องการฉันอาหารให้พอเหมาะกับเพศสมณะให้เป็นผู้เลี้ยงง่าย ไม่รบกวนคนอื่นให้ลำบาก
๖. ปัตตปิณฑิกังคะ คือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ฉันเฉพาะในบาตร เพื่อขจัดความเพลิดเพลินในรสอาหาร
๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือการห้ามฉันภัตอันนำมาถวายเมื่อภายหลังเป็นวัตร
๘. อารัญญิกังคะ ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
๙. รุกขมูลิกังคะ ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร ข้อนี้ตามแต่กาลเวลาและโอกาสจะอำนวยให้
๑๐. อัพโภกาลิกังคะ ถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ข้อนี้ก็คงตามแต่โอกาส และเวลาจะอำนวยให้
๑๑. โสสานิกังคะ ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติให้เหมาะกับเวลาและโอกาส
๑๒. ยถาสันถติกังคะ ถือการอยู่เสนาสนะแล้วแต่เข้าจัดให้ มีความยินดีเท่าที่มีอยู่ไม่รบกวนผู้อื่น อยู่ไปพอได้บำเพ็ญสมณธรรม
๑๓. เนสัชชิกังคะ ถือการ ยืน เดิน นั่ง อย่างเดียว ไม่นอนเป็นวัตร โดยกำหนดเป็นคืน ๆ ไป

 

เครื่องบริขารของพระป่า

เครื่องบริขารของพระป่า ตามพระวินัยกล่าวไว้มีสองชนิด คือ บาตรดินเผา และบาตรเหล็ก ปัจจุบันใช้บาตรเหล็กที่ระบมด้วยไฟ เพื่อป้องกันสนิม
สบงหรือผ้านุ่ง จีวรหรือผ้าห่ม และสังฆาฏิ เป็นบริขารที่จำเป็นสำหรับพระภิกษุ ผ้าเหล่านี้พระป่าจะทำกันเองตั้งแต่การตัดเย็บ ย้อมด้วยน้ำแก่นขนุนเรียกว่า ย้อมด้วยน้ำฝาด

บริขารอื่นนอกจากบริขารแปดแล้ว ก็มีกลดพร้อมมุ้งกลด ในฤดูฝนสามารถใช้แทนร่มในเวลาออกบิณฑบาต นอกจากนี้ก็มีผ้าอาบน้ำฝนใช้นุ่งอาบน้ำ ผ้าอาบน้ำฝนนี้จะใช้หินแดงที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาฝนเป็นสีสำหรับย้อม ผ้าที่ย้อมด้วยหินแดงนี้ จะมีสีแดงเป็นส่วนใหญ่ หินแดงนี้ยังใช้ผสมกับสีแก่นขนุนเพื่อย้อมสบงจีวร และสังฆาฏิได้อีก นอกจากนี้ผ้าปูที่นอน ผ้านิสีทนะสำหรับใช้ปูนั่ง ผ้าอังสะ ผ้าเช็ดหน้าเช็ดปาก ย่ามสำหรับใส่ของ เมื่อถึงเวลาออกเที่ยววิเวกตามป่า ตามเขา ตามถ้ำ ท่านจะซักย้อมผ้าของท่านเพื่อให้สีทนทาน บางทีไปนานสองสามเดือน ก็จะเคี่ยวแก่นขนุนเก็บติดตัวไปด้วย
การเข้าเป็นพระป่า

การเริ่มต้นชีวิตแบบพระป่าอาจทำได้สองวิธีคือ วิธีที่หนึ่ง บวชเป็นพระภิกษุเสียก่อนในที่อื่นแล้วขอไปพำนักในวัดป่า วิธีนี้เป็นวิธีที่พระภิกษุส่วนมากผ่านเข้าสู่วัดป่า ทั้งนี้เพราะสมภารวัดป่าส่วนมาก ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นพระอุปัชฌาย์

วิธีที่สองคือ วิธีผ้าขาวคือ เป็นผู้ที่ปวารณาตัวเป็นอุบาสก ถือศีลแปด และอาศัยอยู่ในวัดทำหน้าที่เป็นลูกศิษย์พระ และฝึกปฏิบัติไปด้วย ต้องทำหน้าที่ให้เรียบร้อยเป็นที่พอใจของสมภารหรืออาจารย์ที่เป็นผู้ปกครอง จึงจะได้รับอนุญาตให้บวช บางคนเป็นผ้าขาวอยู่สองสามเดือนก็ได้บวช แต่บางคนก็อยู่เป็นปี บางคนเริ่มด้วยเป็นผ้าขาวน้อยตั้งแต่อายุยังน้อยสิบหรือสิบเอ็ดขวบ พอรู้เรื่องวัดดีก็บวชเป็นเณรเมื่ออายุครบก็บวชเป็นพระภิกษุ

เป็นที่น่าสังเกตว่าวัดป่ามักไม่ใคร่มีลูกศิษย์พระ ทั้งนี้เพราะลูกศิษย์ถือแค่ศีลห้า และบางทีก็ทำได้ไม่ครบถ้วน มักจะรบกวนการปฏิบัติของพระด้วยประการต่าง ๆ พระป่าจึงไม่ใคร่นิยม
การอยู่วัดป่า
วัดป่าไม่เหมือนวัดบ้าน ความรู้สึกที่ได้รับเมื่อเข้าสู่เขตวัดป่าคือ ความร่มรื่น ซึ่งเกิดจากต้นไม้น้อยใหญ่ที่เป็นสวนป่าในวัด ประการต่อมาคือความสะอาด และมีระเบียบ ถนนและทางเดินจะเตียนโล่งไม่มีเศษกิ่งไม้ใบไม้ร่วงหล่นเกลื่อนกลาด ทั้งที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่นโดยรอบ ประการต่อมาคือความเงียบ บางเวลาเงียบมากจนได้ยินเสียงใบไม้ตกได้อย่างชัดเจน เสียงคนพูดคุยกันดัง ๆ แบบที่ได้ยินกันตามบ้านจะไม่มีเลย เวลาที่พระป่าจะคุยกันก็มีเฉพาะเวลาเตรียมฉันจังหัน เวลานัดดื่มน้ำเวลาบ่าย และเวลาพร้อมกันปัดกวาดถนนหนทางและลานวัด พระภิกษุทุกท่านจะพูดกันด้วยเสียงค่อยมาก จะไม่พบว่ามีการตะโกนคุยกันสนุกสนานเฮฮา เลย

 

กุฏิพระป่า พระป่ามักไม่ค่อยเอาใจใส่กับที่อยู่อาศัยนอกเหนือไปจากขอให้บังแดดบังฝน และกันลมหนาวได้พอสมควรเท่านั้น กุฏิส่วนมากสร้างขึ้นชั่วคราวมีพื้นเป็นไม้ฟาก ซึ่งทำจากไม้ไผ่นำมาทุบแล้วแผ่ออกให้แบน หลังคามุงด้วยหญ้าหรือใบไม้ เวลาใช้ไม้กระบอกหรือไม้แบบที่ใช้ทำเสาเข็ม ฝาผนังเป็นกระดาษเหนียวกรุระหว่างตะแกรงที่สานด้วยไม้ไผ่ บานประตูหน้าต่างเป็นแบบเดียวกับฝาผนังเปิดโดยวิธีเลื่อนหรือใช้ไม้ค้ำ กุฏิแบบนี้หน้าร้อนจะเย็นสบายเพราะลมเข้าได้ทุกทาง แต่หน้าฝนมักเปียกเพราะหลังคาหรือฝาผนังรั่ว ในหน้าหนาวลมเย็นจะเข้าได้ทุกทาง ทำให้เย็นจัด

เมื่อมีผู้มีจิตศรัทธามากขึ้น กุฏิของพระป่าก็ค่อย ๆ เปลี่ยนจากกุฏิชั่วคราวเป็นกึ่งถาวร และถาวร อย่างไรก็ตามกุฏิของพระป่ามักจะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน ต่างกันแต่ขนาดและวัสดุก่อสร้าง กุฏิชั่วคราวมักจะเตี้ยยกพื้นสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เพียงให้พ้นจากการรบกวนของสัตว์ เช่น งู หรือหนู ถ้าเป็นกุฏิถาวรมักทำใต้ถุนสูงพอเข้าไปอาศัยหรือยืนได้ ตามธรรมดาจะมีอยู่ห้องหนึ่งเป็นที่จำวัด หรือนั่งสมาธิภาวนา และเก็บสิ่งของเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาดเฉลี่ยกว้างด้านละประมาณสองเมตรครึ่ง มีเฉลียงสำหรับนั่งพักหรือรับแขก ขนาดพอสมควรแก่การใช้งาน ถ้าสร้างกว้างใหญ่มากก็จะผิดพระวินัย

 

โดยทั่วไปภายในกุฏิมักจะมีแต่กลดพร้อมมุ้งกลด เสื่อปูนอน เครื่องอัฐบริขาร ผ้าห่มนอน จีวร ตะเกียง หรือเทียนไขและหนังสือ ที่หัวนอน อาจมีหิ้งพระตั้งรูปพระอาจารย์ต่าง ๆ อย่างอื่น ๆ ก็มีขวดน้ำ และแก้วน้ำ

กุฏิแต่ละหลังผู้อยู่อาศัยต้องระวังรักษาเองให้อยู่ในสภาพที่สะอาดเรียบร้อยทั้งตัวกุฏิ และบริเวณกุฏิ บนกุฏิสิ่งของต่าง ๆ ต้องวางเป็นที่ และมีระเบียบ พระป่าปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด ต้องรักษาเสนาสนะคือ ที่อยู่อาศัย และบริเวณให้สะอาด ทุกเช้าตั้งแต่ยังไม่สว่าง พระป่าทุกท่านจะหยุดนั่งสมาธิในตอนเช้า จัดการปัดกวาดกุฏิ พอรุ่งสางก็ช่วยกันกวาดถูศาลาการเปรียญ การถูพื้นจะใช้เปลือกมะพร้าวห้าวมาทุบตัดครึ่งแล้วนำไปถูพื้น เมื่อทำนาน ๆ ไปจะให้พื้นกระดานเป็นมันจนลื่น
ทุกวันเวลาบ่ายประมาณ สามโมง ถึงสี่โมงเย็น จะเป็นเวลากวาดวัดของวัดป่าส่วนมากการกวาดจะใช้ไม้กวาดด้ามไม้ไผ่ยาว ต้องใช้แรงในการกวาดมาก เป็นการออกกำลังที่ดียิ่งในแต่ละวัด นอกเหนือจากการเดินจงกรม และเดินบิณฑบาต การถูศาลา