พระราชปุจฉาที่ 25
ข้อ 1 ในพระบาฬีว่า คนกระทำบาปในชาติก่อน ครั้นมาเกิดชาตินี้จึงบรรดาลให้กายวิปริตไปต่าง ๆ คือ มือด้วน เท้ากุด เป็นต้น ก็ผู้ที่มีศรัทธาจะบวชในศาสนา แต่มีกายวิปริต เช่นลิ้นคับปาก ไม่สามารถจะว่าอักขระให้ชัดได้ พระสงฆ์ไม่ยอมให้บวชนั้น จะว่าเพราะบาปอันใด
ข้อ 2 ว่าคนแก่ฟันหัก ก็คงจะว่าอักขระไม่ชัด เหตุไฉนจึงบรรพชาอุปสมบทไม่ได้
ข้อ 3 ว่าด้วยทารกซึ่งพอจะเปิบข้าวแลขับกาได้ ก็คงจะยังพูดไม่ชัด เหตุไฉนจึงว่าบรรพชาเป็นสามเณรได้
ข้อ 4 ว่าด้วยสามเณรภิกษุ ลาว เขมร จีน ญวณ ชาวเหนือ บรรดาที่ว่าอักขระไม่ชัด ว่าไม่เปนภิกษุสามเณรนั้น จะเรียกว่าเปนอันใด แลเธอเหล่านั้นจะมีโทษบาปกรรมอันใด
แก้พระราชปุจฉาที่ 25 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะทั้งปวง ถวายวิสัชนาว่า
ข้อ 1 คนลิ้นคับปากพูดไม่ชัดนั้น เกิดแต่อกุศลกรรมที่ตนกล่าววจีทุจริต 4 เป็นเศษบาปติดมา พระพุทธเจ้าก็โปรดเหมือนกัน แต่โปรดตามวาสนาบารมี แต่ในการบรรพชาอุปสมบท เฉพาะให้ว่าอักขระถูกจึงให้บวชได้
ข้อ 2 คนชราฟันหักว่าอักขระ อันเป็นฐานกรณ์เกิดแต่ฟันไม่ชัด บวชเป็นภิกษุได้ แต่เป็นโทษแก่อุปัชฌาย์ และคณะสงฆ์ผู้ให้บวช
ข้อ 3 ซึ่งว่าอนุญาตให้ทารกซึ่งพอจะเปิบข้าวและขับกาได้ ให้บรรพชาเป็นสามเณรได้นั้น เฉพาะทารกที่ขับกาได้เองโดยไม่มีผู้สอน และพอจะสอนให้ว่าไตรสรณาคมน์ได้ชัด จึงจะอนุญาติให้บวชเป็นสามเณรได้ ทารกอ่อนที่ว่าไม่ชัดก็หาอนุญาติไม่
ข้อ 4 ภิกษุสามเณร ลาว จีน ญวน เขมร ประเทศเหนือต่าง ๆ นั้น เป็นบรรพชาอุปสมบทที่สมมุติกันตามประเทศภาษา มิได้พิพากษาว่าเป็นหรือมิเป็น และจะเรียกชื่อว่าอันใด ก็เหลือสติปัญญาพ้นวิสัย จะได้มีโทษในเถยยสังวาสลักเพศหามิได้ เพราะมีเจตนาจะบวช และมีผู้สมมุติให้ไม่ได้นุ่งห่มกาสาวพัสตร์เอาเอง หามีโทษอาจินกรรมอันใดไม่
พระราชปุจฉาที่ 26
ว่าด้วยผู้ที่ไม่เปนอุปสัมบันแลปาราชิก
บุคคลให้อุปสมบทกุลบุตรแลทำสังฆกรรมต่าง ๆ จะเป็นสังฆกรรมฤๅไม่
แก้พระราชปุจฉาที่ 26 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ 12 รูป ถวายวิสัชนาว่า
ถ้าพระสงฆ์ไม่รู้ และผู้อุปสมบทไม่ขึ้นเป็นการเกินกว่าองค์ คณะสงฆ์ที่มีบัญญัติให้ทำกรรมนั้น ๆ ได้แล้ว จะเป็นอุปัชฌาย์ กรรมวาจา หรือทำสังฆกรรมใด ๆ ก็ดี ก็เป็นอันกระทำและสำเร็จได้ด้วยดีทั้งนั้น
พระราชปุจฉาที่ 27
ว่าด้วยปาราชิกเปนคู่สวด
บวชกุลบุตรเปนภิกษุได้แล้ว จะหัดสวดให้ถูกฐานกรณ์ไป ต้องการอะไร
แก้พระราชปุจฉาที่ 27 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ 22 รูป ถวายวิสัชนาว่า
มีบาลีว่า ถ้าภิกษุจะกล่าวกรรมวาจามิได้บริบูรณ์ กรรมวาจาและอนุสาวนะนั้นดีอยู่ มิได้เป็นปาราชิกกุลบุตรผู้บวชนั้นมิเป็นภิกษุ ถ้ากรรมวาจาอนุสาวนะเป็นปาราชิก กล่าวกรรมวาจาบริบูรณ์ กุลบุตรผู้บวชนั้นก็เป็นภิกษุอันดี เพราะกรรมวาจามีคนทุศีลสวดนั้น ได้ชื่อว่าสงฆ์สวด สวดด้วยอาณัติของสงฆ์ และสงฆ์ก็สำคัญกว่า คนทุศีลนั้นเป็นภิกษุดีอยู่
พระราชปุจฉาที่ 28
ว่าด้วยผู้ร้ายลอกทองพระพุทธรูป จะบรรพชาอุปสมบทขึ้นหรือไม่
แก้พระราชปุจฉาที่ 28 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ 22 รูป ถวายวิสัชนาว่า
บุคคลอันลอกทองพระ และหล่อหลอมพระพุทธรูปเงินทองนั้น ไม่มีบาลีห้ามบรรพชาอุปสมบท แต่เห็นว่าสันดานแห่งคนพวกนี้หยาบช้ายิ่งนัก พระปฏิมากรเป็นที่ควรเคารพบูชาของสัตว์โลกยังทำลายได้ กรรมของคนพวกนี้เป็นกรรมหนัก มีโทษมากเช่นเดียวกับอนันตริยกรรม ถ้าจะให้เข้าบวชในศาสนา สันดานเคยหยาบช้าอยู่แล้ว เกรงจะทำกรรมหยาบช้าต่อไปอีก ไม่รักที่จะสงเคราะห์ให้บุคคลจำพวกนี้ ได้บรรพชาอุปสมบทในศาสนาเป็นอันขาดทีเดียว
พระราชปุจฉาที่ 29
ว่าด้วยเศวตฉัตรมีกี่ชั้น
แก้พระราชปุจฉาที่ 29 (ความย่อ)
พระธรรมอุดม พระพุทธโฆษาจารย์ ถวายวิสัชนาว่า
ในพระบาลีอรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์ศาสนาหลายแห่ง กล่าวได้ต่าง ๆ กัน บางแห่งก็ว่า เศวตฉัตร 7 ชั้น บางแห่งก็ว่า เศวตฉัตรมีชั้นเป็นอันมาก บางแห่งก็ว่าฉัตรชั้นน้อยซ้อนฉัตรชั้นใหญ่ต่อ ๆ กันขึ้นไปตามลำดับ ที่เรียกว่า "ฉัตตาธิฉัตร" บางแห่งก็ว่าเศวตฉัตรประดับด้วยดอกไม้ทอง มีคัมภีร์ต่าง ๆ กันดังนี้ จึงเห็นว่าเศวตฉัตรสำหรับราชาภิเษกนั้นมี 7 ชั้น
พระราชปุจฉาที่ 30
ว่าด้วยอานิสงส์ซึ่งถวายไตรจีวรนั้น จะได้ไตรจีวรลอยมาต่อเมื่อ
ชาติที่จะได้พระนิพพาน ฤๅจะได้ในชาติที่ยังไม่ได้พระนิพพานบ้าง
แก้พระราชปุจฉาที่ 30 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และ พระราชาคณะทั้งปวง ถวายวิสัชนาว่า
บุคคลได้ถวายไตรจีวรนั้น จะได้บาตรไตรจีวรลอยมาในระหว่างชาติที่ยังไม่ได้พระนิพพานนั้น
มิได้พบพระบาลี พบแต่ว่าได้เสวยมนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ มีคลังผ้าและไม้กัลปพฤกษ์เป็นต้น ครั้งชาติที่สุดถึงได้บาตร และไตรจีวรอันลอยมาแต่อากาศ เป็น เอหิภิกษุ สำเร็จอรหันต์ในชาตินั้นทีเดียว
พระราชปุจฉาที่ 31
ข้อ 1 ว่าด้วยพระอรหันต์บางพวก ที่ได้เป็นเอหิภิกษุ ทรงบาตรไตรจีวรเปนทิพก็มี ที่ไม่ได้ก็มี ที่แสวงหาไม่ได้ จนนิพพานก็มี ท่านทั้ง 3 จำพวกนี้ ได้ทำกุศลไว้แต่ปางก่อนอย่างไร
ข้อ 2 มีในพระบาฬีว่า ถ้าบุรุษถวายไตรจีวร อนาสงส์จะเปนเอหิภิกษุ ถ้าสตรีจะได้มหาลดาประสาธน์ แลในศาสนานี้ บางนางก็ได้มหาลดาประสาธน์ บางนางก็ไม่ได้ ส่วนนางที่ไม่ได้นั้น ไม่ได้ถวายไตรจีวรไว้แต่ก่อนฤๅ
ข้อ 3 ว่าด้วยนางภิกษุณี ได้เปนเอหิภิกษุณีมีบ้างฤๅไม่
ข้อ 4 ว่าด้วยนางภิกษุณี จะมีพรรษาถึงร้อยก็ดี ถึงเปนพระอรหันต์แล้วก็ดี ยังต้องไหว้ภิกษุที่บวชใหม่ เพราะเหตุไร
แก้พระราชปุจฉาที่ 31 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะทั้งปวง ถวายวิสัชนาว่า
ข้อ 1 ผู้ปรารถนาเป็นอริยสาวกแล้วในระหว่างบำเพ็ญบารมี ย่อมจะได้ถวายไตรจีวร แต่ที่ได้เป็นเอหิภิกษุ ได้ทรงไตรจีวรทิพย์ก็ดี ที่ไม่ได้ก็ดี ที่ต้องแสวงเอาเองก็ดี ทั้งนี้เป็นด้วยเคยปรารถนาไว้เช่นนั้นจึงได้ ถ้ามิได้ปรารถนาไว้ก็ไม่ได้ ส่วนที่แสวงหาไม่ได้จนนิพพานนั้น เป็นด้วยกำลังอกุศลที่ตนได้ทำไว้
ข้อ 2 สตรีที่ถวายไตรจีวรแล้ว บางนางก็ได้เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์ บางนางก็ไม่ได้นั้น ข้อนี้เป็นด้วยความปรารถนา คือตั้งความปรารถนาไว้จึงได้ ถ้ามิได้ตั้งไว้ไม่ได้
ข้อ 3 สตรีที่เป็นภิกษุ ได้เอหิภิกขุบรรพชา ไม่มีอย่างธรรมเนียมในพระศาสนา
ข้อ 4 นางภิกษุณี แม้ถึงจะมีอายุร้อยพรรษา และเป็นพระอรหันต์ ก็ยังต้องไหว้ภิกษุบุถุชนที่บวชใหม่นั้น ข้อนี้เป็นครุธรรมที่นางมหาปชาบดีได้รับไว้ต่อพระพุทธเจ้า แต่คราวขออนุญาตให้สตรีบวชในศาสนาได้ อีกประการหนึ่ง เหตุว่าภูมิธรรมของบุรุษเป็นใหญ่มีคุณมาก เป็นที่ตั้งแห่งพระศาสนา พระพุทธเจ้าจึงมิได้อนุญาตให้ภิกษุณีให้โอวาทแก่ภิกษุ แต่อนุญาตให้ภิกษุให้โอวาทแก่ภิกษุณีได้ และการบวชของนางภิกษุณีต้องสำเร็จด้วย อุภโตสงฆ์ ต้องอาศัยภิกษุด้วย แต่การบวชของภิกษุหาได้สำเร็จ เพราะภิกษุณีด้วยไม่ ทั้งนี้เป็นกิจในพระวินัย มิได้เอาโลกุตรเป็นใหญ่แต่ถือพระวินัยสิกขาบทเป็นใหญ่ เพราะวินัยเป็นอายุพระศาสนา
พระราชปุจฉาที่ 32
ว่าด้วยพระอัครสาวก และพระอสีติสาวก พระปกติสาวก สร้างพระบารมีมาจนสำเร็จพระอรหัตผล ช้าเร็จต่างกัน ตามกาลกำหนด พระกิริยาอารมณ์ก็เป็นปรกติ มิได้ปรากฏหยาบช้าประการใด แต่พระองคุลิมาลนั้นได้เปนยักษ์ เปนมาร เปนท้าวพระยา ก็ล้วนแต่ใจบาปหยาบช้าทำปาณาติบาตโดยมาก จนมาในปัจฉิมชาติ จะได้พระอรหัตในชาตินั้นแล้ว ก็ยังเปนโจรฆ่ามนุษย์เปนอันมาก ซึ่งว่าพระองคุลิมาลสร้างพระบารมีแสนกัลป์นั้น จะนับว่าสร้างบารมีอย่างไร
แก้พระราชปุจจฉาที่ 32 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ 8 รูป ถวายวิสัชนาว่า
พระองคุลิมาลนี้ จำเดิมแต่สร้างบารมีมา ใช่ว่าชาติใด ปรากฏว่า ได้กระทำกรรมอันเป็นบาปหยาบช้าฆ่ามนุษย์ ทำปาณาติบาตก็จริง แต่กรรมอันเป็นบาปนั้น ก็ให้ผลไปทนทุกข์ในอบายภูมิจนสิ้นบาปกรรม และที่ทำบาปหยาบช้าในชาติใด ชาตินั้นจะไม่นับจัดเอาเป็นขาดบารมีหามิได้ อนึ่งพระอังคุลิมาลจะได้หยาบช้าไปทั้งชาตินั้นหามิได้ ย่อมได้พบพระโพธิสัตว์ ได้ฟังเทศนา ได้ละพยศร้าย ตั้งอยู่ในศีล 5-8 เป็นสุจริตธรรมอันดี นับเป็นบารมีสืบมา และการจะกำหนดบารมีแสนกัลป นั้น ไม่ได้นับเอาการที่คนทำบุญ ทำบาปมากกว่ากันในชาตินั้นเป็นประมาณ นับเอากาลอันนานได้แสนกัลป์เป็นประมาณ ถ้าสร้างบารมีครบแสนกัลป์แล้ว ก็ได้สำเร็จอรหัตต์นิพพานทุกองค์ และผู้สร้างบารมีที่จะสำเร็จนั้น ประกอบด้วยองค์ 2 คือ ฉันทตา ปรารภความรักใคร่พอใจในอรหัตตภูมิ 1 อธิถาโร กระทำบุญให้ทานการกุศล ในสำนักพระอริยเจ้า 1 เมื่อพร้อมด้วยองค์ 2 นี้แล้ว หากจะประมาทหยาบช้า เมื่อมีผู้ให้สติอารมณ์แล้วก็ย่อมกลับตัวได้ ดีกว่าสามัญชน
พระราชปุจฉาที่ 33
ข้อ 1 มีในพระบาฬีว่า พระโพธิสัตว์สร้างพระบารมีบำเพ็ญเบญจมหาบริจาค
มีให้พระเศียรเป็นทานมากกว่าผลมะพร้าวในแผ่นดิน เปนต้น เมื่อค้นหาเรื่องในชาดกนิทาน ไฉนจึงมีน้อยนัก ไม่สมกับอุประมาไว้นั้น
ข้อ 2 ว่าด้วยพระเจ้าอชาตศัตรู กระทำปิตุฆาตแล้ว ไฉนยังจะได้ตรัสเปนพระปัจเจกโพธิเจ้าอีกเล่า
แก้พระราชปุจฉาที่ 33 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ 15 รูป ถวายวิสัชนาว่า
ข้อ 1 การที่กล่าวว่า พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีมากมายหนักหนา แต่มีชาดกกล่าวไว้เพียง 550 ชาติ นั้น พระพุทธเจ้านำมาตรัสนั้นน้อย ต่อมีเหตุมีผู้อาราธนา พระองค์จึงนำมาตรัส ที่หาเหตุมิได้ และไม่มีผู้อาราธนาพระองค์ก็มิได้นำมาตรัสไว้ และที่ไม่นำมาตรัสนั้นมากมายหนักหนา เหตุนี้จึงมีแต่เพียง 550 ชาติเท่านั้น
ข้อ 2 ที่ตรัสว่าพระยาอชาตศัตรู ได้ฟังสามัญญผลสูตรจบลงควรจะได้พระโสดาในขณะนั้น เช่นนี้ ด้วยสรรเสริญ พระบวรพุทธศาสนา และธรรมานุภาพแห่งสามัญญผลสูตร ทั้งพระยาอชาตศัตรูก็ได้บำเพ็ญบารมี ปรารถนาพระปัจเจกโพธิภูมิไว้แต่ก่อน แต่มิได้เป็นพุทธเวไนย เช่น พระอังคุลิมาลจึงได้ประมาท กระทำปิตุมาต ห้ามมรรคห้ามผลเสีย จึงต้องรับวิบากกรรมไปทนทุกข์ในโลหกุมภี สิ้นโทษแล้วต้องสร้างบารมีไปใหม่ มิใช่จะเป็นปัจเจกโพธิ เพราะการทำปิตุฆาต มาตุฆาตนั้นมีโทษมาก จนถึงห้ามมรรคห้ามผลปรากฏอยู่แล้ว
พระราชปุจฉาที่ 34
ว่าด้วย พระโพธิสัตว์ และสาวกสร้างบารมีแสนกัลป์นั้นกำหนดอย่างไร
แก้พระราชปุจฉาที่ 34 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะทั้งปวง ถวายวิสัชนาว่า
พระอัครสาวก พระอสีติสาวก พระพุทธบิดา พระพุทธมารดา พระพุทธอุปัฏฐาก พระพุทธบุตรทั้ง 5 นี้ เป็นพุทธสหจรจาริก สำหรับประดับพระพุทธเจ้า ถ้าบารมีครบเข้าในอสุญกัลป์ใด และได้พบพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ถ้ามีอุปนิสัยเข้ากันกับพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก็สำเร็จความปรารถนา ถ้าหาอุปนิสัยประกอบกับพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นมิได้ ก็ยับยังเสวยสุขสมบัติสร้างบารมีไปก่อน เช่น พระพากุลเถระสร้างบารมีมานานเท่าบารมีของพระสารีบุตร อัครสาวก เป็นบารมี อสีติมหาสาวก เกินบารมีของพระปกติสาวกนั้น กำหนดแสนกัลป์ก็มี เกินไปเป็น 2-3 อสงไขยแสนกัลป์ก็มี หย่อนลงสร้างบารมีเพียง 94 กัลป์ ได้สำเร็จนิพพานก็มี เช่น พระสุธาบิณฑิยเถระ การปรารภเป็นพระปัจเจกโพธิ ครั้งแรก ต้องปรารถนาในสำนักพระพุทธเจ้าและอริยสาวก ส่วนพระอัครสาวก อสีติมหาสาวก ปกติสาวก ครั้งแรกจะปรารถนาในสำนักพระพุทธเจ้า ในสำนักพระอริยสาวก พระภิกษุบุถุชนหรือในเจดียสถานแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ แต่ต้องเป็นภายในพระศาสนา จะปรารภในสำนักฤาษีมุนีนอกศาสนานั้นมิได้ แต่ความสำเร็จปรารถนานั้น ย่อมเหลื่อมล้ำในสุญกัลป์ อสุญกัลป์มีอยู่ และพระบาลีในอักษรสังขยานั้นผิดจากพระบาลีในพระสูตร พระปรมัตถ์ พระวินัย จะถือตามมิได้
พระราชปุจฉาที่ 35
ว่าเหตุไฉนจึงไม่นับพระพิมพาไว้ในพระพุทธสหจร แลเหตุไฉนจึงได้ยกว่า
ยิ่งฝ่ายมหาอภิญญา เฉภาะมีแต่ 4 องค์ คือพระอรรคสาวกซ้าย พระอรรคสาวกขวา
พระพิมพา พระพากุลเถระเท่านั้น แลเหตุไฉนจึงจัดพระบารมี พระพุทธบิดา, พระพุทธมารดา
พระพุทธบุตรว่าแสนกัลป เหมือนพระอสีติสาวกและปกติสาวกเล่า
แก้พระราชปุจฉาที่ 35 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะทั้งปวง ถวายวิสัชนาว่า
พระพิมพานั้นเป็นพุทธสหจรคู่สร้างบารมีดัวยกันมา แต่มิได้ยกพุทธภริยาขึ้นว่า ก็เพราะเหตุว่าได้กล่าวถึงพระพุทธบุตรแล้ว ก็เป็นอันกล่าวไปด้วยกันเพราะไม่มีภรรยาจะมีบุตรได้อย่างไร แต่หากอรรถกถาบาลีมิได้กล่าวไว้ ก็รู้ได้โดยนัยแล้ว
อนึ่ง การที่สรรเสริญพระสาวกในพระศาสนานี้ว่า ยิ่งด้วยมหาอภิญญานั้น มิได้จำเพราะพระอริยสาวกองค์ใด หากแต่ว่าในศาสนาพระพุทธเจ้าองค์ 1 จะมีได้แต่เพียง 4 องค์เท่านั้น ที่พระพากุลระลึกชาติได้เท่าพระอัครสาวกนั้น เหตุว่ามีปัญญาระลึกชาติได้ถึงอสงไขยแสนกัลป์ แต่ไม่ได้ปรารถนาเป็นอัครสาวก
พระพุทธบิดา พระพุทธมารดา พระพุทธบุตร พระพุทธภริยา เป็นคู่สร้างกันมาจริง แต่ที่กำหนดเท่ากับพระอสีติมหาสาวก ปกติสาวกนั้น ก็โดยกำหนดมั่นไว้ว่า เพียงแสนกัลป์ก็สำเร็จ ความปรารถนา แต่ถ้าบำเพ็ญให้มากขึ้นไปด้วยประการใด ด้วยอุปนิสัยติดพันรักใคร่กันมา ก็ยิ่งดีมิได้ห้าม
พระราชุจฉาที่ 36
ว่าด้วยช้างป่าเลไลยพูดภาษามนุษย์ไม่ได้ การฝึกพูดภาษามนุษย์ได้ จะต่างกันด้วยเหตุอันใด
แก้พระราชปุจฉาที่ 36 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช ถวายวิสัชนาว่า
ซึ่งจะกำหนดอายุมนุษย์เท่านั้นแล้วสัตว์เดียรัจฉานเจรจาร่วมภาษามนุษย์ได้ไม่ได้นั้น มิได้พบพระบาลี แต่ที่พระยากาเผือกมาเทศนาแก่พระยาอาทิตยราชด้วยภาษามนุษย์นั้น เป็นด้วยพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้า รู้แจ้งเหตุด้วยพระสัพพัญญุตญาณ เช่นเดียวกับปลาตะเพียนทอง พูดภาษามนุษย์ได้ในเรื่อง กบิลภิกษุในพระธรรมบท
พระราชปุจฉาที่ 37
ว่าด้วยพระปัจเจกพุทธเจ้า แลพระยาบรมจักรพรรดิ์ไม่เกิดในสูญกัลป์นั้น ด้วยเหตุไร
แก้พระราชปุจฉาที่ 37 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ 11 รูป ถวายวิสัชนาว่า
ข้อที่ว่านายสุมนมาลาการ พระเทวทัต และนกเค้า ได้พุทธทำนายว่าจะได้เป็นพระปรัตเยกโพธิ ในที่สุดแสนกัลป์ แต่ภัททกัลป์นี้ไปนั้น เป็นอันเป็นพระปรัตเยกโพธิในสุญกัลป์ เพราะพระพุทธฎีกาที่ตรัสว่า ในสุญกัลป์หาพระปรัตเยกโพธิ พระยาบรมจักรพรรดิ์บังเกิดมิได้นั้น กล่าวโดยเยภุยนัย ที่เป็นไปโดยมากที่มาเกิดสูญกัลป์ก็มีบ้างแต่เป็นส่วนน้อย เช่น พระปทุมปรัตเยกโพธิ เกิดในสุญกัลป์ระหว่างศาสนาพระพุทธวิปัสสี กับพระพุทธสิขีต่อกันนั้น
พระราชปุจฉาที่ 38
ว่าด้วยสัตว์ คือ นก ไก่ เป็ด ห่านตัวเมีย มิได้สัมผัสตัวผู้
มีฟองไข่ฟักไม่เป็นตัวด้วยเหตุอะไร ถ้าฆ่าฟองไข่นับจะเป็นปาณาติบาตฤาไม่
แก้พระราชปุจฉาที่ 38 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ 9 รูป ถวายวิสัชนาว่า
เพราะเหตุว่าสัตว์ตัวเมียเหล่านั้นมิได้สัมผัสด้วยสัตว์ตัวผู้ตามประเวณีราคจิตยินดีนั้นน้อย เพราะราคจิตอ่อน สัตว์จึงมิได้เกิดเป็นตัว แต่ก็นับว่าเกิดเป็นฟอง มีปฏิสนธิวิญญาณอยู่ ถ้ายังมิเปื่อยเน่า ทุบต่อยก็เป็นปาณาติบาต ถ้าสัตว์นั้นจุติสูญไปแล้ว จึงไม่เป็นปาณาติบาต
พระราชปุจฉาที่ 39
ว่าด้วยพระราชประสงค์จะทรงฝังพระวินัยปิฎก จะควรฤาไม่
แก้พระราชปุจฉาที่ 39 (ความย่อ)
สมเด็จพระสังฆาช และพระราชาคณะฐานานุกรม 18 รูป ถวายวิสัชนาว่า
ซึ่งอนุปสัมบัน คือ สามเณรและฆราวาสจะฟังพระวินัยมิได้นั้น เป็นบุราณคติไม่พบพระบาลี บัดนี้ได้พบเนื้อความในปฐมสามนต์และคัมภีร์มหาวงศ์ต้องกันว่า พระเจ้าเทวานัมปิยดิส พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ และราชบริษัท ในลังกาทวีป ทรงสดับฟังพระวินัยที่พระมหาอรัฏฐเถระเจ้าสำแดง ในชุมนุมภิกษุมีพระมหินทรเถระเป็นประธานในถูปาราม
บัดนี้ สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภาร ผู้เป็นศาสนูปถัมภ์ ปรารถนาจะฟังพระวินัยปิฎก ก็ควรโดยพุทธจักรอาณาจักรอยู่แล้ว
|