๑. ครูดี ขึ้นชื่อว่าครูทุกคนก็ทราบดีว่า คือใคร ทำหน้าที่การงานอะไร มีความสำคัญอย่างไรแต่พอถึงคำว่า “ครูดี” ออกจะมีคนสงสัยอยู่บ้าง ครูดีคือครูชนิดไร มีกฏเกณฑ์อะไรบ้าง ทำไมจึงเรียกว่าเป็นครูที่ดี เพราะคุณสมบัติข้อใดหรือ การตอบคำถามเหล่านี้ง่ายมากเพราะปรากฏแจ่มแจ้งหลายเกวียนในตำราวิชาครู ที่พวกเราผ่านมาอย่างโชกโชนจนได้รับการรับรองยกย่องเป็น ปกศ., พกศ., ป.ป, พ.ป.ป.ม, พ.ม., หรือ กศบ. และ ฯลฯ อื่น ๆ
๒. อำนาจชอบ จุดเด่นในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าขอชี้ว่าคือคำ ชอบ เมื่อท่านเกิดชอบอะไรแล้ว ท่านจะเกิดความต้องการ อยากได้ ทนุถนอม หวงแหน พยายาม เอาใจใส่ในสิ่งนั้น ๆ ล้วนมุ่งแต่ในทางที่ดีมีประโยชน์อย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า ความชอบ เป็น ความรู้สึก หรือเป็น อารมณ์ ของคนเรา ทางจิตวิทยากล่าว คนเรานี้ปฏิบัติงานด้วยอารมณ์ชอบไม่ชอบนี่เอง ถ้าเราชอบสิ่งไหน เราก็มักจะทำสิ่งนั้น เห็นดีเห็นงามกับสิ่งนั้น และจะขัดขวางต่อกับเหตุการณ์ที่จะมาทำลายสิ่งที่ชอบของเรา ตรงกันข้ามถ้าเราเกิดไม่ชอบขึ้นมา ต่อให้สิ่งนั้นเป็นเพชรนิลจินดาราคาแสน หรือดีวิเศษเหนือมนุษย์เราก็ไม่เห็นด้วยอยากคัดค้านทำลายโต้แย้ง ดังนี้จะเห็นว่าเรื่องชอบหรือไม่ชอบจึงเป็นหัวใจในการดำเนินงานของมนุษย์เป็นกิจวัตรประจำวัน เมื่อท่านทราบในอิทธิพลของ ชอบ ปานนี้แล้ว ท่านก็คงจะคาดคิดได้แล้วว่า ครูที่ดีจะต้องชอบอะไรบ้าง “ครูดีก็คือ ครูที่ทำหน้าที่ของตนอย่างเรียบร้อย”
๓.งานครู ภาระหน้าที่ของครู ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด มีงานชิ้นสำคัญยิ่งยวดอยู่ชิ้นเดียวเท่านั้นงานนี้ก็คือ งานสอน สอนอะไรแทบไม่ต้องตอบก็ได้ คือ ต้องสอนเด็ก สอนศิษย์ งานสอนนี้แหละเป็นหน้าที่ของครูอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ และจุดหมายปลายทางของการช่วยให้เด็กเป็นคนดีของสังคม
๔.ชอบอะไรดี เมื่อเราแน่ใจว่าความสำคัญของคนขึ้นอยู่กับงานหน้าที่ คนดีก็คือ คนทำงานหน้าที่ดี ฉะนั้น ครูดีก็คือ ครูที่ทำงานหน้าที่ของตนดี และงานที่แท้เป็นแกนของครูก็คืองานหน้าที่ เหตุนี้จึงกล่าวได้อย่างไม่ผิดเลยว่า


“ครูดีก็คือ ครูที่สอนดี”
ข้าพเจ้าลองทบทวนอีกนิดหนึ่งในตอนนี้ คือ
(๑) งานของครูคือ สอน
(๒) ครูสอนอะไรหรือสอนใคร ตอบว่าสอน เด็ก
(๓) ครูสอนอะไรให้เด็ก ตอบว่า วิชา ให้เด็ก
(๔) สอนเพื่อะไร เพื่อให้เด็กเป็นคนดี


จุดหมายปลายทางของการสอน ก็คือ การเป็นคนดีของเด็ก ฉะนั้น ถ้าจะให้บรรจุเป้าที่วางไว้ ครูต้องทำงานของตนให้สมบูรณ์คือ สอนให้ดี ดังกล่าวมาแล้ว
การที่ครูจะสอนให้ดีนั้น ทำได้ยากมาก เพราะจะเห็นแล้วว่า เกี่ยวกับครูและตัวเด็กหรือจะพูดให้เห็นชัดตามที่กล่าวมาก็จะเห็นว่าการสอนจะดีหรือไม่ อยู่ที่ ๓ เรื่องใหญ่ ๆ คือ
(๑) เรื่องของการสอน
(๒) เรื่องของเด็ก
(๓) เรื่องของวิชาที่ครูสอน


ความชอบ ๓ ประการ
(๑) ชอบสอน
(๒) ชอบเด็ก (ที่เรียนกับครู)
(๓) ชอบวิชาที่ครูสอน มี ๓ ชอบติดตัวแล้ว จุดหมายปลายทางอยู่แค่เอื้อมนี่เองท่าน


ลองถามเพื่อนครูดูก็ได้ว่า เขามีความชอบทั้ง ๓ นี่หรือไม่ คำตอบก็คือบางคนชอบสอนชอบเด็ก แต่ไม่ค่อยชอบวิชาที่ตัวสอน บางคนชอบสอน ชอบวิชาที่สอน แต่ไม่ชอบเด็ก บางคนชอบเด็ก ชอบวิชาที่สอน แต่ไม่อยากสอนคือไม่ชอบสอน ฯลฯ แล้วเราจะหวังผลการเรียนการสอน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ได้อย่างไร
๕. อานุภาพของ ๓ ชอบ
ความชอบมีอำนาจผลักดันจิตใจของคนอย่างไร ก็ได้กล่าวมาแล้ว ครั้นมาถึงตอนนี้เราได้เน้นเฉพาะความชอบในงานหน้าที่ครู คือชอบในการสอน ชอบในตัวเด็ก และชอบวิชาที่ตัวครูทำการสอน การสอนเด็ก - วิชา เป็นสายโยงกันสนิทมาก ถ้าขาดอย่างใดเสียแล้วการเป็นครูที่ดีได้ยากยิ่ง เพราะลงว่า ครูคนใด ที่ต้องไปโรงเรียน แล้วเกิดไม่ชอบสอน ไม่อยากสอน เกลียดเด็ก เกลียดวิชา ที่ตนสอน ลองหลับตานึกเอาเองก็ได้ว่า ผลที่เกิดจากครูคนนั้นจะเป็นอย่างไร การที่เราเจอปัญหาของเด็กเรียนอ่อนจบชั้นนี้แล้วไม่มีความสามารถเท่าที่ควร เด็กสอบตกมากอย่างผิดสังเกต เหล่านี้ข้าพเจ้าคาดคิดว่าย่อมมาจากสาเหตุของ ๓ ชอบนี้บ้างไม่มากก็น้อย คือครูที่ทำหน้าที่ของตนอาจจะหย่อนใน ๓ ชอบไปนั่นเอง


๑) อานุภาพของชอบสอน จะทำให้ครูเกิดความรู้สึกและปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนดังนี้ เช่น
(ก) เกิดความรักอาชีพครูของตน มีศรัทธามั่นในงานสอน
(ข) อยากทำการช่วยเหลือแนะนำให้คนเป็นคนดี ด้วยการอบรมสั่งสอน ไม่เบื่อหน่ายในงานของตน
(ค) จะแสวงหากลวิธีมาดำเนินการสอน อันเป็นการส่งเสริม ผู้เรียนให้เรียนได้อย่างสะดวก ได้ผล
(ง) จะขยันขันแข็ง ทำอุปกรณ์ประกอบการสอน
(จ) จะไม่ขาดโรงเรียนบ่อย ๆ เพราะใจรักการสอน จึงเห็นว่าถ้าวันใดไม่ได้สอนจะรู้สึกไม่สบาย ใจเอามาก ๆ


๒) อนุภาพของชอบเด็ก ครูที่ชอบเด็กจะมีใจมุ่งหวังดีต่อเด็ก และช่วยผลักดันให้ครูดำเนินงานด้วยดีมากมายเช่น
(ก) จะมีความเมตตาสงสารเด็กทุกคน
(ข) จะมีความคิดที่ถูกต้องในการช่วยเด็ก ให้เคารพในความเป็นมนุษย์ของเด็ก ไม่ดูหมิ่นรังเกียจ
(ค) จะปราศจากอคติลำเอียงใด ๆ เพราะความชอบเด็กเป็นนิสัยจะช่วยให้ครูเห็นเด็กเป็นชีวิตที่น่ารัก น่าช่วยเหลือประคับประคอง
(ง) จะพยายามติดตามและรู้จักเด็กอยู่เสมอ
(จ) จะช่วยให้สอนเด็กได้ดีขึ้น เพราะเมื่อครู ชอบเด็ก แล้วศรัทธาในการสอนเด็กให้ได้ดี ก็จะติดตามมาอย่างไม่มีปัญหา ฯลฯ เป็นต้น


๓) อนุภาพของชอบวิชา งานสอนของครูนั้นอาจจะต่างกันในวิชาที่สอน ทั้งนี้เกี่ยวกับระดับชั้นการศึกษา ในชั้นประถมต้น ๆ ครูคนเดียวมักจะสอนเด็กทั้งชั้นตลอดวัน จึงต้องสอนทุกวิชา พอชั้นเรียนสูงขึ้นมาหน่อย เป็นประถมปลาย ๆ หรือชั้นมัธยมศึกษา ครูก็เริ่มจะสอนเป็นรายวิชาแต่ละคนๆเป็นตามความถนัด และความจำเป็นของตัวครูหรือนโยบายของโรงเรียนอย่างไรก็ตาม หลักที่ว่าครูต้องชอบวิชาที่สอนนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อครูหลายประการคือ
(ก) ทำให้ครูรักงานสอนมากขึ้น เพราะรู้ว่าตนเองจะสอนหรือไปแนะนำในสิ่งตนชอบ
(ข) ช่วยทำให้ครูมีความรู้กว้างขวางในวิชาสาขาที่สอน
(ค) เป็นที่รักใคร่และนับถือของนักเรียน เพราะครูมีความรู้ดี
(ง) จะเปิดโอกาสค้นคว้า ทำความก้าวหน้าในวิชานั้น ๆ ยิ่งขึ้นเช่น อาจแต่งตำรา เขียนบทความ สร้างวัสดุอุปกรณ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น
(จ) ครูไม่กลัวในการสอนเพราะภูมิรู้แน่นพอไม่หวั่นไหวว่า เวลานักเรียนซักถามแล้วจะจนคือตอบคำถามเด็กไม่ได้ ฯลฯ เป็นต้น


ท่านคงเห็นชัดเจนในตอนนี้ว่าอนุภาพของการชอบสอน ชอบเด็กชอบวิชาที่สอน มีฤทธิ์เดชเพียงไหน และช่วยให้การศึกษาก้าวหน้าเพียงไร และเป็นภาวะทางจิตที่ครูควรฝึกเพียงใด เพื่อเป็นครูที่ดี
(๖) แนวทางบรรลุ ๓ ชอบ
ความชอบ เป็นความรู้สึกหรือท่าทีของคนเรา มีทางจะฝึกฝนให้เกิดขึ้นได้ไม่ยากนักแต่ครูต้องพยายามหน่อย เพราะจะต้องปรับปรุงแนวคิดของตนเองในบางสิ่งบางอย่างเสียใหม่ โดยการจัดหาสิ่ง
เร้าที่เหมาะสมมาเป็นอุปกรณ์ในการสร้างความชอบ ยกตัวอย่างถ้าท่านอยากจะชอบใครสักคนหนึ่ง ท่านก็จะต้องพยายามคิดนึกถึงเขาพูดคุยกับเรา เขียนจดหมายถึงเขาช่วยเหลือเกื้อกูลการทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการย้อมน้ำใจของท่านให้ชอบคนนั้นผลก็คือในที่สุดท่านก็ชอบคนนั้นสำเร็จ และคนนั้นก็ชอบท่านด้วย เข้าสุภาษิต “อยากให้คนอื่นไหว้ท่านท่านก็ต้องไหว้เขาก่อน” นั่นเองและเมื่อนั้นทั้งท่านและเขาก็อยู่ร่วมกัน
ด้วยความสุข อย่างไมตรีจิตมิตรภาพอันดียิ่งต่อกัน เหตุนี้ผู้เป็นครูควรได้ตั้งใจฝึกตนให้มี ๓ ชอบ โดยวิธีการที่จะกล่าวพอเป็นแนวทางดังต่อไปนี้ คือ


๑) แนวทางฝึกตัวเองให้ชอบสอน การที่ครูคนใดจะชอบสอนหรือไม่นั้น เป็นภาวะทางจิตและความถนัด ความสนใจของแต่ละคนโดยเฉพาะ อย่างไรเสียเพื่อเป็นหนทางช่วยท่านให้คิดในเรื่องนี้ เราพอกำหนดแนวฝึกอบรมตนเองที่สำคัญ ๆ ได้คือ
(ก) ความพอใจในอาชีพครู ควรตั้งความปรารถนาให้แน่วแน่ว่าเรายึดอาชีพครูเป็นหลัก เมื่อคนเราทำอะไรโดยใจศรัทธาแล้ว ก็จะเกิดความสนใจชอบพอขึ้นได้
(ข) เห็นว่างานสอนเป็นงานที่มีคุณค่าต่อสังคม ถ้าครูไม่สอนเด็กเสียแล้วโลกนี้จะเป็นอย่างไร ก็ลองคิดดูเอาเอง ดังนั้น การสอนเป็นการช่วยพัฒนาคนและบ้านเมือง
(ค) พยายามเอาใจใส่ในกลวิธีสอนใหม่ ๆ แปลก ๆ โดยการศึกษาหาอ่านหรือเรียนรู้มาก ๆ
(ง) หาแง่เพลิดเพลินสนุกสนานในการสอนเด็กให้จงได้ อย่าทำให้การสอนเป็นเรื่องเบื่อหน่าย ทำลายกำลังใจ
(จ)จงเตรียมการสอนทุกครั้งอย่างดี แล้วพิจารณาผลของการสอนนั้น ๆ เราจะภูมิใจมากขึ้น และชอบสอนได้
(ฉ) วิธีสอนที่ครูควรให้ความสนใจ เพื่อช่วยให้ครูชอบสอนเช่นการสอนโดยการอภิปราย-สนทนา-การถามตอบ การทดลอง การแบ่งหมู่ทำกิจกรรม การสาธิต การเล่นละคร การสอนแบบโครงการ การสอนแบบหน่วย ฯลฯ เป็นต้น ถ้าครูยิ่งมีกลวิธีสอนเท่าไร ก็จะเห็นว่างานสอนเป็นงานสนุกมากขึ้นเท่านั้น เหมือนเราปรุงรสอาหารได้หลายแบบหลายชนิด ก็จะทำให้เบื่ออาหารได้น้อยลง
(ช) ลองสนทนากับครูที่สอนเก่ง ๆ และสังเกตวิธีสอนของเขาแล้วลองมาปฏิบัติตามบ้าง
(ซ) รักษาร่างกายและจิตใจให้สุขสมบูรณ์ เพราะท่านจะทำงานสอนได้เพียงไร สุขภาพทางกายและจิตเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด


๒) แนวทางฝึกตัวเองให้ชอบเด็ก งานสอนของครูจะปราศจากเด็กเสียมิได้ ดังนั้นครูจึงต้องรักเด็กชอบเด็กที่ตนสอน โดยถือหลักปฏิบัติที่สำคัญดังต่อไปนี้ เช่น
(ก) เคารพในความแตกต่างของเด็กแต่ละคน จะให้เด็กทำอะไร ๆ เหมือนใจครูทุกอย่างนั้นนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้
(ข) ลองคิดตามศึกษาเด็กแต่ละคนให้รู้จักอย่างแท้จริงว่าเด็กคนไหนเป็นอย่างไร สนใจอะไร ชอบอะไร เกลียดอะไร เรียนวิชาไหนเก่งสภาพทางบ้านเป็นอย่างไร คนเราถ้ารู้จักกันดีก็รักกันดีขึ้น
(ค) พยายามแสดงความเมตตาสงสาร และสนับสนุนช่วยเหลือเด็ก เช่น เด็กที่ยากจนเด็กที่เจ็บป่วยพิการ (ทั้งนี้ครูจะต้องไม่หวังผลตอบแทนมากนัก คิดว่าทำคุณด้วยใจรักก็แล้วกัน)
(ง) มีน้ำใจให้อภัยในความผิดพลาดบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเด็กเสมอไม่เป็นคนคิดมากเอาชนะเด็ก
(จ) มองเห็นเด็กแต่ละคนเป็นชีวิตที่น่าทนุถนอม เสมือนว่าครูเองเป็นพ่อแม่ของเด็กพ่อแม่ย่อมรักลูกฉันใด ครูก็ควรจะทำตัวให้เป็นพ่อแม่พ่อแม่สำรองของเด็กฉันนั้น
(ฉ) ให้ความสนิทสนมเป็นกันเองกับเด็ก ๆ ถือหลักว่า ครูที่ดีนั้นนอกจากเป็นเสมือนพ่อแม่ของเด็กแล้ว ครูก็ควรจะทำตัวให้เป็นประหนึ่ง พี่ หรือ เพื่อน ของเด็กได้ด้วยจากความคุ้นกันมาก ๆ เข้าใจกันดีช่วยให้คนเรารักกันยิ่งขึ้น
(ช) ค้นให้พบว่าเด็กแต่ละคนเขามีมีอะไรดีเป็นพิเศษในตัวเขาและให้เขาได้แสดงความสามารถนั้น ๆ ออกมา เป็นที่น่าชื่นชมยินดีของสังคม ครูก็จะพลอยปิติปลื้มใจและชอบเด็กคนนั้น
(ซ) ครูต้องมีใจรักและศรัทธาในการอบรมสั่งสอนเด็กให้แน่ ๆ เพื่อช่วยให้เด็กเป็นคนดีสมจุดมุ่งหมายของการศึกษา การเอาจริงเช่นนี้ จะทำให้ครูไม่อาจทอดทิ้งลูกศิษย์ของตน


๓) แนวทางฝึกตนเองให้ชอบวิชาที่สอน ใครจะสนใจหรือชอบวิชาอะไรนั้นเป็นเรื่องความถนัดและประสบการณ์ของครูคนนั้น ๆ เป็นราย ๆไป ตราบเท่าที่ครูยังไม่อาจเลือกวิชาที่ตนชอบสอนได้ ครูควรได้พยายามปรับปรุงตัวเองให้มาก ๆ ดามแนวทางดังนี้คือ
(ก) พยายามรวบรวม สะสมหนังสือคู่มือเรียนให้มาก ๆ เอาไว้ประจำห้องสมุดโรงเรียนหรือส่วนบุคคล เพราะติดขัดอะไรจะได้เปิดดูอ้างอิงได้
(ข) เอาชนะปัญหาที่ครูพบให้จงได้ เช่นนักเรียนถามอะไร แล้วเราตอบไม่ถนัด จงศึกษาค้นคว้าเรื่องนั้น วิชานั้นเพิ่มเติม ความรู้ชองครูจะแตกฉานขึ้น และชอบวิชานั้นมากขึ้น
(ค) จงอ่านหนังสือให้มาก ๆ เกี่ยวกับวิชาที่สอน แล้วนำเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตสอนประจำวัน เพราะครูที่อ่านมากย่อมมีความรู้กว้างขวาง เด็กชอบ และเป็นที่พักภาคภูมิใจของตัวครูเอง
(ง) ลองหัดเขียนบทความบทความลงวารสารบ้างเท่าที่สามารถ เพราะว่าเป็นแนวทางที่ช่วยส่งเสริม ในการคิดค้นของครูเกี่ยวกับวิชาแขนงนั้น ๆได้ดี
(จ) จงยินดีรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากเพื่อนครู เกี่ยวกับวิชาที่ตนสอน อย่าถือว่าตัวเองเก่งแล้ว ความรักวิชานี่แหละเป็นกุญแจสำคัญที่ครูจะบันดาลให้ตัวเองเป็นสุขใจได้ในอาชีพครู


๗. สรุปเรื่อง บทความเพื่อปลุกใจเพื่อนครูทั้งหลาย ที่ข้าพเจ้าเขียนอย่างง่าย ๆ นี้ก็พอจะลงเอยๆได้ว่า การทำงานสอนหรือการมีอาชีพครูจะได้ผลราบรื่น ขึ้นอยู่กับแรงใจและกำลังศรัทธาของตัวครู
เอง การทำงานสอนหรือการมีอาชีพครูจะได้ผลราบรื่น ขึ้นอยู่กับแรงใจและกำลังศรัทธาของตัวครูเอง ที่จะต้อง ชอบ อย่างน้อย ๆ ก็ใน ๓ ชอบ คือ
๑. ชอบสอน
๒. ชอบเด็ก
๓. ชอบวิชา
ขอให้เพื่อนครูโปรดลองคิดอย่างแยบยล และปฏิบัติตัวเองด้วยดีเถิดเพื่อความวัฒนาถาวรของอาชีพครู และของประเทศชาติ