หนังสือราชการ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เสนาบดีกระทรวงพระคลัง ฯ
เรื่อง การโอนรายได้ของแผ่นดินไปให้สุขาภิบาล ลง ๑๓ ตุลาคม ๒๔๗๐

 

รายงานกราบทูลพระกรุณาว่า เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยขอโอนเงินรายได้แผ่นดิน..... ไปเป็นรายได้ของสุขาภิบาลท้องที่บางแห่ง ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวพันถึงรัฎฐประสาสโนบาย จึงได้ตอบไปว่า ควรกระทรวงมหาดไทย พิจารณาวางหลักขึ้นไปเสียก่อนว่า จะจัดสุขาภิบาลท้องที่เป็น Municipality ด้วยความมุ่งหมายจะให้ประชาชนในท้องที่นั้น ๆ รู้จักปกครองตัวเอง หรือจะจัดแต่เพียงกระทำ และรักษาความสะอาด ในท้องที่เท่านั้น

พระราชกระแส

เรื่องเงินสุขาภิบาล แต่เดิมคงจะมีประสงค์เพียงให้มีเงินก้อนใด ก้อนหนึ่งที่เจ้าหน้าที่หยิบฉวยได้ สำหรับบำรุงบ้านเมือง และเชื่อกันว่าคงจะไม่ใช่ในสิ่งเหลวไหล ที่เหลวไหลไปต้องนับว่าเป็น abuse ไม่ใช่ว่าหลักการไม่ดี เป็นแต่ปฏิบัติไม่ดี สำหรับการต่อไปฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าการควรแก้ไขให้เป็น municipality จริง ๆ มากขึ้น เรื่องนี้เสนาบดีมหาดไทยก็ทรงทราบความประสงค์ของฉันอยู่แล้ว ฉันเห็นด้วยกับความเห็นของ Sir Edward Cook ทุกอย่าง ตั้งแต่ข้อ ๑๖ ไปควรสังเกตมาก และตรงกับความประสงค์ของฉัน ส่งสำเนานี้ไปถวายอภิรัฐมนตรี และทูลเสนาบดีมหาดไทย ขอให้ทรงชี้แจงพระดำริห์ของท่านในเรื่องนี้ต่ออภิรัฐมนตรี ถ้าสมเด็จชายทรงพร้อมเมื่อไร ให้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมอภิรัฐมนตรี ควรให้ได้พิจารณาเรื่องนี้กันเร็วหน่อย ภายในเดือนพฤศจิกายนได้จะดี

ประชาธิปก

 

 

รายงานการประชุมอภิรัฐมนตรี ครั้งที่ ๒๕ เมื่อ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๗๐

ฯลฯ
๑ เรื่องจัดสุขาภิบาลตามหัวเมือง..... ซึ่งเสนาบดีคลังถวายความเห็นของ เซอร์ เอดวาร์ด ดุ๊ก ขึ้นมา..... สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรี ฯ กราบบังคมทูลถึงเรื่องเดิมที่คิดตั้งการสุขาภิบาลหัวเมืองขึ้นที่ ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาครเป็นครั้งแรก หลักดำเนินการในครั้งนั้นมี ๒ อย่าง อย่างที่ ๑ ตั้งเจ้าพนักงานขึ้นเรียกว่าปลัดสุขาภิบาล เป็นคนละคนกับปลัดเมือง ที่มหาดไทยตั้ง อีกอย่าง ๑ ให้มีกรรมการ มีพวกพ่อค้าเรือโป๊ะเป็นกรรมการด้วย ไม่เกี่ยวกับกระทรวงใด ต่อมาการเดินดี มหาดไทยจึงจัดตั้งขึ้นในที่แห่งอื่นบ้าง ตามความชำนาญที่ได้จากท่าฉลอม พระราชทานเงินค่าภาษีโรงร้าน ซึ่งเก็บได้ในตำบลนั้นไว้สำหรับใช้จ่าย แต่จำนวนเงินที่เก็บได้ไม่สู้แน่นอน..... ต่อนั้นมาก็เกิดตั้งขึ้นอีกมากโดยความนิยม ถ้าเมืองไหนไม่ตั้งก็ออกจะถูกหาต่าง ๆ ส่วนทางมหาดไทยก็ตั้งกรมบุราภิบาลขึ้น สำหรับการขัดข้อง..... กรรมการสุขานั้นไม่เกี่ยวกับเทศา เพราะกินเงินสุขา ไม่ได้กินเงินงบประมาณแผ่นดิน เทศาได้แต่คุมๆ บางแห่งก็ใช้ปลัดเมืองนั่นเองทำหน้าที่ปลัดสุขาด้วย.....

.....มีพระราชดำรัสถามว่า ที่เสนาบดีกระทรวงพระคลังว่าจะควรแก้จัดขึ้นเป็นทำนอง Municipality นั้นทรงเห็นอย่างไร สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรี ฯ กราบบังคมทูลว่า ไม่ใช่ของง่าย

มีพระราชดำรัสถามกรมพระดำรง ฯ ว่า เคยจัดอย่างไร กรมพระดำรง ฯ กราบบังคมทูลว่า ความตั้งใจชั้นเดิมก็จะจัดอย่าง Municipality แต่ภายหลัง..... การจึงกลายไป..... อีกอย่าง ๑ ที่ทรงคิดไว้ก็เรื่อง จะตั้ง Auditor สำหรับตรวจบัญชี มาชั้นนี้ความเข้าใจอย่างชั้นเดิมสูญไป ยังเหลือแต่ที่เชียงใหม่กับภูเก็ต
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ฯ กราบบังคมทูลว่าที่ทำกันอยู่นี้ ยังเข้าใจผิดอยู่ สุขาภิบาลนั้นต้องเกี่ยวแก่การก่อสร้าง จำหน่ายแสงไฟ ให้น้ำ เป็นต้น ที่เอาไปมอบให้แก่สาธารณสุขนั้นไม่ถูก ที่จริงสาธารณสุขควรจะเป็นส่วน ๑ ของสุขาภิบาล แต่เข้าใจกันผิดไปเสียดังนี้จึงเลอะไปหมด ทรงรักข้างให้คิดจัดเสียใหม่ เปลี่ยนชื่อเสียให้เข้ารูป ทรงเห็นว่าจะพอทำได้ ที่จะให้มี Auditor ตรวจบัญชีนั้นไม่ยาก

กรมพระยาดำรง ฯ ทรงเห็นว่า ที่มีอยู่ก็ไม่ผิด พอแก้ได้ มีพระราชดำรัสว่าควรจะสืบดูด้วยว่า ที่สิงคโปร์ทำกันอย่างไร กรมพระจันทบุรีกราบบังคมทูลว่า พระองค์ท่านมีส่วนอยู่มาก ในเรื่องที่ไม่ให้เงิน เพราะงานการไม่มีหลักฐาน เรียกชื่อก็ผิด ใกล้ไปข้าง Local Covernment เรื่องเงินนั้นไม่ยาก ถ้าฐานะสมควรก็ให้อำนาจได้..... สมเด็จเจ้าฟ้านครสวรรค์ ฯ ทรงเห็นว่า เมื่อการลงรูปควรเอาผู้ว่าราชการจังหวัดมาฝึกฝนเสียก่อน..... ทรงพระราชดำริเห็นควรฝึกสอนกันอย่างที่พระยาพิพิธสมบัติ
ทำอยู่ในเรื่องสหกรณ์..... มีพระราชดำรัสว่า ก็แปลว่ากรมบุราภิบาล สำหรับเป็นพี้น้อง..... มีพระราชดำรัสว่าจะไม่เอาคนไทยเป็นหัวหน้าและให้ฝรั่งเป็นที่ปรึกษา ตามระเบียบที่คิดไว้หรือ ในชั้นต้นควรให้เขียนโปรแกรม ดำเนินการอย่างเป็นกรรมการ.....

 

 

รายงานการประชุมอภิรัฐมนตรี ครั้งที่ ๒๖ เมื่อ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๐

ฯลฯ
๑.....
กรมพระจันทบุรี ฯ กราบบังคมทูลต่อเรื่องจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง..... มีพระราชดำรัสว่า ถ้าได้คนที่จะเป็นตัวเจ้ากรมบุราภิบาลต่อไปได้จะดี ทรงพระราชดำริเห็นสำคัญ เพราะเกี่ยวกับการณ์ภายหน้า ต้องหาคนที่ตั้งใจดี ถ้าพลาดในการเลือกบุคคลเสียในชั้นแรก การงานต่อไปก็จะยิ่งพลาดใหญ่ คนที่จะทำการอย่างนี้ได้ดีต้องรู้จัก อลุ่ม อล่วย ถ้าเป็นคนก้าวร้าวเอาแต่ได้ก็เสียการ.....

 

หนังสือราชการ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
ทรงมีไปถึงเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ
เรื่อง โครงการประชาภิบาล เมื่อ ๒ กรกฎาคม ๒๔๗๑

ฯลฯ
ด้วยตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้นาย อาว ดี เดรก พระยาจินดารักษ์และพระกฤษณามรพัทธ รวม ๓ นาย เป็นกรรมการศึกษาพิจารณาลักษณะการประชาภิบาล..... เมื่อกรรมการได้ดูการสุขาภิบาลหัวเมืองต่าง ๆ ในพระราชอาณาจักรเสร็จแล้ว ได้กราบถวายบังคมลาไปดูการนี้ในประเทศใกล้เคียง กล่าวคือ ชะวา สิงคโปร์ ฮ่องกง และพิลิปปิน ตลอดแล้ว..... นำรายงานมาเสนอ ซึ่งได้เขียนลงนามกันที่ฮ่องกง ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๗๑.....
โครงการประชาภิบาลตามความเห็นของกรรมการ...... ยังไม่มีข้อเปลี่ยนแปลง ไปจากระเบียบการปัจจุบันอย่างผาดโผนเท่าไรนัก เพราะกรรมการมีความเห็นว่า ตามฐานแห่งพฤติการณ์ในเวลานี้ จะแก้ไขให้ได้ทีเดียว เช่นจะลบล้างลักษณะที่อยู่ในอำนาจให้พ้นไปในทันทีทันใดนั้น ยังเป็นการพ้นวิสัย หรือจะวางนโยบายอย่างอื่นใด ก็ย่อมกอร์ปด้วยอันตราย ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า กรรมการดำริการนี้ และวางทางดำเนินการเป็นอย่างระมัดระวังมาก ประสงค์ความมั่นคงยิ่งกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงโดยเร่งรีบ ซึ่งข้าพเจ้าก็เห็นว่า น่าจะเป็นความคิดที่ถูกต้อง เพราะได้เพียงนี้แล้วก็อาจก่อการสืบไปอีกได้โดยลำดับ แต่หากบางทีจะไม่ทันพระราชประสงค์ที่ทรงจำนงพระราชหฤทัย
อนึ่ง การเรื่องนี้ย่อมเกี่ยวไปถึงหน้าที่ทะบวง หลายกระทรวงด้วยกัน โดยความคาดหมายว่า อาจจะทรงปรึกษา ในที่ประชุมเสนาบดีสภาสักวันหนึ่ง.....
......

 

 

พระราชกระแสต่อความเห็นของกรรมการ ในเรื่องการจัดการสุขาภิบาล
(ประชาภิบาล) เมื่อ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๗๑

 

รายงานนี้ เห็นว่าทำดีมาก เรื่องที่แนะนำให้จัดการนั้น ฉันมีความเห็นพ้องด้วยเป็นส่วนมาก และในขั้นต้นนี้ ก็ได้มีความประสงค์ให้ทำอะไรไปมากกว่าที่กรรมการเสนอขึ้นมา ที่จริงไม่ได้ว่าจะให้มีการโวตเลขด้วยซ้ำ แต่ถ้าให้มีได้สำหรับเมืองโต ๆ ก็อาจเป็นประโยชน์ดี
สำหรับกรุงเทพ ฯ นั้น น่าจะคิดไว้เหมือนกัน เห็นว่าทำตามรูปคล้ายอย่างที่สิงคโปร์และฮ่องกง เลือกระเบียบที่เหมาะระหว่างวิธีของสองเมืองนั้นก็น่าจะทำได้
เรื่องนี้ควรเสนอเสนาบดีสภา ให้ส่งสำเนาให้แต่บัดนี้ แต่การประชุมเห็นจะต้องรอไว้จนกว่า กรมหลวงกำแพงเพชรจะเสด็จกลับจากเกาะสุมาตรา เพราะมีเรื่องเกี่ยวกับกระทรวงของท่านที่สำคัญอยู่

ประชาธิปก

 

 

บันทึกความเห็นเรื่องที่จะจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง
ตามพระดำริของเสนาบดีกระทรวงพระคลัง เมื่อ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๗๑

ปัญหาในเรื่องจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ตามความเห็นของกรรมการ ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับคลังคือ
๑. ในข้อที่จะให้คลังตรวจบัญชีเดือนละครั้ง เห็นว่าจะไม่ไหว เพราะคลังภาคมีตัวผู้จะตรวจบัญชีได้ แต่ตัวคลังภาคกับผู้ช่วย การออกตรวจจะตรวจได้ทีละคนผลัดเปลี่ยนกัน เพราะต้องมีตัวประจำที่ทำงาน สำหรับตอบปัญหาขัดข้องของคลังต่าง ๆ เสียคนหนึ่งตามที่กำหนด เวลาให้ตรวจคลังจังหวัดต่าง ๆ ที่อยู่ในอำนาจของคลังภาค ในปีหนึ่งให้ทั่วก็เป็นการหวุดหวิดอยู่แล้ว ถ้าจะตรวจบัญชีสุขาภิบาลด้วย ก็ต้องไปตรวจพร้อมกับคลังจังหวัดนั้น เพราะฉะนั้นกำหนดเวลาตรวจ กระทรวงพระคลังต้องขอไว้ตกลงภายหลัง
๒. เรื่องตั้งกรมขึ้นใหม่สำหรับควบคุมดำเนินการสุขาภิบาลในหัวเมือง เห็นว่าการที่จะมีกรมขึ้นใหม่เฉพาะการคงจะดีกว่า..... ในกรมสาธารณสุขจะรวมงานของสุขาภิบาลอีก แผนกหนึ่งก็ไม่เห็นจะมากเกินไป
๓. ภาษีอากรที่รัฐบาลจะยกให้แก่สุขาภิบาล ตามที่เคยยกให้มาแล้วมีอยู่ ๓ อย่าง..... เห็นว่าเป็นการเพียงพออยู่แล้ว ยังไม่ควรเพิ่มเติมอะไรอีก
๔. เรื่องโรงพยาบาลของสุขาภิบาลที่มีอยู่แล้ว กรรมการเห็นว่าเห็นควรยกมาให้รัฐบาลจัด ในเรื่องโรงพยาบาลนี้ เห็นว่าควรเป็นของประชาชนมากกว่าเป็นของรัฐบาล ......
๕. ในเรื่องเจ้าพนักงานสุขาภิบาล ที่กรรมการเห็นควรให้ได้รับบำเหน็จบำนาญ อย่างเจ้าพนักงานของรัฐบาล..... ถ้าทางอื่นเขาให้กันอย่างไร ก็คงคิดให้เหมือนกัน

 

รายงานเสนาบดีสภา ที่ ๑๘ / ๒๔๗๑ เมื่อ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๗๑

ฯลฯ
๓. ปรึกษางานกรรมการศึกษาพิจารณาลักษณะการประชาภิบาล
...........
มีพระราชดำรัสว่า การสำเร็จนั้นอยู่กับผู้ที่เป็นหัวหน้า (preside)ในที่ประชุม แต่เวลานี้ยังไม่เข้าใจกัน รายงานของกรรมการนี้เป็นแต่ preliminary report เท่านั้น จะต้องทดลองกันต่อไปอีก ถ้าทดลองทำได้ในเมืองใหญ่ ๆ เช่นนครปฐมจะดี เพื่อฝึกหัดราชการ และประชาชน ทรงพระราชดำริว่า ถ้าเรามี Municipal Government ไม่ได้จะมี Parliamentary Government อย่างไรได้ ถ้าหากว่าต่อไปภายหน้า เราจำจะต้องมี Parliamentary Government แล้ว เราต้องพยายามจัดให้มี Municipal Government ขึ้นให้ดีก่อน

 

หนังสือเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ถึงราชเลขาธิการ
เรื่องตั้งกรรมการพิจารณาลักษณะการปกครองชุมชน
โดยวิธีจัดเป็น Municipalily เมื่อ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๗๓

ฯลฯ
กระทรวงมหาดไทยเห็นว่า การปรุงแต่งชุมนุมชนขึ้นเป็นเทศบาล ( Municipalily) จะเป็นในพระมหานคร หรือหัวเมืองก็ตาม ย่อมต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง และมีทางการกระทบถึงหน้าที่ของกระทรวงทบวงการต่าง ๆ เพราะฉะนั้น ควรตั้งรูปการขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ เพื่อปรึกษาหารือกันก่อน และได้ตั้งกรรมการให้ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลขึ้นแล้ว..... ในชั้นนี้จึงควรระงับปัญหาเรื่องการจัดกรุงเทพ ฯ เป็นเทศบาลไว้ จนกว่าการวินิจฉัยเรื่องพระราชบัญญัติเทศบาลจะถึงที่สุด