พ่อแม่ ทะเลาะอย่างไรให้สร้างสรรค์

 

ความรุนแรงในครอบครัวจะสะท้อนภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ และเป็นปัญหาพื้นฐานของครอบครัวนั้นคือ "การทะเลาะเบาะแว้ง" หลายๆคนคงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าไม่มีสามีภรรยาคู่ใดในโลกที่จะไม่ทะเลาะกัน มีแต่ว่าจะทะเลาะกันมากน้อยเพียงไรและรุนแรงแค่ไหนเท่านั้น ดั่งคำโบราณที่ว่าสามีภรรยานั้นเปรียบเสมือนลิ้นกับฟันที่ต้องมีการกระทบกันบ้างและบางครั้งการทะเลาะกันถูกเปรียบเสมือนกับการเติมรสชาดให้กับชีวิตคู่ อย่างไรก็ตามความขัดแย้งเมื่อเกิดขึ้นแต่ละครั้งผลสุดท้ายมักจะตกอยู่กับทุกๆ คนในครอบครัว
และที่ได้รับผลมากที่สุดคือที่ลูก

การทะเลาะดูเหมือนจะไม่สามารถที่จะเลี่ยงได้ เราจะมีวิธีจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร เพื่อที่จะเปลี่ยนให้ผลจากเชิงลบมาเป็นผลเชิงบวก และสร้างสรรค์ "ทะเลาะอย่างไรให้สร้างสรรค์" กับครอบครัว.

ลูกๆจะมีการเรียนรู้การที่พ่อแม่ทะเลาะกันโดยดูจากปฏิกิริยาที่พ่อแม่ทะเลาะกัน ดูน้ำเสียง ดูสีหน้าพ่อแม่ที่ทะเลาะกัน และเมื่อเขามองดู แล้วก็รู้สึกว่าปฏิกิริยาของพ่อแม่เปลี่ยนไป เขาจะตกใจพ่อแม่หลายคนขณะที่กำลังโกธร มักจะหาคำพูดที่ไม่น่าพูด เช่น ไปหย่ากันเลย ทั้งที่ใจจริงลึกๆไม่อยากเป็นอย่างนั้น แต่เป็นเพราะอารมณ์พาไป

หากจะแยกระดับความรุนแรงกรณีพ่อแม่มีความเห็นขัดแย้งกัน แบ่งได้ ๓ ระดับคือ

1.ความขัดแย้งในชีวิตประจำวันหรือเป็นการขัดแย้งกันในเรื่องไม่น่าจะเป็นเรื่อง เรื่องหยุมหยิมเล็กน้อย เช่น สามีอยากเปิดหน้าต่าง ภรรยาไม่อยากเปิด เรื่องเล็ก ๆน้อยแบบนี้ปกติพ่อแม่มักจะแสดงออกเลย แต่สิ่งที่เด็กดู คือการแก้ปัญหาว่าเมื่อพ่อแม่เกิดความขัดแย้งกันผลสรุปท้ายคืออะไร ฝ่ายหนึ่งข่มอีกฝ่าย อีกฝ่ายต้องยอมไม่อย่างนั้นเรื่องไม่จบเด็กจะเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาซึ่งเกิดอยู่เป็นประจำได้อย่างสร้างสรรค์เมื่อทั้งสองฝ่ายมีการนำเอาเหตุผลเข้ามาประกอบการโต้แย้งไม่ใช้การใช้อารมณ์มาแก้ปัญหา ปัญหาที่เกิดขึ้นใครมีเหตุผลดีกว่าอีกฝ่ายก็ต้องยอมรับและปฏิบัติตาม

2.ความรุนแรงปานกลางหรือมากขึ้นอีกระดับคือปัญหาการเงินเศรษฐกิจสิ่งเหล่านี้พูดกันแล้วจบยากต้องใช้เวลาในการพูดคุยกันหลายหนกว่าจะแก้ปัญหาได้ ลักษณะแบบนี้พ่อแม่จะต้องรู้ตัวว่าจะต้องแยกตัวเองออกมาในการพูดคุย แก้ปัญหากันเป็นขั้นตอนด้วยความใจเย็น และปัญหานี้จะให้เด็กรับรู้เรื่องนี้ได้หรือไม่? จะขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก เด็กอายุ ๑๐ ขวบขึ้นไปก็ควรมีโอกาสรับรู้ปัญหาต่างๆของบ้านได้บ้างเพื่อเขาจะได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่างได้อันจะเป็นการสอนให้เด็กมีความรับผิดขอบในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในบ้าน เช่นการช่วยกันประหยัดด้วยการปิดไฟฟ้าในส่วนที่ไม่จำเป็น การช่วยทำความสะอาดบ้าน เก็บเสื้อผ้าเพื่อจะได้ไม่ต้องจ้างคนรับใช้ ซึ่งก็เป็นการช่วยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัวได้ แต่การรับรู้นั้นก็ต้องมีขีดจำกัดไม่ใช่รับรู้เรื่องทั้งหมด ปัญหาบางเรื่องที่เด็กอาจยังไม่อาจจะเข้าใจได้ย่อมส่งผลให้เด็กรู้สึกตกใจ มีกังวลจนเกินตัว พ่อแม่ต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสิน

 

การทะเลาะกันเรื่องความขัดแย้งในข้อ1 และ 2 ถ้ามองในทางสร้างสรรค์ทำให้เด็กมองเห็นสภาวะจริงของครอบครัวไม่รุนแรงมากเป็นเรื่องเล็กๆ ก็ให้เด็กรับรู้ได้ และให้เด็กๆได้เข้ามามีส่วนร่วมได้ เป็นการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก

 

3. ปัญหารุนแรงสุดขีด เช่น การหย่าร้าง การนอกใจ มีภรรยา หรือ สามีใหม่ การทะเลาะแบบนี้จะเต็มไปด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผลการจะพูดจาเรื่องนี้ต่อหน้าเด็กไม่ว่าเด็กอายุเท่าใด จะทำให้เด็กตกใจ ปฏิกิริยาของทั้ง 2 ฝ่ายจะออกมารุนแรง ซึ่งการทะเลาะกันแบบนี้ไม่ควรที่จะเอาเด็กเข้ามารับรู้หรือเกี่ยวข้อง

 

พ่อแม่ต้องทำงานเป็นทีมถึงแม้จะทะเลาะกัน
สิ่งเหล่านี้พ่อแม่ควรไตร่ตรอง รู้จักมองปัญหาอย่างมีสติและควบคุมอารมณ์ให้ได้ เวลาโกรธกันสามีภรรยามักมองข้ามเหตุผลไป วิธีการที่นำมาใช้มักจะเป็นการทำร้ายเช่นชอบใช้ความรุนแรงทำร้ายกัน หรือการใช้คำพูดทำร้ายกัน เด็กมักจะรับไม่ได้ เด็กอยากเห็นคน 2 คนรักกัน เด็กมักจะนั่งมองอยู่ ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจะต้องมีสติและรู้ทันตัวเอง รู้ทันสถานการณ์ รู้จักยับยั้งเพื่อไม่ให้ลูกได้เห็นความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้ตัวว่า "กำลังโกรธอาจจะเตือนอีกฝ่ายว่าเราหยุดทะเลาะกันเรื่องนี้ก่อน การที่พ่อแม่ทำงานเป็นทีมร่วมกันถึงแม้จะทะเลาะกัน แต่ยังทำงานเป็นทีมเป็นต้นแบบของเด็ก สุดท้ายเด็กก็จะมองเห็นวิธีการของพ่อแม่ที่ยังใช้สติในการแก้ปัญหา

 

พ่อแม่ต้องรู้เท่าทันตนเองและรู้จักหาทางระบายความโกรธออกในทางที่สร้างสรรค์
การที่พ่อแม่ทะเลาะกันแล้วอารมณ์ไม่ดี ถ้ามีเด็กผ่านเข้ามาแล้วเด็กกลายเป็นบุคคลที่ใช้เพื่อการระบายอารมณ์ ทำอะไรก็ผิดไปเสียหมดผิดทุกที่ เวลาที่พ่อแม่ไม่ทะเลาะกันการกระทำเช่นนั้นไม่ถูกถือว่าเป็นการทำผิด หรือหากถือว่าทำผิดก็ไม่เคยต้องถูกลงโทษรุนแรง แต่ช่วงนั้นอารมณ์ไม่ดีหรือเวลามีอารมณ์โกรธมาจากที่อื่นก็มาลงที่เด็กเช่น โกรธเจ้านาย ไม่สามารถทำร้ายเจ้านายได้เราก็มาลงกับภรรยา ลูก ผู้ใต้บังคับบัญชา สัตว์เลี้ยง หรือคนที่มีระดับต่ำกว่าเราที่สามารถระบายความโกรธได้ เวลาเราโกรธหรืออารมณ์ไม่ดี ถ้าเรามีสติรู้เท่าทันก็ดีเพราะเราสามารถหาทางออกได้หลายทางในปัจจุบันนี้ เช่น มีไดอารีให้เขียน มีคอมพิวเตอร์ให้เข้าไปบ่นไประบาย การเล่นกีฬาต่างๆ เช่น ไปว่ายน้ำ เป็นต้น การที่มีทางออกหลาย ๆ ทางจะทำให้อารมณ์ไม่พอใจน้อยลง และยังเป็นการระบายอารมณ์แบบมีสติ

 

พ่อแม่บางคู่เมื่อทะเลาะกัน มักจะนำลูกเข้าไปเกี่ยวข้องโดยมักจะชอบถามว่าจะอยู่ข้างใครถือเป็นการทำร้ายจิตใจเด็กในระยะยาว และรู้สึกถึงความไม่มั่นคงขอชีวิต มีพ่อแม่บางคู่ที่ชอบใช้ความรุนแรงต่อกันโดยไม่นึกถึงลูก ทำให้เด็กมองภาพแล้วกลัว เด็กหลายคนยอมทุ่มตัวเองเข้ามาขวาง พ่อแม่ทะเลาะกันถือมีด ถือไม้ เด็กเข้ามาขวางก็ได้รับบาดเจ็บ บางครั้งเด็กเข้ามาขวางโดยการแสดงอาการ ปวดท้อง ร้องไห้ โดยมีเจตนาเพื่อหยุดยั้งสถานการณ์ที่พ่อแม่ทะเลาะกัน เด็กจะมองเห็นว่าวิธีนี้ช่วยพ่อแม่ได้ก็ใช้วิธีนี้ซึ่งเด็กจะต้องกลายเป็นการถูกกำหนดบทบาทเกินตัว กลายเป็นกรรมการคอยยุติการทะเลาะระหว่างพ่อแม่ไป ทำให้พัฒนาการของเด็กเสียหายไป เด็กบางคนถึงกับทำร้ายตัวเองเพื่อยุติการทะเลาะกันของพ่อแม่

ส่วนเด็กบางคนอาจอยู่ในเหตุการณ์เฝ้ามอง เขาจะไม่เข้ามาขวาง จะมีอารมณ์ตกใจ กลัวแต่อีกด้านหนึ่งจะซึมซับเอาลักษณะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าไปไว้ในความทรงจำ และหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาบ่อยๆจะทำให้เด็กซึมซับความรุนแรงขึ้นมาได้ และเด็กที่เห็นพ่อแม่ทะเลาะกันรุนแรง ทำร้ายกันเด็กจะตกใจแล้วหนี และโตขึ้นมาด้วยความหวาดกลัว อารมณ์อ่อนไหวง่าย เมื่อพบเหตุการณ์ที่มากระทบต่อจิตใจก็จะคิดว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นสิ่งที่รุนแรงรับไม่ได้ในอนาคตอาจทำให้กลายเป็นคนที่คิดมากน้อยใจได้ สำหรับเด็กโตจะต่างจากเด็กเล็กบางทีพ่อแม่ไม่มองหน้ากันบนโต๊ะกินข้าวไม่คุยกัน เด็กจะรู้ว่าพ่อแม่มีปัญหาซึ่งเขาก็ไม่เข้าใจว่าอะไรคือปัญหาที่ทำให้พ่อแม่ไม่พูดกัน การรับรู้ของเด็กจะรับรู้โดยการนำเอาเหตุการณ์ต่างๆในอดีตที่ตนเห็นมาประติดประต่อกันเพื่อหาสาเหตุของการที่พ่อแม่ไม่พูดกันเหมือนจิ๊กซอว์ คือรับรู้ตรงนี้จุดหนึ่งรับรู้ตรงนั้นจุดหนึ่งแล้วเอาผูกกันอาจจะเข้าใจผิดว่าพ่อแม่ไม่รักกันและจะเลิกกัน ทำให้เด็กมีความกังวลในความมั่นคงของครอบครัวตนเอง

 

พ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจสถานการณ์บ้างถ้าเป็นเด็กอาจจะเข้าไปโอบกอดหรือถ้าเด็ก ๕ - ๖ ปีขึ้นไป คงจะอธิบายให้ เข้าใจถึงปัญหาความขัดแย้งได้ ข้อมูลที่เราจะต้องส่งต่อถ่ายทอดให้กับเด็กต้องหลีกเลี่ยงการประนามหรือตำนิอีกฝ่ายหนึ่งและพยายามเอาเด็กมาเป็นฝ่ายตนโดยสอนให้เกรียดอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นการจัดการสัมพันธภาพในครอบครัวเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรักษาไว้ ต้องรู้จักเปลี่ยนตัวเอง ต้องมีสติ นำอารมณ์ออกไปห่าง ๆ รู้ที่มาที่ไปและรู้ว่าคุณค่าของตัวเองอยู่ตรงไหน ก็จะทำให้รอบครัวนั้นเป็นสุขได้"

 

 

By: พญ. วินัดดา ปิยะศิลป์ จิตแพทย์เด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี