กองทหารอาสาต่างชาติในประเทศไทย




กองอาสาญี่ปุ่น

ชาวญี่ปุ่นเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ในกรุงศรีอยุธยามานานแล้ว ครั้นปี พ.ศ.2149 ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ ญี่ปุ่นได้เข้ามามีสัญญาทางพระราชไมตรีกับไทยอย่างเป็นทางการ โดยพิธีการทูต มีหลักฐานทางราชการของญี่ปุ่นบ่งว่า ชาวญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งรกรากในไทยเป็นจำนวนมาก เมื่อปี พ.ศ. 2135 ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีการอพยพกันเข้ามาครั้งละมาก ๆ ตั้งแต่ 700 คน ถึง 7,000 คน ก็มีชาวญี่ปุ่นได้ออกไปทำการค้าขายถึงเมืองปัตตานี และนครศรีธรรมราช ชนชาวญี่ปุ่นเป็นนักต่อสู้ที่กล้าหาญ ฉลาด และมีไหวพริบดี พระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยา มักให้ช่วยปราบปรามพวกก่อการกบฏที่เกิดขึ้นตามหัวเมืองต่าง ๆ หลายครั้ง ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาที่กรุงศรีอยุธยา มีทั้งพ่อค้า นักเดินเรือ ชาวประมง และแม้กระทั่งโจรสลัด มีชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งรวบรวมพรรคพวกตั้งเป็นกองอาสาญี่ปุ่น ทำหน้าที่เป็นทหารรักษาพระะองค์ของพระเจ้าแผ่นดินไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ครั้งยังไม่มีสัญญาทางพระราชไมตรีกัน
ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองอาสาญี่ปุ่น ได้อาสาออกรบช่วยไทยทำสงครามกับพม่า กองอาสาญี่ปุ่นกองนี้มีจำนวน 500 คน มียามาดา หรือออกญาเสนาภิมุข เป็นหัวหน้า กองอาสาญี่ปุ่นได้รับหน้าที่เป็นกองทหารทะลวงฟัน ป้องกันจอมทัพไทยอยู่ด้านหน้าช้างทรงของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ครั้งสงครามยุทธหัตถี ตัวยามาดานั้นขี่ช้างพลายเฟื่องภพไตร คุมพลอาสาญี่ปุ่นทั้งปวง
ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ ตลอดมาจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ชาวญี่ปุ่นก็ยังคงสมัครเข้าเป็นกองอาสานี้ ตัวยามาดานั้นเป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในวงการทูต และวงการค้าของต่างชาติในยุคนั้น ถึงกับมีนักประพันธ์ชาวญี่ปุ่นได้แต่งนวนิยายผจญภัยในต่างแดนของยามาดา โดยใช้เหตุการณ์ในประเทศไทย โดยเฉพาะที่กรุงศรีอยุธยา และเมืองนครศรีธรรมราช เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ชาวญี่ปุ่นนิยมชมชอบมาก
ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ยามาดาหรือออกญาเสนาภิมุข ได้ร่วมมือกับเจ้าพระยากลาโหม
ในการสนับสนุนการขึ้นครองราชสมบัติของพระเจ้าแผ่นดินไทยหลายพระองค์ รวมทั้งพระเจ้าปราสาททองด้วย
ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอาทิตย์วงศ์ พวกญี่ปุ่นถูกกีดกันให้ออกไปอยู่นอกพระนคร โดยมอบให้ไปตั้งอยู่ที่นครศรีธรรมราช คอยระวังป้องกัน พวกฮอลันดาที่จะมาก่อเหตุวิวาทกับไทย ต่อมากองอาสานี้ได้ล้มตายไปจนเหลือจำนวนน้อย ครั้นออกญาเสนาภิมุข ซึ่งได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชถึงแก่อสัญกรรม ทำให้กองอาสาญี่ปุ่นสลายตัว พวกญี่ปุ่นที่เหลือก็พากันกลับประเทศญี่ปุ่น
กองทหารอาสาสมัครฝรั่งเศส

กองทหารอาสาสมัครฝรั่งเศส เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เป็นยุคที่ไทยรุ่งเรืองในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจและศิลปวิทยา ไทยได้ทำการค้ากับต่างประเทศเป็นอันมาก จนเกิดกรณีพิพาทกับฮอลันดา เมื่อปี พ.ศ. 2207 และมีกรณีพิพาทกับบริษัทอังกฤษ มีการรบพุ่งกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2230 โดยอังกฤษได้รื้อป้อมที่เมืองมะริด ซึ่งเป็นของไทย และแย่งเรือกำปั่นของไทย
ที่เมืองมะริดไปหนึ่งลำ พระยาตะนาวศรี ซึ่งเป็นฝ่ายไทยได้ยกทัพลงมาจากเมืองตะนาวศรี เข้าโจมตีพวกอังกฤษที่อยู่ที่เมืองมะริด ฆ่าฟันพวกอังกฤษล้มตายเป็นอันมาก ไทยยึดป้อมมะริดคืนมาได้ และยึดเรือรบอังกฤษไว้ได้ 1 ลำ พวกอังกฤษที่เหลือได้ลงเรือรบที่เหลืออยู่อีก 2 ลำหนีไปได้ เมื่อพระยาตะนาวศรีกราบทูลแจ้งเหตุการณ์เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีพระราชกฤษฎีกา ประกาศสงครามกับบริษัทอังกฤษ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2230 ไทยกับอังกฤษจึงเป็นศัตรูกันมาตลอดรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ในระหว่างนั้นไทยกับฝรั่งเศส มีความสัมพันธ์ทางพระราชไมตรีกันอย่างแน่นแฟ้น มีการส่งราชทูตไปมา
ระหว่างกันหลายครั้ง พระเจ้าหลุยที่ 14 ได้เคยส่งชาวฝรั่งเศสมาเป็นครูฝึกทหารไทยแบบยุโรป 1 นาย คือ เชอวาลิเอ เดอฟอร์แบ็ง ซึ่งต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ออกพระศักดิ์สงคราม สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพระราชประสงค์จะจัดทหารแบบยุโรป เพื่อไว้ต่อต้านการคุกคามของฮอลันดาและอังกฤษ จึงเห็นว่าครูฝึกเพียง 1 คนไม่เพียงพอ พระเจ้าหลุยที่ 14 จึงได้ส่งกองทหารอาสาสมัครฝรั่งเศส จำนวน 1,400 คน ในบังคับบัญชาของนายพล เดส์ฟาซ มายังไทย และให้รับราชการในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
กรมอาสาสมัครของฝรั่งเศสหน่วยนี้ ไม่เป็นที่ไว้วางใจของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของไทย จนต้องมีการวางมาตรการควบคุม และทำสัญญาให้เดินทางกลับฝรั่งเศส เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชาเมื่อขึ้นครองราชสมบัติต่อมา ไม่ต้องการกองอาสาสมัครหน่วยนี้
ตั้งแต่กรมอาสาสมัครฝรั่งเศสมารับราชการอยู่ในประเทศไทย ทำให้ไทยเป็นที่เกรงขามของชาวยุโรปชาติอื่นๆ โดยเฉพาะฮอลันดา และอังกฤษ ซึ่งไม่กล้าก่อความยุ่งยากแก่ไทยอีกเลย
อาสาสมัครฮอลันดา

ชาวฮอลันดาที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา เคยรวมตัวกันอาสาสมัครช่วยพระเจ้าแผ่นดินไทยปราบปราม กำจัดทหารอาสาสมัครฝรั่งเศส ที่เข้ามารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ชาวฮอลันดาหรือที่สมัยก่อนคนไทยเรียกว่าวิลันดานั้น ได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่ปลายแผ่นดิน สมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้ว แต่พระเจ้ามอริตซ์กษัตริย์แห่งฮอลแลนด์ เพิ่งจะมีพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการ เข้ามาถวายและเจริญพระราชไมตรี เมื่อต้นแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อปี พ.ศ. 2150 สมเด็จพระเอกาทศรถก็ได้ทรงส่งราชทูตเชิญพระราชสาส์น และเครื่องบรรณาการไปตอบแทน โดยพวกฮอลันดาที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เป็นผู้จัดเรือให้ คณะราชทูตไทยคณะนี้
นับว่าเป็นคนไทยคณะแรก ที่เดินทางไปถึงทวีปยุโรป
เมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชสมบัติต่อมา พระองค์ไม่ชอบฝรั่งเศส และกองอาสาฝรั่งเศสมาแต่แรก เห็นว่าจะเป็นภัยต่อไทย จึงคิดกำจัดเสีย โดยการนำทหารไทยไปล้อมป้อมกรุงธนบุรี ที่ทหารฝรั่งเศสตั้งอยู่ เป็นเวลาสองเดือน พวกฮอลันดาที่เคยถูกกีดกันในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงได้อาสาสมเด็จพระเพทราชา ช่วยกันกำจัดทหารฝรั่งเศส ร่วมกับไทยอีกแรงหนึ่ง จนในที่สุดฝรั่งเศสต้องถอนกองกำลังทหารของตน ออกไปจากประเทศไทย
อาสาสมัครอังกฤษ

ชาวอังกฤษเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ คือในปี พ.ศ. 2155 และในปีเดียวกันนั้น พ่อค้าชาวอังกฤษก็ได้นำพระราชสาส์นของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษเข้าถวายเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีกันเป็นทางราชการ แต่การติดต่อระหว่างไทยกับอังกฤษ ยังไม่กว้างขวาง เพราะทางอังกฤษสนใจการค้าขายและการเมืองกับประเทศอินเดีย
มากกว่าประเทศไทยทางแถบแหลมทอง
ในแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พวกอังกฤษเห็นว่าไทยเป็นคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญของประเทศอินเดีย จึงเกิดการสู้รบระหว่างประเทศไทยกับบริษัทอังกฤษทางด้านเอเซีย ผลของการสู้รบ อังกฤษได้ยกกำลังเข้ายึดเมืองตะนาวศรีของไทยได้ แต่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ได้ส่งกองทัพไทยไปตีคืนมา ได้เมื่อปี พ.ศ. 2230
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อังกฤษใต้ส่งทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี
และขอให้ไทยไปช่วยอังกฤษรบพม่า ไทยได้ส่งกองทัพไปช่วยอังกฤษรบพม่าอยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงถอนตัวออกมา
ครั้งพม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาในคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310 บรรดาชนชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาค้าขายและที่ตั้งรกรากอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ก็ได้อาสาช่วยไทยรบพม่า เมื่อพม่ายึดเมืองทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา และเมืองธนบุรี นายกำปั่นชาวอังกฤษจึงได้อาสาช่วยรบกับพม่า โดยเอาเรือกำปั่นเลื่อนมาจอดทอดสมอที่เมืองธนบุรี แล้วเอาปืนให่ญกราบเรือมายิงทหารพม่า ทำให้ทหารพม่าที่รักษาเมืองธนบุรีต้องทิ้งเมืองหนีไปในชั้นต้น
ต่อมากองทัพพม่าได้กลับเข้ามายึดเมืองธนบุรีใหม่ แล้วนำปืนใหญ่ไปตั้งบนป้อม วิชัยประสิทธิ์ ยิงต่อสู้กับเรือกำปั่นอังกฤษ จนต้องถอยเรือกลับไป จากนั้นพม่าได้ยกทัพไปตั้งที่ค่ายบางกรวย ตรงวัดเขมาภิรตาราม ทั้งสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา หมายจะตีเมืองนนทบุรีต่อไป
ฝ่ายเรือกำปั่นอังกฤษ เมื่อไปถึงอยุธยาก็ขอปืนใหญ่ที่มีสมรรถนะดีกว่าปืนใหญ่กราบเรือกำปั่น นำมาตั้งในเรือสลุป แล้วล่องเรือลงมาต่อสู้กับพม่าที่เมืองนนทบุรี โดยให้ฝ่ายไทยช่วยส่งเรือยาว ใช้ฝีพายบรรทุกทหารในกองทัพของพระยายมราช ที่รักษาเมืองนนทบุรี ช่วยลากจูงเรือสลุปของอังกฤษ ล่องลงมาในเวลากลางคืน พอถึงที่ตั้งของพม่าและได้ระยะทางปืน ก็ใช้ปืนใหญ่ยิงค่ายพม่า จนใกล้สว่างจึงถอยเรือกลับขึ้นไป ได้ทำการอยู่เช่นนี้หลายคืน ทำให้ทหารพม่าล้มตายจนต้องหยุดยั้งทัพไว้เพียงวัดเขมา ฯ ไม่อาจขึ้นไปยึดเมืองนนทบุรีได้ ต่อมาพม่าคิดอุบายทำเป็นทิ้งค่ายหนีไทย ทหารไทยกับอาสาสมัครอังกฤษหลงกล เมื่อยกกำลังเข้ายึดค่ายพม่าจึงถูกทหารพม่าที่ซุ่มอยู่นอกค่าย จู่โจมจึงแตกกลับไป เรือกำปั่นอังกฤษเห็นเหลือกำลังจึงล่องเรือออกทะเลไป พระยายมราชก็ทิ้งเมืองนนทบุรี ถอนกำลังกลับไปกรุงศรีอยุธยา