พระป่าและวัดป่าของไทย

 
 

ข้อควรทราบบางประการเกี่ยวกับพระป่า

การทำบุญบริจาคทานกับพระป่านั้น ควรทราบว่าอะไรทำและอะไรไม่ควรทำ อะไรไม่ควรบริจาคทานทำบุญกับพระป่า อะไรสมควรที่ท่านจะบริโภคได้ อาหารอะไรควรฉันเวลาไหน
เวลาและประเภทของโภชนาหารที่พระภิกษุรับประเคนได้

๑. ของที่ควรถวายแก่พระป่าตอนเช้า ได้แก่ โภชนาหารห้าอย่างคือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลาและเนื้อ
๒. ของที่พระป่ารับประเคนได้ ฉันได้ทั้งในตอนเช้า ตอนเย็น ตอนกลางคืน และท่านเก็บไว้ฉันได้เจ็ดวัน ได้แก่ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล น้ำหวาน เนยใส เนยข้น
๓. ของที่พระป่ารับประเคนได้ ทั้งตอนเช้า ตอนเย็น ตอนกลางคืน และฉันได้ทุกเวลา ถ้ามีเหตุจำเป็นได้แก่ยารักษาโรค
๔. ของที่พระป่ารับประเคนได้ และฉันได้ในตอนบ่าย ตอนเย็น และตอนกลางคืน ได้แก่น้ำปานะ ซึ่งทำจากผลไม้ที่ไม่ใช่เป็นมหาผล ผลไม้ที่ควรใช้ทำน้ำปานะถวายพระป่า ได้แก่ มะนาว พุทรา ลูกหว้า ส้มเขียวหวาน ส้มเช้ง มะขาม มะปรางดิบ กล้วยดิบมีเมล็ด ฯลฯ น้ำที่ใช้ทำน้ำปานะควรต้มให้สุกเสียก่อน แล้วตั้งทิ้งไว้ให้เย็น วิธีทำน้ำปานะโดยสังเขปคือ นำผลไม้มาแกะเอาเมล็ดออก แล้วคั้นเอาแต่น้ำผลไม้ จากนั้นนำมากรองด้วยผ้าขาวเจ็ดครั้ง แล้วจึงนำมาผสมด้วยพริกหรือเกลือ หรือน้ำตาล หรือยาสมุนไพรต่าง ๆ ตามต้องการ น้ำปานะที่ผสมเสร็จแล้วนี้ห้ามนำไปต้มให้สุกอีก น้ำปานะจะประเคนพระได้ตั้งแต่เที่ยงวัน ถึงเที่ยงคืนก็หมดอายุกาล เพราะน้ำปานะนั้นจะกลายเป็นเมรัยไป จึงห้ามภิกษุสามเณรฉันเป็นอันขาด

เนื้อสัตว์ที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามภิกษุสามเณรฉัน มีอยู่สิบอย่างด้วยกันคือ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อเสือเหลือง เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เนื้อหมี เนื้อราชสีห์ เนื้องู เนื้อสุนัข เนื้อม้า

 

พระพุทธศาสนากับป่าไม้

จากพุทธประวัติเราจะพบว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับป่าไม้หลายประการด้วยกันคือ
ศากยวงศ์ของพระพุทธเจ้าจัดตั้งขึ้นโดยพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระเจ้าโอกากราช ณ ป่าไม้สัก ใกล้ภูเขาหิมาลัย อันเป็นที่อยู่ของกบิลดาบสมาก่อน ได้สร้างเมืองขึ้นในป่าไม้สักให้ชื่อว่ากบิลพัสดุ์

โกลิยวงศ์ อันเป็นราชวงศ์ของพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา ก็มีความเป็นมาเนื่องด้วยป่าไม้กระเบา มีราชธานีชื่อ กรุงเทวทหะ
เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์จวนประสูติพระโอรส พระนางได้เดินทางเพื่อไปประสูติพระโอรส ณ กรุงเทวทหะ แต่เมื่อไปถึง ลุมพินีวัน ซึ่งเป็นป่าที่ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ พระนางก็ประสูติพระโพธิสัตว์ ณ ที่นั้น

ในสมัยที่ทรงพระเยาว์ พระโพธิสัตว์มักใช้เวลาส่วนหนึ่งเที่ยวจาริกไปตามป่าเชิงภูเขาหิมาลัย จนสัตว์ป่ามีความคุ้นเคยเดินตามพระองค์ไปเป็นฝูง ด้วยความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นที่อัศจรรย์

ตลอดระยะเวลาหกปี ที่พระโพธิสัตว์ได้เที่ยวศึกษาแสวงหาทางเพื่อความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้ประทับศึกษาอยู่ในป่าต่าง ๆ แม้ในเวลาตรัสรู้ก็ทรงเลือกเอาป่าในตำบล อุรุเวลาเสนานิคมเป็นที่บำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้ภายใต้ต้น อัสสัตถพฤกษ์ แล้วประทับเสวยวิมุติสุข ณ ต้นไทร ต้นเกด ตามลำดับ

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ พระธัมมจักกัปวัตตนสูตร แก่ ปัญจวัคคีย์ ก็ทรงแสดงที่ ป่าอิสิปนมฤคทายวัน อันเป็นสวนป่า และทรงแสดงพระธรรมเทศนาอีกเป็นอันมาก ณ ป่าอิสิปนมฤคทายวันแห่งนั้น จนเกิดพระอรหันต์ขึ้นในโลกคราวแรกติดต่อกันถึงหกสิบรูป

ทรงแสดงพระธรรมเทศนา อนุบุพพิกถา และอริยสัจสี่ โปรดพระเจ้าพิมพิสาร และบริวาร จำนวนรวมกัน ๑๒๐,๐๐๐ ท่าน ณ ลัฏฐิวัน อันเป็นป่าเช่นเดียวกัน
พระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนาคือ เวฬุวัน คือป่าไผ่ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ หลังจากที่พระองค์ได้ฟังธรรมเทศนาจนบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลแล้ว พระอารามอีกแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์คือ ชีวกัมพวัน เป็นป่าไม้มะม่วงที่หมอชีวกโกมารภัจถวายเป็นพระอาราม สำหรับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ และที่ในกรุงราชคฤห์นั้น ยังมีป่าที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอีกเป็นอันมาก เช่น มัททกุจฉิมฤคทายวัน

ในแคว้นกาสี แคว้นโกศล อันเป็นที่ตั้งของพระอารามคือพระเชตวัน บุพพาราม มีป่าเป็นอันมาก นอกจากเชตวัน คือ ป่าของเจ้าเชต ที่ท่านอนาถบิณทิกเศรษฐีซื้อเพื่อสร้างเป็นพระอารามถวายพระพุทธเจ้าแล้วยังมีอันธวัน และนันทวัน ที่พระพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์ ได้ไปพักอาศัยในป่าเหล่านั้น

ในแคว้นวัชชี และแคว้นสักกะ มีชื่อป่ามหาวันอยู่ทั้งสองแห่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรเป็นอันมากแก่พระภิกษุบ้าง เทวดาบ้าง พระราชา พราหมณ์ คฤหบดีบ้างในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับในป่านั้น

ตามปกติพระพุทธเจ้าจะเสด็จหลีกออกจากหมู่คณะ ไปประทับสงบอยู่ในป่าระยะสั้น ๆ เจ็ดหรือสิบห้าวันทุกครั้งจะเสด็จเข้าไปประทับในป่า เช่นคราวที่พระภิกษุทะเลาะกันที่เมืองโกสัมพี พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับอยู่ที่ป่า รักขิตวัน อยู่กับช้างและลิงที่เราเรียกพระพุทธรูปปางนี้ว่าปางป่าลิเลยกะ

การอยู่ป่าเป็นวัตรจัดเป็นนิสัย คือปัจจัยเครื่องอาศัยชีวิตของนักบวชในพระพุทธศาสนา และแม้นักบวชในลัทธิอื่นก็ถือแนวเดียวกัน พระพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ในสมัยพุทธกาลล้วนแล้วแต่อาศัยอยู่ในป่าเป็นส่วนมาก ยิ่งท่านที่ต้องการ เจริญกรรมฐาน หรือที่ใช้คำว่าเจริญสมณธรรมด้วยแล้ว เสนาสนะป่าเขา เงื้อมเขา ถ้ำ เป็นสถานที่ที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติเจริญสมณธรรม พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสรรเสริญป่าไว้โดยนัยต่าง ๆ เป็นอันมาก

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ทรงปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน คือ สวนป่าสาละของกษัตริย์มัลละ แห่งเมืองกุสินารา
ป่าไม้ในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งบุญ ในสคาถวรรค สังยุตตนิกาย พระพุทธเจ้ารับสั่งตอบเทวดาที่มากราบทูลถามว่า

"ชนเหล่าใด สร้างสวนดอกไม้ ผลไม้ ปลูกหมู่ไม้ สร้างสะพาน และให้โรงเป็นทาน บ่อน้ำทั้งบ้านที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์"

ป่าไม้ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์ ในพระพุทธศาสนา มีบทบัญญัติทางพระวินัยที่ห้ามมิให้พระภิกษุกระทำการอะไรเป็นการทำลายสภาพของป่า และต้นไม้ เช่น
พระภิกษุรูปใดตัดทำลายต้นไม้ ถ้าเป็นต้นไม้มีเจ้าของหวงแหน ท่านปรับอาบัติในฐานอทินนาทานคือ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ถ้าเป็นการตัดกิ่งต้นไม้ของตนหรือของวัด ท่านปรับอาบัติในข้อที่เป็นการพรากภูติคามคือ หักรานกิ่ง ใบ ดอกของต้นไม้ แม้แต่การทำลายต้นไม้ที่เป็นเมล็ดที่ปลูกได้ แง่ง กิ่งของต้นไม้ ล้วนปรับเป็นอาบัติทั้งสิ้น

และเพื่อเป็นการอนุรักษ์สภาพของป่า และต้นไม้ ได้มีบทบัญญัติทางพระวินัย ห้ามพระภิกษุถ่ายปัสสาวะอุจจาระ บ้วนน้ำลายลงน้ำ ในของสดเขียวทั้งเล็กและใหญ่ รวมถึงการทิ้งสิ่งสกปรกลงในน้ำ ในของสดของเขียวทั้งหลายอันเป็นหลักปฏิบัติที่ช่วยในการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

ความเชื่อในเรื่องที่มีเทพารักษ์ สิงสถิตอยู่ในป่า ต้นไม้ ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา จึงเป็นประโยชน์และเอื้ออำนวยที่สำคัญในการอนุรักษ์ป่า ต้นไม้
ยิ่งไปกว่านั้น พระวินัยยังกำหนดให้พระภิกษุที่สร้างกุฏิอยู่ตามป่า ไม่ให้ทำลายต้นไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และแม้แต่ได้รับอนุญาตก็ตัดทำลายเองไม่ได้ และยังต้องระมัดระวังไม่ให้กุฏิพังลงมาทับต้นไม้ในป่า ดังนั้นวันในพระพุทธศาสนา จึงเรียกว่า อาราม แปลว่าสถานที่ทำใจให้รื่นรมย์ โดยเน้นไปที่สวนไม้ดอกไม้ผล ไม้ที่ให้ร่มเงา วัดหลักในพระพุทธศาสนาจึงมีคำลงท้ายว่า วัน ที่แปลว่าป่า เช่น เวฬุวัน เชตวัน ชีวกัมพวัน และแม้แต่นิโครธาราม ก็เป็นป่าที่มีต้นไทรขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก
การตั้งวัด

 

การตั้งวัดมีขั้นตอน และวิธีดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในกฏกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ดังนี้

๑. ให้ผู้ได้รับอนุญาต ทายาท หรือผู้แทนเสนอรายงานขอตั้งวัดตามแบบ (ศถ.๓) ซึ่งทางราชการได้กำหนดไว้ต่อนายอำเภอ หรือหัวหน้าเขต
๒. นายอำเภอหรือหัวหน้าเขตได้รับรายงานขอตั้งวัด และพิจารณาเห็นสมควร ให้นำปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ หรือเจ้าคณะเขต
แล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการ กทม.
๓. ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาเห็นสมควรให้นำปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด หรือเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ส่งเรื่องและความเห็นไปยังกรมศาสนา
๔. กรมศาสนาพิจารณาเห็นสมควรให้ตั้งวัดได้ จะรายงานกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอรับความเห็นชอบ แล้วนำเสนอมหาเถรสมาคม
๕. มหาเถรสมาคมพิจารณาเห็นชอบแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจะได้ประกาศตั้งวัดในราชกิจจานุเบกษา แบบ ว.๑ ท้ายกฏกระทรวงดังกล่าว
๖. กรมศาสนาจะได้ส่งประกาศตั้งวัดไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเจ้าคณะภาคเพื่อทราบ และแจ้งให้ผู้ได้รับอนุญาตสร้างวัด ทายาท หรือผู้แทน ดำเนินการโอนที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างให้แก่วัดนั้นตามกฏหมาย
๗ เจ้าอาวาสจะต้องบันทึกประวัติของวัดไว้เป็นหลักฐานด้วย

 

หลักเกณฑ์สำคัญในการสร้างวัด

๑. จำนวนประชากรที่จะบำรุงวัดจะต้องไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ คน เว้นแต่มีเหตุจำเป็น (เมื่อมีประชาชนไม่ถึง ๑,๐๐๐ คน) ให้ชี้แจงเหตุผลประกอบไปด้วย
๒. วันที่ เดือน พ.ศ. ที่ทำหนังสือสัญญาตกลงยกที่ดินให้วัด กับที่ต้องแจ้งใน ศถ.๑ ต้องตรงกัน
๓. อยู่ห่างจากวัดอื่นที่ถูกต้องตามกฏหมายแล้วไม่น้อยกว่า ๒ กิโลเมตร เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นก็ให้ชี้แจงถึงเหตุจำเป็นไว้ด้วย
๔. ความเห็นชอบของเจ้าคณะ และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในแบบ ศถ.๑ ต้องมีครบถ้วน
๕. ที่ดินที่จะใช้เป็นที่สร้างวัดต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า ๖ ไร่
๖. การตั้งชื่อวัดต้องชี้แจงเหตุผลประกอบใน ศถ.๓ ด้วย การตั้งชื่อวัดควรตั้งตามชื่อหมู่บ้านที่ได้รับอนุญาตให้สร้างวัด หรือสถานที่ที่ตั้งวัด และให้ชี้แจงด้วยว่ามีวัดที่มีชื่อตรงตามชื่อบ้าน และชื่อตำบลนั้นแล้วหรือไม่ เพื่อมหาเถรสมาคมจะได้พิจารณาตั้งชื่อวัดไม้ให้ซ้ำกัน ถ้าชื่อวัดที่ขอตั้งชื่อตามหมู่บ้านที่มีหลายพยางค์ ให้ตัดคำว่าบ้านออก เช่น บ้านทุ่งทอง ให้ตั้งชื่อว่า วัดทุ่งทอง แต่ถ้าชื่อหมู่บ้านมีพยางค์เดียว ให้คงคำว่าบ้านไว้ เช่น บ้านนา ให้ชื่อว่า วัดบ้านนา
๗. จำนวนภิกษุจำพรรษาต้องไม่ต่ำกว่าสี่รูป และให้เสนอชื่อผู้ที่จะเป็นเจ้าอาวาสพร้อมด้วยอายุ พรรษา สังกัดสำนักวัดเดิม (ตามหนังสือสุทธิ) พระภิกษุที่จะเป็นเจ้าอาวาสต้องมีอายุพรรษาห้าพรรษาขึ้นไป
๘. ถ้าทางวัดได้สร้างอุโบสถเสร็จเรียบร้อยแล้ว หรือสามารถทำสังฆกรรมได้แล้ว ให้รายงานขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามแบบ ศถ.๗ ถ้ายังไม่เสร็จต้องรอให้ครบห้าปี
การขอพระราชทานวิสุงคามสีมา

 

ขั้นตอนการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามที่ได้กำหนดไว้ในกฏกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ มีดังนี้

๑. เจ้าอาวาสเสนอรายงานขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาตามแบบ ศถ.๗ต่อเจ้าคณะตำบล และเจ้าคณะอำเภอ
๒. เจ้าคณะตำบล และเจ้าคณะอำเภอเห็นสมควรให้นำปรึกษานายอำเภอแล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยังเจ้าคณะจังหวัด
๓. เมื่อเจ้าคณะจังหวัดเห็นสมควรให้นำปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วเสนอเรื่อง และความเห็นไปยังเจ้าคณะภาค
๔. เมื่อเจ้าคณะภาคเห็นสมควรแล้วให้ส่งเรื่อง และความเห็นไปยังกรมการศาสนา
๕. เมื่อกรมการศาสนาเห็นสมควรแล้ว จะกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชเพื่อทรงอนุมัติแล้วเสนอกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำความการบังคมทูลขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาต่อไป
๖. เมื่อพระราชทานวิสุงคามสีมาแก่วัดใดแล้ว ให้นายอำเภอท้องที่ที่วัดนั้นตั้งอยู่ ดำเนินการปักหมายเขตที่ดินตามที่ได้รับพระราชทานต่อไป