พระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษ พระราชทานไปยัง
มิศเตอร์ ทอมาส ยอช นอกส กงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพ ฯ
ปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙
หม่อมเจ้าทรงวุฒิภาพ แปล
ที่ประทับ
พระบรมมหาราชวัง
วันที่ ๑๕ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๐๙
ถึงมิศเตอร์ ทอมัส ยอช นอกส์ (กงสุลอังกฤษประจำกรุงสยาม)
หนังสือของท่านลงวันที่ ๑๑ เดือนนี้........ ข้าพเจ้าพึ่งได้รับเยนวันนี้
ข้าพเจ้าเสียใจที่ได้รับจดหมายฉบับหลังช้าไป ภายหลังเรือที่ออกจึงเสียโอกาสที่จะตอบรับ.....
จดหมายจากพลเรือโท ยอช กิง กล่าวถึงการสวรรคต สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๒ คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอบหนังสือฉบับหลังของข้าพเจ้า ที่ได้บอกข่าวการสวรรคตไปให้ทราบ หนังสือของนายพลเรือโท ยอช กิง นั้น ข้าพเจ้าได้ส่งไปให้ตั้งที่น่าพระโกษฐ์พระศพของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๒ ให้ปรากฎเกียรติซึ่งผู้เขียนแสดงต่อผู้เสด็จสวรรคต.....
อนึ่งข้าพเจ้าได้ส่งก๊าดเชิญในงานเษกสมรส มาพร้อมกับจดหมายฉบับนี้สำรับหนึ่ง ให้นายพลเรือโท ยอช กิง ผู้เคยคุ้นเคยกับตัวข้าพเจ้าแลลูกชายใหญ่ของข้าพเจ้า ซึ่งเปนบิดาของเจ้าบ่าวแลลุงของเจ้าสาว ข้าพเจ้าขอให้ท่านช่วยจัดส่งไป ฯ
ส.พ.ป.ม. มงกุฎ ป.ร.ส.
เปนวันที่ ๕๔๘๐ ในรัชกาล
พระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษ พระราชทานไปยัง
มิศเตอร ทอมาส ยอช นอกส กงสุลอังกฤษประจำ ณ กรุงเทพ ฯ
ปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙
พระองค์เจ้าธานีนิวัต แปล
พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพ ฯ
วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๑๘๖๖
แจ้งความมายัง นายคน๊อกซ กงสุลอังกฤษประจำประเทศสยาม
วันรุ่งขึ้นจากที่เรือ "เจ้าพระยา" เข้ามาถึงครั้งสุดท้าย..... ข้าพเจ้าได้รับหมายของท่านลงวันนั้น จากพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ นำส่งจดหมายของท่าน เออร์ล แห่ง แคล เรนดอน ฉบับหนึ่ง ลอรด แคลเรนดอล กล่าวในจดหมายฉบับนั้นว่า บัดนี้เขาได้ออกจากตำแหน่ง เสนาบดีว่าการต่างประเทศอังกฤษ แลผู้รับตำแหน่งใหม่คือ ลอรด แสตนเลย์ บุตร ลอรดดารบี อัครมหาเสนาบดีคนใหม่นั้น ในตอนท้ายจดหมายมีความด้วยว่า "ข้าพระองค์ยินดียิ่งนักที่ได้ทราบว่า พระองค์ทรงยกย่อง นายคน๊อกซ กงสุลอังกฤษว่า" "ดูจะหวังดีต่อประโยชน์ของสยามโดยจริงใจ ดุจเขาหวังดีต่อประโยชน์ของอังกฤษในกรุงสยามนั้น" อนึ่งขอขอบใจท่านด้วยที่เล่ามา..... ในจดหมายฉบับลงวันที่ ๑๘ ในเรื่องสงครามปัจจุบันในยุโรป กับสงครามที่เกิดขึ้นเมื่อก่อนหน้านี้ด้วย.....
ข้าพเจ้าขอขอบใจอย่างยิ่ง ในการที่ท่านได้แนะนำช่วยเหลือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงค์ สมุหพระกระลาโหม ในเรื่องสุราเกี่ยวข้องกับฝรั่งเศส ฯลฯ ร่างจดหมายที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงค์มีไปนั้น ถูกใจข้าพเจ้าแล้ว
ในเรื่อง เสอร จอน เบาว์ริง ซึ่งมีอายุชรามากถึง ๗๕ ปี แล้วนั้น ข้าพเจ้ายังสงไสยนักว่า เขาจะสมัครับราชการไปตามราชสำนักต่างประเทศได้หรือไม่..... อนึ่ง นายปารเกอร์ แฮมมันต์ ซึ่ง เสอร จอน เบาว์ริง เคยแนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักครั้งหนึ่ง ในคราวที่จะรับตั้งเปนข้าหลวงของฉัน ไปในการพิพิธภัณฑกรุงลอนดอนใน ค.ศ. ๑๘๖๒ นั้น ได้เขียนจกหมายมาบอกว่า เสอร จอน เบาว์ริง..... แต่บัดนี้ออกนอกราชการรัฐสภาแล้ว จนได้ไปช่วยรัฐบาลฮะวายเจรจาทำสัญญาทางไมตรี กับนานาประเทศในยุโรป ด้วยความชำนิชำนาญได้ผลเปนอย่างดีทั้ง เสอร จอน เบาว์ริงเอง ก็เขียนจดหมายมาถึงฉัน.....
จริงอยู่ข้าพเจ้าได้อ่านจดหมาย..... รวมใจความกล่าวหรืออวดว่า (เสอร จอน) มีความชำนาญแต่ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็ไม่เชื่อได้เลนว่า เขากล่าวเช่นนั้นด้วยความตั้งใจจะช่วยฝ่ายเรา โดยนัยเดียวกันกับที่ได้ช่วยรัฐบาลฮะวาย..... และสงไสยด้วยว่า รัฐบาลอังกฤษจะยอมให้เขามารับราชการของข้าพเจ้าเช่นนั้นหรือ ข้าพเจ้ามีสิทธิหรือที่จะมาตั้งแต่งเขาเช่นนั้น รัฐบาลของสมเด็จพระบรมราชาธิราชฝรั่งเศส ซึ่งมีความปราถนาเปนอย่างอื่น ก็จะรับรอง เสอร จอน ว่าเปนทูตของข้าพเจ้าหรือ อันความสงไสยทั้งนี้ ท่านจะอธิบายมาให้ทราบโดยจดหมายเฉพาะตัวได้หรือไม่ ?
แต่ข้าพเจ้าผู้เปนมิตรแท้
(พระบรมนามาภิไธย) ส.พ.ป.ม. มงกุฎ ร.ส. (ราชาแห่งสยาม)
ณ วันที่ ๕๕๘๗ ในรัชกาล
พระราชหัตถเลขา ภาษาอังกฤษ พระราชทานไปยัง
มิศเตอร์ ทอมาส ยอช นอกส กงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพ ฯ
ปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙
พระองค์เจ้าธานีนิวัต แปล
พระบรมมหาราชวัง
วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๑๘๖๖
แจ้งความมายัง นายคน็อกซ
ด้วยได้รับจดหมายของท่านลงวันนี้ เมื่อค่ำนี้
ข้าพเจ้าใคร่จะขอตอบว่า หมู่เกาะแสนด์วิชนั้น แม้เปนประเทศเล็กน้อยก็จริง แต่บุคคลผู้หนึ่งในนี้กล่าวว่า ชาวยุโรปและอเมริกา เห็นมีค่ากว่ากรุงสยามอีก ด้วยพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรในที่นั้น ได้เข้ารีดเปนคริสตัง และซิวิไลยส์ก่อนคนไทย แล้วยังซ้ำพระราชาหรือพระราชินีแห่งเกาะนั้น ได้เสด็จไปประเทศอังกฤษ และเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีกรุงอังกฤษ ด้วยพระราชินีและรัฐบาลอังกฤษคงจะนับถือเธอเช่นเดียวกันกับ อาบูบะกะ ตะมะบูกง ศรีมหาราชาแห่งยะโฮร ซึ่งกล่าวกันว่า ได้ออกจากยโฮรไปประเทศอังกฤษไม่ช้านานมาแล้ว
คนหลายคนที่นับถือศาสนาคริสตัง เช่น ดร.ดี.บี. แบรดเลย์ ฯลฯ ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลและประชาชนชาวฮะวายนั้นดีกว่าไทย ในข้อที่เมื่อตายแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ ส่วนใหญ่นั้นยังมัวมนธิ์อยู่มาก พระเจ้าแผ่นดินและราษฎรแทบทั้งหมดก็เปนมิจฉาทิฏฐิ
เรื่องเจ้าเมืองระแหง เมื่อย้ายไปเมืองกำแพงเพชร์ แล้วนั้น จึงได้ปรึกษาและขอความเห็น กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เพราะเธอคุ้นเคยเมืองเหนือและราษฎรแถบนั้นดี ทั้งรู้จักราชการฝ่ายเหนือดีด้วย ฯ
(พระบรมนามาภิไธย)
พระราชหัตถเลขา ถึงนายพุ่ม ขุนสมุทโคจร
ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐
จดหมายมายังนายพุ่ม ขุนสมุทโคจร ให้รู้ ข้าพิเคราะห์ดูคนที่ไปกรุงปารีศจากกรุงเทพ ฯ ครั้งนี้ แลคนที่ปารีศซึ่งเปนฝักฝ่ายข้างสยาม ดูก็เปนพวกเปนเหล่าไปไม่ใคร่กลมเกลียวกัน..... กับตันดานิเยนวินเซอ บอกเข้ามาสรเสริญ นายพุ่ม ขุนสมุทโคจร นายน้อย ขุนชำนาญ หมื่นวิจิตรกับตัวเองว่าเข้าพวกกลมเกลียวกัน แลว่าไทยสามคนนี้ดีไม่มีที่ติเตียนอะไร..... แลข้างฝรั่งเศสก็สรเสริญพระสยามธุรานุรักษ์ ว่ากล้าหารเข้าไหนเข้าได้ เผดทูลร่ำเรียนเสนาบดีได้ แลใจดีติดอ่านให้เปนคุณข้างไทย ไม่มีใครเสมอทั้งกรุงปารีศ จะหาคนอื่นให้ดีไปกว่าไม่มี แต่พระยาสุรวงษ์นั้น กับตันดานิเยนกล่าวโทษว่า..... เชื่อถือแต่บาดหลวงลุวิศ..... ฝ่ายขุนรัตนานุจิตร นายห้างช่างทองนั้น ก็บอกยกความชอบตัวมาว่า ตัวช่วยเดินเหินวิ่งเต้นมาก เขาเห็นแก่ตัวเขาจึงรับทูตสยาม เพราะตัวได้ช่วยดูแตรที่ไปจากกรุงเทพ ฯ ก็เข้าพวกขุนรัตนานุจิตร บอกมาที่คุณศรีสุริยวงษ์ ว่าขุนรัตนานุจิตรไปขู่ว่า ถ้าไม่รับทูตสยาม ๆ ก็จะไปเมืองอังกฤษ เขาก็จะไปเอาอำนาจอังกฤษมาถุ้งเถียง จะต้องลำบากมากไป แลว่าพระสยามธุรานุรักษ์ เปนแต่คนต้องรุต้องถอด เก่านอกเศษนอกเลยสิ้นคิดแล้ว จึงมาประจบเปนกงสุลไทย เข้าไหนไม่ได้ไม่มีใครเขาพูดด้วย ฝ่ายพระสยามธุรานุรักษ์ก็ยกความชอบตัว แลมองติดนีแลบาดหลวงลุวิศว่า ได้ช่วยขวนขวายเขียนหนังสือโต้แย้งมีนิศเตอ เปนอันมาก.....
ฝ่ายพระยาสุรวงษ์บอกกล่าวมาก็สรเสริญ แต่มองติคนีกับบาดหลวงลุวิศ พระสยามธุรานุรักษ์ติว่า พูดเจรจาอะไรฟังเปนเสียงหีบฝ้ายไป แต่พวกไทยที่ไปอยู่นั้น พระยาสุรวงษ์บ่นอยู่ว่าเปลืองเงินเปล่า ๆ จะให้กลับมาเสีย..... การทูตนั้นตลอดจนได้เฝ้าแอมเปรอถวายพระราชสาส์นได้ดังนี้ ข้าก็เปนสบายใจอยู่แล้ว การจะได้ดังประสงค์ ฤาไม่ได้ดังประสงค์ก็สุดแต่ปัญญาแอมเปรอ ถ้าแอมเปรอจะว่าผิด ๆ ไป โกง ๆ ไป ข้าเข้าใจว่าความอายไม่ตกอยู่แก่ข้า จะต้องตกอยู่แก่แอมเปรอเอง เพราะเมืองเราเปนเมืองน้อยจะรู้ที่ทำอย่างไร แต่การทูตที่ไปว่ากะไรก็เซงแซ่มีฉาวแล้วใคร ๆ เขาก็รู้ดูทีความคิดเดิมของมินิศเตอ จะทำตามกงสุลออบาเรตยุยงว่าอย่าให้รับทูตสยาม เพราะไปผิดธรรมเนียม ไม่ได้บอกล่วงหน้าไปขอให้ยอมรับก่อนให้ทำเฉยเสีย ก็ความคิดนี้เปนความสู้โกง ๆ นอกเรื่อง เหนจะถูกนินทามากเข้า จึงกลับใจรับ..... ข่าวกับตัน ดานิเยนวินเซอว่าได้ยินคนพูดกันว่า คอเวอนเมนฝรั่งเสศ จะมาเรียกตัวกงสุลออบาเรตให้กลับไปก่อนสิ้นออคัสต์ เพราะข้ารู้ว่ากงสุลออบาเรตมาทำการเกิน..... เพราะชตาเมืองไทยเปนอย่างนี้ คนต่างประเทศใครดุเกะกะนัก (มักได้มาเปนกงสุล) ก็เปนอย่างนี้มาหลายคนแล้ว อย่าทำให้ข้างโน้นข้างนี้เปนถ้อยเปนความยุ่งยิ่งไป ฯ
จดหมายมา ณ วัน.......... ปีเถาะ นพศก
พระราชหัตถเลขา ถึงกรมหมื่นอมรมนตรี
กราบทูลมายังกรมอมรมนตรี ให้ทราบ เรื่องโต๊ะเงินที่รับสั่งนั้น ความสัตยความจริง กระหม่อนฉันไม้ได้ทราบด้วยเลยแต่ต้นจนจบ เมื่อกรมขุนธิเบศบวรประชวร..... จำได้แต่วันกระหม่อนฉันไปเยี่ยมประชวรเวลาหนึ่ง ท่านสั่งความสองข้อ ข้อหนึ่งว่าวัดที่ทำค้างอยู่ที่หลังวังนั้น ทั้งที่วัดและของทำค้างยกให้เปนของกระหม่อมฉัน กับสั่งว่าเงินของท่านค้างอยู่ที่พระองค์เจ้าดารา ๒๐๐ ชั่งเศส ให้กระหม่อมฉันไปทวงเอามาทำวัด กับอีกข้อหนึ่งว่า พานหมากเสวยเครื่องยศนั้น เปนเครื่องเดิมของกรมพระราชวัง ฯ..... อย่าให้กระหม่อมฉันให้เจ้านายอื่นไป ให้เอาไว้ใช้เปนเครื่องต้นข้างใน เปนที่รฦกถึงพระเดชพระคุณกรมพระราชวัง ฯ สืบไปเถิด..... กระหม่อมฉันก็เปนผู้มีเคารพต่อเจ้านายพี่น้อง..... ไหน ๆ หม่อมเจ้าพวกนั้นก็มีมานะ ถือว่าทรัพย์สินสิ่งของกรมขุนธิเบศบวร เปนทรัพย์ของบิดา เปรียบความตามฝ่ายกระหม่อมฉัน เหมือนพระราชทรัพยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กระหม่อมฉันก็ไม่ได้เอามาใช้ประโยชน์ของตัวแลบุตรภรรยาเลย เมื่อท่านจะสวรรคตท่านทรงเขียนพิไนยกรรม์ พระราชทรัพย์หมื่นชั่ง ให้จ่ายพระอารามที่ค้าง เหลือสามหมื่นชั่งถวายแก่พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ทองคำร้อยชั่งให้แผ่ทำเปลวปิดพระอารามที่ค้าง เหลือนั้นให้เปนของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ก็ตัวกระหม่อมฉันเข้ามาเปนพระเจ้าแผ่นดิน ตามที่ท่านผู้รับสั่งมีชื่อในพิไนยกรรม์นั้น คือเจ้าพระยาพระคลัง พระยาศรีพิพัฒน์ พระยาราชสุภาวดี ปฤกษากับเจ้านายขุนนาง เลือกผู้ที่เนื่องใน พระราชวงษานุวงษ์ หนุ่มฤาแก่ปานกลางเปนเจ้าแผ่นดินต่อไปเถิด ก็เพราะท่านทั้งสามนั้นเลือกกระหม่อมฉันเข้ามา จึงได้เปนเจ้าแผ่นดินอยู่ แต่เพราะรู้ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านไม่ได้เลือกกระหม่อมฉัน เฉพาะตัวโดยตรง ก็ไม่ได้ว่าจะถือเอาพระราชทรัพย์ของท่านเปนมรฎกได้ ของทั้งปวงก็ยังเปนของกลางแผ่นดินอยู่หมด ได้จ่ายไปแต่รายการของวัด ก็เจ้านายซึ่งเปนลูกหลานของท่าน กระหม่อมก็รับเลี้ยงเกื้อหนุน ให้ปันสิ่งของต่าง ๆ แลเงินทองไปเปนอันมาก นอกจากเบี้ยหวัดเงินเดือนก็กว่าพันชั่งเศสแล้ว ความนี้เปนความสัตย์ ความจริง โปรดสืบดูก็ทราบ..... ตัวกระหม่อมฉันเข้ามาอยู่ในที่ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงตัวไม่ได้รับมรฎกของท่าน คนทั้งบ้านทั้งเมืองเข้าก็เข้าใจว่าเปนผู้มารับ ก็ต้องเลี้ยงเจ้านายพวกนั้นไป เพื่อจะให้เปนเยี่ยงอย่างแบบแผนไปได้ ก็จะได้เปนเกียรติยศแก่ตัวกระหม่อมฉัน กราบทูลมานี้เปนความจริงใจ
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
พระบรมราชโองการให้กราบทูลกรมหมื่นบวรรังษี
(สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ)
มีพระบรมราชโองการให้กราบทูลกรมหมื่นบวรรังษี แลเผดียงพระราชาคณะถานานุกรมเปรียญ แลอันดับ ที่จัดสันมาบิณทบาตรเวรทั้งเจดเวรว่า ของในการพระราชกุศลในการพระศพครั้งนี้ พระสงฆ์ราชาคณะแลเจ้าพระเจ้าเณรแลพระครูมีนิตยภัตร ก็ได้ไตรยหมดทุกรูป..... จีวรสบงย่ามสำรับหนึ่งไม่ได้ซื้อแต่วัดด้วยราคาเยาที่เรียกว่าเช่านั้นเลย เปนของลงทุนทำทั้งสิ้น คิดราคาสำรับหนึ่งเปนเงินสิบสลึง.....
ราชตระกูลก็มีอุปการะแก่พระสงฆ์มาก อื่น ๆ ยกเสียเถิด คิดแต่นิตยภัตรพระราชาคณะผู้ใหญ่ รูปหนึ่งเดือนละ ๕ ตำลึง ปีละสามชั่ง..... พระปลัดตำแหน่งใหญ่เดือนละ ๓ ตำลึง ปีละสามสิบหกตำลึง พระครูบางองค์เปรียญเจดประโยคเดือนละสิบบาท ปีละสามสิบตำลึง..... เปรียญสามประโยค แลถานานุกรมสามัญ แลพระสงฆ์อนุจรในอารามหลวง เดือนละสองสลึง ปีละหกบาท จำนวนมีนิตยภัตรบันดาศักดิ์ แลมีนิตยภัตรสามัญก็เปนอันมาก เดือนหนึ่งถึง ๕๐๐๐ รูปเสศ เงินจ่ายเดือนหนึ่งเจดสิบชั่งขึ้นไป..... ปีหนึ่งถึงพันชั่งเสศ..... ข้าราชการฝ่ายคฤหัสถ์เข้ามารับราชการในวังเหนดเหนื่อย..... แต่เมื่อวันรับเบี้ยหวัด ถึงกระนั้นก็ได้น้อยกว่าพระสงฆ์โดยมาก.....
พระราชหัตถเลขา พระราชทานไปถึงพระองค์เจ้าปัทมราช
ที่เมืองนครศรีธรรมราช
ปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓
จดหมายมายัง พระองค์เจ้าปัทมราช เจ้าอาว์ เจ้าน้า ให้ทราบด้วยนาย..... ถือหนังสือรับสั่งของเสด็จกับหนังสือโต๊ะเพง แลพระพุทธรูปที่เรียกว่าพระพุทธสิหิงค์ กับสิ่งของต่าง ๆ แลเงินตรา ๑๔ ชั่ง เข้ามานั้น ได้ส่งกระหม่อมฉันแล้วแต่เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๐ ค่ำ..... แต่เงิน ๑๔ ชั่ง ยังสงไสยอยู่ยังไม่เข้าใจ ถ้าเปนเงินส่วยแต่ตังเลขเปนส่วนกลาง ก็เห็นว่าไม่ควรเอามาส่งแก่กระหม่อมฉัน ๆ ไม่ควรจะรับไว้ ด้วยส่วยรายนั้นเปนเงินท้องพระคลัง ควรจะให้หัวเมืองบอกส่งมายังกรมพระกลาโหมตามเคย กรมพระกลาโหมจะได้นำมาส่งต่อ พนักงารพระคลังมหาสมบัติ ถ้าจะส่งให้ผิดทางนี้ไป หัวเมืองแลกรมพระกลาโหมเขาก็ตั้งค้างไว้ ถ้าเงินรายนี้เกิดแต่ตัวเลข ซึ่งเปนส่วนของเสด็จ ๆ ทรงพระเมตตาประทานให้กระหม่อมฉัน ๆ ก็คิดพระเดชพระคุณเปนอันมากแล้ว แต่เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า ตัวกระหม่อมฉันก็ไม่ยากจนค่นแค้นขัดสนดอก จะประทานหม่อมฉันหาต้องการไม่.....
อนึ่งโขลนสองคนที่กระหม่อมให้ไปอยู่ตามเสด็จนั้น ครบขวบปีแต่เดือน ๙ แล้ว โปรดถามเขาดูถ้าเขาจะใคร่กลับมา ก็จงบอกมาให้ทราบ จะได้จ้างคนอื่นออกไปอยู่ตามเสด็จ..... แล้วจะคิดเงินเดือนที่เขาอยู่เกินขวบปีนั้น ให้เดือนละ ๔ บาท ก็ได้..... ปีนี้กระหม่อมฉันมีบุตรชายอีก ๒ คน บุตรหญิง ๑ .....
หญิงคนหนึ่งนั้นชื่อสุนันทากุมารีรัตน์.....
....................
ข่าวช้างเผือกที่เมืองยโสธรนั้น พระกำแพงเจ้ากรมช้างได้ขึ้นไปตรวจดู..... ช้างนี้เปนช้างเผือกอย่างเอก เหมือนพระยาเศวตไอยรา พระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตคชลักษณ์ พระเทพกุญชร ๔ ช้างนั้นเปนแน่แล้ว แต่ปีนี้ฝนชุกมากน้ำก็มากกว่าปีหลังเกือบสองศอก จนบัดนี้น้ำที่กรุงเก่ายังทรงอยู่ไม่ลด ครั้นให้รีบเดินมา ก็เห็นว่าทางยังจะเปนน้ำเปนโคลน เพราะฉะนั้นฉันเห็นว่าจะรับมาถึงกรุงได้โดยสดวก ต่อปลายเดือนสาม ฤาต้นเดือนสี่
....................
เรื่องความที่โต๊ะเพงบอกมากราบทูลเสด็จนั้น ก็ได้อ่านทราบความแล้ว ซึ่งตงกูสะหะขึ้นมาที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น กระหม่อมฉันได้ถามคุณศรีสุริยวงษ์แล้ว ท่านว่าท่านไม่ทราบเลย..... แต่ได้ยินว่าตงกูสะหะนั้นเปนคนสูบฝิ่นงอม..... กระหม่อมฉันเคยติเตียนแขกที่สูบฝิ่น..... แลเมืองกปังปาสูนั้น บัดนี้ไม่ได้แก่ตงกูมัสหมัด ตงกูสะหะหลานตงกูนุ่ม ซึ่งเปนพระยากบังปาสูนั้นแล้ว เมืองนั้นกระหม่อมฉันได้มอบยกให้แก่พระยาไทรเสียแล้ว ก่อนแต่หนังสือของเสด็จมาถึง การเปนเสร็จแล้ว
....................
การที่เมืองจีนเดี๋ยวนี้วุ่นวายนัก ซื้อขายไม่เปนปกติ จะสั่งของก็ยากได้บ้างไม่ได้บ้าง บัดนี้ได้ยินว่ากรุงปักกิ่งก็เสียแล้ว แก่อังกฤษแลฝรั่งเศส เสียเจ้ากรุงฟาเหี้ยงที่จีนเมืองนี้เรียกว่า หั้ม ฮอง นั้น ก็หนีไปเมืองตาตารีเสียแล้ว เมืองจีนเดี๋ยวนี้คนก็ตั้งตัวเปนพวกเปนเหล่าอยู่ตามที่ต่าง ๆ ไม่มีเจ้านายอันเดียวกันดังแต่ก่อน ฯ
พระราชสาสนจารึกในแผ่นสุพรรณบัตร
พระราชทานเซอยอนโบวริงอรรคราชทูตอังกฤษเชิญไปถวาย
สมเด็จพระนางวิกตอริยา ราชินี
เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘
พระราชสาสน ในสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระเจ้ากรุงรัตนโกสินทรมหินทราอยุธยา ขอคำนับเจริญพระราชไมตรีมายังสำนักสมเด็จพระนางวิกตอริยาราชินี ผู้เปนเจ้าเปนใหญ่ในทวีปบริตาเนียแลไอยิแลน ได้ทรงทราบด้วย ในเดือน ๕ ปีเถาะสัปตศก เปนปีที่ ๕ ในรัชกาลอันเปนปะจุบันนี้ เซอยอน โบวริง เปนทูตมาด้วยกำปั่นรบของพระองค์ ด้วยหนังสือสำคัญของพระองค์เปนที่เชื่อถือมาว่ากล่าวจัดแจงสัญญาการไมตรี แลการค้าขายให้เจริญขึ้นกว่าแต่ก่อน ขอให้กรุงไทยให้อิศานุภาพแก่ขุนนางบางนาย ออกไปคิดอ่านปฤกษาด้วยข้อสัญญา กรุงไทยเห็นแก่ทางพระราชไมตรี ก็ได้ตั้งพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์ ๑ เสนาบดี ๔ นาย เปน ๕ ด้วยกัน มีนามในหนังสือสัญญาแล้วนั้น ให้ไปประชุมปฤกษากับทูตของพระองค์ จัดแจงเปลี่ยนสัญญาเก่าแลเพิ่มการใหม่เข้าบ้าง ตามทูตของพระองค์ประสงค์ว่าควรนั้น การทำหนังสือสัญญาก็เปนอันเสร็จลงใน ๗ วัน ทูตของพระองค์จึงได้มอบเครื่องราชบรรณาการ คือนาฬิกากลแลประแจที่เกี่ยวประดับเพชร มีหมายทวีปบริตาเนีย แลไอยิแลน แลตราโมราประดับเพชรเปนรูปช้างสำหรับกรุงไทย ผูกกับเล่มสำหรับไขประแจ แลสายสร้อยทองมีดิ่งเลื่อนรูปกลองประดับเพชรสำหรับนาฬิกา กับหีบเครื่องเขียนหนังสืออย่างดีเปนมงคลให้แก่กรุงไทย อ้างว่าพระองค์โปรดส่งมาแสดงทางพระราชไมตรี กรุงไทยได้ยินดีมีคำนับรับไว้แล้ว ขอขอบพระคุณอุปการ ยินดีตอบมาด้วยความสุจริต ขอให้ทางไมตรีสองพระมหานคร ติดพันธ์อยู่เย็นเปนสุขไปนานชั่วฟ้าแลดินเทอญ แลบ้านเมืองของไทยที่ติดต่อกับอังกฤษดังนี้ จะเปนสุขไป ก็ด้วยพระเจ้าบริตาเนียทรงพระเมตตากรุณาถึงในกาลเนือง ๆ ครั้งนี้กรุงไทยได้ส่งเครื่องราชบรรณาการบางสิ่ง ที่มากับพระราชสาสนนี้ ถึงไม่สู้ดีก็เปนผีมือช่างเมืองไทย ขอพระองค์จงโปรดรับไว้ เปนเครื่องรฦกถึงทางพระราชไมตรี เทอญ ฯ
พระราชสาสนมา ณ วัน.......... ปีเถาะสัปตศก ศักราช ๑๒๑๗ เปนปีที่ ๕ แห่งราชการปะจุบันนี้ ฯ
พระราชสาสนกำกับ สุพรรณบัตร
ซึ่งเซอยอนโบวริงอรรคราชทูตอังกฤษเชิญไปถวาย
สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอริยา
เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘
พระราชสาสน ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ในรัชกาลที่ ๔ ในพระบรมราชวงศ์ ซึ่งดำรงกรุงรัตนโกสินทรมหินทราอยุธยา ณ ประเทศบางกอกนี้ ได้ครอบครองเปนเจ้าของพระมหานครราชธานีใหญ่ ในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยามเหนือใต้ แลแผ่นดินแดนต่าง ๆ อยู่เดียวอยู่ใกล้ในที่นั้น ๆ บางแห่ง แลเปนที่อยู่ของชนชาวต่างประเทศ มีเพศภาษาหลายอย่าง คือ ลาวเฉียง ลาวกาว แลกำพูชา มาลายู กระเหรี่ยง แลอื่น ๆ ในทิศต่าง ๆ โดยรอบคอบขอบขัณฑสิมาอาณาจักรสยาม ขอเจริญทางพระราชไมตรี..... จึงได้โปรดตั้งผู้ต่างพระเนตร พระกรรณไปคิดปฤกษาจัดการนั้นให้สำเร็จ..... โปรดให้ท่านทั้ง ๕ นี้ ไปประชุมปฤกษาข้อสัญญาด้วยกับราชทูตของพระองค์ พร้อมใจกันทั้ง ๖ ได้จัดแจงเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเก่า แลเพิ่มเติมข้อความใหม่เข้าบ้าง.....
แผ่นดินสยามซึ่งได้เปนสัมพันธมิตรติดต่อกับไมตรีอังกฤษดังนี้แล้ว.....
อนึ่งครั้งนี้กรุงสยามได้ส่งเครื่องมงคลราชบรรณาการบางสิ่ง.....
พระราชสาสนนี้ ลงวันศุกร เดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีเถาะ สัปตศก ศักราช ๑๒๑๗ เปนปีที่ ๕ ในรัชกาลปจุบันนี้ ฯ
บุญชีเครื่องมงคลราชบรรณาการ
ที่ ๑ พระราชสาสนจาฤกเปนอักษรไทยลงในแผ่นพระสุพรรณบัตร.....
ที่ ๒ ซองทองคำใส่แผ่นทองที่จาฤกพระนาม เปนอักษรอังกฤษด้วยลายพระหัตถ์คู่หนึ่ง.....
ที่ ๓ พระธำมรงค์รังแตนเปียประดับไพฑูริย์อย่างดีคู่หนึ่ง.....
ที่ ๔ หลอดดินสอทำด้วยทองคำประดับเพชรใหญ่
ที่ ๕ ขวดหมึกทองคำลงยาราชาวดี.....
ที่ ๖ มีไพ่แผ่นใหญ่เขียนรูปช้างเผือก.....
....................
พระราชสาสนนี้ได้แห่เชิญไปมอบส่งแก่ เซอร์ ยอน โบวริง ราชทูตอังกฤษ
ประกาศตั้งพระยามนตรี สุริยวงค์ เปน ราชทูตไปลอนดอน
ปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๐๐
สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม แลสมเด็จพระปวเรนทราเมศวรมหิศวเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าประเทศสยาม ทั้งสองพระองค์ ขอประกาศแก่คนนอกประเทศในประเทศทั้งปวง..... ว่าเราพระเจ้ากรุงสยามทั้งสอง แลเสนาบดี ได้มีความประสงค์จะส่งทูตานุทูต ไปจำทูลพระราชสาสน..... ไปยังสมเด็จพระนางวิกตอเรียมหาราชินี..... บัดนี้พระเจ้ากรุงลอนดอนเห็นแก่ทางพระราชไมตรี แต่ให้ขุนนางคุมเรือรบมารับทูตานุทูตถึงพระนครนี้ เราพระเจ้ากรุงสยามทั้งสอง..... บังคับแต่งตั้งให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง เปนราชทูตเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี หัวหมื่นมหาดเล็กเวรศักดิ์ เปนอุปทูต จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ปลัดกรมพระตำรวจสนมซ้าย ในพระบวรราชวังเปนตรีทูต จมื่นราชามาตย์ปลัดกรมพระตำรวจในซ้าย ในพระบรมมหาราชวังกับนายพิจารณสรรพกิจ หุ้มแพรนายยามเวรเดช สองนายเปนพนักงารกำกับเครื่องราชบรรณาการ หม่อมราโชทัย เจ้าราชนิกูล เปนล่ามสำหรับการเจรจา ให้คนทั้ง ๖ คนนี้ มีอำนาจจำทูลพระราชสาสน คุมเครื่องราชบรรณาการ ออกไปคำนับเจริญทางพระราชไมตรี แด่สมเด็จพระนางวิตอเรียมหาราชินี เจ้ากรุงบริตาเนีย แลนำหนังสือเจ้าพระยาพระคลัง ไปวางแก่เสนาบดีในกรุงลอนดอนด้วย แลให้มีอำนาจเพื่อจะได้ไต่ถามหารือขอฟังการต่าง ๆ ที่ควรจะฟังมาเพื่อกรุงสยามนี้ด้วย แต่ไม่มีอำนาจเพื่อจะว่ากล่าวการอันอื่น แทนกรุงสยามก็ดีแทนเสนาบดีก็ดี ยิ่งกว่ามอบพระราชสาสน แลมงคลราชบรรณาการ แลถามหารือแลฟังการต่าง ๆ ที่ควรฟังมานั้นเลย ถ้าพระเจ้ากรุงบริตาเนีย จะให้มีพระราชสาสนตอบ แลรับสั่งมาด้วยข้อความใด ๆ ก็ดี ก็ให้ทูตานุทูตพวกนี้มีอำนาจ เพื่อจะรับมาถึงกรุงสยามนี้ด้วย
อนึ่ง ให้ราชทูต อุปทูต ตรีทูต แลขุนนางพนักงาร เครื่องราชบรรณาการทั้งสอง แลล่ามพนักงารพวกนี้ มีความสมัคสโมสรเปนเอกจิตต์เอกฉันทแก่กัน อย่าไปมีความถือเปรียบแก่งแย่งแก่กัน แลทำการที่มิควรให้เสียราชการ แลเสียเกียรติยศแก่พระนครนี้ได้เปนอันขาดทีเดียว ถ้าผู้ใดคนหนึ่งฤาสองคนในพวกทูตานุทูตซึ่งไปครั้งนี้ จะมีเหตุเข็ญไข้ไภยันต์ประการใด จะรับราชการมิได้ในกลางทางก็ดี ในแผ่นดินบริตาเนียก็ดี ก็ให้คนที่เหลืออยู่เปนปกติ มีอำนาจเพื่อจะรับราชการแทนทุกอย่าง ตามซึ่งบังคับมานั้น กว่าจะกลับคืนถึงพระนคร
ประกาศนี้ได้มอบสำหรับพวกทูตานุทูต ณ ท้องสนามในพระบรมมหาราชวัง กรุงรัตนโกสินทรมหินทราอยุธยา ณ วันพุธ ขึ้นค่ำ ๑ แห่งเดือนสาวันในศักราช ๑๒๑๙ ปีมะเสงนพศก ตรงกับวันที่ ๒๒ แห่งเดือนยุไลย ในศักราชคฤศต์ ๑๘๕๗ เปนปีที่ ๗ ในราชการปะจุบันนี้ ฯ
พระราชสาสน ถึงสมเด็จพระนางวิกตอเรียมหาราชินี
พระราชทานไปลอนดอน
พระยามนตรี สุริยวงค์ ราชทูตเชิญไป
สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธสมมุติ เทพยพงศ์ วงศาดิศวรกษัตริย์วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราช สังกาศบรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดิน กรุงสยาม ผู้เปนใหญ่แก่ประเทศราชต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงคือ เมืองลาว เมืองกำโพชา เมืองมลายู หลายเมืองแลที่อื่น ๆ ขอเจริญทางพระราชไมตรีอันสนิท คำนับมายังสมเด็จพระนางวิกตอเรียมหาราชินี พระเจ้ากรุงลอนดอน ผู้เปนใหญ่ในพระราชอาณาจักรอันรวมกัน คือทวีปบริตาเนียใหญ่แลไอยิแลน แลกอลนี นา ๆ ประเทศต่าง ๆ ให้ทรงทราบ ว่าบัดนี้กรุงสยามมีความคำนึงคิดถึงถึงพระเดชพระคุณ พระราชไมตรีพระเจ้ากรุงบริตาเนียมาก ด้วยเห็นผลของความพระราชไมตรีอันสนิท แลความดำริห์จัดการดี เปนคุณ เปนเกียรติยศ แก่บ้านเมืองสยามนี้ ประจักษ์มากเปนหลายประการ คือว่าตั้งแต่เซอยอนโบวริง เปนผู้รับสั่งพระเจ้าบริตาเนีย เข้ามาทำหนังสือสัญญาทางไมตรี แลการค้าขายกับกรุงสยามในเดือนเจตรมาส ปีเถาะ สัปตศก เปนปีที่ ๕ ในราชกาลอันเปนปะจุบันนี้ ครั้งเมื่อได้โครงหนังสือสัญญาทางไมตรีแลค้าขาย ลงตราหมายลายมือ ผู้ที่ปฤกษากันทั้งสองฝ่ายเสร็จแล้ว ลูกค้าวาณิชอังกฤษแลชาวต่างประเทศได้ทราบการนั้น แต่ในระหว่างยังไม่ได้เปลี่ยนสัญญาต่อกัน ยังใช้อยู่ตามสัญญาเก่าปีหนึ่งนั้น ก็เข้ามาเริ่มการค้าขายมากขึ้นกว่าปรกติ แลตั้งแต่เปลี่ยนหนังสือสัญญากันแล้ว ใน..... ศักราชคฤศต์ ๑๘๕๖ นั้นมาแล้ว..... จนบัดนี้มีเรือลูกค้าไปมาเนือง ๆ ทุกสัปดาหวารมิได้ขาด เงินทองนอกประเทศก็เข้ามาจับจ่ายในประเทศนี้มากมาย..... แลทำนาเข้า แลไร่อ้อย แลอื่น ๆ มากขึ้นกว่าแต่ก่อนบ้างอยู่แล้ว..... ถึงว่าเพราะเงินทองต่างประเทศเข้ามามาก ของใช้แลของกินแทบทุกสิ่งมีราคาสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน..... แลผู้ครอบครองแผ่นดินฝ่ายสยามก็จะช่วยคิดอ่าน จัดให้มีที่ทางใหม่ ๆ แก่ราษฎรให้ได้ที่ทำไรนา เพาะปลูกเจริญสืบต่อไป
อนึ่งเมื่อเซอยอนโบวริง เข้ามาทำสัญญานั้น กรุงสยามได้รับเครื่องราชบรรณาการบางสิ่ง..... การนั้นก็เปนเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ แก่การสยามมาประจักษ์มาก เพราะคนทั้งโลกทราบอยู่ทั่วกันว่า พระเจ้ากรุงบริตาเนีย มีพระเดชานุภาพ แลอำนาจโตใหญ่ แผ่ไปในต่างประเทศทั่วทิศ มีพระราชอาณาเขตรอบภพไป จนพระอาทิตย์ไม่รู้ตกลับดวงเลย..... เพราะว่าแต่ก่อนมา ยังไม่ได้ทราบเลยว่า เมืองใดในประเทศอินเดียทั้งปวงตลอดจนแผ่นดินจีน จะเคยได้รับพระราชสาสนและเครื่องมงคลราชบรรณาการ แต่พระเจ้ากรุงบริตาเนียอย่างครั้งนี้..... พระเจ้ากรุงบริตาเนียได้ส่งทูตานุทูตอังกฤษ เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงสยามถึงสองครั้งแล้ว ฝ่ายกรุงสยามควรจะให้ทูตานุทูตสยามออกไปคำนับ ให้ถึงพระเจ้ากรุงบริตาเนีย เฉพาะพระพักตร ให้ได้เห็นแลรู้จักกับเสนาบดีกรุงลอนดอน ให้ได้พบเฉพาะหน้าได้หารือ รู้การที่ควรจะได้ถามต่าง ๆ มาด้วย..... อนึ่งการที่จะให้ทูตานุทูตไปไกลในทางทะเลนั้น กรุงสยามนี้ยังไม่มีอำนาจจะส่งไปได้โดยสดวกด้วย..... มีหนังสือออกไปปฤกษาหารือกับเสนาบดี พนักงารว่าการต่างประเทศในกรุงลอนดอนแต่ในปีหลังแล้ว จึงได้ความตอบมาว่า..... พระเจ้ากรุงบริตาเนียกับเสนาบดีจะยินดีรับ แลว่าจะจัดเรือรบของกรุงบริตาเนียมารับ แลส่งให้ถึงกรุงลอนดอน แลกลับมาถึงพระนครนี้โดยสดวก..... จึงได้แต่งตั้งพระยามนตรีสุริยวงค์ เปนราชทูต..... กับคนชาวสยามอื่นอีก ๒๒ คน รวมกันเปน ๒๘ คน..... ครั้นเรือรบกลไฟของกรุงบริตาเนียชื่อ แอนกอเดอ เข้ามารับถึงกรุง..... แลทูตานุทูตซึ่งออกไปยังกรุงบริตาเนียในครั้งนี้ ขอให้ได้รับรู้เห็นการในประเทศยุโรปบางสิ่งตามประสงค์ อันเปนประโยชน์แก่กรุงสยามบ้าง.....
..... แลขอให้ทางไมตรีสองพระนครติดพันธ์อยู่เย็นเปนสุขไปนานชั่วฟ้าและดินเทอญ ฯ
พระราชสาสนนี้เขียนอักษรอังกฤษ ฉบับ ๑ เขียนอักษรสยาม ฉบับ ๑ เปนสองฉบับความต้องกัน..... เปนวันที่ ๒๔ แห่งเดือนยุไล ในปีมีศักราชคฤศต์ ๑๘๕๗ เปนปีที่ ๗ ในราชการปจุบันของแผ่นดินสยามนี้ ฯ
บาญชีเครื่องราชบรรณาการไปกรุงลอนดอน
พระราชสาทิสฉายาลักษณ์ ๒ พระมหามงกุฎลงยาประดับเพ็ชรบ้าง มรกตบ้าง ทับทิมบ้าง ๑..... ฉลองพระองค์พระกรน้อยมีดุมเพ็ชร เจ็ด ๑..... ผ้าทรงยกทอง ผืน ๑..... ขันน้ำกับ พานรองทองคำลงยาราชาวดีสำรับ ๑ เครื่องชาสำรับหนึ่ง..... ซองบุหรี่ทองคำลงยา ๑ หีบ ใส่กรรไกส้นประดับเพ็ชร ๑ ประดับทับทิม ๑ รวม ๒..... หีบ ใส่ซ่อม ช้อน มีด ทองคำประสม ด้ามประดับเพ็ชรสำรับ ๑ โต๊ะเงินใหญ่ ปากกาไหล่ทองคู่ ๑ ดาบเหล็กลายฝักทองคำลงยา ๑ จำหลัก ๑..... เครื่องสูงฉัตร ๗ ชั้น ๒ ฉัตร ฉัตร ๕ ชั้น ๒ ฉัตร ฉัตร ๓ ชั้น ๒ ฉัตร ฉัตรชุมสาย ๒ พระกลด ๑ บังพระสูริย์ ๑ พระราชยานกง ๑ กลองมโหรทึกกับปี่งาสำรับ ๑ เครื่องม้าทองคำประดับพลอยสำรับ ๑ ฉากรูปพระแก้วมรกฎซึ่งเปนที่นมัสการในพระบรมมหาราชวัง เขียนสามรูปสามอย่าง ทรงเครื่องในฤดุทั้งสาม ซึ่งมีหนังสือชี้แจงมาเปนนิทานนั้น ๑ ฉาก รูปเรื่องบรมราชาภิเษก ๔ แผ่น ฯ
สิ่งของจัดเตรียมไว้จะให้ทูตไป
จี้มรกฎประดับเพ็ชร ๑..... หีบทองคำใหญ่ลงยา ๑..... เครื่องถมตะทอง กา ๒ หีบ ๒๐ ซองบุหรี่ ๒๐ ตลับ ๒๐..... ดาบฝากถมตะทอง ๒ แพรปูมลายอย่างดี ๑๐ ม้วน
ให้เลอรดกลาเรนดอน (เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ) ซองบุหรี่ลงยา ๑..... ดาบฝักถม ๑ จัดให้ปรอฟิศเสอวิลสอน ฉากรูปพระแก้ว ๑ ฉากรูปพระเบญจา ๑ พระคัมภีร์ ๑
อนึ่งสิ่งของเครื่องที่เปนสินค้าใด ที่บังเกิดในสยามประเทศนี้ มีออกชื่อไว้ในพิกัดสินค้า ซึ่งมีอยู่ในหนังสือสัญญากี่สิ่งนั้นก็ดี อื่นนอกจากนั้นกี่สิ่งก็ดี กรุงสยามได้สั่งแก่เจ้าพนักงาร ให้จัดอย่างละเล็กละน้อย แจ้งมอบให้เจ้ายาพระคลัง เสนาบดีว่าการต่างประเทศในสยาม ให้ส่งมายังผู้ครองฝ่ายบริตาเนีย เพื่อจะให้เปนตัวอย่างสินค้าทุกสิ่ง ซึ่งมีในประเทศสยามนี้.....
คำทูตทูลถวายมอบพระราชสาสน
ข้าพระพุทธเจ้าทูตานุทูตสยามทั้งปวง..... ได้รับพระบรมราชโองการ.....ให้เชิญพระบรมราชสาสนแลพระบวรราชสาสน..... ข้าพระพุทธเจ้าทูตานุทูตทั้งปวงขอถวายความสัตยาว่า..... แลขอรับพระราชวโรกาศ เพื่อจะถวายพระราชสาสน แลเครื่องมงคลราชบรรณาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามทั้งสองพระองค์..... ซึ่งเปนพระเจ้าอยู่หัวของข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองพระองค์นั้นเทอญ ฯ
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
|