กองทหารอาสาต่างชาติในประเทศไทย





ประเทศไทยมีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยพึ่งพระบรมโพธิสมภารตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล และได้กลายเป็นพลเมืองไทยไปเป็นอันมาก ทั้งนี้เพราะ แผ่นดินไทยมีพระมหากษัตริย์ ที่ทรงมีน้ำพระทัยเมตตากรุณาอย่างกว้างขวาง แก่ชนทุกชาติทุกภาษา ที่หนีร้อนจากถิ่นเดิม
มาพึ่งเย็นในราชอาณาจักรไทยโดยสุจริต และที่เข้ามาค้าขายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ประกอบกับชนชาวไทย ก็ไม่ได้มีรังเกียจเดียดฉันท์ชาวต่างชาติ ต่างภาษา และต่างศาสนาแต่อย่างใด ทำให้ผู้ที่เข้ามาพึ่งพาอาศัยอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งคุณสมบัติอันนี้ จะหาได้ยากในชนชาติอื่น คุณลักษณะอันนี้เป็นที่ทราบกันดีจนมีคำพังเพยที่ว่า

เป็นประเพณีไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ
ชนต่างชาติดังกล่าว เมื่อได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแล้ว ก็มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และมีความจงรักภักดีอย่างแน่นแฟ้น ฝากผีฝากไข้ไว้กับแผ่นดินไทย ลูกหลานเหลนโหลนต่อมา ก็เป็นคนไทยทั้งกายและใจ และได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อราชอาณาจักรไทย ในเฉกเช่นคนไทยทั่วไป
ในด้านการป้องกันประเทศชนต่างชาติดังกล่าว ได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกองอาสาสมัคร ช่วยทำศึกสงคราม เช่น กองอาสาจาม กองอาสาแขกเทศ กองอาสามลายู กองอาสาลาว กองอาสามอญ กองอาสาจีน กองอาสาญี่ปุ่น กองอาสาโปรตุเกส กองอาสาฝรั่งเศส กองอาสาฮอลันดา และกองอาสาอังกฤษ เป็นต้น
หน่วยอาสาสมัครดังกล่าว มีทั้งที่เป็นกองทหารและกลุ่มคนที่มิได้เป็นทหาร รับอาสาทำสงคราม และทำประโยชน์ให้แก่ราชอาณาจักรไทยในรูปแบบต่าง ๆ
กองอาสาจาม

กองอาสาจาม เป็นกองอาสาที่เข้ามารับราชการในสมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พวกจามหรือแขกจามหรือชนชาวจัมปา เป็นชนชาติโบราณ มีดินแดนอยู่ในประเทศเวียตนามตอนกลาง ในปัจจุบัน และส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชาด้านตะวันออก ประเทศจัมปาได้ถูกเวียตนามกลืนชาติไป เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2014 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาก ปัจจุบันยังมีชนชาวจามเหลืออยู่ เพียงประมาณ 1 แสนคน แบ่งออกเป็น 2 พวกคือ พวกที่นับถือศาสนาพราหมณ์ เรียกว่า จาม อยู่ในประเทศเวียตนาม อีกพวกหนึ่ง นับถือศาสนาอิสลาม เรียกว่า บานี อยู่ในประเทศกัมพูชา และประเทศไทย
ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองอาสาจามก็ได้ช่วยในการทำสงคราม โดยเฉพาะครั้งสงครามยุทธหัตถี กองอาสาจามจำนวน 500 คน ในบังคับบัญชาของพระยาราชวังสัน ได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยรักษาพระองค์ อยู่หน้าช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถ รวมออกไปทำสงครามครั้งนั้นด้วย
ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กองอาสาจามได้มีบทบาทในการรบ คือ เมื่ออะแซหวุ่นกี้เลิกทัพกลับไป จากเมืองพิษณุโลกแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้สั่งให้จัดกองทัพออกติดตามตีพม่าเป็นหลายกองด้วยกัน หนึ่งในกองทัพที่ยกไปตามตีพม่านั้น มีกองอาสาจามที่ให้พระยาธิเบศร์บดีคุมไปอยู่ด้วยกองหนึ่ง
เมื่อครั้งพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา ในคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 นั้น พวกอาสาแขกจาม รวมทั้งแขกเทศ แขกมลายู แขกชวา และบรรดาแขกทั้งปวงเป็นอันมาก ได้อาสาสมเด็จพระเจ้าเอกทัศยกออกไปต้านทาน ตีค่ายพม่าโดยมีพระจุฬา (ราชมนตรี) เป็นแม่ทัพ (กองทหารอิสลาม)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ กองทัพไทยยังมีอาสาจามอยู่ โดยมีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ได้ทรงฝึกหัดชาวต่างประเทศ ที่อาสาสมัครเข้าช่วยราชในกองทัพไทย มีกองอาสาจาม ซึ่งเป็นกองอาสาที่ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จักกันดี ในหมู่กองอาสาต่าง ๆ เช่น กองอาสาแขกเทศ และกองอาสามลายู เป็นต้น

กองอาสารามัญหรือกองอาสามอญ

กองอาสามอญ มีอยู่ในประวัติศาสตร์ไทย หรือพระราชพงศาวดารไทยอยู่หลายสมัยด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสงครามระหว่างไทยกับพม่าไม่ว่าครั้งใด จะมีกองอาสามอญร่วมไปกับกองทัพไทยเสมอ ในบางครั้งกองอาสามอญจัดกำลังได้เป็นจำนวนมาก จนเป็นกองทัพหนึ่งได้ต่างหาก แล้วขึ้นสมทบหรือขึ้นทางยุทธการต่อ จอมทัพไทย (ทัพกษัตริย์) บางสมัยได้ตั้งขุนนางมอญด้วยกันเป็นแม่ทัพควบคุมกองอาสานี้ ในนามของกองทัพไทย ทั้งนี้ เพราะการที่ไทยต้องทำสงครามกับพม่านั้น มักมีสาเหตุมาจากมอญ คือ มอญทนต่อการปกครองอย่างเข้มงวด และเอารัดเอาเปรียบของพม่าไม่ได้ประการหนึ่ง และการที่มอญไม่ชอบพม่าได้เป็นศัตรูคู่สงคราม แย่งแผ่นดินกันมาช้านาน แม้แต่กรุงหงสาวดี ก็แย่งกัน เพื่อเอาเป็นศูนย์กลางการปกครอง และเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินพม่าและพระเจ้าแผ่นดินมอญ
ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีพระยาเกียรติ พระยาราม เป็นหัวหน้าควบคุม อาสามอญที่จะเข้ามา สวามิภักดิ์กับไทย นอกจากนี้ยังมีมหาเถรคันฉ่อง ผู้เป็นพระอาจารย์ของพระยาเกียรติ พระยาราม เดินทางเข้ามาด้วย อาสามอญดังกล่าวได้ตามเสด็จพระนเรศวร เข้ามารับราชการอยู่กับไทย พระมหาเถรคันฉ่องได้เป็นที่พระสังฆราชา พระยาเกียรติพระยารามได้เป็นพระยาพานทอง และได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ใกล้วัดขมิ้นและวัดขุนแสน ใกล้วังของสมเด็จพระนเรศวร ในกรุงศรีอยุธยา
เมื่อปี พ.ศ. 2137 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำสงครามกับพม่า กองทัพไทยพร้อมด้วยกองทัพอาสามอญ ได้ช่วยกันโจมตีกองทัพพระเจ้าตองอู แตกพ่ายไป และตั้งแต่นั้นมา หัวเมืองมอญฝ่ายใต้ตั้งแต่เมืองเมาะตะมะ ตลอดมาจนจรดแดนไทยได้มาขอขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด และในปีต่อมาคือปี พ.ศ. 2138 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงยกกองทัพไปตีกรุงหงสาวดีครั้งแรก ก็ได้กองทัพอาสามอญ ไปทำการสงครามครั้งนี้ด้วย
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งสงครามไทยกับพม่าที่ไทรโยค เมื่อปี พ.ศ. 2206 พวกมอญประมาณ 5,000 คน พร้อมครอบครัวอีกประมาณ 10,000 คน ในเมืองเมาะตะมะได้ช่วยกันจับตัว มังนันทมิตรพระเจ้าอาของพระเจ้าอังวะ แล้วหนีมาพึ่งไทย ขออาสาช่วยไทยรบพม่า สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงแต่งตั้งนายครัวมอญให้มียศศักดิ์ ควบคุมครัวมอญที่เข้ามาด้วยกัน แล้วให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคก ปลายเขตกรุงศรีอยุธยาต่อกับเขตเมืองนนทบุรีแห่งหนึ่ง และบริเวณคลองคูจามในชานกรุงศรีอยุธยาอีกแห่งหนึ่ง ในปีต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2207 เกิดสงครามไทยพม่าอีกครั้งหนึ่งก็มีมอญอาสามาเข้ากับไทยเป็นอันมาก
ในปี พ.ศ. 2363 เมื่อพม่าเตรียมยกทัพมาตีไทยอีก กองมอญ อาตมาต ที่คอยตระเวณด่าน ได้เข้าไปสืบสวนข่าวคราวในดินแดนพม่าถึงเมือง เร ซึ่งอยู่เหนือเมืองทวาย กองมอญอาตมาตได้จับกุมตัวขุนนางพม่า ผู้เชิญหมายตรา ลงมาเกณฑ์คนเป็นทหารในเมืองทวาย ฝ่ายไทยจึงทราบว่าพม่าเตรียมกองทัพมาตีไทยทางกรุงเทพ ฯ จึงได้จักกองทัพใหญ่ขึ้น 4 กองทัพ คือ กองทัพที่ 1 และกองทัพที่ 2 ยกไปรักษาเมืองเพชรบุรี คอยขัดตาทัพและต่อสู่กับกองทัพพม่าที่จะยกเข้ามาทางด้านสิงขร โดยมีกองมอญของเจ้าพระมหาโยธา (บุตรชายของ พระยามหาโยธา (เจ่ง) ที่ชื่อ ทอเรีย) เป็นกองหน้าของกองทัพที่ 1 กองทัพน้อยยกไปรักษาเมืองราชบุรี และกองทัพที่ 4 ยกไปป้องกันหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายพม่าเมื่อทราบว่า ฝ่ายไทยเตรียมพร้อมรับศึกอย่างดี จึงเปลี่ยนใจไม่ยกทัพมาตีไทย
ในปี พ.ศ. 2467 อังกฤษได้มาชักชวนไทยให้ไปช่วยรบกับพม่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยารัตนจักรหรือสมิงสอดเบา ซึ่งเป็นหัวเมืองหน้าครัวมอญ ที่อพยพเข้ามาใหม่ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นนายกองควบคุมกองมอญยกล่วงหน้าเข้าไปสืบดูเหตุการณ์ในดินแดนพม่า แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรีย) ควบคุมบังคับบัญชากองมอญอีกกองหนึ่ง (ซึ่งได้เตรียมไว้สำหรับยกไป ยกไปตรวจตระเวณด่านเป็นประจำตามที่เคยปฏิบัติมา) ให้ยกเข้าไปในดินแดนพม่า ทางด่านพระเจดีย์สามองค์ อีกทางหนึ่ง พระยารัตนจักร เมื่อคุมกองมอญไปถึงเมืองใดที่เป็นมอญ พวกมอญที่เป็นเจ้าเมืองและกรมการเมืองรวมทั้งพลเมือง จะพากันมาต้อนรับแสดงความยินดีและแจ้งว่า ขณะนี้พม่ากับอังกฤษทำสงครามกัน พวกมอญไม่เข้ากับพม่า มอญจะอาสาสมัครเข้ากับพระเจ้าแผ่นดินไทย และอาสาไทยรบกับพม่า สำหรับเจ้าเมืองขะเมิงและเจ้าเมืองทรา ทั้งสองเมืองนี้รับอาสาว่า ถ้ากองทัพของเจ้าพระยามหาโยธายกมาถึงเมื่อใด จะจัดกองทัพมอญอาสาให้ได้กำลังพลไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ช่วยไทยรบกับพม่าอีกกองทัพหนึ่ง เมื่อเจ้าพระยามหาโยธายกกองทัพเข้าไปตั้งอยู่ที่เมืองเตริน ซึ่งเป็นเมืองเอกในแคว้นมอญของพม่า พวกเจ้าเมืองใกล้เคียง และกรมการเมืองทั้งปวงก็เข้ามาอ่อนน้อม เจ้าพระยามหาโยธาก็มีอำนาจเหนือหัวเมืองมอญ ในพื้นที่ที่อังกฤษยังเข้าไปไม่ถึง
ต่อมา เมื่อกองทัพไทยได้ยกไปช่วยอังกฤษทำสงครามกับพม่าเป็นครั้งที่ 2 เจ้าพระยามหาโยธาก็ได้เป็นแม่ทัพ คุมกองทัพมอญอาสาจำนวน 10,000 คนเศษ เป็นทัพหน้า กองทัพพม่าจากเมืองสะเทิมได้ยกเข้าตีเมืองเมาะตะมะ กองทัพอังกฤษได้ขอให้กองทัพไทยช่วย กองทัพไทยสามารถรักษาเมืองเมาะตะมะไว้ได้

กองทหารอาสาสมัครลาว

ได้มีชาวลาวอาสาสมัครเข้ารับราชการทหารฝึกหัดอาวุธสมัยใหม่อย่างยุโรป ในกรมทหารต่างด้าว ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ โดยรับสมัครจากคนไทยเชื้อชาติลาวที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่กรุงเทพ ฯ ตั้งแต่กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
อาสาสมัครลาวที่อาสารบกับพม่าครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310 อาสาลาวในครั้งนี้อยู่ในบังคับบัญชาของขุนนางลาวคือ แสนกล้า แสนหาญ แสนห้าว และเวียงคำ ได้นำกำลังชาวลาวในกรุงศรีอยุธยาออกตีค่ายพม่าที่ล้อมกรุงอยู่
พระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละ ทั้งสองท่านเป็นคนไทยลานนา ต้องอยู่กับพม่าด้วยความจำใจ เมื่อสบโอกาสจึงได้พาสมัครพรรคพวกมาสวามิภักดิ์ ต่อเจ้าพระยาจักรี ( ร.1 ) เมี่อเจ้าพระยาจักรีให้พระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละถือน้ำ กระทำสัตย์ปฏิญาณแล้ว จึงได้ให้คุมพลลานนาอาสา นำทัพไทยขึ้นไปเชียงใหม่ ทั้งสองท่านนี้ได้เป็นกำลังอาสาสมัครสำคัญในการต่อสู้กับพม่าทางด้านเหนือ กล่าวคือเมื่อปี พ.ศ. 2340 พม่ายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ พระยาทั้งสองได้ทำการรักษาเมืองไว้เป็นสามารถ ต่อมาได้กำลังจากกรุงศรีสัตนาคนหุต ซึ่งมีเจ้าอนุวงศ์มหาอุปราชเมืองเวียงจันทน์ ยกกองทัพกำลัง 20,000 คน รวมกับกองทัพทางกรุงเทพ ฯ ตีกองทัพพม่าถอยกลับไป
เมื่อปี พ.ศ. 2345 ไทยรบกับพม่าอีกครั้ง เพื่อขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาไทย โดยที่พม่าได้ยกทัพมาล้อมเมืองเชียงใหม่ กองทัพจากกรุงเทพ ฯ โดยมีกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นแม่ทัพ โดยมีกองทัพหัวเมือง และกองทัพเมืองเวียงจันทน์ เข้าร่วมด้วย สามารถขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาได้สำเร็จ
เมื่อปี พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีตราสั่งเจ้าเมืองประเทศราชข้างฝ่ายเหนือ ให้ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองลื้อ เมืองเขิน ตลอดจนสิบสองปันนา ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพม่า ในการนี้ กองทัพเมืองหลวงพระบาง และกองทัพเมืองเวียงจันทน์ ก็ได้ยกขึ้นไปสมทบด้วย เมื่อตีได้เมืองหลวงภูตาในสิบสองปันนา พวกเมืองลื้อประเทศราช ตั้งแต่เมืองเชียงรุ้งลงมาไม่ต่อสู้ พากันมาอ่อนน้อมแต่โดยดี

กองอาสาจีน

อาสาจีนมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีลักษณะคล้ายกับกองอาสาญี่ปุ่น และกองอาสาโปรตุเกส คือ เนื่องจากสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้รับจากการเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในกรุงศรีอยุธยา
เมื่อปี พ.ศ. 2303 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่า ตีค่ายไทยที่ทุ่งตาลานแตกแล้ว ก็ยกกองทัพมาถึงกรุงศรีอยุธยา และตั้งค่ายหลวงที่บ้านกุ่ม ทางด้านทิศเหนือของกรุงศรีอยุธยา แล้วให้มังระราชบุตรกับมังฆ้องนรธาแม่ทัพรอง ซึ่งเป็นกองหน้า ให้ยกมาตั้งค่ายที่ทุ่งโพธิ์สามต้น ในครั้งนั้น หลวงอภัยพิพัฒน์ ซึ่งเป็นขุนนางเชื้อสายจีน ได้รวบรวมชาวจีนที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา จัดขึ้นเป็นหน่วยทหารขออาสาสมัคร ต่อสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทำการต่อสู้กับพม่าเพื่อป้องกันกรุงศรีอยุธยา โดยรวบรวมคนจีนในบ้านค่ายได้ ประมาณ 2,000 คน ขออาสาเข้าตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น ในครั้งนั้นได้โปรดให้จมื่นทิพเสนา ปลัดกรมตำรวจ คุมกำลัง 1,000 คน หนุนออกไปด้วย แต่ทั้งสองหน่วยนี้ไปเสียทีพม่าถูกโจมตีแตกพ่ายกลับมา ในการสงครามคราวเสียกรุง ฯ ครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. 2310 กองอาสาจีนชุดเดิมก็ได้อาสาเป็นครั้งที่ 2 มีกำลังประมาณ 2,000 คน ยกไปวางกำลังป้องกันกำแพงกรุงศรีอยุธยาทางด้านทิศใต้ โดยไปตั้งค่ายที่บ้านสวนพลู ต่อมากองอาสานี้ได้คบคิดกันนำกำลัง 300 คน ขึ้นไปยังพระพุทธบาทสระบุรี ทำการลอกทองคำที่หุ้มพระมณฑปน้อย และแผ่นเงินที่ลาดพื้นพระมณฑปเอาไปเป็นประโยชน์ และยังได้จุดไฟเผาพระมณฑป พระพุทธบาท เพื่อกลบเกลื่อนหลักฐาน ส่วนกองอาสาจีนที่เหลือ ณ ค่ายบ้านสวนพลูก็ถูกพม่าตีแตก เช่นเดียวกับค่ายทหารอื่น ๆ<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<< เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้รวบรวมกำลังกอบกู้เอกราชของไทย ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระยาตากนั้น พระองค์ได้นำทหารไทยและจีนออกรบหลายครั้งหลายหนด้วยกัน ดังนั้นในแผ่นดินของพระองค์จึงมีกองกำลังคนจีน อาสาสมัครมากขึ้นเป็นพิเศษ เช่นการเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้นก็ได้ให้ พระยาพิพิธ และ พระยาพิชัย ซึ่งเป็นนายทหารไทยเชื้อสายจีน คุมกองอาสาจีน ยกไปตั้งประชิดค่ายพม่าของสุกี้ทางด้านวัดกลาง ผลการรบครั้งนี้ ฝ่ายไทยตีพม่าโพธิ์สามต้นได้ ฆ่าสุกี้แม่ทัพพม่าตายในที่รบ การตีค่ายโพธิ์สามต้นได้นี้มีความสำคัญ และถือว่าได้กู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนจากพม่าได้สำเร็จ
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ครองกรุงธนบุรีแล้ว ก็จัดตั้งข้าราชการออกไป รักษาหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวง และท้องที่ตำบลใดที่ยังไม่สงบ พระองค์ก็จะแบ่งกำลังทหาร ให้ออกไปคอยปราบปราม โดยให้ไปตั้งประจำอยู่ตามหัวเมืองหลายแห่ง และได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทหารอาสาจีนไปตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลบางกุ้ง เขตเมืองสมุทรสงครามต่อเขตเมืองราชบุรี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2311 พระเจ้าอังวะกษัตริย์พม่า ได้ให้เจ้าเมืองทวาย ยกกองทัพมาดูลาดเลาในไทย โดยยกเข้ามาทางเมืองไทรโยค แล้วเข้ามาถึงบางกุ้ง เห็นกองอาสาจีนตั้งค่ายอยู่ จึงได้ยกกำลังเข้าล้อมไว้ กองอาสาจีนได้ต่อสู้รักษาค่ายไว้ได้ รอจนทัพกรุงยกไปช่วย จนกองทัพพม่าแตกหนีไป
เมื่อปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เตรียมกองทัพจะลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช แต่พอต้นปี พ.ศ. 2312 มีข่าวว่าญวนยกกองทัพเรือขึ้นมาที่เมืองบันทายมาศ และมีข่าวว่าจะเข้ามาตีกรุงธนบุรีด้วย จึงได้ทรงให้เตรียมรักษาปากน้ำ 4 ทาง ทางหนึ่งนั้นได้ให้ พระยาพิชัยนายทหารจีนอาสา ซึ่งเคยเป็นข้าหลวงเดิม และต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยาโกษาธิบดี เป็นผู้บังคับการรักษาปากน้ำ แต่กองทัพญวนไม่ได้ยกมากรุงธนบุรีตามข่าว
เมื่อปี พ.ศ. 2317 เมื่อคราวรบกับพม่าที่บางแก้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงให้ล้อมจับพม่าทั้งกองทัพ เพื่อให้คนไทยเห็นว่าพม่านั้นมิใช่วิเศษกว่าคนไทย ในการล้อมครั้งนั้น ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กองทัพที่นำโดย พระองค์เจ้าจุ้ย กับกองอาสาจีนของพระยาราชาเศรษฐี ยกไปรักษาเมืองราชบุรี ด้วยเกรงว่าพม่าจะยกมาตีตัดทางลำเลียงด้านหลัง
เมื่อปี พ.ศ. 2318 อะแซหวุ่นกี้ยกทัพมาตีหัวเมืองของไทย พระยาราชเศรษฐีได้คุมกองอาสาจีน จำนวน 3,000 คน ไปตั้งอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ คอยระวังป้องกันมิให้พม่าตัดทางลำเลียงได้ รวมทั้งป้องกันมิให้พม่ายกลงมาตามลำน้ำปิง ต่อมาเมื่ออะแซหวุ่นกี้ สั่งการให้กองทัพพม่ายกมาตีเมืองนครสวรรค์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงให้กองทัพนำโดยพระยาราชภักดี และพระยาพิพัฒน์โกษา ถอยลงมาสมทบกับกองอาสาจีน ของพระยาราชเศรษฐี ที่ตั้งรักษาเมืองนครสวรรค์อยู่ ทำให้พม่าต้องยับยั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร

หน่วยทหารอาสาโปรตุเกส

หน่วยทหารอาสาโปรตุเกส เริ่มมีตั้งแต่เมื่อโปรตุเกสเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี และทำการค้ากับกรุงศรีอยุธยา โปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกชาติแรกเดินเรือมาค้าขาย และเผยแพร่คริสตศาสนา ยังดินแดนต่างทวีป แข่งขันกับสเปน ซึ่งส่วนใหญ่ไปทางทวีปอเมริกา โปรตุเกสมีสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐาธิราช) และมีชาวโปรตุเกสมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่นั้นมา ชาวโปรตุเกสได้จัดกองทหารอาสา สำหรับใช้ช่วยราชการพระเจ้าแผ่นดินไทยด้วย เมื่อไทยต้องทำสงครามกับข้าศึก ชาวโปรตุเกสก็มักจะอาสาสมัครไปรบ เป็นการตอบแทนบุญคุณประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็เพื่อเป็นการป้องกันครอบครัว และทรัพย์สมบัติของตนเองไปด้วยในตัว
ในปี พ.ศ. 2081 พระเจ้าตะเบงชเวตี้ กษัตริย์พม่า ได้ยกทัพมายึดเมืองเชียงกราน ซึ่งเป็นเมืองชายแดนไทย สมเด็จพระชัยราชาธิราช ได้เสด็จยกทัพไปตีกลับคืนมาได้ ในการรบครั้งนั้น มีอาสาโปรตุเกสที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยา อาสาไปรบร่วมกับกองทัพไทยด้วย โดยจัดเป็นกองร้อยปืนเล็กยาว เป็นการจัดกำลังถืออาวุธ อย่างยุโรปสมัยใหม่ถือปืนไฟ ผลการรบได้รับชัยชนะฝ่ายพม่า กองอาสาโปรตุเกสที่ได้อาสาไปรบครั้งนั้น เป็นที่พอพระทัยของสมเด็จพระชัยราชาธิราชเป็นอย่างมาก ได้รับยกย่องมีความดีความชอบ ได้รับพระราชทานที่ดินริมฝั่งคลองตะเคียน ให้สร้างวัดตามลัทธิศาสนาของตนได้ และกองอาสานี้ยังคงความเป็นหน่วยต่อมา และอยู่ภายใต้กฎหมาย หรือพระราชกำหนดของพระเจ้าแผ่นดินไทย