จดหมายจากเพื่อน

 
 
 

 

ที่มา : ฉันเกิดและเติบโตในครอบครัวที่อยู่กันแบบครอบครัวไทยโบราณคือ
เมื่อลูกหลานแต่งงานกันไปก็จะปลูกบ้านอยู่ในบริเวณเดียวกัน
เพราะฉะนั้นคำว่าครอบครัวของเราจึงรวมคนตั้งแต่รุ่น ปู่ ย่า ตา ทวด พี่
ป้า น้า อา ไปจนถึง รุ่นเหลน

เนื่องจากครอบครัวของทั้งฝ่ายพ่อและแม่ล้วนอายุยืนเกือบร้อยปีกันทั้งนั้น
พวกพี่น้องของฉันจึงชิน
และยอมรับในบทบาทของลูกที่มีพ่อแม่เป็นประมุขของครอบครัวมาตลอด
แม้ว่าพวกเราเองก็อายุขึ้นเลย 5 กันหมด

เมื่อพ่อวัย 80 กว่าล้มป่วยลงด้วยโรคชรา
ทั้งสองฝ่ายจึงยอมรับไม่ได้กับความเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมของ ร่างกาย
สมองและจิตใจ

ทั้งนี้เพราะพ่อเคยเป็นใหญ่มาก่อน
เป็นทั้งผู้ตัดสินและเป็นผู้ให้แก่ลูกหลานเหลนตลอดชีวิตของการเป็นหัวหน้าครอบครัวมา เกือบ 60 ปี

ส่วนพวกเราลูกๆ ก็รู้สึกอิหลักอิเหลื่อที่จะต้องกลายเป็นผู้ดูแลปกป้อง
ออกคำสั่งให้พ่อปฏิบัติตาม

บ่อยครั้งที่เราหงุดหงิด เพราะพ่อไม่ยอมทำตามสิ่งที่เราบอกด้วยความรัก
หวังดีและห่วงใย

ในทรรศนะของเรา ผู้ใหญ่ ‘ดื้อ’ นี่ไม่น่ารักเท่าเด็กดื้อ
จะตีจะดุก็ไม่ได้ เพราะว่าเป็นพ่อบังเกิดเกล้า
จะไม่เข้มงวดจ้ำจี้จ้ำไชให้กินอาหารอีกนิดหนึ่งน่า
เดินออกกำลังกายอีกหน่อยน่า ก็ไม่ได้ เพราะอาการจะยิ่งทรุดหนักลงไปอีก

บ่อยครั้งฉันได้โทรศัพท์ไประบายความกลัดกลุ้มกับเพื่อนรักคนหนึ่งที่ต้องดูแลพ่อวัยเดียวกัน

การคุยกันยามดึกของเราทุกครั้งจะถูกขัดจังหวะด้วยคำร้องขอว่า
“ประเดี๋ยวก่อน ขอฉันจดหน่อย”

บ่อยครั้งเข้า กัลยาณมิตรผู้ใจดีจึงบอกว่า “เธอไม่ต้องหยุดเพื่อจดหรอก
เสียฟีลลิ่งหมด แล้วฉันจะเขียนข้อคิดต่างๆ
ที่เราคุยกันมาให้เธอทางจดหมาย”

และนี่คือที่มาของเรื่องจดหมายจากเพื่อน
- - - - - - - - - - - - - - - - -
สวัสดีจ้ะ ปิ๊งที่รักยิ่ง

ฉันมีโอกาสได้ดูทีวี. ทูลหม่อมฟ้าหญิงอุบลรัตน์ฯ
ทรงประทานสัมภาษณ์คู่กับคุณพลอยไพลินเรื่องคอนเสิร์ต 20/21 สิงหาคม

มุมมองของฉันคือ คุณพลอยไพลินจะไม่มีวันเวลาเหล่านี้ ถ้าทูลหม่อมฯจะไม่ทรงเป็น Strong Supportor

ความเก่ง ความสามารถของคุณพลอยไพลินจะไม่เฉิดฉายขนาดนี้ ถ้าทูลหม่อมฯไม่ทรงทุ่มเทแรงกายและแรงใจ
ท่านทรงเล่าว่า ท่านหาครูที่เก่งมาสอน นั่นคือแรงกาย และท่านทรงพยายามบอกสอนตลอดเวลาว่า ให้ฝึกฝนให้มาพยายามมากเท่าไหร่ ตนเองจะได้รับมากเท่านั้น นั่นคือแรงใจ ฯลฯ

ฉันนั่งดูรายการจบแล้ว นั่งคิดย้อนไปในอดีต นับจากวันที่เราเกิดจนอายุอย่างต่ำๆ 20 ปีเศษ ที่พ่อแม่ต้องดูแลเลี้ยงดูเรา
เพื่อให้เราเติบโตมาอย่างแข็งแรง และมีชีวิตที่มี ‘คุณภาพ’

เรารับความรักใคร่ ห่วงใย ความอบอุ่นเอื้ออาทรนอกเหนือไปจากเงินทองข้าวของต่างๆ
ที่พ่อแม่สรรหามาให้เราตลอดเวลาเหล่านั้น
ก็ถ้าคำว่า ‘Give’ and ‘Take’ ยังคงเป็นคำศักดิ์สิทธิ์สำหรับมวลมนุษย์

เรา ‘รับ’ มา 20 ปี เราก็ควร ‘ให้’ 20 ปีเป็นอย่างน้อย นี่ไม่รวมดอกเบี้ยนะจ๊ะ ฉันนั่งคิดต่อไปอีกว่า จะมีลูกสักกี่คนที่จะจิตละเอียดอ่อนโยนพอที่จะทราบซึ้งกับคำว่า ‘กตัญญูรู้คุณ’
และพร้อมที่จะตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ด้วยจิตที่บริสุทธิ์จริงๆ โดยไม่คำนึงถึงว่า พ่อแม่จะมีทรัพย์สินเงินทองเหลือไว้ให้หรือไม่ ทำด้วยสามัญสำนึกที่ถูกต้องที่ว่า เวลานี้ท่านแก่แล้ว และวันหนึ่งวันใดในอนาคต ท่านก็จะจากเราไป เวลาของเราที่จะดูแลท่านอาจจะไม่เท่ากับที่ท่านเคยเลี้ยงดูแลเรา
หรือแม้จะมีเวลาเท่ากันจริง การ’ให้’ ของเราก็ไม่เท่ากับที่ท่าน ‘ให้’ เรา

เพราะสิ่งที่เราให้พ่อแม่ไม่ได้คือชีวิต ชีวิตที่พ่อแม่ให้เรา

ฉันเข้าใจดีนะจ๊ะปิ๊ง ว่าเธอเหนื่อยเธอล้ากับการพยาบาลคุณพ่อซึ่งกำลังป่วยอยู่ แต่เธอต้องยอมรับว่า ภาพที่เราจะได้เห็นแน่ๆ จากนี้เป็นต้นไปคือภาพพ่อแม่ที่จะเจ็บไข้ไม่สบาย

คนแก่ทุกคนจะคล้ายกัน คือ จุกจิก จู้จี้ ขี้บ่น ดื้อ มีอารมณ์ปรวนแปรโดยหาสาเหตุไม่ได้

เธอต้องเห็นใจว่า จากการที่พ่อแม่เคยเป็นคนแข็งแรง เดินเหินคล่องแคล่วกระฉับกระเฉงว่องไว ต้องมาลุกนั่งลำบาก ต้องคอยให้คนช่วยพยุง ช่วยจูง สิ่งเหล่านี้บั่นทอนจิตใจ ทำให้หงุดหงิด
และเมื่อเราทำอะไรให้ไม่ถูกใจไม่ได้ดังใจหวัง ก็ขึ้งเคียด อารมณ์เสีย โกรธเกรี้ยว ตวาดใส่

และนี่เองคือสาเหตุที่ทำให้ลูกอย่างพวกเรา แหยง กลัว ท้อแท้ อ่อนแรง และเกือบหมดกำลังใจ
แต่ถ้าเราจะตั้งสติให้ดี หยุดคิด และย้อนเวลาไปดูอีกภาพหนึ่ง คือภาพเราเองนอนแบเบาะอยู่
นึกให้เห็นภาพตามความเป็นจริงว่า เราไร้เดียงสา เราพูดไม่ได้ แต่เราก็ร้องๆๆงอแง เราหิว เราร้อง เราปวดท้อง เราร้อง ขับถ่ายไม่รู้ตัว ฯลฯ
พ่อแม่ก็ต้องพยายามหาสาเหตุสารพัดมาแก้ไขเรา
หรือถ้าจ้างพี่เลี้ยงพ่อแม่ก็ต้องจ่ายเงินและต้องพิจารณาเลือกคนดีมาช่วยดูแลเรา

ดูภาพอดีตตอนเราแบเบาะและเริ่มเคลื่อนไหวได้นะจ๊ะ มือเราไขว่คว้า ขาเราถีบอากาศ เราดิ้น เราพลิก เราร้อง ใช่…เรายิ้มด้วย และเราก็บอกตัวเองตอนนี้ว่า เด็กๆ ไร้เดียงสา ดูน่ารัก เราเข้าข้างตัวเอง
โดยลืมว่าในความไร้เดียงสาไม่รู้เรื่องรู้ราว เราคือความห่วง ความหนักใจของพ่อแม่ที่ลึกๆ มีต่อเรา

ตอนเราเล็กไม่มีฟัน พ่อแม่ป้อนเราด้วยของเหลวนานาชนิดเพื่อบำรุงเรา พอเราโตขึ้นมาอีกนิด พ่อแม่ต้องบดอาหารให้เรา พอเคี้ยวได้ โตขึ้นมาอีกหน่อยเราเริ่มมีปัญหา อาจจะผักไม่ชอบ ปลาเหม็น ไก่ไม่เอา ฯลฯ
โดยเราไม่รู้ตัว เราเริ่มคลานไปตามที่ต่างๆ ให้พ่อแม่เราเวียนหัว เราเตาะแตะ เราวิ่ง หลายสิ่งหลายอย่างที่ทำความกังวล ความเหนื่อยให้กับพ่อแม่ แต่เราก็มีข้ออ้างให้กับตัวเองอีกว่า เราตัวเล็ก พ่อแม่ตัวโต คว้าเราง่าย ตีเราได้

แต่แท้ที่จริงพ่อแม่ก็เครียด อ่อนเพลีย เหนื่อยล้ามากจากที่อื่นเหมือนกัน ไม่ใช่เก็บเงินจากต้นไม้มาเลี้ยงเรา

ดูอีกภาพหนึ่งนะจ๊ะ ภาพพ่อแม่ที่ไม่ได้ตั้งใจ อารมณ์เสีย เกรี้ยวกราด ฯลฯ ทั้งๆ ที่เราก็แค่ยืนดูเฉยๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะทำอะไรไม่ได้มาก เรารอจนพ่อแม่สงบเองเพราะหมดแรง เรายังแอบบอกตัวเราเองว่า เรารับไม่ได้ เราเครียด เราอึดอัด

แล้วตอนเราเป็นเด็กเล็กๆ ล่ะ อยากได้อะไรแล้วไม่ได้ มีใครเฉยและอมยิ้มบ้าง
เปล่าเลย เราร้องแบบภาษา ชาวบ้านพูด คือ

“แห…ปากร้อง” เท่านั้นยังไม่พอ เรายังลงไปดิ้น ไม่ใช่ ‘ดิ้น’ ตามจังหวะเพลง แต่ดิ้นตามอารมณ์เรา ลองคิดต่อไปอีกนิดเดียวนะจ๊ะว่าช่วงเวลาเหล่านั้น ถ้าพ่อแม่ปล่อยให้เราร้องไปเรื่อยๆ โดยไม่พยายามหา กลอุบายมาปลอบมาหลอกล่อเรา เราอาจจะร้องจนขากรรไกรค้าง ปากเบี้ยวตาเหล่ (ไม่สวยเฉียบอย่างเธอ
ทุกวันนี้) หรือขาดใจตายไปแล้วก็ได้

ใคร ‘ฤทธิ์’ มากกว่าใครจ๊ะ

ฉันเคยฟังพระท่านเทศน์ว่า พ่อแม่เป็นอรหันต์ของบุตร เป็นพรหมของบุตร
พ่อแม่เป็นธนาคาร เป็นอาจารย์ คนแรก เป็นมิตรแท้ ยามลูกทุกข์ พ่อแม่ทุกข์
ยามลูกสุข พ่อแม่สุขด้วย เป็นดวงไฟส่องทาง เป็นจราจร
พ่อแม่เป็นหลายอย่างหลายประการสำหรับลูก และที่สำคัญ แม่เลี้ยงลูกด้วย เรือน 3 น้ำ 4 หมายถึง

เรือนครรภ์ ท้องแม่คือห้องนอนห้องแรกของลูก ให้ลูกตา แขนขาครบ 32 ประการ
เรือนตัก อุ้มเราไว้ในอ้อมแขน นอน/นั่งตัก เรือนอาศัย ให้ที่กินอยู่อาศัย ดูแลเลี้ยงดูลูกด้วยน้ำนม
ที่แปลงจากสายเลือดและคุณค่าทางอาหาร อบรมสั่งสอนลูกด้วย น้ำคำ อ่อนโยน อ่อนหวาน ต้องใช้ น้ำแรง คือ แรงกาย
แรงปัญญาหาเงินมาเลี้ยงดูลูกถนอมเลี้ยงด้วยการุณย์ และมี น้ำใจ ให้ลุกทุกอย่าง มอบทรัพย์สมบัติให้

พ่อแม่เลี้ยงลูกให้เติบใหญ่ด้วยความหวังว่า ลูกจะดูแลท่านเมื่อยามแก่เฒ่า เจ็บไข้ไม่สบายและหวังลูกช่วยปิดตาเมื่อวันตาย

ทุกครั้งที่มองภาพพ่อแม่นะจ๊ะ ปิ๊ง ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง ภาพช้า ฯลฯ ไม่ว่าจะได้ยินคำพูดอย่างไร หรือไม่ เราควรมองด้วยปัญญาพิจารณาด้วยว่า นี่คือสัจธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เกิด แก่ เจ็บ … ทุกระยะมีคำว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป กำกับอยู่ด้วย

ดูวันมา เอาอะไรมา และวันไป จะเอาอะไรไป

ฉันเคยฟังพระอีกเหมือนกัน ท่านเทศน์ว่า
พระคุณของบิดามารดามีมากมายมหาศาล ยากที่ลูกจะทดแทนได้ แม้แต่จะแบกบิดามารดาไว้บนบ่าซ้ายและขวาให้นั่ง นอน กิน อยู่ อาบน้ำขับถ่ายบนบ่า เราก็ยังทดแทนบุญคุณไม่ได้หมด
ทางเดียวที่จะทำได้คือ น้อมนำธรรมะมาสู่ท่าน
ผู้ชายจะโชคดีกว่าเราตรงบวชเรียนได้ เราเองจะทำให้อย่างมากคือ ถือศีล 8 บวชใจเรา เพราะฉะนั้นการที่เธอ ตั้งใจจะนั่งสมาธิในขณะเฝ้าไข้ เป็นการกระทำที่ฉันขออนุโมทนาด้วยเป็นอย่างยิ่งจ้ะปิ๊ง

เพื่อนฉันคนหนึ่งอ่านเจอประโยคที่ว่า

“Friendship is in one soul dwellin into two bedies”
ฉันคิดว่าประโยตนี้อธิบายคำว่า ‘เพื่อน’ ได้เป็นอย่างดี

ขอเป็นกำลังใจให้เธอดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ทำสมาธิเพื่อให้จิตแข็งแกร่ง
หน้าที่ความรับผิดขอบเราหมดลงวันใด เวลาที่เหลือจะเป็นของเราทันที
เราคงจะต้องเป็นอย่างเพื่อนเราพูด คือ Late bloomer.. แม่ดอกบานเย็น

แต่เราก็เป็นดอกไม้ที่บานหอม เย็นตา เย็นใจ มีคุณค่าในตัวเราเอง และเราอาจจะเป็นคนที่น่าชื่นชมสรรเสริญ สำหรับสังคมที่ใกล้ชิดเรา เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกหลานเรา ทั้งนี้เพราะว่าเราได้ทำ ‘หน้าที่’ ของขีวิตเราครบถ้วนแล้วจริงๆ

ด้วยรักและคิดถึงอย่างยิ่ง
บุษ
- - - - - - - - - - - - - - -
ปัจฉิมลิขิต :
ทันทีที่อ่านจบ ฉันได้ยกมือไหว้จดหมายฉบับนั้นที่สามารถฉุดฉันให้พ้นจากปากเหวแห่งความบาปที่จะบังเกิดขึ้น

ฉันได้เวียนจดหมายไปให้น้องสาวและน้องชายอ่าน น้องชายบอกว่า เพียงแค่หน้าแรกก็น้ำตาซึมแล้ว
ส่วนน้องสาวผู้มักมีเรื่องกระง่องกระแง่งกับแม่อยู่เป็นนิจ อ่านจบก็เดินไปกราบเท้าแม่

ทั้งคู่ปรารภว่า น่าจะพิมพ์เก็บไว้ให้ลูกหลานของเราอ่านบ้างเมื่อถึงเวลาอันควร
ฉันได้วานให้เพื่อนผู้ที่ยังคงทำงานอยู่จัดการให้ เพียงไม่กี่วันให้หลัง เธอก็ส่งเอกสารที่พิมพ์เรียบร้อยมาให้ 10 ชุด
พร้อมคำขอบคุณที่ช่วยให้เธอเข้าใจ และมีกำลังใจดูแลแม่วัย 80 กว่าต่อไป เสริมด้วยเสียงหัวเราะว่า

“เธอรู้ไหม น้องคนที่พิมพ์ให้นี่น่ะ พอพิมพ์เสร็จ เขาออกไปซื้อเก้าอี้นวดแบบไฟฟ้าให้แม่ทันที
แทนที่จะซื้อคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ให้แก่ลูกชายตามที่ได้ตั้งใจไว้”

แล้วคุณล่ะ ได้ทำอะไรที่เป็นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่หรือยังในวันนี้

จากนิตยสารพลอยแกมเพชร ฉบับที่189 ผู้ประพันธ์ บุษดี