การรบที่เกาะช้าง
การรบที่เกาะช้าง
ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส พ.ศ.๒๔๘๓ - ๒๔๘๔
เรือรบหลวงธนบุรี
เหตุการณ์ก่อนการรบ
เมื่ออากาศยานฝ่ายข้าศึกได้เข้ามาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนมเมื่อ ๒๘ พ.ย.๘๓ กองทัพเรือได้เริ่มดำเนินการส่งกำลังไปป้องกัน ตำบลคลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนสุดทางด้านตะวันออกของไทยที่อยู่ริมฝั่งทะเล ติดต่อกับอินโดจีน ฝรั่งเศส และได้เริ่มลำเลียงกำลังพล พรรคนาวิกโยธินอันเป็นกำลังส่วนใหญ่ของกองพลผสมจันทบุรี ไปยังจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราดเพื่อป้องกันการยกพลขึ้นบกของข้าศึกทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย อันเป็นการป้องกันปีก และการตีโอบหลังกำลังทางบกของฝ่ายเรา
ก่อนการรบที่เกาะช้าง กองทัพเรือได้ส่งกำลังทางเรือ ๑ หมวด ประกอบด้วย เรือรบหลวง ๖ ลำ คือ
- เรือรบหลวงศรีอยุธยา มี นายนาวาตรีหลวงชำนาญ อรรถยุทธ เป็นผู้บังคับการเรือ
- ร.ล.ภูเก็ต มี น.ต.หลวงมงคลยุทธนาวี เป็นผู้บังคับการเรือ
- ร.ล.ปัตตานี มี น.ต.อำพัน ภมรบุตร เป็นผู้บังคับการเรือ
- ร.ล.สุราษฏร์ มี นายเรือเอก ชวน แสงต่าย เป็นผู้บังคับการเรือ
- ร.ล.คราม มี ร.ท.เจตน์ จุลชาติ เป็นผู้บังคับการเรือ
- ร.ล.ตระเวนวารี
ทั้งหมดอยู่ในบังคับบัญชาของ น.ต.หลวงมงคลยุทธนาวี ไปรักษาการณ์อยู่บริเวณเกาะช้าง ต่อมาเมื่อ ๑๔ ม.ค.๓๔ กองทัพเรือได้จัดกำลังทางเรืออีก ๑ หมวดไปผลัดเปลี่ยน ประกอบด้วย
- ร.ล.ธนบุรี มี น.ท.หลวงพร้อม วีรพันธ์ เป็นผู้บังคับการเรือ
- ร.ล.ระยอง มี น.ต.ใบ เทศนะสดับ เป็นผู้บังคับการเรือ
- ร.ล.สงขลา มี น.ต.ชั้น สิงหชาญ เป็นผู้บังคับการเรือ
- ร.ล.ชลบุรี มี ร.อ.ประทิน ไชยปัญญา เป็นผู้บังคับการเรือ
- ร.ล.หนองสาหร่าย มี ร.อ.ดาวเรือง เพชรชาติ เป็นผู้บังคับการเรือ
- ร.ล.เทียวอุทก
ทั้งหมดอยู่ในบังคับบัญชาของ น.ท.หลวงพร้อม วีรพันธ์
กำลังเรือฝ่ายข้าศึก
เรือลาดตระเวน ลามอตตฺปิเกตฺ
กำลังเรือข้าศึก ในบังคับบัญฃาของ นายนาวาเอก เบรังเยรฺ (Be"ranger) จำนวน ๙ ลำ ประกอบด้วย
- เรือลาดตระเวน ลามอตตฺปิเกตตฺ เป็นเรือธง
- เรือสลุปแบบเรือ อามิราล ชารฺเนรฺ ๒ ลำ
- เรือปืน ๔ ลำ
- เรือสินค้าขนาดใหญ่ติดอาวุธ ๑ ลำ
- เรือดำน้ำ ๑ ลำ
เรือลาดตระเวน ลามอตตฺปิเกตฺ
การรบ
ร.ล.สงขลา
เช้าวันที่ ๑๗ ม.ค.๘๓ เวลา ๐๖๐๐ ข้าศึกได้ส่งเรือบินทะเล ๑ ลำ มาลาดตระเวนบริเวณเกาะช้างและได้ทิ้งระเบิด จำนวน ๒ ลูก แต่ไม่ถูกที่หมาย ร.ล.สงขลา และ ร.ล.ชลบุรี ได้ใช้ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด ๗๕ มม. และปืนกล ขนาด ๒๐ มม. ยิงถูกเครื่องบนข้าศึกดังกล่าวตกทะเล ทางด้านใต้เกาะหวาย
ในขณะเดียวกันนั้นกำลังทางเรือข้าศึก จำนวน ๗ ลำ ได้เข้าโจมตี ร.ล.สงขลา และ ร.ล.ชลบุรี รวมทั้งอาคารบนเกาะง่าม ร.ล.สงขลา ได้ระดมยิงเรือลาดตระเวนลามตตฺปิเกตฺ แต่ลำเดียว ส่วน ร.ล.ชลบุรี ได้ทำการยิงไปหมู่เรือที่ ๒ และ ๓ ของข้าศึก
เรือสลุป อามิราล ชารฺเนรฺ
ร.ล.สงขลา ยิงถูกเรือลาดตระเวนข้าศึกบริเวณท้ายเรือ เรือทั้งสองฝ่ายร่นระยะใกล้เข้ามาตามลำดับ เมื่อสายมากขึ้นทัศนวิสัยดีขึ้น ร.ล.สงขลาจึงเริ่มถูกยิง จากเรือข้าศึกหลายทิศทาง ทำให้พลประจำปืนเสียชีวิตและบาดเจ็บ เรือเสียหายจนน้ำเข้าเรือ เกิดเพลิงไหม้ตอนกลางลำและท้ายเรือ ลูกปืนหมด ผู้บังคับการเรือจึงสั่งให้สละเรือใหญ่ เมื่อเวลาประมาณ ๐๖๔๕
ร.ล.ชลบุรี ยิงถูกเรือสลุปในหมู่เรือที่ ๒ ของข้าศึกจนต้องหนีออกไปจากแนวรบ และยิงรบเรือข้าศึกหมู่ที่ ๓ อีก ๒ ลำ จนไฟไหม้อย่างหนัก และตามทางสืบสวนอันเชื่อถือได้ มีว่าเรือดังกล่าวได้อับปางลงในทะเลลึก ร.ล.ชลบุรี เองก็ถูกเรือข้าศึกยิงได้รับความเสียหายมาก เกิดไฟไหม้ตอนกลางลำและตอนท้ายเรือและเรือได้เริ่มจมลง ผู้บังคับการเรือจึงส่งให้ทำการสละเรือใหญ่ เมื่อเวลาประมาณ ๐๖๕๐
ในขณะที่ปืนของเรือตอร์ปิโด ทั้งสองลำของฝ่ายเราเงียบเสียง และทหารประจำเรือ กำลังสละเรือใหญ่อยู่ ฝ่ายข้าศึกก็ยังคนระดมยิงอยู่อย่างไม่ลดละ นอกจากนั้นเมื่อเรือรบฝ่ายเราจมมิดน้ำหายไป แทนที่ข้าศึกจะเข้ามาช่วยเหลือชีวิตทหารที่ลอยคออยู่ในทะเล ฝ่ายข้าศึกกลับใช้ปืนใหญ่ ปืนกลยิงกราดมายังทหาร ซึ่งอยู่ในเรือเล็กและว่ายเข้าหาฝั่ง และสันนิษฐานได้ว่าข้าศึกได้ใช้กระสุนกาซพิษ นับว่าผิดอารยธรรมและประเพณีการรบทางเรืออย่างที่สุด
|