ความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
ความช่วยเหลือ จากสหรัฐอเมริกาในการพัฒนาประเทศครั้งแรก มาในรูปของมูลนิธิร็อคกี เฟลเลอร์ โดยได้เข้ามาช่วยในด้านสาธารณะสุข และปรับปรุงการศึกษาด้านการแพทย์ โดยได้มาทำการปราบโรคพยาธิปากขอเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๔๕๙ ที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๒
มูลนิธิ ฯ ตกลงที่จะช่วยเหลือในทางการศึกษาแพทย์อีกด้านหนึ่ง ตามคำขอของกระทรวงธรรมการ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔ มูลนิธิ ฯ ตกลงที่จะช่วยเหลือคือ จะจัดส่งอาจารย์ไทยไปศึกษาวิชายังต่างประเทศ ส่งอาจารย์ชาวต่างประเทศมาช่วยสอน ช่วยสร้างอาคารเรียน
มูลนิธิ ฯ ได้แต่งตั้งศาสตราจารย์ นายแพทย์ เอ.ยี. เอลลิส เข้ามาเป็นผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิในเมืองไทย และเมื่อมูลนิธิ ฯ เลิกการช่วยเหลือประเทศไทยแล้ว รัฐบาลไทยยังคงจ้าง ดร.เอลลิส ต่อมาอีก
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ และการค้าก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
การติดต่อทางการค้าระหว่างไทย และอเมริกันไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร หลังการลงนามในสนธิสัญญาทางการเมือง และการค้า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๕ และปี พ.ศ.๒๓๙๙ พ่อค้าอเมริกันค้าขายกับไทยน้อยมาก สาเหตุประการหนึ่งอาจจะเป็นเพราะอยู่ห่างไกล และการเดินทางสมัยนั้นไม่สะดวก แต่อาจกล่าวได้ว่าอเมริกันมีส่วนนำการพัฒนาด้านพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในเมืองไทยหลายอย่าง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสั่งเครื่องจักรไอน้ำจากอเมริกามาติดตั้งในเรือกลไฟทั้งของทางราชการ และของเอกชน เพื่อใช้เป็นเรือโยงบรรทุกสินค้าตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา หมอจอห์นชานด์เลอร์ มิชชันนารีอเมริกัน เป็นผู้ริเริ่มต่อเรือโดยใช้เครื่องจักรไอน้ำขึ้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงสีไฟ และโรงเลื่อยจักรชาวอเมริกันก็เป็นผู้ริเริ่มขึ้น
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บริษัทอเมริกันได้สัมปทานเดินรถรางครั้งแรกในกรุงเทพ ฯ ติดไฟแสงสว่างในกรุงเทพฯ และกิจการเหมืองแร่ อู่เรือบางกอกด๊อค
ในปี ที่สงครามมหาเอเซียบูรพาเกิดขึ้น สินค้าเข้าจากสหรัฐ ฯ คิดเป็นร้อยละ ๑๔ ของสินค้าเข้าทั้งหมดของไทย รวมเป็นมูลค่าประมาณ ๘ ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ฯ สินค้าเข้าที่สำคัญจากสหรัฐ ฯ มีรถบรรทุก รถยนต์ วิทยุ ภาพยนตร์ เครื่องบิน เครื่องจักร เครื่องมือวิทยาศาสตร์ น้ำมันชนิดต่าง ๆ ยางรถยนต์ ยารักษาโรค ฯลฯ ส่วนสินค้าออกของไทยไปสหรัฐ ฯ มีมูลค่าประมาณ ๑ ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นดีบุก วุลแฟรม ยางพารา ไม้สัก ข้าว และอัญมณี ในด้านการลงทุน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ เมื่อเปรียบเทียบกับอังกฤษ และจีนแล้วสหรัฐ ฯ มาลงทุนในไทยน้อย
ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ รัฐบาลสหรัฐ ฯ แต่งตั้งทูตพาณิชย์ประจำสถานทูตในกรุงเทพ ฯ ด้วยเหตุว่า กรุงเทพ ฯ เป็นเมืองเสรี เป็นเมืองท่าใหญ่เมืองเดียวในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในเวลานั้นที่มิได้อยู่ในความควบคุมของมหาอำนาจยุโรป และสนามบินของประเทศไทยก็เป็นสนามบินแห่งเดียวในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เครื่องบินพาณิชย์ของสหรัฐ ฯ จะใช้ได้เท่าเทียมกับเครื่องบินของมหาอำนาจจักรวรรดิ์นิยมอื่น ๆ
ความสัมพันธ์ในระดับประมุขของประเทศ
หลังสนธิสัญญา พ.ศ.๒๓๙๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาติดต่อกับประธานาธิบดี สหรัฐ ฯ หลายครั้ง และหลายคน ตั้งแต่ แฟรงกลิน เพียซ เจมส์ บุคะนัน และอับราฮัม ลินคอล์น
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นายพลยูลิสซิส เอส. แกรนด์ ได้เดินทางมาเยือนเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๒ นายพล แกรนด์ เคยเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ อยู่สองสมัย ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๑๒ - ๒๔๒๐
พระมหากษัตริย์องค์แรกของไทยที่เสด็จพระราชดำเนินสหรัฐ ฯ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร เมื่อพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษา จากประเทศอังกฤษ แล้วเสด็จกลับเมืองไทยโดยผ่านทางสหรัฐ ฯ ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ ได้เสด็จเยือนสถานที่ต่าง ๆ เช่นมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สุสานทหารอาร์ลิงตัน โรงเรียนนายร้อยเวสต์ปอยต์ สภาคองเกรส และศาล เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้เสด็จสหรัฐ ฯ เป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงรับการรักษาพระเนตร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ ได้เสด็จไปกรุงวอชิงตัน และทรงพบกับประธานาธิบดี เฮอร์เบิต ฮูเวอร์ รัฐบาลสหรัฐ ฯ ได้จัดงานเลี้ยงถวายการต้อนรับ มหาวิทยาลัยยอร์ช วอชิงตันจัดพิธีถวายปริญญากิตติมศักดิ์แก่พระองค์ เสด็จเมืองนิวยอร์ค นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์คได้จัดพิธีต้อนรับอย่างสมเกียรติ ในการเสด็จเยือนสหรัฐ ฯ ครั้งนี้ หนังสือพิมพ์อเมริกันถวายคำสดุดียกย่องพระองค์ว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ และมีน้ำพระทัยเป็นนักประชาธิปไตย พระราชจริยวัตรส่วนพระองค์เป็นที่ชื่นชมแก่ชาวอเมริกัน
พระองค์ได้แสดงสุนทรพจน์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองไว้ตอนหนึ่งว่า
"ในประเทศสยาม มีความรู้สึกชื่นชมอย่างสูงในความสำเร็จของมหาประเทศแห่งนี้ และยังมีความรู้สึกอันเป็นมิตรทั้งต่อประชาชน และต่อรัฐบาลอเมริกันทั้งนี้สาเหตุใหญ่ก็เป็นเพราะชาวอเมริกันได้มีส่วนเป็นอย่างมาก ในการพัฒนาประเทศของข้าพเจ้าให้ก้าวหน้าทันสมัย และรัฐบาลอเมริกันก็ยังได้แสดงความเข้าใจอย่างเห็นอกเห็นใจ ทั้งในความปรารถนา และความสำเร็จของประเทศของข้าพเจ้า
พระองค์ได้ประทานสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์อเมริกันว่า พระองค์ทรงเตรียมการที่จะให้สิทธิในการปกครองตนเองในรูปของเทศบาลแก่ประชาชน อันเป็นรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย การพระราชทานสัมภาษณ์ครั้งนี้โด่งดังมาก ได้ลงพิมพ์ในหนังสือ นิวยอร์คไทม์ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๗๔
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เคยประทับอยู่ในสหรัฐ ฯ สมัยยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระราชบิดาของพระองค์ประทับอยู่ที่เมืองบอสตัน เพื่อทรงศึกษาวิชาแพทย์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชสมภพที่โรงพยาบาล เมาท์ ออเบิร์น ในเคมบริดจ์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๐ และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๓ พระองค์ได้เสด็จเยือนสหรัฐ ฯ เป็นทางการในฐานะองค์พระประมุขของประเทศไทย ในสมัยที่ ดไวท์ ดี.ไฮเซนเฮาร์ เป็นประธานาธิบดี
ไทยและสหรัฐ ฯ กับสงครามโลกครั้งที่สอง
ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๔ - ๒๔๘๘ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐ ฯ ได้ขาดตอนลงไป เนื่องจากเหตุการณ์บีบบังคับให้ไทยต้องเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งรวมทั้งสหรัฐ ฯ ในฐานะฝ่ายตรงข้ามในสงคราม
ก่อนญี่ปุ่นเปิดฉากสงครามมหาเอเซียบูรพา ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับมหาอำนาจตะวันตก ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยหลายประการด้วยกัน ทั้งสองฝ่ายแข่งขันในการรับซื้อวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการสงคราม เช่นยางพารา และดีบุก เวลานั้นเมืองไทยกำลังขาดแคลนปัจจัยต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น น้ำมัน อาวุธ และเครื่องบิน จึงได้เจรจาขอความช่วยเหลือจากสหรัฐ ฯ และอังกฤษ แต่ทั้งสองประเทศดังกล่าวไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่ไทยได้ อังกฤษได้แสดงท่าทีเต็มใจที่จะช่วยเหลือไทย แต่สหรัฐ ฯ มีท่าทีลังเล และไม่เต็มใจนัก อังกฤษเกรงว่าถ้าไทยพึ่งอังกฤษ และสหรัฐ ฯ ไม่ได้ก็จะหันไปพึ่งญี่ปุ่น จึงพยายามช่วยเหลือไทยเท่าที่ทำได้ เช่น เมื่อไทยเดือดร้อนเรื่องขาดแคลนน้ำมัน อังกฤษก็ส่งมาให้จากสิงคโปร์ ขณะเดียวกันก็ขอซื้อยางพารา และดีบุกเพิ่มขึ้น ส่วนสหรัฐ ฯ ได้เคยสั่งกักเครื่องบิน ซึ่งไทยได้สั่งซื้อ และชำระเงินแล้วไว้ที่ฟิลิปปินส์ ในเดือน ตุลาคม ๒๔๘๓
ในด้านการเมือง นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้เคยเจรจากับเอกอัครราชทูตสหรัฐ ฯ และอังกฤษให้ประเทศทั้งสองยืนยันเป็นทางการว่า ถ้าญี่ปุ่นบุกเมืองไทยแล้วให้ถือว่าเป็นการรุกรานอังกฤษ และสหรัฐ ฯ ด้วย ในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๓ นายแอนโทนี อีเดน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษได้แถลงในสภาสามัญว่า การกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นการคุกคามความมั่นคง และบูรณะภาพของประเทศไทยแล้ว รัฐบาลอังกฤษถือว่ากระทบถึงประโยชน์ของอังกฤษด้วย แต่สหรัฐ ฯ ไม่เห็นด้วยกับอังกฤษในสมัยที่นายฮิว แกรนต์ ซึ่งมีทัศนคติไม่ดีนักต่อประเทศไทย เป็นอัครราชทูตสหรัฐ ฯ ประจำประเทศไทย
ต่อมาเมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๔๘๔ ทางสหรัฐ ฯ ได้ตั้งนายวิลลิส อาร์. เป๊ก มาเป็นอัครราชทูตสหรัฐ ฯ ประจำประเทศไทย ก็ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างดีที่สุด ท่าทีของสหรัฐ ฯ ได้เปลี่ยนแปลงไปและเห็นคล้อยตามอังกฤษในการสนับสนุนไทยทุกทางเท่าที่จะทำได้ นายเป๊กได้เสนอไปยังรัฐบาลสหรัฐ ฯ ว่าควรสนับสนุนไทยในด้านเศรษฐกิจเพื่อเป็นการเสริมกำลังใจให้ไทยยันญี่ปุ่นไว้ และไม่ควรเรียกร้องสิ่งตอบแทนทางการเมืองใด ๆ เพียงแต่สนับสนุนให้ไทยรักษาความเป็นกลางไว้ก็เพียงพอแล้ว
ก่อนกองทหารญี่ปุ่นเข้าประเทศไทยประมาณสองเดือน ทูตอเมริกันได้แจ้งกับรัฐบาลไทยว่า สหรัฐ ฯ จะให้ความช่วยเหลือไทยในลักษณะเดียวกับที่ช่วยเหลือจีน เรื่องเครื่องบิน และยุทธปัจจัยต่าง ๆ นั้นไม่สามารถส่งมาให้ได้ เพราะจะต้องช่วยเหลืออังกฤษก่อน สำหรับเรื่องน้ำมันก็กำลังพยายามหาทางช่วยเหลืออยู่
เมื่อญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ล ฐานทัพเรือของสหรัฐ ฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิค เมื่อ วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔ และประกาศสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐ ฯ และเช้าวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นก็บุกประเทศไทย ได้มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือด เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้เจรจากับรัฐบาลไทย ขอให้กองทัพญี่ปุ่นเดินผ่านไทยไปมลายู และพม่าโดยรับรองจะเคารพอธิปไตยของไทย ในการนี้เอกอัครราชทูตอเมริกาได้มีโทรเลขถึงรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ มีความตอนหนึ่งว่า "เขาได้ต่อว่าโดยกล่าวถึงความเพียรพยายามที่จะขออาวุธ เพื่อมาเตรียมต่อสู้ แต่ก็ไม่สำเร็จ... เขากล่าวว่า หัวใจคนไทยนั้นอยู่กับสหรัฐ ฯ และอังกฤษมาตลอด ข้าพเจ้านั้นไม่อาจเห็นอย่างอื่น นอกจากจะยอมรับว่าประเทศไทยได้แสดงความพยายามอย่างสุจริตใจที่จะต่อสู้ญี่ปุ่น แต่ก็ต้องยอมจำนนในที่สุด เพราะไม่มีกำลังจะต่อสู้ได้"
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
วันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ญี่ปุ่นยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ประกาศทันทีว่าไทยอยู่ในฐานะสันติภาพ และให้ถือว่าคำประกาศสงครามต่อประเทศสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ เป็นโมฆะ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ และไม่ต้องด้วยเจตนารมย์ของประชาชนชาวไทย
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม นายเจมส์ เบิร์น รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของสหรัฐ ฯ ได้ประกาศรับทราบคำประกาศสันติภาพของไทย มีข้อความตอนหนึ่งว่า " รัฐบาลอเมริกันได้เชื่อมาตลอดว่า การประกาศสงครามในครั้งนั้นมิต้องด้วยเจตนาของประชาชนชาวไทย ด้วยเหตุนั้น เราจึงมิได้ยอมรับคำประกาศสงครามฉบับนั้น และยังคงรับรองสถานะของอัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตันต่อไป และไม่รับรองรัฐบาลไทยในกรุงเทพ ฯ ซึ่งอยู่ใต้อำนาจญี่ปุ่น... ในระหว่างสี่ปีที่ผ่านมา เรามิได้ถือประเทศไทยเป็นศัตรู แต่ถือว่าประเทศไทยเป็นดินแดนที่เราจะเข้าไปช่วยกู้ให้พ้นจากอำนาจศัตรู และเมื่อมีการกอบกู้ประเทศสำเร็จผลแล้ว เราจึงใคร่เห็นประเทศไทยเข้าอยู่ในสังคมของนานาชาติที่มีเสรีภาพ มีอธิปไตย และมีเอกราชของตน"
แต่แถลงการณ์ของรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอังกฤษ มีท่าทีตรงข้าม อย่างเห็นได้ชัด ตอนหนึ่งมีความว่า" ท่าทีของอังกฤษขึ้นอยู่ที่ว่าคนไทยจะปฏิบัติตามความต้องการของทหารอังกฤษ ซึ่งกำลังจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยนั้นอย่างไร และคนไทยจะแก้ไขความผิดซึ่งคนรุ่นก่อนได้กระทำไว้ และจะชดใช้คืนสำหรับความเสียหายความพินาศบุบสลายที่เกิดขึ้นแก่ผลประโยชน์ และสัมพันธมิตรเพียงใด และจะมีส่วนช่วยในการจะให้มีสันติภาพ ความสงบเรียบร้อย และการบูรณะทางเศรษฐกิจในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ได้เพียงใด
ในการเจรจาครั้งแรกที่เมืองแคนดีเกาะลังกา เพื่อเลิกสงครามระหว่างไทยกับสัมพันธมิตรนั้น อังกฤษได้เป็นผู้เสนอร่างความตกลง ๒๑ ข้อ ต่อรัฐบาลไทย ถ้าไทยตกลงตามนั้นไทยจะต้องตกอยู่ในอิทธิพลของอังกฤษ ทั้งในด้านการทหาร เศรษฐกิจ และสังคมไม่ต่างกับเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ สหรัฐ ฯได้คัดค้านร่างความตกลงนี้ รัฐบาลอเมริกันได้ประท้วงไปยังรัฐบาลอังกฤษว่า ร่างที่ยื่นต่อไทยนั้นทำในนามของสัมพันธมิตร รัฐบาลอเมริกันยังไม่ได้เห็นชอบด้วย ขณะเดียวกันก็แจ้งให้ไทยทราบว่า ให้ยับยั้งการลงนามไว้ ต่อมาจึงได้มีการเจรจาตกลงกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในที่สุดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๙ รัฐบาลไทยสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ตกลงทำสัญญาที่เรียกว่า "ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อเลิกสถานสงคราม" ประกอบด้วยสัญญา ๒๔ ข้อ มีข้อหนึ่งที่เป็นภาระหนักของไทยคือ ไทยจะต้องให้ข้าวโดยไม่คิดมูลค่า จำนวน ๑ ๑/๒ ล้านตัน แก่องค์การซึ่งอังกฤษจะเป็นผู้ระบุ ข้าวจำนวนนี้คิดเป็นเงินไทยในเวลานั้น คิดเป็นเงินประมาณ ๒,๕๐๐๐ ล้านบาท ส่วนเงื่อนไขประการอื่น ๆ ในสัญญานั้นก็ลดลงไปจากร่างความตกลงเดิม
การสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เป็นเหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งในการยกฐานะของประเทศไทยให้เท่าเทียมกับประเทศอื่น ๆ ในโลกเสรี เรื่องนี้สหรัฐ ฯ ได้ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ต้น ฝรั่งเศสได้แถลงยับยั้งด้วยเรื่องที่ไทยได้ดินแดนไปจากฝรั่งเศสตามอนุสัญญากรุงโตเกียว และฝรั่งเศสยังถือว่าอยู่ในสถานะสงครามกับไทยจนกว่าไทยจะคืนดินแดนให้แก่อินโดจีน นอกจากนั้นผู้แทนโซเวียตรุสเซียก็ไม่สนับสนุนประเทศไทยเช่นกัน เพราะไทยยังไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับโซเวียตรุสเซีย รัฐบาลอเมริกันพยายามหาทางสนับสนุนให้สมัชชาสหประชาชาติรับประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกพร้อม ๆ กับประเทศอื่นอีกแปดประเทศ ในชั้นแรกแต่ไม่สำเร็จ ไทยต้องเจรจากับฝรั่งเศสจึงตกลงกันได้ในกรณีอินโดจีน และได้เจรจากับโซเวียตจนเป็นผลสำเร็จ สมัชชาสหประชาชาติจึงได้ประกาศรับประเทศไทยเป็นสมาชิกใหม่ของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๙
|