พระบรมมหาราชวัง


พระบรมมหาราชวัง

The Grand Palace

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อเสร็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้ทรงมีพระราชดำริว่า ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับพระราชวังเดิมของกรุงธนบุรี เป็นชัยภูมิเหมาะสมที่จะตั้งเป็นพระมหานคร เนื่องจากเป็นพื้นที่แหลมยื่นออกมา มีความเหมาะสมทางยุทธศาสตร์เพราะได้แม่น้ำเป็นคูเมืองทางด้านตะวันตก และด้านใต้ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาวิจิตรนาวีกับพระยาธรรมาธิบดีเป็นแม่กอง สถาปนาพระราชวังแห่งใหม่ ณ ที่บ้านพระยาราชาเศรษฐี และหมู่บ้านชาวจีน โดยให้พระยาราชาเศรษฐีนำพวกจีนไปตั้งบ้านเรือนอยู่ใหม่ในที่สวน ตั้งแต่คลองใต้วันสามปลื้มจนถึงคลองเหนือวัดสำเพ็ง และมีรับสั่งให้ไปรื้อกำแพงและป้อมกรุงศรีอยุธยา เพื่อเอาอิฐมาสร้างกำแพงและป้อมปราการกรุงเทพฯ เพื่อมิให้กรุงศรีอยุธยาเป็นที่อาศัยของข้าศึก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามขึ้นในพระราชวังและอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐาน และพระราชทานนามพระอารามใหม่นี้ว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


พระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่นี้ได้ถ่ายแบบจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยามาทุกอย่าง กล่าวคือ สร้างชิดแม่น้ำ หันหน้าวังขึ้นเหนือน้ำ เอาแม่น้ำไว้ข้างซ้ายพระราชวัง เอากำแพงเมืองด้านข้างแม่น้ำเป็นกำแพงพระราชวังชั้นนอก การวางผังพระที่นั่งต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน คือ หมู่พระมหามณเฑียรตรงกับพระวิหารสมเด็จ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตรงกับพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ วัดพระศรีรัตนศาสดารามตรงกับวัดพระศรีสรรเพชร รวมเนื้อที่ประมาณ ๑๓๒ ไร่


พระบรมมหาราววังเดิมสร้างด้วยเครื่องไม้ ส่วนวัดพระศรีรัตนศาสดารามสร้างด้วยอิฐ ถือปูน ป้อมและกำแพงวังก่อด้วยอิฐ ซุ้มประตูเป็นประตูเครื่องยอดไม้ทรงมณฑป ทาสีดินแดง เช่นเดียวกับสมัยอยุธยา ในสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ขยายพระราชวังด้านใต้ออกไปเช่นทุกวันนี้

 

พระที่นั่งดุสิตมหาประสาท
Dusit Maha Prasat Throne Hall

เป็นพระมหาปราสาทองค์แรกที่สร้าง โดยถ่ายแบบจากพระที่นั่งสรรเพชรมหาปราสาทที่อยุธยา สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง เป็นปราสาทสี่มุข พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท พระที่นั่งนี้เกิดเพลิงไหม้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างประสาทองค์ใหม่ มีขนาดเท่าพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ที่อยุธยา พระราชทานนามว่า พระที่นั่งดุสิตมหาประสาท เป็นประสาทจตุรมุข ยอดทรงมณฑปซ้อนเจ็ดชั้นประดับกระจก หลังคาดาดด้วยดีบุก มีมุขเด็จทางด้านทิศเหนือ เป็นที่เสด็จออกมหาสมาคม พระที่นั่งองค์นี้มีการซ่อมหลายครั้ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้เปลี่ยนเครื่องยอดจากการมุงดาดด้วยดีบุก เป็นมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี

พระแท่นราชบัลลังก์ ประดับมุก ปักนพปฎลมหาเศวตฉัตร ตั้งอยู่กลางพระมหาปราสาท พระแท่นบรรทมประดับมุก ตั้งอยู่ทางมุขด้านตะวันออก พระแท่นทั้งสองนี้ เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ทำถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ นับเป็นศิลปวัตถุชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของไทย
พระที่นั่งองค์นี้เป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระมหาปราสาทที่เป็นหลักของพระมหานคร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์พระอัครมเหษี และพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ และใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ เช่นพระราชพิธีฉัตรมงคล

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้เคยโปรดเกล้า ฯ ให้ใช้เป็นที่ชุมมุมพระสงฆ์ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก และพระองค์ได้ทรงใช้พระที่นั่งพิมานรัตยา (อยู่ที่ส่วนยาวของมุขหลัง มีมุขกระสันต่อถึงกัน) เป็นพระวิมานที่บรรทม และใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่เสด็จออกขุนนางเมื่อคราวซ่อมหมู่พระมหามณเฑียร
พระที่นั่งดุสิตมหาประสาท เป็นปราสาทยอดเครื่องไม้ที่มีความงามด้านสัดส่วนทรวดทรง ครบถ้วนทางสถาปัตยกรรม และครบเครื่องที่เกี่ยวกับความเป็นปราสาท คือ มีห้องท้องพระโรงที่เสด็จออกพระวิมาน ที่ประทับมีปรัศว์ซ้าย ปรัศว์ขวา และเรือนจันทร์ตั้งขวางอยู่ทางท้ายมุข อยู่ในประเภทปราสาทศรี