พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับการป้องกันประเทศ

ในด้านการฝึกอบรมสมาชิกเสือป่านั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงฝึกสอนสมาชิกเสือป่า ในส่วนกลางที่สนามเสือป่าด้วยพระองค์เองโดยตลอด และในระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคมของทุกปี ก็จะทรงนำสมาชิกเสือป่ากองเสนาหลวง และกองเสือป่ารักษาดินแดนกรุงเทพ ไปฝึกซ้อมรบในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและราชบุรี ร่วมกับกองทหาร กองเสือป่าและลูกเสือในพื้นที่มณฑลนครไชยศรีและมณฑลราชบุรีเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ เพื่อฝึกหัดให้ทหาร และเสือป่า มีความชำนาญในภูมิประเทศและให้เสือป่าได้รับการฝึกหัดการทำหน้าที่ผู้ช่วยทหารในการสอดแนม และการลาดตระเวณ รวมถึงการฝึกซ้อมวิธียุทธทั้งเต็มรูปแบบและจรยุทธ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เสือป่ามีความรู้ความสามารถในเชิงการทหาร สามารถตั้งรับและยันข้าศึกที่ยกกำลังจู่โจมเข้ามา มิให้ล่วงล้ำเข้ามาในพระราชอาณาเขต เพื่อรอกำลังทหารเคลื่อนพลจากที่ตั้งมาผลัดเปลี่ยน ดังปรากฏแนวพระราชดำรินี้ในบทพระราชนิพนธ์ละครพูดเรื่อง "หัวใจนักรบ"

นอกจากนั้นการที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปซ้อมรบในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและราชบุรีทุกปี นั้น รวมทั้งการที่ได้โปรดให้จัดวางกำลังพลไว้ในสองมณฑลนี้ ถึงสองกองพลทหารราบ และยังได้โปรดให้ตัดถนนทรงพล เป็นถนนยุทธศาสตร์ เชื่อมระหว่างพระราชวังสนามจันทร์กับจังหวัดราชบุรี เพื่อสะดวกแก่การลำเลียงพล ในขณะที่เส้นทางคมนาคมจากกรุงเทพ ฯ ไปสู่นครปฐมกลับโปรดให้ตัดถนนแต่ให้ใช้ทางรถไฟแทนนั้น คุณมหาดเล็กซึ่งได้เคยรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เล่าไว้ว่า หากมีเหตุการณ์เช่นกรณี ร.ศ. ๑๑๒ หรือการยกพลขึ้นบกในคาบสมุทรมลายู ก็จะทรงใช้พระราชวังสนามจันทร์เป็นสถานที่มั่นสุดท้ายในการป้องกันประเทศ เพราะชัยภูมิในเขตมณฑลนครไชยศรี และราชบุรีนั้น อุดมสมบูรณ์ไปด้วยลำคลอง ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมของชาวไทยมาช้านาน หากถอดรางรถไฟออกเสีย ข้าศึกก็จะต้องกำลังไปทางลำน้ำ ซึ่งสะดวกแก่ฝ่ายเราในการซุ่มโจมตี หากจะยกพลขึ้นบกในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ก็ไม่สามารถทำได้เพราะชายหาดแถบนี้ล้วนเป็นดินเลนและโคลนเป็นส่วนใหญ่ไม่สามารถลำเลียงอาวุธหนักเข้ามาได้ หากจะยกทัพข้ามมาทางด่านเจดีย์สามองค์ก็จะต้องผจญกับความยากลำบากของพื้นที่ ซึ่งเป็นการยากที่จะจู่โจมเข้ามา โดยฝ่ายเราไม่ทันตั้งรับก่อนได้เลย

อนึ่ง เมื่อเกิดสงครามขึ้นในทวีปยุโรป ซึ่งต่อมาได้ขยายขึ้นเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้น ในระยะแรก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกำหนดให้ประเทศไทยอยู่ในฝ่ายเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนี่ง ทรงรอจนฝ่ายเยอรมนีและออสเตรีย – ฮังการี ซึ่งเรียกกันว่า ฝ่ายมหาอำนาจกลางขยายแนวรบออกไปจนทั่วภาคพื้นยุโรป ในครั้งนั้น ได้รับการปรึกษาหารือถึงท่าทีของประเทศไทยต่อสถานการณ์สงครามในครั้งนี้ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ และเสนาบดีทั้งหลายไม่มีใครเห็นด้วยกับพระบามสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่พระองค์เห็นว่าไทยจะต้องเข้ากับฝ่ายที่เป็นธรรม เพื่อรักษาธรรม ผู้ที่ไม่กล้าลงทุนอะไรย่อมไม่ได้อะไร เกียรติและเสรีภาพของมนุษยชาติ กำลังถูกคุกคาม ไทยต้องเข้าช่วยรักษาไว้ให้จงได้ จึงได้ทรงประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนีและออสเตรีย – ฮังการี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงนำประเทศไทยเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร และได้โปรดให้เปิดรับสมัครบุคคลจัดเป็นกองทหารอาสา ประกอบไปด้วยกำลังพล ๑,๕๐๐ คน แยกเป็นกองทหารบกรถยนต์ ๑,๐๐๐ คน และกองบินทหารบก ๕๐๐ คน ไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้นด้วย

กองทหารอาสาได้ออกเดินทางจากประเทศไทยในต้นปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เมื่อเดินทางถึงฝรั่งเศสแล้ว กองทหารบกรถยนต์และกองบินทหารบกต่างก็แยกย้ายเข้ารับการฝึกหัด กองทหารบกรถยนต์ ซึ่งได้รับการฝึกหัดแล้ว ได้เข้าทำการในสนามด้วยความกล้าหาญ ร่วมกับกองทหารฝรั่งเศส จนได้รับตราครัวซ์ เดอ แกร์ร (Croix de Guerre) ซึ่งเป็นเหรียญกล้าหาญของฝรั่งเศสประดับธงไชยเฉลิมพลเป็นเกียรติยศ ส่วนกองบินทหารบกเนื่องจากต้องใช้เวลาฝึกอบรมเป็นเวลานาน เมื่อสงครามสงบลงแล้วยังฝึกไม่เสร็จ แต่เพื่อมิตรภาพอันดีกองทัพฝรั่งเศส ยังได้เอื้อเฟิ้อฝึกฝนนายทหารไทยต่อมาจนสำเร็จ เป็นนักบิน และช่างซ่อมอากาศยานโดยไม่คิดมูลค่า และสามารถกลับมาจัดตั้งกรมอากาศยานทหารบกขึ้นในกองทัพบกไทย ก่อนที่จะได้พัฒนามาเป็นกองทัพอากาศในปัจจุบัน

ในด้านการป้องกันพระราชอาณาจักรทางทะเล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักดีถึงพระราชอาณาเขต ที่มีชายฝั่งติดทะเล ทั้งทางด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เป็นระยะทางยาวกว่าสองพันกิโลเมตร แต่ราชนาวีไทยยังหาได้มีเรือรบขนาดใหญ่ พอที่จะรักษาอธิปไตยในน่านน้ำของเราได ้เมื่อมีข้าราชการกลุ่มหนึ่งทั้งใน และนอกพระราชสำนัก ร่วมกับประชาชนผู้มีความจงรักภักดี ในเบื้องพระยุคลบาทรวมตัวกันจัดตั้งสมาคม เพื่อจัดการเรี่ยไรเงินเพื่อซื้อหรือสร้างเรือรบถวายไว้ใช้ในราชการกองทัพเรือ ในพ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ได้โปรดพระราชทานนามสมาคมนั้นว่า ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และโปรดพระราชทานนามเรือที่จะซื้อนั้นว่า "พระร่วง" ตามพระนามของวีรกษัตริย์อันเป็นที่นิยมนับถือของชาวไทย พร้อมกันนั้นได้โปรดพระราชทานเงินทุนส่วนพระองค์จำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท เป็นทุนประเดิม นอกจากนั้นยังได้ทรงจัดการแสดงละครพระราชนิพนธ์ การแสดงภาพเขียน ฯลฯ เพื่อจัดหารายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายพระราชทานไปสมทบในการจัดซื้อเรือพระร่วงอีกหลายคราว
อนึ่งในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสชายทะเล มณฑลจันทบุรีโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี ในการนี้กระทรวงทหารเรือ ได้จัดการซ้อมรบ และสวนสนามทางเรือ ถวายพระเกียรติยศเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ไทยในบริเวณอ่าวสัตหีบ และในโอกาสนี้ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิประเทศ ซึ่งเต็มไปด้วยภูเขา อ่าวใหญ่ และหมู่เกาะอันเร้นลับ เหมาะแก่การจัดตั้งเป็นฐานทัพเรือ เพราะสามารถจอดพักเรือรบเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากยังไม่สมควรแก่เวลาในการสร้างฐานทัพเรือและเพื่อป้องกันปัญหาอื่น ๆ อันอาจเกิดขึ้นได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กระทรวงมหาดไทยออกประกาศพระบรมราชโองการสงวนที่ดินชายฝั่งทะเลตำบลสัตหีบ และบริเวณใกล้เคียง ทั้งเกาะใหญ่น้อยตามชายฝั่ง เพื่อสร้างพระราชวัง ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๓ กระทรวงทหารเรือได้สำรวจพื้นที่ชายฝั่งทะเลสัตหีบแล้วเห็นว่า พื้นที่บริเวณอ่าวสัตหีบ เป็นที่มีชัยภูมิเหมาะสมที่จะจัดเป็นฐานทัพเรือ ต่อมาวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๕ นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เสนาธิการทหารเรือ จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพื้นที่อ่าวสัตหีบ ซึ่งโปรดให้สงวนไว้เพื่อใช้ราชการเป็นฐานทัพเรือ และได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานที่ดินดังกล่าวนั้น ให้ตามความประสงค์ของกระทรวงทหารเรือ เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๕ ดังรายละเอียดปรากฏในลายพระราชหัตถเลขา ดังนี้

 

 

การที่จะเอาสัตหีบเป็นฐานทัพเรือนั้น ก็ตรงตาม
ความปราถนาของเราอยู่แล้ว, เพราะที่เราได้สั่งหวง
ห้ามเรื่องที่ดินไว้ก็ด้วยความตั้งใจ จะให้เปนเช่นนั้น,
แต่เมื่อเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ที่จะให้เปนฐานทัพเรือ
และไม่อยากให้โจทย์กันวุ่น, จึงได้กล่าวไว้ว่า จะต้องการ
ที่ไว้ทำวัง สำหรับเผื่อที่จะมีผู้ขอจับจอง ฝ่ายเทศาภิบาล
จะได้ตอบอนุญาตได้โดยอ้างเหตุว่า" พระเจ้าอยู่หัว
ต้องพระประสงค์" เมื่อบัดนี้ทหารเรือจะต้องการที่นั้น
ก็ยินดีอนุญาตให้

(ส่งไปทางมหาดไทยด้วย)

ราม ร

นอกจากนั้นในตอนปลายรัชกาลยังได้โปรดให้จัดตั้งกรมราชนาวีเสือป่าขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของกองเสือป่า ทำหน้าที่เป็นกองลาดตระเวณทางลำน้ำ มีการฝึกหัด และจัดรูปแบบการปกครองกองกำลัง ในทำนองเดียวกับทหารเรือ ประกอบไปด้วยกองพันหลวงราชนาวีเสือป่า และกองพันราชนาวีเสือป่ากระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ติดชายทะเล โดยใช้เรือประมงและเรือที่เดินในลำน้ำเป็นกำลังหลัก

ด้วยพระปรีชาสามารถทางการทหารซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแสดงให้ปรากฏพระเกียรติคุณ มาแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งนอกจากจะทรงนำประเทศไทย ให้รอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคม ทั้งยังช่วยให้ประเทศไทยได้รับก้าวขึ้นสู่การยอมรับจากนานาประเทศ จนสามารถยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และภาษีร้อยชักสามซึ่งมีผลริดรอนสิทธิของไทย มาเป็นเวลาร่วมร้อยปีลงได้แล้ว เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ พระราชาธิบดีแห่งประเทศอังกฤษ ยังได้มีพระราชโทรเลข เชิญให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับเป็นนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกอังกฤษ และในขณะเดียวกันสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ ก็ได้ทรงตอบรับเชิญเป็นนายพลเอก นายทหารพิเศษของกองทัพบกไทย

"…..การที่พระราชาธิบดีประเทศใด ๆ ในบูรพทิศจะได้รับเกียรติยศเป็นนายพลพิเศษ ในกองทัพบกของประเทศยุโรป ยังหาได้เคยมีมาแต่ก่อนไม่ และการที่พระราชาธิบดีแห่งมหาประเทศใด ๆ ในยุโรป จะได้ทรงรับพระยศเป็นนายพลพิเศษ ในกองทัพประเทศใด ๆ ในบูรพทิศนี้ ก็ยังไม่เคยมีมาเลยเหมือนกัน….."

----------------------------
เชิงอรรถ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.วิวาหพระสมุท, หน้า ๒๐๑ - ๒๐๒.

พลเอก พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา). “น้ำพระราชหฤทัยของพระบามสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”. วชิราวุธนุสรณ์ ปีที่ ๕ (๑๑ พฤษจิกายน ๒๕๒๘) หน้าที่ ๔๙

ในรัชกาลที่ ๖ ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนพระยศและอิสริยศักดิ์เป็น จอมพล พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาธิการกระทรวงกลาโหม

กรมทหารพรานในสมัยนั้น เปรียบได้กับกรมทหารราบเบาของกองทัพอังกฤษ เป็นหน่วยทหารราบที่ใช้อาวุธประจำกายขนาดเล็ก สามารถเคลื่อที่ได้รวดเร็วประดุจทหารม้า

กองดหมายเหตุแห่งชาติ, กอง. ร.๖ ก..๗/๓ เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๖ กระทรวงหลาโหม – ทหารเรือ เรื่องจัดการทหารและเกณฑ์ทหารมณฑลปักษ์ใต้ (ลายพระหัตถ์ จอมพล พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรี สุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม กราบทูล นายพลตรี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๕๖)

จดหมายเหตุแห่งชาติ, กอง. ร.๖ ก..๗/๓ เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๖ กระทรวงกลาโหม – ทหารเรือ เรื่องจัดการทหาร และเกณฑ์ทหารมณฑลปักษ์ใต้ (ลายพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงเสนาบดีกระทรวงกลาโหม, กระทรวงวัง เรื่องให้ทำความเข้าใจในหน้าที่กรมทหารรักษาวัง)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “ปลื้มใจด้วยเสือป่าและลูกเสือ”, จดหมายเหตุรายวันใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้า ๓๔ - ๓๕.

เพิ่งอ้าง.หน้า ๓๕
บรรณานุกรม

จดหมายเหตุแห่งชาติ, กอง. ร.๖ ก..๗/๓ เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๖ กระทรวงหลาโหม – ทหารเรือ เรื่อง

จัดการทหารและเกณฑ์ทหารมณฑลปักษ์ใต้ (ลายพระหัตถ์ จอมพล พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรี

สุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม กราบทูล นายพลตรี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์

สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๕๖)

จดหมายเหตุแห่งชาติ, กอง. ร.๖ ก..๗/๓ เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๖ กระทรวงกลาโหม – ทหารเรือ

เรื่องจัดการทหารและเกณฑ์ทหารมณฑลปักษ์ใต้ (ลายพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ถึงเสนาบดีกระทรวงกลาโหม, กระทรวงวัง เรื่องให้ทำความเข้าใจในหน้าที่กรมทหารรักษาวัง)

แต่มจันทร์ วงศ์วิเศษ, นางสาว. การปรับปรุงกองทัพบกของไทยตามแบบตะวันตก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๒๔๗๕.

วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๑๙. (อัดสำเนา)

ภัทริน วรรณแสง ร.น., เรือโทหญิง. “ฐานทัพเรือสัตหีบ”, สารานุกรม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๑. กรุงเทพมหานคร : เจริญวิทย์การพิมพ์, ๒๕๒๔. (คณะกรรมการฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ ๘ รอบ และ ๑๐๐ ปี ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานเปิดหอวชิราวุธานุสรณ์ วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๔.

เทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา), พลเอก พระยา. “น้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”.
วชิราวุธานุสรณ์สาร ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔ (๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๘). กรุงเทพมหานคร : ชวนพิมพ์, ๒๕๓๗.

บุรุษรัตน. พระนคร : ตีรณสาร, ๒๕๐๑. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาเสวกเอก พระยาบุรุษ รัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๑).

ประภาส จารุเสถียร, จอมพล. “ความมั่นคงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”, วชิราวุธานุสรณ์สาร ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๒ (๖ เมษายน ๒๕๓๗). กรุงเทพมหานคร : ชวนพิมพ์, ๒๕๓๗.

ปิ่น มาลากุล, หม่อมหลวง. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า. คณะกรรมการที่ปรึกษา การก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และค่ายหลวงบ้านไร่ จัดพิมพ์ในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และค่ายหลวงบ้านไร่ ที่ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธา - ราม จังหวัดราชบุรี ๑๘ สิงหาคม ๒๕๓๑). กรุงเทพมหานคร : ชวนพิมพ์, ๒๕๓๑.

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. จดหมายเหตุรายวัน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.

กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๑๗. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๗).

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทพระ. วิวาหพระสมุท . พระนคร : รุ่งเรืองธรรม, ๒๕๐๕.

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทพระ. พระราชดำรัสร้อยครั้ง. กรุงเทพมหานคร : ชวนพิมพ์, ๒๕๒๙. (คณะกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์ในงานพระบรมราชานุสรณ์ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๙).

สุจิรา ศิริไปล์, นาง. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสงครามโลกครั้งที่๑. กรุงเทพมหานคร : ชวนพิมพ์, ๒๕๒๘. (คณะกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์ในงานพระบรมราชานุสรณ์ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๘).

อมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช), จมื่น. เสือป่าและลูกเสือในประวัติศาสตร์ รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอน ๑ - ๔. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๑๔.

อุดม ทีฆทรัพย์ ร.น., เรือเอก. “ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม”, สารานุกรม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๒. กรุงเทพมหานคร : เจริญวิทย์การพิมพ์, ๒๕๒๔. (คณะกรรมการฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ ๘ รอบ และ ๑๐๐ ปี ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานเปิดหอ วชิราวุธานุสรณ์ วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๔.
--------------------------

 

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากข้อเขียนของคุณ วรชาติ มีชูบท กรรมการและ ผช.เลขานุการ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์