พระปฐมบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใด ถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้ว
พึงประหารเสียบ้าง จองจำบ้าง เนรเทศเสียบ้าง ด้วยบริภาษว่าเจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง
เจ้าเป็นขโมย ในเพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานใด ภิกษุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้
ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้ว แก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้
ตติยปาราชิกสิกขาบท เรื่องภิกษุหลายรูป
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้น พระองค์ทรงแสดงอสุภกถา ทรงพรรณาคุณอสุภสมาบัติเนื่องๆ โดย เอนกปริยายแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า เราปรารถนาจะหลีกออกเร้นอยู่ตลอดกึ่งเดือน ใครๆ อย่าเข้าไปหาเรา นอกจากพระภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปให้รูปเดียว
ระหว่างนั้น ภิกษุเหล่านั้นสนทนากันว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอสุภกถา......... ทรงพรรณาคุณแห่งอสุภสมาบัติเนืองๆ โดยเอนกปริยายดังนี้ แล้วพากันประกอบด้วยความเพียรในการเจริญอสุภกัมมัฎฐานหลายอย่าง หลายกระบวนอยู่ ภิกษุเหล่านั้นอึดอัด ระอา เกลียดชังร่างกายของตน ฉะนั้นจึงปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง บางเหล่าก็เข้าไปหามิคลัณฑิกสมณกุตต์ก็ขอให้ช่วยปลงชีวิตของพวกตน โดยให้บาตรจีวรเป็นเครื่องตอบแทน ครั้งนั้นได้มีภิกษุถูกปลงชีวิตไปเป็นจำนวนมาก
รับสั่งให้เผดียงสงฆ์
ครั้งล่วงกึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ประทับซ่อนเร้น แล้วรับสั่งถามพระอานนท์ว่า เหตุไฉนภิกษุสงฆ์จึงดูเหมือนน้อยไป
พระอานนท์กราบทูลว่า เป็นเพราะพระองค์ทรงแสดงอสุภกถา....... ทรงพรรณาถึงอสุภสมาบัติเนืองๆ โดยเอนกปริยายแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นจึงพากันประกอบความเพียรในการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน เธอเหล่านั้น อึดอัด ระอา เกลียดชังร่างกายของตน จึงปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส ภิกษุสงฆ์นี้จะพึงดำรงอยู่ในพระอรหัตผลด้วยปริยายใด ขอพระผู้มีพระภาคจงตรัสบอกปริยายอื่นนั้นเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นเธอจงเผดียงภิกษุที่อาศัยพระนครเวสาลีอยู่ทั้งหมด ให้ประชุมกันที่ อุปัฏฐานศาลา
พระอานนท์จึงเผดียงภิกษุสงฆ์ที่อาศัยพระนครเวสาลีอยู่ทั้งสิ้น ให้ประชุมที่อุปัฏฐานศาลา แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่าภิกษุสงฆ์พร้อมกันแล้ว ขอพระองค์ทรงทราบกาลอันควรเถิด
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้สมาธิในอานาปานสตินี้แล อันภิกษุอบรมทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน ดุจละอองและฝุ่นที่ฟุ้งขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ย่อมยังละอองและฝุ่นนั้นๆ ให้อันตรธานสงบไปได้โดยฉับพลัน ฉะนั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ตาม อยู่ ณโคนไม้ก็ตาม อยู่ในสถานที่สงัดก็ตาม นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติ บ่ายหน้าสู่กรรมฐาน ภิกษุนั้นย่อมมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อาณาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปได้โดยฉับพลัน
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ข่าวว่าพวกภิกษุปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง จริงหรือ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าจริง พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า การกระทำของภิกษุเหล่านั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ..... การกระทำของภิกษุเหล่านั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส........
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นโดยเอนกปริยายแล้ว จึงทรงติโทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยงยาก....... ทรงสรรเสริญคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย....... โดยเอนกปริยาย แล้วทรงแสดงธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ.......
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึ่งยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงว่า ดังนี้
พระปฐมบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่มนุษย์นั้น
แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
จตุตถปาราชิกสิกขาบท เรื่องภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้นภิกษุมากรูปด้วยกัน จำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา สมัยนั้นวัชชีชนบท อัตคัดอาหาร ภิกษุสงฆ์จะยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยการถือบาตรแสวงหา ก็ทำไม่ได้ง่าย ภิกษุเหล่านั้นจึงคิดกันว่า พวกเรายังเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกันไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และจะต้องไม่ต้องลำบากด้วยบิณฑบาต ด้วยอุบายอย่างไรหนอ
ภิกษุบางพวกเสนอว่า พวกเราจงช่วยกันอำนวยกิจการอันเป็นหน้าที่ของพวกคฤหัสถ์ บางพวกเสนอว่า พวกเราจงช่วยกันนำข่าวสาสน์อันเป็นหน้าที่ทูตของพวกคฤหัสถ์ บางพวกเสนอว่าพวกเราจักกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ว่า ภิกษุรูปโน้นได้ปฐมฌาน ได้ทุติยฌาณ ได้ตติยฌาณ ได้จตุตถฌาน รูปโน้นเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอรหันต์ รูปโน้นได้วิชชา 3 รูปโน้นได้อภิญญา 6 ดังนี้
ภิกษุเหล่านั้นมีความเห็นร่วมกันว่า การกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์นี้ประเสริฐสุด แล้วก็พากันกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์
ครั้นต่อมาประชาชนเหล่านั้นพากันยินดีว่า เป็นลาภของพวกเรา พวกเราได้ดีแล้ว ที่มีภิกษุทั้งหลายผู้มีคุณพิเศษเห็นปานนี้อยู่จำพรรษา เพราะก่อนนี้ ภิกษุทั้งหลายที่อยู่จำพรรษาของพวกเรา จะมีคุณสมบัติเหมือนภิกษุผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านี้ไม่มีเลย โภชนะชนิดที่พวกเขาจะถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น พวกเขาไม่บริโภคด้วยตน ไม่ให้บิดามารดา บุตร ภรรยา คนรับใช้ กรรมกร มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต จึงภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้มีน้ำนวล มีอินทรีย์ผ่องใส มีสีหน้าสดชื่น มีผิวพรรณผุดผ่อง
การที่ภิกษุทั้งหลายออกพรรษาแล้วเข้าเยี่ยมพระภาคนั้นเป็นประเพณี
ครั้นภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาโดยล่วงไตรมาสแล้ว เก็บเสนาสนะถือบาตรจีวรหลีกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่พระนครเวสาลี เที่ยวจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลี ป่ามหาวัน กูฏาคารศาลา แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ภิกษุต่างทิศมาเฝ้า
สมัยนั้น พวกภิกษุผู้จำพรรษาอยู่ในทิศทั้งหลาย เป็นผู้ผอม ซูบซีด มีผิวพรรณหมอง เหลืองขึ้นๆ มีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ส่วนภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาเป็นผู้มีน้ำนวล มีอินทรีย์ผ่องใส มีสีหน้าสดชื่น มีผิวพรรณผุดผ่อง
การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุพวกฝั่งวัคคุมุทาว่า ร่างกายของพวกเธอยังพอทนได้หรือ ยังพอให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ยังพอทนได้ ยังพอให้เห็นเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกันไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุกและไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตพระพุทธเจ้าข้า
พุทธประเพณี
พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลายย่อมถามสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์กำจัดด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสอบถามภิกษุทั้งหลาย ด้วยอาการ 2 อย่าง คือ จักแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกอย่างหนึ่ง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุพวกฝั่งวัคคุมุทาว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาผาสุกและไม่ลำบากด้วยวิธีการอย่างไร
ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า คุณวิเศษของพวกเธอนั้นมีจริงหรือ
พวกภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่มีจริงพระพุทธเจ้าข้า
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนพวกเธอจึงได้กล่าวชม อุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์เพราะเหตุแห่งท้องเล่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ท้องอันพวกเธอคว้านแล้วด้วยมีดเชือดโคอันคม ยังดีกว่าที่พวกเธอกล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งท้อง ไม่ดีเลย ข้อที่ว่าดีกว่านั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลผู้คว้านท้องด้วยมีดเชือดโคอันคมนั้น พึงถึงความตายหรือความทุกข์เพียงแค่ตาย ซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ไม่พึงเข้าถึงทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งมีการกระทำนี้แลเป็นเหตุ
ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส.....ครั้นแล้วทรงกระทำมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย ดังนี้
มหาโจร 5 จำพวก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจร 5 จำพวกนี้มีปรากฎอยู่ในโลก มหาโจร 5 จำพวกเป็นไฉน
มหาโจรบางคนในโลกนี้ย่อมปรารถนาว่า เมื่อไรหนอเราจักมีบุรุษร้อยหนึ่ง พันหนึ่ง แวดล้อม แล้วท่องเที่ยวไปในคามนิคมและราชธานี ทำการเบียดเบียน ตัด เผาผลาญ ต่อมาเขาได้บรรลุความปรารถนานั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมปรารถนาว่า เมื่อไรหนอ เราจึงจักมีภิกษุร้อยหนึ่ง พันหนึ่งแวดล้อม แล้วเที่ยวจาริกไปในตามนิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และศิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลายนี้เป็นมหาโจร จำพวกที่ 1 มีปรากฎอยู่ในโลก
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ย่อมยกตนขึ้น นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 2 มีปรากฏตัวอยู่ในโลก
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามกำจัดเพื่อนพรหมจารีผู้หมดจด ผู้ประพฤติธรรมอันบริสุทธิ์อยู่ ด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์อันหามูลมิได้ นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 3 ที่ปรากฏอยู่ในโลก
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมสงเคราะห์เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลายด้วยครุภัณฑ์ ครุบริขารของสงฆ์ นี้เป็นมหาโจรพวกที่ 4 ปรากฏอยู่ในโลก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตริมนุสสธรรมอันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง นี้จัดเป็นยอดมหาโจรในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้น ฉันก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นด้วยอาการแห่งคนขโมย
ทรงบัญญัติปฐมบัญญัติ
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุพวกฝั่งวัดคุมุทาโดยเอนกปริยาย แล้วตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก......ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย.....โดยเอนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถา ที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ คือเพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ 1.....เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัจธรรม 1 เพื่อถือตามพระวินัย 1
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึ่งยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง ดังนี้
พระปฐมบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้เฉพาะกล่าวอวดอุตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ ความเห็นอย่างประเสริฐอย่างสามารถ
น้อมเข้ามาในกายตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้หนึ่งผู้ใด ถือเอาก็ตาม ไม่ถือเอาก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าไมรู้อย่างนั้นได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้นได้กล่าวว่าเห็น
ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จเปล่าๆ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิกหา สังวาสมิได้
สิกขาบทแห่งนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย
เรื่องภิกษุสำคัญว่าได้บรรลุ
สมัยนั้น ภิกษุเป็นอันมากสำคัญมรรคผลอันตนยังมิได้เห็นว่าเห็น ยังไม่ได้บรรลุ ยังไม่ได้ทำให้แจ้งว่าได้ทำให้แจ้ง จึงอวดอ้างมรรคผลตามที่สำคัญได้ว่าบรรลุ ครั้นต่อมา จิตของเธอน้อมไปเพื่อความกำหนัดก็มี เพื่อความขัดเคืองก็มี เพื่อความหลงก็มี จึงรังเกียจว่า.....พวกเราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมัง แล้วแจ้งเรื่องนั้นแก่พระอานนท์ ๆ กราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีอยู่เหมือนกัน ข้อที่ภิกษุทั้งหลายสำคัญมรรคผลที่ตนยังไม่ได้ว่าได้ แต่ข้อนั้นเป็นอัพโพหาริก
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า พวกเธอพึ่งยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงว่า ดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตริมนุสสธรรมอันเป็นความรู้ ความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ
น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแค่นั้น อันผู้หนึ่งผู้ใดถือเอาก็ตามไม่ถือเอาก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้วมุ่งความหมดจด จะฟังกล่าวว่าข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่าไม่รู้ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น
ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จเปล่าๆ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้
|