จอมทัพไทย
พระคทาองค์ที่สาม
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานแบบคทาจอมพลขึ้นใหม่ ทำด้วยทองคำเกลี้ยง มีลักษณะป่องตรงกลางและคอดเรียวไปทางด้านยอดและด้านปลาย ยอดพระคทาทำเป็นรูป พระครุฑพ่าห์ ลงยาตามแบบพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ใต้พระยาครุฑทำเป็นลูกแก้วรองฐานบัวหงาย ลงยาราชาวดี ส่วนด้านปลายมีลูกแก้ว และยอดบัวกลุ่มสี่ชั้น ลงยาราชาวดีเช่นกัน
พระคทาจอมพลองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้มาตลอดรัชกาล ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้พระคทาจอมพลองค์นี้สืบมา
พระคทาองค์ที่สี่
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์ทรงใช้พระคทาจอมพลองค์ที่สาม ซึ่งนายกรัฐมนตรี และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงกลาโหม ได้ทูลเกล้า ฯ ถวาย พร้อมเครื่องยศจอมพล เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พุทธศักราช 2493 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เนื่องในวโรกาส ที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินนิวัตสู่ประเทศไทย
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2509 ข้าราชการกระทรวงกลาโหมเห็นว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ สำหรับประเทศชาติ ทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างมากมาย ทำให้กิจการต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จลุล่วงเสมอ พระบารมีของพระองค์แผ่ไพศาล ก่อให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียว และความสงบสุขในหมู่ประชาชน สภากลาโหมจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พุทธศักราช 2509 ให้สร้างพระคทาจอมพลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเก็บเงินเพื่อสร้างคทานี้จากนายทหารชั้นนายพลประจำการทุกนาย และในวันที่ 2 ธันวาคม พุทธศักราช 2509 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายพระคทาจอมพลองค์นี้แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุ 40 พรรษา เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความจงรักภักดีของข้าราชการทหารทุกนาย และได้ขอพระบรมราชานุญาต ขนานนามพระคทาองค์ใหม่นี้เป็นพิเศษว่า พระคทาจอมทัพภูมิพล
พระคทาองค์ที่สี่ มีลักษณะทั่วไปเหมือนพระคทาองค์ที่สาม องค์พระคทาทำด้วยทองคำหนัก 430 กรัม แกนกลางป่อง เรียวไปทางยอดและปลาย ประกอบด้วยเครื่องหมายมงคลแปด ด้านยอดคงมีพระครุฑพ่าห์ลงยา และลูกแก้วรองฐานบัวหงาย ลงยาราชาวดี ด้านปลายมีลูกแก้วและยอดบัวกลุ่มสี่ชั้น ลงยาราชาวดี เช่นเดียวกันกับพระคทาองค์ที่สาม ส่วนที่ต่างกันคือ เหนือพระยาครุฑมีพระปรมาภิไธยย่อ "ภปร" ฝังเพชรอยู่ในกรอบรูปไข่ และมีรูปพระมหาพิชัยมงกุฎทองฝังเพชร อยู่เบื้องบนตอนปลายพระคทา ต่อจากเครื่องหมายมงคลแปด มีเครื่องหมายกระทรวงกลาโหม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบในการเสด็จพระราชดำเนินออกรับ พระคทาจอมทัพภูมิพล มีข้อความบางตอนดังนี้
...ข้าพเจ้ายินดีรับไว้ด้วยความเต็มใจ และจะถือว่าคทาจอมทัพ เป็นเสมือนเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกองทัพทั้งสาม
อิสสระภาพ ความมั่นคง ตลอดจนความเจริญรุ่งเรืองของประเทศเรา ขึ้นอยู่กับกิจการทหารเป็นสำคัญตลอดมาทุกยุคทุกสมัย เพราะเมืองไทยนี้เป็นเมืองทหาร คนไทยทุกคนมีเลือดทหารเป็นนักต่อสู้ ผู้รักและหวงแหนความเป็นไทยยิ่งด้วยชีวิต...
ทหารมีหน้าที่ป้องกันรักษาประเทศ หน้าที่นี้นอกจากในด้านการรบแล้ว ยังมีด้านอื่นที่สำคัญเท่าเทียมกันอยู่อีกคือ การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประชาชน ต้องสงเคราะห์อนุเคราะห์ประชาชนด้วยการให้ความคุ้มครองป้องกัน และช่วยเหลือในความเป็นอยู่ ตลอดถึงการแนะนำสนับสนุนในการครองชีพด้วย...
... ขอท่านทั้งหลายจงร่วมมือร่วมใจกัน ทำหน้าที่ของทหารให้สมบูรณ์ทุกด้าน มีความพรักพร้อมเป็นใจเดียวกัน ประกอบกรณียกิจเพื่อความมั่นคงเจริญรุ่งเรืองของประเทศ และความร่มเย็นเป็นสุขของประชาราษฎรไทยทุกคน...
สายยงยศจอมทัพไทย
สายยงยศเป็นเครื่องหมายแสดงฐานะพิเศษเฉพาะบางฐานะของผู้ประดับที่เป็นทหาร ซึ่งไม่เป็นสาธารณแก่ทหารทั่วไป เช่นสายยงยศของนายทหารฝ่ายเสนาธิการ และสายยงยศของราชองครักษ์ เป็นต้น
สำหรับสายยงยศจอมทัพไทย เป็นสายยงยศเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นองค์ "จอมทัพไทย" สายยงยศนี้แตกต่างจากสายยงยศราชองครักษ์ ด้วยมีสายไหมหรือสายไหมทองถักรวบสายยงยศคู่หน้า เมื่อประดับบนฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร ถมที่ถักรวบดังกล่าวนี้ จะอยู่ในแนวกระเป๋าของฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารระดับพระอุระเบื้องขวา
กระบวนพยุหยาตราเลียบพระนคร คือ กระบวนพระเกียรติยศแห่งจอมทัพไทยในสมัยโบราณ ที่ยิ่งด้วยพระบรมเดชานุภาพแห่งนักรบผู้ยิ่งใหญ่อันได้เฉลิมพระนาม "
สมเด็จพระมหากษัตราธิราช" สืบสันติวงศ์เป็นองค์พระประมุขของประเทศ
หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเศก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตราสถลมารค 1 วัน และ ชลมารค 1 วัน ซึ่งเรียกว่า เสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตรา
เลียบพระนคร เพื่อให้อาณาประชาราษฎรได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทแสดงความจงรักภักดี
การเสด็จพระราชดำเนินโดย ขบวนพยุหยาตราใหญ่ และ กระบวนพยุหยาตราน้อย มีทั้งที่เป็นขบวนพยุหยาตราสถลมารค และ ชลมารค
กระบวนพยุหยาตราสถลมารค 4 กระบวน ประกอบด้วยกระบวนพยุหยาตราใหญ่สถลมารค กระบวนพยุหยาตราน้อยสถลมารค กระบวนราบใหญ่ และ กระบวนราบน้อย
กระบวนพยุหยาตราชลมารค 5 กระบวน ประกอบด้วยกระบวนพยุหยาตราชลมารคใหญ่ กระบวนพยุหยาตราน้อยชลมารค กระบวนราบใหญ่ทางเรือ กระบวนราบน้อยทางเรือ
และกระบวนราบย่อ
กระบวนพยุหยาตราสถลมารค
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้จัดเป็นกระบวนราบใหญ่ ทรงประทับที่นั่งราชยานพุดตานทอง เสด็จพระราชดำเนินจากเกยหน้าพระทวารเท
เวศน์รักษา พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ไปประกาศพระองค์เป็น พุทธศาสนูปถัมภก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และถวายบังคมพระบรมรูปพระบุรพมหากษัตราธิราชเจ้า
แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ณ ปราสาทพระเทพบิดร
ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 3 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่สถลมารค ตามแบบโบราณราชประเพณี เมื่อวันที่ 7
ธันวาคม พุทธศักราช 2506
กระบวนพยุหยาตราชลมารค
ในปีพุทธศักราช 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค เพื่อนำผ้าพระกฐินไปถวาย ณ วัด
อรุณราชวรารามมหาวิหาร เป็นครั้งแรก
ในการพระราชพิธีสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนิน โดยขบวนพยุหยาตราใหญ่ชลมารค ไปทรงบวง
สรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชเจ้า ได้มีการแก้ไขปรับปรุง รูปแบบริ้วขบวนเรือใหม่ มีลักษณะงามสง่าดุจดาวล้อมเดือน
พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา หรือพระราชพิธีศรีสัจจปาลกาล เป็นพระราชพิธีใหญ่สำหรับแผ่นดินมาแต่โบราณกาล และได้ยกเลิกไปเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการ
ปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งพระราชพิธีนี้ขึ้นอีก เมื่อวันที่ 24 และ 25 มีนาคม พุทธศักราช 2512 ผู้ที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในพระราช
พิธีครั้งนี้ เฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเท่านั้น และเรียกว่า พระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ซึ่งเป็นการผนวก
การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี กับถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เข้าด้วยกัน
พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นพระราชพิธีที่รวมทั้ง พิธีทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ลำดับการพระราชพิธีเป็นดังนี้
- ทำน้ำพระพุทธมนต์
- ทำน้ำพระพุทธมนต์ให้เป็นน้ำพระพิพัฒน์สัตยา (น้ำชำระพระแสง)
- ดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และสาบานตน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบการพระราชพิธีนี้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
น้ำชำระพระแสงนี้แต่เดิม พระมหากษัตริย์มิได้ทรงเสวย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้เชิญขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายเพื่อเสวยก่อน แล้วจึงได้แจก
น้ำชำระพระแสงในหม้อเงินทั้งปวง ถวายพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการดื่ม พระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปยัง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พุทธศักราช 2512
เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนบูชา พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล พระราชครูวามเทพมุนี ฯ อ่านโองการแช่งน้ำ แล้วเชิญพระแสงศรและพระแสงราชศัตราวุธชุบในน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์สัจจคาถา
เมื่อสิ้นสุดเสียงประโคมแล้ว สมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์รามาธิบดีอาวุโส กล่าวนำถวายคำสัตย์ปฏิญาณสาบานตน ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฯ ทั้งหมดว่าตาม มีความว่าดังนี้
"ขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานตน ต่อประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย เฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชนและหน้าที่"
ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้ที่ได้รับพระราชทานก่อน พ.ศ. 2512
ชั้นที่ 1 เสนางคะบดี
1. จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ 20 กรกฎาคม 2505
2. จอมพล ถนอม กิตติขจร เมื่อ 10 พฤษภาคม 2508
ชั้นที่ 2 มหาโยธิน
1. จอมพล ประภาส จารุเสถียร เมื่อ 10 พฤษภาคม 2508
2. พลเอก จิตติ นาวีเสถียร เมื่อ 10 พฤษภาคม 2508
3. พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ เมื่อ 10 พฤษภาคม 2508
ชั้น 3 โยธิน
ยังไม่มีผู้ใด้รับ
ชั้น 4 อัศวิน
พันตรี ยุทธนา แย้มพันธุ์ เมื่อ 5 ตุลาคม 2511
ชั้น 5 เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร
ร้อยเอก วิชัย ขันติรัตน์ เมื่อ 5 ตุลาคม 2511
ผู้ที่ได้รับพระราชทาน เมื่อ พ.ศ. 2512
ชั้น 1- ชั้น 3
ไม่มีผู้ได้รับ
ชั้น 4 อัศวิน
พันตำรวจตรี กฤช สังขทรัพย์ เมื่อ 25 มีนาคม 2512
ชั้น 5 เหรียญรามาลาเข็มกล้ากลางสมร
ร้อยตำรวจโท วินิจ รัญเสวะ เมื่อ 25 มีนาคม 2512
ชั้น 6 เหรียญรามมาลา
1. ร้อยเอก นฤนาท ไตรภูวนาท เมื่อ 25 มีนาคม 2512
2. ร้อยตำรวจเอก พิเชษฎ เกษบุรมย์ เมื่อ 25 มีนาคม 2512
|