เยือน “ เมืองในฝันที่ใกล้กรุง ภูเขางาม น้ำตกสวย รวยธรรมชาติ ปราศจากมลพิษ ”

สวัสดี เพื่อนรัก …

ขอโทษที่ห่างหายไปนาน แต่ถึงอย่างไรก็ยังระลึกถึงเสมอ และวันนี้ก็มีความประทับใจจะมาเล่าให้เพื่อนฟังจ้ะ ก็เพราะเป็นความปลื้มใจ ประทับใจใน ความรู้สึก ดี ๆ ก็เลยไม่อยากจะเก็บเอาความรู้สึกดี ๆ นี้ไว้คนเดียว อยากเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังด้วยเผื่อว่าคราวหน้าเรา จะได้ไปทำบุญไปเที่ยวด้วยกันไงจ๊ะ วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน 2546 วันแรม 1 ค่ำเดือน 12

เช้านี้เรามีนัด ตั้งแต่ตีห้าครึ่ง ที่วัดธรรมมงคลฯ เราต้องรีบตื่นและรีบเดินทางมาให้ทันเวลานัด ถึงแม้ว่าเมื่อคืนจะไปลอยกระทง

และนอนดึกไปหน่อยก็ตาม แต่พอนึกถึงความดีที่เราจะได้ทำในวันรุ่งขึ้นแล้ว ทำให้คิดว่าเราต้องตื่น ต้องตื่น .. สรุปเรามาถึงก่อนเวลานัดนิดหน่อย เห็นพระจันทร์ดวงโตของคืนเพ็ญที่ยังส่องสว่างอยู่อย่างนั้น มองเห็นความสว่างนวลนั้นแล้วทำให้รู้สึกสบายตาสบายใจเสียจริง ๆ อย่ามัวแต่ชมจันทร์อยู่เลย รีบไปช่วยคณะพี่เลี้ยงขนลำเลียงของที่ต้องใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ มารอขึ้นรถดีกว่านะ กว่าจะจัดคณะเดินทางขึ้นรถให้เรียบร้อยได้ กว่าจะได้ออกเดินทางก็ปาเข้าไป 7 โมงเช้าแล้วครับท่านผู้ชม คณะเดินทางของเรา เป็นรถบัสปรับอากาส 4 คัน และรถตู้อีก 1 คัน เรามากับรถคันที่ 4 พอเริ่มออกเดินทาง พระอาจารย์ที่มากับรถคันเรามีหลายรูปอยู่แต่ จำนวนไม่ค่อยแน่นอนเพราะมีบางรูปที่ แว๊บไปแว๊บมา ก็มีพระอาจารย์มงคล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพลังจิตตานุภาพ พระอาจารย์กลาง พระอาจารย์ณรงค์ พระอาจารย์สุรเชษฐ์ พระอาจารย์สุริยนต์ พระหลานของพี่สุภัทร และ สามเณรจิรายุทธ พระอาจารย์มงคลเริ่มนำสวดบูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ( อิติปิโส 9 จบ ) เพื่อความเป็นสิริมงคลสำหรับคณะเดินทาง และนั่งสมาธิ 10 นาที ต่อจากนั้นก็จะเป็นการบอกบุญกับคณะเดินทาง รถคันของเราได้ยอดเงินทำบุญเยอะสุดใน 4 คันนะจะบอกให้ ทำให้พวกเราก็ปลื้มใจไปตาม ๆ กัน ทำให้เราได้รู้ว่าการได้เป็นผู้ให้มันทำให้เป็นสุขใจ ปิติในใจอย่างนี้นี่เอง ปลื้มใจจังเล้ยยย อ้อ ! ลืมบอกไปคณะเดินทางของเรากำลังจะเดินทางไปจังหวัดนครนายก ทำบุญ 5 วัดกันนะจ๊ะ เราก็จะขอเล่าประวัติย่อ ๆ ให้ฟังกันสักหน่อย ก็จะไปบ้านเขาเมืองเขาทั้งทีรู้ไว้บ้างก็ทำให้เที่ยวได้สนุกขึ้น ทำให้รู้และเข้าใจในสิ่งที่เจอะเจอได้มากขึ้น

คำขวัญเขามีอยู่ว่า “ เมืองในฝันที่ใกล้กรุง ภูเขางาม น้ำตกสวย รวยธรรมชาติ ปราศจากมลพิษ ” เจ๋ง ! มั๊ยล่ะ เขาช่างคิดคำขวัญได้ตรงกับความจริง ถ้าคิดตามแล้วก็เห็นเป็นภาพได้เลยทีเดียว

ประวัติ นครนายก เป็นจังหวัดในภาคกลาง สันนิษฐานว่า เคยเป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดี มีหลักฐานแนวกำแพงเนินดินและสันคู อยู่ที่ตำบลดงละคร แต่ชื่อนครนายกนั้นปรากฎหลักฐานในสมัยอยุธยาเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันออกในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ในปี พ . ศ .2437 รัชกาลที่ 5 ทรงจัดลักษณะการปกครองโดยแบ่งเป็นมณฑล นครนายกได้เข้าไปอยู่ใน เขตมณฑลปราจีนบุรี จนเมื่อ พ . ศ . 2445 ทางการได้เลิกธรรมเนียมการมีเจ้าครองเมือง และให้มีตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นแทนและในช่วง พ . ศ . 2486 – 2489 นครนายก ได้โอนไปรวมกับจังหวัดปราจีนบุรี และสระบุรี หลังจากนั้นจึงแยกเป็นจังหวัดอิสระ
จังหวัดนครนายกเดิมชื่อบ้านนา เล่ากันว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดินแดนของนครนายกเป็นป่ารกชัฏ เป็นที่ดอนทำนาหรือ ทำการเพาะปลูกอะไรไม่ค่อยได้ผล มีไข้ป่าชุกชุม ผู้คนจึงพากันอพยพไปอยู่ที่อื่นจนกลายเป็นเมืองร้าง ต่อมาพระมหากษัตริย์ทรงทราบความเดือดร้อนของชาวเมือง จึงโปรดให้ยกเลิกภาษีค่านาเพื่อจูงใจให้ชาวเมืองอยู่ที่เดิม ทำให้ผู้คนอพยพมาอยู่เพิ่มมากขึ้นจนเป็นชุมชนใหญ่ และเรียกเมืองนี้กันติดปากว่า เมืองนายก ภายหลังกลายเป็นนครนายกจนทุกวันนี้
นครนายก อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 107 กม . ตามถนนเลียบคลองรังสิต และ 137 กม . ตามทางหลวงแผ่นดินสาย 33 ( ถนนสุวรรณศร ) มีพื้นที่ประมาณ 2,122 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครอง ออกเป็น 4 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอบ้านนา อำเภอองครักษ์ และอำเภอปากพลี
เอาละจ้ะ ก็พอจะรู้ประวัติกันแล้วนะทีนี้ ประมาณ 8 โมงกว่าคณะของเราก็เดินทางมาถึงวัดแรกกันแล้ว น้ำค้างยังคงค้างพราวพรายอยู่บนยอดหญ้า แดดอ่อน ๆ ยามเช้ากำลังทอแสงความอบอุ่น อากาศรอบกายแสนสบายอย่างนี้ ทำให้คณะของเราซึมซับความฉ่ำชื่นจากธรรมชาติได้ไม่ยากนัก ความจริงความสุขก็หาได้ไม่ยากนักเพียงแค่ … เรารู้จักที่จะพอใจอะไรได้ง่าย ๆ และไม่ซับซ้อนในความต้องการจนเกินไปนัก คณะของเราก็ทยอยกันเข้าไปที่ศาลาการเปรียญเพื่อทำพิธีถวายสังฆทาน และผ้าไตรจีวร หลังจากนั้น พระอาจารย์ผู้มารับผ้าไตร ก็ได้เมตตาเล่าถึงประวัติวัดคร่าว ๆ ให้ฟังว่า “ วัดตำหนัก เดิมชื่อวัดศิริเมฆ สร้างเมื่อ พ . ศ . 2486 ต่อมาปี 2497 เปลี่ยนชื่อเป็นวัดตำหนัก เพราะตั้งอยู่หน้าตำหนักของ หม่อมเจ้าจุมภฏ บริพัตร ” และท่านก็ได้ยกข้อธรรมความเพียร 4 ประการที่ควรรักษาคือ

1. สังวรปธาน เพียรระวัง

2. ปหานปธาน เพียรละ ( บาปทุกทาง กาย , วาจา )

• 3. ภาวนาปธาน เพียรบำเพ็ญ คุณงามความดีให้เกิดขึ้น

4. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษา คุณงามความดีทีมีอยู่ให้เจริญยิ่งขึ้น

ถ้าผู้ใดหมั่นประพฤติบำเพ็ญก็จะทำให้สำเร็จสมความประสงค์ได้ เราชอบจังเลยนะคำแปรที่สละสลวย จำง่ายและเป็นจริง เพียรระวัง เพียรละ เพียรบำเพ็ญ เพียรรักษา สมควรจดจำใส่ใจไว้เป็นอย่างยิ่ง จริง ๆ เลย

9.39 เราก็ได้เวลาอำลาวัดตำหนักกันแล้ว ต่อไปเราก็จะออกเดินทางสู่วัดถ้ำสาริกา

ถ้ำสาริกา ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับน้ำตกสาริกา บนถนนสายนครนายก - สาริกา ห่างจากตัวเมืองนครนายกประมาณ 13 กิโลเมตร ถ้ำสาริกาเป็นสถานที่ที่อาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เคยมาบำเพ็ญศาสนธรรม ระหว่างปี พ . ศ . 2460-2463 สภาพ บริเวณเป็นเชิงเขาภายในบริเวณประกอบด้วย กุฏิสงฆ์ เรือนบูชาหลวงปู่มั่น พร้อมด้วยโบสถ์ ซึ่งอยู่ตอนสุดทางเดินเท้าขึ้นเขา
9.41 น . เดินทางถึงวัดถ้ำสาริกา ใช้เวลาในการเดินทางสั้นมาก ๆ วัดถ้ำสาริกานี้เป็นสถานที่สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับคณะของพวกเราเพราะเป็นวัดที่หลวงปู่มั่นเคยมาปฏิบัติธรรมที่นี่ และหลวงพ่อของเราก็เป็นศิษย์หลวงปู่มั่นงัย ที่วัดนี้คณะของเราประมาณ 205 คนต้องเดินขึ้นเขากันนะ ทางขึ้นเป็นบันได เดินได้สบาย ๆ แต่เราก็ยังรู้สึกเหนื่อย ทำให้เราหวนคิดไปถึงตอนหลวงปู่มั่นขึ้นมาในขณะที่รกชัฏเป็นดงดิบ ไม่มีทางเดินสบาย ๆ อย่างนี้ ท่านต้องปีนป่ายขึ้นมาในขณะนั้นจะเป็นการเหนื่อยยากลำบากสักเพียงไหนหนอ ? คิดแล้วเราก็มีกำลังใจที่จะเดินขึ้นไปให้ถึงเพื่อไปปฏิบัติบูชาถวายท่าน กว่าจะถึงก็เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกันนะ พอถึงเรียบร้อยเราก็ได้พบผู้ปฏิบัติธรรมอีกคณะหนึ่งที่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อวิริยังค์เหมือนกันมาปฎิบัติธรรมอยู่ที่นี่ด้วย เมื่อพระอาจารย์ผู้นำคณะของเรามาถึงในทุก ๆ วัดท่านก็จะเข้าไปกราบไหว้ครูบาอาจารย์ ความเคารพนบน้อมที่แสดงออกมาด้วยกิริยาท่าทางนั้น ช่างงดงามประทับใจเรานัก แล้วเราก็เริ่มพิธีกันเลยนำโดยพระครูใบฎีกาประชัน ท่านนำบูชาพระรัตนตรัย การถวายสังฆทาน และผ้าไตรเครื่องไทยธรรมเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อเจ้าอาวาสท่านเมตตาเล่าเกี่ยวกับประวัติวัดให้เราฟัง และให้พวกเราทำสมาธิไปด้วยเพื่อเป็นการปฏิบัติบูชา ท่านเล่าว่าเมื่อหลวงปู่มั่นมาถึงที่วัดตำหนัก เพื่อถามทางที่จะมาถ้ำสาริกา ชาวบ้านก็นิมนต์ให้ท่านอยู่ที่วัดตำหนัก อย่าขึ้นมาที่นี่เลยเพราะเคยมีพระขึ้นมามรณะภาพไปหลายรูปแล้ว พวกเขาขี้เกียจขึ้นมาเก็บศพ แต่หลวงปู่มั่นก็ยังยืนยันจะไปให้ได้ ชาวบ้านก็มาส่ง ท่านได้มานั่งสมาธิตรงเชิงผานั้นและรู้สึกสงบเย็นเบาสบายดี ก็เลยบอกให้ชาวบ้านกลับไปก่อนเถอะ แล้วหลวงปู่จะลงไปเอง ท่านนั่งสมาธิปฏิบัติอยู่ 3 คืน 3 วันโดยไม่ได้ลงไปบิณฑบาต ชาวบ้านก็คิดว่าท่านคงมรณะภาพไปแล้วจึงจะขึ้นมาเก็บศพ พอขึ้นมาพบหลวงปู่มั่นยังนั่งทำสมาธิอยู่ก็ตกใจ อัศจรรย์ใจ จริง ๆ และแล้วเวลาสำหรับที่นี่ก็หมดลง วัดนี้มีอะไรน่าสนใจมากมาย กับทั้งบรรยากาศก็ร่มรื่น เพื่อน ๆ ในคณะของเราบางท่านได้มีโอกาสไปไหว้พระธาตุของหลวงปู่มั่นด้วย แต่เราไม่ได้ไปไหว้ เพื่อนเล่าให้ฟังว่า พระธาตุเป็นแก้วใสราวกับเพชรสวยงามมาก เราคงจะมีโอกาสได้ไปกราบไหว้สักครั้งในชีวิตแหละน่า

คณะเราต้องรีบออกเดินทางแล้ว เพราะต้องไปเตรียมจัดอาหารถวายพระเพลที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกนางรอง น้ำตกนางรองเป็นน้ำตกในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันออกประมาณ 20 กิโลเมตร คณะสาฯครั้งนี้ทางทีมงานจัดให้เฉพาะอาหารมื้อเช้า มือเที่ยงต้องหารับประทานเองตามอัธยาศัย แต่ร้านอาหารที่นี่เยอะแยะมากมายก็เลยไม่ได้ทำให้ลำบากอะไรในการหารับประทานจ้ะ เราก็ชอบแบบนี้นะ ทางทีมงานพี่เลี้ยงจะได้ไม่ต้องลำบากและเหน็ดเหนื่อยในการขนย้ายตระเตรียมอาหารให้คนหลายร้อยคน ซึ่งคงจะเป็นภาระที่หนักและเหนื่อยไม่ใช่เล่นเลยจริง ๆ

พออิ่มแล้วทุกท่านก็ได้พักผ่อน เดินชมธรรมชาติตามอัธยาศัยกัน ช่วงนี้เข้าฤดูหนาวแล้ว น้ำน้อย ต้นไม้เริ่มผลัดใบ เป็นอีกวันที่ฟ้าใสมาก ๆ แดดถึงได้แรงอย่างนี้ ย่างเข้าฤดูหนาวแล้วแต่ภาคกลางของเรายังไม่มีความรู้สึกถึงความหนาวกันเลย

13.00 น . เป็นเวลาที่นัดกันไว้ว่าจะออกเดินทางต่อ แต่ก็ต้องเลื่อนไปนิดหน่อย เพราะพระอาจารย์มงคลหายไป คงเป็นเพราะอากาศร้อนทำให้ท่านรู้สึกเหนื่อยและเพลียก็เลยงีบหลับไป ที่ยอดน้ำตกโน้น กาแฟเบอร์ดี้ก็ฉุดไม่อยู่ M150 ก็ช่วยไม่ไหว กันละคราวนี้

วัดที่ 3 วัดสวนหงษ์ ที่ศาลาการเปรียญมืดเป็นพิเศษ ไฟฟ้าที่นี่เกิดเสียขึ้นมา แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่มีอะไรมาขัดศรัทราของชาวเราได้ ที่วัดนี้เราได้สวดอิติปิโสกันตั้ง 6 รอบ ที่หน้าศาลาการเปรียญมีต้นกล้วยอยู่ก่อหนึ่ง มีต้นนึ่งที่ออกเครือและเป็นที่สนใจของพระอาจารย์หลายรูปมาก มีเครือเดียวนะ แต่มีลูกเป็นร้อย ๆ หวีได้มั้ง ? ยาวไปเกือบถึงดินเลยทีเดียว

วัดที่ 4 วัดพราหมณี วัดนี้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง และมีอนุสรณ์สถานกองพลทหารญี่ปุ่นที่ 37 อยู่ด้วย วัดตั้งอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 5 ถนนไปน้ำตกสาริกา - นางรอง จัดสร้างขึ้นโดยสมาคม ทหารสหายสงครามกองพลญี่ปุ่นที่ 37 เมื่อปี พ . ศ . 2532 เพื่อเป็นที่ระลึกถึงดวงวิญญาณของบรรดาทหารซึ่งสังกัดใน อดีตกองพลญี่ปุ่น 37 จำนวน 7,920 นาย ซึ่งสูญเสียชีวิตในระหว่างสงครามเอเซียบูรพาเมื่อปี พ . ศ . 2482-2488 โดย ทำการนำอัฐิที่ฝังอยู่ในบริเวณวัดมาบรรจุในแท่นที่จัดสร้างขึ้น นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีสวนสัตว์จำลองโดยมีปูน ปั้นสัตว์ป่ามากมาย อาทิเช่น ช้าง โค กระบือ กระทิง เก้ง กวาง และยังมีพระพุทธรูปเก่าแก่ด้วย วัดนี้ได้สร้างขึ้นในสมัย รัชกาลที่ ๕ พระประธานเป็นพระพุทธชินราชจำลองที่สมเด็จพระเทพทรงโปรดให้สร้างขึ้น วัดนี้ได้จัดเตรียมกาแฟ ไมโล น้ำขนมไว้ต้อนรับคณะของเราด้วย ประทับใจอัธยาศัยไมตรี และ ชุดแก้วกาแฟน่ารักมากก ขอบอก ( มันเกี่ยวกันไหม๊เนี๊ยะ )

15.45 น . ออกเดินทางสู่ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 16.00 น . ก็ถึงประตูโรงเรียน มีไกด์จากทางโรงเรียนฯขึ้นมาอธิบาย ประวัติสถานที่ให้ฟังโดยคร่าว ๆ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตั้งอยู่ที่ตำบลพรหมณี อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมือง ประมาณ 1 กิโลเมตร บริเวณโรงเรียน อยู่ติด กับเขาชะโงก เป็นสถาน ให้การศึกษา เเก่ผู้ที่จะรับราชการ เป็นนายทหาร สัญญาบัตร ของกองทัพไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 19,290 ไร่ พื้นที่ใช้จริงประมาณ 3,000 ไร่ นอกจาก ส่วนที่เป็นอาคารเรียน เเละ กรมนักเรียนนายร้อย รักษาพระองค์เเล้ว ยังมีส่วนที่ เป็นบ้านพักรับรอง ร้านอาหาร ของสโมสรนายทหาร สนามกอล์ฟมาตรฐาน 18 หลุม รายละเอียด เกี่ยวกับการ ขออนุญาต ใช้บริการ ติดต่อที่ โทร . 240-2690-4 ต่อ 2254 หรือที่นครนายก โทร . (037) 312-010-4 ต่อ 2245
ศาลเจ้าพ่อขุนด่าน ตั้งอยู่ภายในบริเวณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่คนเคารพนับถือ กันมาก ตามประวัติ ท่านเป็นนายด่าน เมืองนครนายก สมัยกรุงศรีอยุธยา ในปี พ . ศ . 2130 เขมร ได้เข้ามารุกราน เเละกวาดต้อนผู้คน โดยยึดเมืองปราจีนบุรี เเละนครนายกไว้ ขุนด่านได้ รวบรวมผู้คน ถอยไปตั้งหลัก ที่ เขาชะโงก เเล้วยกกำลัง ขับไล่เขมร จนเเตกพ่ายไป

เขาชะโงก เมื่อก่อนเรียกสาวชะโงก มีตำนานว่า เมื่อขุนด่านยกกำลังไปขับไล่เขมร คุณหญิงภรรยาท่านก็รอคอยด้วยความห่วงใย ก็มาชะเง้อ ชะโงก รอคอยขุนด่านอยู่ที่นี่ ต่อมาจึงเรียกกันว่าเขาชะโงก ก็เป็นตำนานที่แสนจะโรแมนติก เหมือนกันนะ ความรักนี่หนอ ! ถึงจะทำให้มีความสุขแต่มันก็ได้เจือความทุกข์ไว้ครึ่งหนึ่งเสมอ ก็ด้วยความห่วงใยนี่แหละหนา

เมื่อเข้ามาถึงโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ไกด์ก็นำคณะเราไปที่อาคาร 100 ปี จ . ป . ร . มี 3 ชั้น เราได้ชมสไลด์เกี่ยวกับประวัติของโรงเรียนนายร้อยฯ ภายในห้องประชุมชั้นล่าง รู้สึกจะเป็นคณะวัยรุ่นคณะแรกที่เข้าชมจนล้นห้องเก้าอี้ไม่พอนั่งพิธีกรเขาบอกอย่างนั้น ชั้นที่ 2 เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเกี่ยวกับอาวุธต่าง ๆ เครื่องแต่งกายต่าง ๆ ของทหาร รูปและประวัติผู้บัญชาการทหารคนสำคัญของบ้านเมืองที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 แสดงถึงประวัติ รูปภาพและเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์อันเป็นที่รักของประชาชนผู้ทรงก่อตั้งโรงเรียนนี้ขึ้น

จากนั้นจะเป็นการพาคณะของเราขึ้นรถชมบริเวณรอบ ๆ ของโรงเรียนนายร้อยฯ จากถนนรอบนอกเราจะสามารถมองเห็นเขา 7 ลูกทอดตัวล้อมรอบอยู่ เขาที่เรามองเห็นเหล่านี้ทอดยาวไปถึงเขาใหญ่ เราได้เห็นตาข่ายทหารราบ อันเป็นกิจกรรมทดสอบกำลังใจ ที่บริษัทต่าง ๆ ก็พาพนักงานมาทำกิจกรรมนี้เพื่อความสามัคคี ในหมู่คณะ เราได้เห็นแปลงนาสาธิตของสมเด็จพระเทพฯ อยู่ไกลริบ ๆ สุดสายตา ภายในโรงเรียนนายร้อยฯ มีครอบครัวทั้งหมดประมาณ 900 กว่าครัวเรือน มีประชากรทั้งหมดประมาณ 10,000 กว่าคน ภายในโรงเรียนจึงต้องประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีทั้งตลาดสด โรงพยาบาล วัด ( วัดสุตธรรมมาราม ) โรงเรียนอนุบาล สถานพักผ่อนหย่อนใจ สนามกีฬา ทุกอย่างพร้อม ก็เหมือนเป็นเมืองจำลองเมืองหนึ่งเลยทีเดียว กิจกรรมที่มีเป็นประจำสามารถติดต่อเข้ามาฝึกเป็น กลุ่มได้คือต้องมี 40 คนขึ้นไป เช่นกิจกรรมเดินป่าผจญไพร , เดินป่าเชิงอนุรักษ์ , เดินป่าพิชิตเขาชะโงก , Walk Rally , Bicycle Rally , กิจกรรมทดสอบกำลังใจ , กิจกรรมผู้นำหน่วย ในวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ สามารถเข้ามาขอแผนที่แล้วไปสมัครเข้าเล่นกิจกรรมต่างได้เลยตามฐานต่าง ๆ ก็ต้องขอขอบคุณคณะไกด์ที่น่ารักทุก ๆ คนที่ได้ขึ้นมาเล่ารายละเอียดและให้ความรู้ เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ และกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโรงเรียนนายร้อย ฯ แก่คณะของเราไว้ในโอกาสนี้ด้วยค่ะ

ต่อไปเราก็กำลังเดินทางสู่จุดหมายสุดท้ายของวันนี้กันแล้วจ้ะ ก็คือวัดพระพุทธฉาย เราขึ้นมาถึงวัดในเวลา 17.25 น .

วัดพระพุทธฉาย ตั้งอยู่ที่เขาชะโงก ในบริเวณโรงเรียนนายร้อย จ . ป . ร . ตำบลพรหมณี อำเภอเมือง วัดนี้เป็นวัดเก่า สร้างประมาณ พ . ศ . 2478 เดิมเป็นวัดของพระปฏิบัติสายธรรมยุต ต่อมาได้กลายเป็นวัดมหานิกายตามการแบ่งของกรมการศาสนา พ . ศ . 2497 - 2499 มีโยมมีจิตศรัทธา สร้างศาลาการเปรียญ และกุฏิ ถวายอีกหลายหลัง หลวงปู่ศรี ฐานิโญ ได้พัฒนาทำนุบำรุงวัดนี้ให้เจริญขึ้น บัดนี้ท่านได้มรณะภาพไปแล้ว แต่ศพของท่านไม่เน่าเปื่อยและยังเก็บรักษาไว้ในโรงแก้วเพื่อให้ได้เคารพสักการะกัน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุดของวัดนี้ก็คือ พระพุทธฉาย ซึ่งเป็นภาพเขียนติดอยู่กับชะโงกผาบนภูเขา เตี้ย ๆ สภาพเดิมเป็นภาพพระพุทธรูปราง ๆ ต่อมาเมื่อ พ . ศ . 2485 กรมแผนที่ทหารได้เข้าไปตั้งโรงงานหินอ่อนที่เชิงเขานี้ และได้เขียนสีตามรอยพระพุทธรูปเดิมให้ชัดเจนขึ้น ราษฎรบริเวณนั้นนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของจังหวัดนครนายก ทุกกลางเดือน 3 จะมีงานนมัสการเป็น ประจำทุกปี

เมื่อเราทำพิธีถวายผ้าไตร สังฆทาน เครื่องไทยธรรมทั้งหลายเรียบร้อยแล้วที่ศาลาการเปรียญ จากนั้นคณะของเราก็จะไปกราบบูชาพระพุทธฉายกัน ณ ที่แห่งนี้ พระครูใบฎีกาประชัน พระอาจารย์ของเราได้เล่าเกี่ยวกับพระพุทธฉายที่มีอยู่ในประเทศไทย

ที่สำคัญก็มีที่ ราชบุรี สระบุรี และที่นี่นครนายก พระพุทธฉายเกิดขึ้นได้อย่างไร ? พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า สันนิษฐานว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับ ณ ที่นั้น ๆ และแสงพระอาทิตย์ส่องทอดเงาของพระองค์ไปตกที่ผนังถ้ำ หรือหน้าผานั้นแม้พระองค์จะเสด็จไปแล้วแต่เงานั้นยังคงอยู่ด้วยพุทธานุภาพของพระองค์ท่าน พระอาจารย์ได้นำสวดชุมนุมเทวดา สวดบทญาเทวตา และนั่งสมาธิ ถวายเป็นพุทธบูชา ความสุขจากความสงบเริ่มโรยตัวแผ่กระจายไปทั่วบริเวณหน้าผาแห่งนี้ ด้วยจิตที่นบน้อมเคารพ และความศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม ความอิ่มเอิบจากบุญทั้งหลายที่ได้ตั้งใจร่วมสร้างกันมาทั้งวัน ทำให้จิตใจของเราสงบ เยือกเย็น และเป็นสุขได้โดยไม่ยากเลย เวลา 10 นาทีกลับกลายเป็นเวลาที่น้อยนิดเหลือเกินในความรู้สึกของเรา

พระจันทร์ดวงกลมโต กำลังค่อย ๆ โผล่พ้นยอดเขาที่ทอดยาวตรงหน้าขึ้นมาอย่าง ช้า ๆ ช่างเป็นภาพที่งดงามจับตาจับใจเหลือเกินในยามที่เรามีใจสงบเช่นนี้ ความมืดโรยตัวลงมาครอบคลุมทุกสิ่งในเวลาไม่นานนัก การเดินทางของเราได้บรรลุจุดหมายแล้ว ก็เหลือแต่เพียงเดินทางกลับสู่จุดเริ่มต้นจุดเดิมเท่านั้น การเดินทางกลับสะดวก ราบรื่น เรามีธรรมเนียมเป็นระบบอยู่แล้ว คือ สวดมนต์ ทำสมาธิ ตอบปัญหาชิงรางวัล สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกความประทับใจทุกอย่างในการมาคณะสาครั้งนี้ และถามถึงว่ามีอะไรอยากจะให้ปรับปรุงบ้าง ในความคิดของแต่ละคนก็หลากหลาย แต่สรุปโดยรวมแล้วว่ามีความรู้สึกที่ดีและประทับใจในด้านบวกมากกว่า เราปิดฉากอำลาด้วยเพลงอรุณทอแสง และคำสัญญาเหมือนกับทุก ๆ กิจกรรมที่ผ่านมา

วันนี้ก็จบลงด้วยความเปี่ยมสุข และประทับใจในทุก ๆ สิ่ง ทุก ๆ อย่างที่เกิดขึ้น อิ่มเอมในบุญกิริยาวัตถุ 10 ที่เราได้ทำ และทำได้ถึง 9 ประการที่เราได้ตั้งใจทำดีแล้ว และในวันนี้เรามั่นใจว่าเราได้ทำแค่นี้ก็เป็นที่น่ายินดีนักหนาแล้ว ในชีวิตฆราวาสวุ่น ๆ อย่างเรา เป็นอย่างไรบ้างได้อิ่มบุญเหมือนกับที่เราได้รู้สึกบ้างไหม๊ อยากจะชวนเพื่อนที่รักให้ได้ไปรู้สึกดี ๆ ปลื้มปีติใจอย่างนี้กับเราด้วยในคราวหน้า เพื่อนรักจะไปกับเราไหมหนอ ?

รัก ห่วงใย และระลึกถึงเสมอ

ราชาวดี

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก

• การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคกลางเขต 8 จ . นครนายก

• ข้อมูลจาก Internet M- W E B ท่องเที่ยว โดย นายสบาย

ขอขอบคุณพระอาจารย์ทุกรูป คณะทีมงานทุกท่าน พี่เลี้ยงผู้คอยอำนวยความสะดวกและดูแลเราเป็นอย่างดีทุก ๆ ท่าน

บริษัทรถ และพี่ ๆ สารถีทุกคน และคนสำคัญที่จะขาดเสียมีได้ก็คือพวกเราทุกคนนี้เอง ขอบคุณค่ะ พบกันใหม่ครั้งหน้า