พระบรมราโชวาท
พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๖
ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๒
ข้าพเจ้าและพระราชีนี มีความยินดี ที่ได้มาร่วมพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ในโอกาสนี้ และพอใจที่ได้ทราบตามรายงานของผู้บังคับการค่ายชุมนุมว่า งานชุมนุมลูกสือนี้ จะให้ประโยชน์แก่ลูกเสือทั้งโดยทางตรง และโดยทางอ้อม เป็นอย่างมาก
ข้าพเจ้าได้เคยกล่าวแก่คณะลูกเสือในโอกาสอื่นมาแล้าว่า การลูกเสือนั้นเป็นกิจการที่ผู้ใหญ่จัดขึ้นสำหรับเด็ก เพื่อซักจูงและฝึกฝนให้เติบโตเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์ และเป็นผู้สามารถเหมาะสมที่จะอยู่ในสังคม ดังนั้นจึงเป็นที่เข้าใจและเป็นที่หวังว่า ต่อไปข้างหน้าลูกเสือจะเป็นคนสำคัญของชาติ คือจะเป็นผู้บริหารปกครองบ้านเมืองได้ ขอให้ลูกเสือทราบถึงสิ่งสำคัญในการปกครองไว้ว่า ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ ลูกเสือทุกคนจงหมั่นฝึกฝนตนเองให้มาก เพื่อให้พร้อมและให้เหมาะแก่การภาระหน้าที่อันจะมีมาข้างหน้านั้น
ในการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งนี้ ลูกเสือทั่วราชอาณาจักรได้มาอยู่ด้วยกัน นอกจากนั้นยังมีแขกจากต่างประเทศมาอยู่ร่วมกับเราด้วย เป็นโอกาสอันประเสริฐที่จะผูกไมตรีระหว่างกันและกัน ขอให้แต่ละคนทำความรู้จักคุ้นเคย แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดกัน ผูกพันกันไว้ด้วยน้ำใจ ลูกเสือจะรู้สึกว่า การที่ได้มาอยู่ร่วมกันเพียงชั่วเวลาเล็กน้อยนี้ อาจก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตอนาคตได้มากมาย
ได้เวลาอันเป็นมงคลแล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ณ บัดนี้ ขออวยพรให้งานดำเนินลุล่วงไปด้วยดี สำเร็จประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ทุกประการ และขอให้ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ลูกเสือทุกคน พร้อมทั้งผู้มีส่วนร่วมในงาน มีความสุขความสวัสดีโดยทั่วกัน
พระราชดำรัสเนื่องในการเปิดศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง
วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๙๕
"อนาคตของชาติทุกชาติย่อมขึ้นอยู่แก่เด็ก เพราะเด็กก็คือผู้ใหญ่ในเวลาข้างหน้า ถ้าบุคคลได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นพลเมืองดีอยู่ในศีลในธรรม เคารพต่อบทกฎหมายของบ้านเมืองเสียตั้งแต่ยังเยาว์ เมื่อเติบโตขึ้นพลเมืองของประเทศก็จะมีแต่คนดี และประเทศจะเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ ก็โดยต้องมีพลเมืองดีดั่งว่านี้ ข้าพเจ้าจึงมีความพอใจที่รัฐบาลของข้าพเจ้าได้มีความสนใจในปัญหาเกี่ยวกับการที่เด็ก และเยาวชนกระทำความผิด และพยายามคิดหาทางที่จะอบรมบุคคลเหล่านี้ให้กลับตนเป็นพลเมืองดี..."
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนวชิรวุธวิทยาลัย
วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘
"ในครั้งนี้อยากจะแนะข้อคิดอันหนึ่ง ซึ่งเป็นทางแห่งความเจริญคือการพิจารณา การพิจารณานั้นเป็นการหยุดยั้งชั่งใจก่อนที่จะปฏิบัติการใดลงไป เสมือนกับได้ปรึกษากับตนเองก่อน ถ้าหากทำสิ่งใดโดยมิได้พิจารณาแล้วก็อาจจะตกเป็นเหยื่อแห่งอารมณ์บังเกิดความประมาทขึ้น อันจะเป็นผลเสียหายแก่กิจการนั้น ๆ ได้"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๙๘
"ในการปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปด้วยดีนั้น นอกจากต้องใช้ความรู้ความสามารถแล้วยังต้องเป็นผู้มีจิตใจสูง มีศีลธรรม มีสติสัมปชัญญะประพฤติแต่ในสิ่งที่ชอบที่ควร วางตนให้สมเกียรติเป็นผู้ที่ควรแก่การนับถือ"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๐๔
"แม้จะเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูงเพียงใด ถ้าบกพร่องต่อการประมาณตนในทางปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ วิชาต่าง ๆ ที่ได้เล่าเรียนมาจนสำเร็จนั้นก็ไร้ประโยชน์ ไม่สามารถจะนำความเจริญมาสู่ตน และประเทศชาติสมดังความปรารถนา"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๑๐
"เพราะความรู้ความคิดอันกว้างขวางนั้น หากมิได้ใช้โดยเหมาะสมถูกต้องแล้ว ก็ให้ผลดีได้ไม่มากนัก หรืออาจจะทำให้เกิดผลเสียหายก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นทุกคนควรสังวรระวังให้มาก ขอให้ตั้งเจตนาอันมั่นคง ที่จะสร้างสรรค์และอบรมกำลังกายกำลังใจ อันสมบูรณ์ไว้เป็นหลักฐาน เพียรพยายามใช้ความฉลาดรอบคอบและสุจริตวินิจฉัยปัญหา และสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เป็นไปโดยถูกต้อง นำความรู้ความคิดของตน ๆ ที่มีอยู่มาเชื่อมโยงเข้ากันให้พร้อมเพรียง ประสมประสานความรู้ความคิดนั้นด้วยเหตุผลและวิจารณญาณ แล้วนำออกใช้ให้ได้ผล กล่าวคือแก้ไขเปลี่ยนแปลงจุดที่บกพร่อง ส่งเสริมจุดที่ดีให้มั่นคงยิ่งขึ้น"
พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระราชทานเพื่ออัญเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ ๑๒
ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๓
"ในบ้านเมืองเราทุกวันนี้ มีเสียงกล่าวกันว่า ความคิดจิตใจของคนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อม ความประพฤติที่เป็นความทุจริตหลายอย่างมีท่าทีจะกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปพากันยอมรับ และสมยอมให้กระทำกันได้เป็นธรรมดา สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมัวลงไป เป็นปัญหาใหญ่ที่เหมือนกระแสคลื่นอันไหลบ่าเข้ามาท่วมทั่วไปหมด จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการฝืนคลื่นที่กล่าวนั้น
ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใด ๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่า ชั่วเสื่อมเราต้องฝืนต้องต้านความคิด และความประพฤติทุกอย่าง ที่รู้สึกว่าขัดต่อธรรมะ เราต้องกล้า และบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่า เป็นความดีเป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ให้ได้จริง ๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้น ๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ"
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย
ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔
"บ้านเมืองจะมีความเรียบร้อย ความมั่นคงก็ต่อเมื่อประชาชนสามารถที่จะปฏิบัติงาน ปฏิบัติตนถูกต้องตามระเบียบของบ้านเมืองตามกฎหมาย แต่กฎหมายนี้ก็ยากที่จะปฏิบัติตาม เพราะว่าต้องมีความรู้และจะต้องมีความสามารถ ที่จะทำให้ถูกต้อง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำ เพื่อให้กฎหมายคุ้มครองได้เท่าที่ได้ทราบแล้ว กฎหมายอาจไม่เป็นสิ่งที่คุ้มครองบุคคลได้ ตรงกันข้ามอาจเป็นเครื่องมือที่กดขี่บุคคล...."
พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ซึ่งได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี
ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๔
"ทุกวันนี้คนทั่วไปนิยมยินดีอย่างมาก ในความคิดและการกระทำโดยอิสระเสรี เด็กก็ได้รับการส่งเสริม และสั่งสอนให้ทำให้คิดอย่างอิสระ การมีเสรีภาพนั้นเป็นของดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจำใช้จำเป็นจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และความรับผิดชอบ มิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นที่เขาก็มีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพและความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วย มิฉะนั้นจะทำให้มีความยุ่งยาก จะทำให้สังคม และชาติประเทศต้องแตกสลายโดยสิ้นเชิง"
พระบรมราโชวาทพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๔
"กฎหมายบ้านเมืองนั้นโดยหลักการมีไว้สำหรับรักษาความยุติธรรม และความสงบเรียบร้อยในแผ่นดิน ด้วยการจัดสรร อำนวยสิทธิเสรีภาพแก่บุคคลโดยถ้วนหน้าและเสมอหน้า แต่ความจริงที่เป็นอยู่ปรากฏว่า ในบางเรื่องบางกรณีการใช้กฎหมายมักไม่ได้ผลสมบูรณ์ ตรงตามหลักการอันเป็นเจตนารมย์ที่แท้นัก อาจนำไปสู่ความยุ่งยาก และความร้าวฉาน ซึ่งเป็นความเสียหาย และอันตรายผู้มีหน้าที่ด้านกฎหมายจะต้องคิดอ่าน กระทำการให้กฎหมายได้เป็นปัจจัยผดุงความเที่ยงธรรม และสงบสุขอย่างแท้จริง
"กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าวจึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญยิ่งไปกว่าความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใด ๆ โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายเท่านั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จำต้องคำนึงถึงความยุติธรรม ซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและผลที่ควรจะได้"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักศึกษาของสำนักอบรมศึกษาฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ณ เนติบัณฑิตยสภา วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๑๕
"กฎหมายทั้งปวงนั้น เราบัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นปัจจัยสำหรับรักษาความยุติธรรม กล่าวโดยสรุปคือ ใช้เป็นแบบแผนแห่งความประพฤติปฏิบัติของมหาชนส่วนหนึ่ง กับใช้เป็นแม่บทในการพิจารณาตัดสินความประพฤติปฏิบัตินั้น ๆ ให้เป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงตรงอีกสถานหนึ่ง"
พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงาน "วันรพี"
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๑๖
"อันกฎหมายนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับบ้านเมือง เพราะว่าเป็นหลักของการอยู่ร่วมกันในชาติบ้านเมือง เพื่อให้การอยู่เป็นระเบียบเรียบร้อย และให้ทุกคนที่อยู่ในชาติสามารถที่จะมีชีวิตรุ่งเรืองโดยไม่เบียดเบียนกัน กฎหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง มิใช่กฎหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชนก็กลายเป็นเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก ในทางตรงข้าม กฎหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลส่วนมากมีเสรี และอยู่ได้ด้วยความสงบ บางทีเราตั้งกฎหมายขึ้นมาก็ด้วยวิชาการ ซึ่งได้มาจากต่างประเทศ แต่วิชาการนั้นอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือท้องที่ของเรา ถ้านักกฎหมายศึกษาในทางกฎหมายโดยแท้ ไม่ได้สนใจในปัญหาที่แท้จริง มัวแต่มาดูทางทฤษฎีของกฎหมายก็จะไม่เกิดประโยชน์ได้ แต่ถ้านักกฎหมายหรือที่สนใจกฎหมายได้ไปดูข้อเท็จจริงต่าง ๆ กฎหมายจะช่วยให้บ้านเมืองมีความเรียบร้อย"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๑๖
"นักกฎหมายทุกคน จะต้องตั้งใจใช้กฎหมายเพื่อผดุงความยุติธรรม ความผาสุกสงบ ความมั่นคงของมหาชนและประเทศชาติ ทั้งต้องเพ่งถึงการใช้วิจารณญาณอันถูกถ้วนให้มากที่สุด ควบคู่กับการใช้กฎหมายเสมอตลอดไปมิฉะนั้นอาจไม่บรรลุผลตามที่ทุกคนมุ่งหวังไว้"
พระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๑๖
"กฎหมายทั้งหมดซึ่งประกาศใช้บังคับแก่ประชาชนนั้น แม้จะมีบทบัญญัติอันเที่ยงธรรม และครอบคลุมไปถึงประชาชนทั่วประเทศอยู่ในตัวโดยหลักการแล้วก็ตาม แต่คดีความที่เกิดขึ้นนั้นก็ยังผิดแผกแปลกกันไปได้มาก ตามเหตุแวดล้อม สถานการณ์ และพื้นฐานทางเศรษฐกิจสังคมของแต่ละท้องถิ่น การใช้กฎหมายบังคับคดีต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณอันถูกต้องของนักกฎหมายควบคู่ไปด้วยทุกกรณี จึงจะสามารถรักษาความยุติธรรมไว้มิให้สั่นคลอน และขาดตกบกพร่องได้ นักกฎหมายทุกคนจะต้องตั้งใจใช้กฎหมายเพื่อผดุงความเป็นธรรม ความผาสุกสงบ ความมั่นคงของมหาชน และประเทศชาติ ทั้งต้องเพ่งถึงการใช้วิจารณญาณอันถูกถ้วนให้มากที่สุด ควบคู่กับการใช้กฎหมายเสมอตลอดไป มิฉะนั้น อาจไม่บรรลุผลตามที่ทุกคนมุ่งหวัง"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๘
"เมื่อกฎหมายของเราดีอยู่แล้ว จุดใหญ่ที่สำคัญที่สุดในการธำรงรักษาความยุติธรรมในบ้านเมือง จึงได้แก่การสร้างนักกฎหมายที่ดี ที่จะสามารถวิเคราะห์ และใช้กฎหมายได้ตรงตามวัตถุประสงค์ ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้ทุกคนสร้างตนให้เป็นนักกฎหมายที่ดีแท้ โดยฝึกตนให้มีความกล้าในอาชีพของนักกฎหมาย คือกล้าที่จะปฏิบัติการไปตามความถูกต้องเที่ยงตรง ทั้งตามกฎหมายและศีลธรรม ไม่ปล่อยให้ภยาคติคือความเอนเอียงไปด้วยความหวาดกลัวในอิทธิพลต่าง ๆ เข้าครอบงำ สำหรับเป็นกำลังส่งให้ทำงานได้ด้วยความองอาจ มั่นใจและมุมานะอีกประการหนึ่งต้องฝึกให้มีความเคารพเชื่อมั่นในสัจธรรมคือความถูกต้องตามคลองธรรม และความเป็นจริงอย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมไม่เห็นสิ่งอันอื่นใดยิ่งไปกว่าความจริง สำหรับป้องกันมิให้ความยุติธรรม และความทุจริตเกิดขึ้นได้"
พระราชดำรัสพระราชทานแก่โต๊ะครู และนักเรียนโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามจากภาคใต้เข้าเฝ้า
ณ ศาลายกาภิรมย์ ศาลาดุสิดาลัย หอประชุมคุรุสภา มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี
สนามโรงพิธีช้างเผือก จังหวัดยะลา สนามกีฬาจังหวัดนราธิวาส มัสยิดมำบังจังหวัดสตูล วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๑๙
"ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากการประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบเป็นหลักสำคัญ ผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบ และหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น ย่อมจะต้องมีทั้งวิชาความรู้ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสำหรับส่งเสริมความประพฤติ และการปฏิบัติการงานให้ชอบคือ ให้ถูกต้องและเป็นธรรม วิชาการกับหลักธรรมนี่ มีประกอบกันพร้อมในผู้ใด ผู้นั้นจะได้ประสบความสุข และความสำเร็จในชีวิตโดยสมบูรณ์"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๒๐
"ความเคร่งครัดหมายถึงความระมัดระวังมั่นคงที่จะปฏิบัติการให้เที่ยงตรงครบถ้วนตามแบบแผนและหลักเกณฑ์ที่ได้วางไว้ แบบแผนและหลักเกณฑ์นั้นย่อมต้องมีเหตุผลเป็นพื้นฐาน และเหตุผลที่จำทำให้พื้นฐานมั่นคงไม่สั่นสะเทือนได้ ก็ต้องเป็นเหตุผลตามความจริงแท้ที่ได้พิสูจน์เห็นจริงแล้วด้วยความละเอียดรอบคอบ ปราศจากความลำเอียง และความหลงผิดตามอารมณ์"
พระบรมราโชวาทแก่ผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๒๐
"กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรม และถูกต้องเที่ยงตรง หรือจะธำรงความศักดิ์สิทธิ์ และประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมอยู่ได้หรือไม่เพียงไรนั้นขึ้นอยู่กับการใช้ คือถ้าใช้ถูกวัตถุประสงค์ หรือเจตนารมย์ของกฎหมายนั้น ๆ จริงแล้ว ก็จะทรงความศักดิ์สิทธิ์ และประสิทธิภาพอันสมบูรณ์ไว้ได้ แต่ถ้าหากนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และเจตนารมย์ โดยการพลิกแพลงบิดพริ้วให้ผันผวนไปด้วยความหลงผิด ด้วยอคติ หรือด้วยเจตนาอันไม่สุจริตต่าง ๆ กฎหมายก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ และประสิทธิภาพลงทันที และกลับกลายเป็นพิษเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง ผู้ที่ต้องการจะใช้กฎหมายสร้างสรรค์ความผาสุกสงบ และความเป็นปึกแผ่นก้าวหน้าของประชาชน และบ้านเมือง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาวัตถุประสงค์อันจริงแท้ของกฎหมายแต่ละฉบับไว้ให้แน่วแน่เสมอไป อย่างไม่มีข้อแม้ประการใด พร้อมทั้งต้องรักษาอุดมคติ จรรยาความสุจริต และมโนธรรมของนักกฎหมายไว้โดยรอบคอบเคร่งครัดเสมอด้วยรักษาชีวิตของตนเอง กฎหมายไทยจึงจะทรงคุณค่าอันสมบูรณ์บริบูรณ์"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๐
"การทำความดีนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเอง ผู้อื่นไม่สำคัญและไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเป็นห่วงหรือต้องรอคอยเขาด้วย เมื่อได้ลงมือลงแรงกระทำแล้ว ถึงแม้จะมีใครร่วมมือด้วยหรือไม่ก็ตาม ผลดีที่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๑
"การที่จะร่วมมือกันทำงานให้ราบรื่นสำเร็จ และดำเนินการก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องกันไปได้นั้น นักปฏิบัติงานทุกคนจะต้องมีวินัยสำหรับใช้กับตนเอง คือต้องไม่ประมาทปัญญา ต้องรักษาความจริงใจ ต้องสลัดทิ้งความคิดจิตใจที่ต่ำทรามอ่อนแอ และต้องทราบตระหนักในความสำรวมไม่ฟุ้งเฟ้อ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่ช่วยให้งานเป็นงาน และให้ชีวิตมั่นคงเป็นสุข"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ ๑๖ ตุลคม ๒๕๒๑
"การที่อยู่กับกฎหมายและใช้กฎหมายมาก ๆ นั้น อาจทำให้ติดในตัวบทกฎหมายมากไป และทำให้เห็นว่าลำพังตัวบทกฎหมายจะให้ความยุติธรรมได้โดยสมบูรณ์ ความจริงกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับกำหนดความถูกผิด เพื่ออาศัยเป็นหลักวินิจฉัยในการอำนวยความยุติธรรม หาใช่ปัจจัยสำคัญสิ่งเดียวในการให้ความยุติธรรมไม่ ดังนั้นจะอาศัยตัวบทกฎหมายกับคำให้การในศาลเท่านั้นไม่ได้ ทั้งนี้เพราะตัวบทของกฎหมาย รวมทั้งข้อเท็จจริงที่นำมากล่าวแก่ศาล เป็นสิ่งที่อาจนำมาพลิกแพลงให้ผิดเพี้ยนไปได้ต่าง ๆ ด้วยความหลง ด้วยอคติ หรือด้วยเจตนาอันไม่สุจริต ทำให้ความเที่ยงธรรมต้องถูกริดรอนทำลายไป การอำนวยความยุติธรรมจึงต้องอาศัยตัวผู้ใช้กฎหมายเป็นปัจจัยสำคัญด้วยเท่า ๆ กันกับตัวบทกฎหมาย"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๒
"ข้าพเจ้าปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นท่านทั้งหลาย ฝึกหัดตนให้เป็นคนกล้า คือกล้าที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามความถูกต้องเที่ยงตรง ทั้งตามกฎหมายและศีลธรรม โดยไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพลหรือคติใด ๆ ทั้งหมด ให้เป็นคนที่มั่นคงในสัตย์สุจริต และความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ปล่อยให้ความสุจริตยุติธรรมถูกย่ำยีให้มัวหมองได้ ทั้งนี้เพื่อท่านจักได้สามารถกำจัดสิ่งที่เรียกว่าช่องโหว่ในกฎหมายให้บรรเทาเบาบาง และหมดสิ้นไป และทำให้กฎหมายเป็นไปตามวัตถุประสงค์อันสูงส่งตามที่มุ่งหมายไว้"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๒๓
"ในการจะทำสิ่งไรก็ตาม ประการแรกจำเป็นต้องรักษาแรงผลักดันในการทำงานที่เคยมีอยู่นั้นไว้ให้มั่นคงเสมอ เพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นเตือน แล้วจึงนำความละเอียดรอบคอบ ความระมัดระวังกันทั้งเหตุผลอันถูกแท้ที่เกิดมีขึ้นภายหลังมาประกอบเข้าด้วย เพื่อช่วยให้สามารถตัดสินการกระทำทั้งปวงได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรง และว่องไว ก็จะทำให้การกระทำทุกอย่างได้ผลสมบูรณ์เต็มเปี่ยม"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๔
"ความรับผิดชอบดังกล่าวนั้น อาจกล่าวได้ว่ามีประเด็นสำคัญอยู่ ๓ ข้อ ข้อแรกจะต้องระวังตั้งใจใช้กำลังเพื่อสร้างประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว ให้ได้ทั้งประโยชน์ตน และประโยชน์ส่วนรวม พร้อมกันนั้นก็จะต้องคอยป้องกัน และแก้ไขอยู่ตลอดเวลา มิให้ความเสียหายหนักขึ้น และข้อสามซึ่งเป็นข้อสำคัญอย่างยิ่ง จะต้องพยายามสร้างเสริมกำลังนั้นให้หนักแน่นมั่นคงและทวีขึ้น ซึ่งมีทางทำได้หลายทาง ทางที่เหมาะสมอย่างหนึ่ง ก็โดยพยายามทำประโยชน์เสียสละให้ผู้อื่น และส่วนรวมให้มากขึ้น การปฏิบัติงานด้วยความเสียสละอย่างนั้น ยิ่งกระทำมากเท่าใด จะช่วยให้เกิดความสามารถ และความเชี่ยวชาญขึ้นเท่านั้น ทั้งเมื่อเคยชินกับการประพฤติปฏิบัติความดีแล้ว ก็จะสามารถป้องกันความชั่วและความเสื่อมสิ้นทั้งปวงได้อย่างดีที่สุดด้วย"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจที่สำเร็จการศึกษาชั้นสูงจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๒๔
"การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๗
"วินัยนั้นเมื่อนำมาฝึกหัดปฏิบัติจะเป็นดังข้อบังคับที่ควบคุมบุคคลให้ประพฤติปฏิบัติเป็นระเบียบ จึงอาจทำให้เกิดความอึดอัด ลำบากใจ เพราะต้องฝืนกระทำ แต่เมื่อปฏิบัติไปให้ชินจนรู้สึกว่าเป็นไปโดยอัตโนมัตแล้วก็จะสำเร็จผล ทำให้เป็นคนมีระเบียบ และเป็นระเบียบ คือคิดก็เป็นระเบียบ ทำก็เป็นระเบียบ ตามลำดับขั้นตอนตามกาละเทศะ ตามความพอเหมาะพอควร หายสับสน หายลังเล และหายขัดแย้ง ทั้งในความคิด ทั้งในการทำงาน สามารถนำวิชาความรู้และความชำนาญทุก ๆ ประการ ไปใช้อย่างถูกต้องคล่องแคล่ว สำเร็จผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย ช่วยให้เกิดผลสมบูรณ์ตามจุดหมาย ทั้งจะเกื้อกูลรักษาผู้มีวินัยให้เจริญสวัสดีทุกเมื่อ"
พระบรมราโชวาทแก่ผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๗
"กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้ เพื่อรักษาความยุติธรรมผู้ใดก็ตามแม้ไม่รู้กฎหมาย แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริตแล้ว ควรได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเต็มที่ ตรงกันข้ามคนที่รู้จักกฎหมาย แต่ใช้กฎหมายไปในทางทุจริตควรต้องถือว่าทุจริต และกฎหมายไม่ควรคุ้มครองจนเกินเลยไป เพราะฉะนั้นจึงไม่สมควรจะถือว่า การรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินมีวงกว้างอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย จำเป็นต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยาตลอดจนเหตุ และผลความเป็นจริงด้วย"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวะศึกษา
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๙
"ประโยชน์หรือการสร้างสรรค์ในทางที่ดีนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการลงมือทำ เมื่อยังไม่ลงมือทำประโยชน์ก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถึงหากจะมีความรู้ความสามารถมากมายเพียงใด ถ้าไม่นำมาลงมือทำก็ปราศจากประโยชน์"
"การลงมือ หมายถึงการปฏิบัติด้วยวิธีต่าง ๆ ทุกอย่าง เรามักปฏิบัติด้วยมือจึงพูดเป็นสำนวนว่าลงมือ การลงมือหรือการปฏิบัตินั้นขึ้นอยู่กับการที่สมองหรือใจสั่ง คือใจสั่งเมื่อไร อย่างไรก็ทำเมื่อนั้น อย่างนั้น ฉะนั้นถ้าใจไม่สู้คือ อ่อนแอลังเล เกียจคร้าน หรือในไม่สุจริต ไม่เที่ยงตรง ก็จะไม่ลงมือทำ หรือทำให้คั่งค้าง ทำให้ชั่วทำให้เสียหาย เป็นการเบียดเบียนตนเบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นการสร้างสรรค์ หากแต่เป็นการบั่นทอนทำลายให้เกิดความเสียหาย และเกิดโทษทุจริต นักปฏิบัติงานจึงต้องรู้จักปฏิบัติฝึกฝนใจของตนเองเป็นสำคัญ และเป็นเบื้องต้นก่อนคือ ต้องหัดทำใจให้หนักแน่น กล้าแข็ง และเป็นระเบียบ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ไม่มักง่ายเห็นแก่ความสะดวกสบาย และสำคัญที่สุดจะต้องใจเที่ยงตรงเป็นกลางและสุจริตอยู่เสมอโดยไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์เครื่องล่อใด ๆ"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๓๐
"หลักการสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ปฏิบัติงานสำเร็จ และเจริญก้าวหน้าได้แท้จริง คือการไม่ทำตัวทำความคิดให้คับแคบ หากให้มีเมตตา และไมตรียินดีประสานสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ร่วมงานอย่างจริงใจ"
พระบรมราโชวาทในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน และสวนสนามของทหารรักษาพระองค์
วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๓๑
"ทหารทั้งหลายจำเป็นต้องปฏิบัติงานด้วยความมีสติตั้งมั่น ด้วยวิจารณญาณที่สุขุมรอบคอบ ด้วยความเป็นไทย ทั้งในความคิดจิตใจและการกระทำ โดยยึดถือความมั่นคงของชาติ ความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง และความผาสุกของประชาชนเป็นเป้าหมาย นอกจากนั้นยังจะต้องถือวินัยสำคัญโดยเคร่งครัดสามข้อ ข้อหนึ่งต้องปฏิบัติงานทุกอย่างด้วยความรู้จริงและรู้ชัดในจุดหมาย ข้อสองต้องทำงานของตนให้ประสานกับงานของผู้อื่น แต่มิให้เป็นการก้าวก่ายแทรกแซง ข้อสามซึ่งสำคัญที่สุดต้องถือหลักพึ่ตนเองยิ่งกว่าการพึ่งบุคคลใดชาติใด..."
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วุฒิบัตร ประกาศนียบัตร และเข็มวิทยฐานะและผู้สำเร็จการศึกษาแก่ผู้ทรงคุณวุฒิ
จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และสถาบันการศึกษาชั้นสูงของสามเหล่าทัพ
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๓๒
"...การปฏิบัติงานร่วมกัน และส่งเสริมกันอย่างมีเอกภาพของผู้มีความรู้ความสามารถระดับนี้ ย่อมมีศักยภาพสูง อาจบันดาลให้มีประสิทธิผล ให้บังเกิดได้ตามต้องการทุกกรณี ท่านทั้งหลายจึงควรอย่างยิ่งที่จะตั้งตัวตั้งใจให้เที่ยงตรง และเหนียวแน่นอยู่ในความถูกต้องและสุจริต ในการที่จะนำความรู้ความคิดวิทยาการทั้งปวงไปใช้แต่ในทางสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ ถ้าทุกฝ่ายเข้าใจและปฏิบัติได้ดังนี้ สิ่งที่แต่ละคนกระทำจะประกอบเกื้อกูลกันขึ้นเป็นความมั่นคงปลอดภัย และความวัฒนาผาสุกของชาติบ้านเมืองได้แท้จริง..."
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ และวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ฯ
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๓
"ขอให้ทุกคนเข้าใจให้ชัด ว่าการทำหน้าที่ของทหารให้บรรลุประสิทธิผลทั้งด้านยุทธการ ทั้งด้านการปฏิบัติพัฒนาให้เกิดความเจริญมั่นคงในชาตินั้น ข้อแรก จะต้องมีความจงรัก และยึดมั่นในชาติบ้านเมือง ต้องมุ่งมั่นที่จะปกป้องรักษาและธำรงอิสระภาพอธิปไตยไว้ทุกเมื่อด้วยสติปัญญา ความสามารถ และชีวิต ความยึดมั่นดังนี้จะเป็นเครื่องป้องกันตนให้พ้นอันตราย จากความชั่ว ทุจริตทั้งหมด และจะเป็นพลังแรงส่งเสริมให้ก้าวหน้าไปในหน้าที่ราชการ ข้อสอง เมื่อจะทำการใด ต้องตั้งใจทำให้จริงด้วยความรับผิดชอบ และความบริสุทธิ์ใจมุ่งถึงผลอันเป็นประโยชน์พึงประสงค์ของการนั้นเป็นสำคัญ ข้อสาม ต้องใช้หลักวิชาใช้เหตุผล ความถูกต้อง และความคิดไตร่ตรองที่บริบูรณ์ด้วยสติ และปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยตัดสินปัญหา ข้อสี่ ต้องถือว่างานทุกด้าน ทุกสิ่งสัมพันธ์พึ่งพิงกันและกันอยู่ จึงจำเป็นต้องร่วมมือประสานประโยชน์กับทุกฝ่าย ทุกคนด้วยความเฉลียวฉลาดและเมตตาปรองดองกัน ทั้งสี่ข้อนี้เป็นสิ่งที่จะขอให้นำไปพิจารณาให้ประจักษ์แก่ใจ แล้วถือเป็นวินัยประจำตัวควบคู่กับวินัยทหาร..."
พระบรมราโชวาทพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน และสวนสนามของทหารรักษาพระองค์
วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๓๓
"...เป็นที่ทราบกันอยู่ว่าทหารไทยนั้น นอกจากจำทำหน้าที่สู้รบป้องกันประเทศ และธำรงรักษาเอกราชอธิปไตย กับทั้งอิสรภาพของชาติไว้ให้สมบูรณ์ยืนยงมาแล้วยังได้ทำหน้าที่พัฒนาบ้านเมือง และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อันเป็นหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดอีกประการหนึ่ง หน้าที่ประการหลังนี้ต้องถือว่าเป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของทหาร เสมอเหมือนถึงการสู้รบ เพราะการพัฒนาให้บ้านเมืองเจริญมั่นคงให้ประชาชนเป็นคนดีมีวิชา มีสถานะความเป็นอยู่ที่ดี มีกำลังเข้มแข็งที่จะช่วยตนเอง และรวมกันเป็นปึกแผ่นได้แข็งแกร่งนั้น สามารถป้องกันระงับเงื่อนไขสงครามและการต่อสู้ เอาชนะความยากไร้และศึกศัตรูภายนอกภายในได้ทั้งหมด..."
พระบรมราโชวาทในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน และสวนสนามของทหารักษาพระองค์
วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๓๖
"ในปัจจุบันแม้จะถือกันว่าสงครามเย็นได้สิ้นสุดยุติไปแล้วก็ตาม แต่หน้าที่ของทหารหาได้ลดน้อยหรือหมดสิ้นความสำคัญลงไปไม่ เหตุเพราะภัยอันตรายและความไม่เป็นปกตินานาประการยังคงคุกคามแผ่ขยายทั่วไปในโลกทุกหนทุกแห่ง ทหารทุกระดับทุกคนจึงต้องระมัดระวังปฏิบัติหน้าที่ให้เข้มแข็ง และรอบคอบยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการยุทธ และการร่วมมือประสานงานกับฝ่ายอื่น ๆ ในการสนับสนุนและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน ถ้าทหารตั้งใจพยายามพัฒนาขีดความรู้ความสามารถของตนให้แน่นหนาสมบูรณ์ จนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ครบถ้วน ก็จะได้รับความสำเร็จความดีความเจริญ ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างสูงทั้งแก่ตัวเองและกองทัพไทย...."
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วุฒิบัตร ประกาศนียบัตรและเข็มวิทยฐานะแก่ผู้ทรงคุณวิฒิ
และผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรและสถาบันชั้นสูงของสามเหล่าทัพ
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๗
"...งานรักษาความมั่นคงของประเทศเป็นงานที่กว้างขวาง และละเอียดลึกซึ้ง เกี่ยวเนื่องกับงานของบ้านเมืองทุก ๆ ส่วน ทั้งยังต้องปรับเปลี่ยนแผนและกระบวนการปฏิบัติให้ถูกต้องทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผู้ปฏิบัติบริหารงานระดับสูงทั้งฝ่ายทหาร และพลเรือนจึงต้องเป็นคนที่สามารถจริง ๆ คือมีความจัดเจนทั้งในวิชาการ ในวิธีการปฏิบัติและในสถานการณ์ทุกด้านในโลก..."
พระบรมราโชวาทในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน และสวนสนามของทหารรักษาพระองค์
วันที่ ๓ ธันวาคม๒๕๓๘
"...ทหารจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจ และเตรียมการให้พร้อมทุกเมื่อ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้พร้อมเพรียงคล่องตัว มีประสิทธิภาพไม่ว่าด้านยุทธการ หรือด้านร่วมมือประสานงานกับฝ่ายอื่น ๆ ในการเกื้อกูลสนับสนุน ยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชาชน และช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อน ในเมื่อเกิดภัยพิบัติอย่างทันการณ์ทันเวลา และทันท่วงที่"
พระบรมราโชวาทในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน และสวนสนามของทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๓๙
"ทหารนั้นอาจกล่าวได้ว่าได้ปฏิบัติตัวปฏิบัติงานมาด้วยดี ทั้งในด้านยุทธการอันเป็นภารกิจโดยตรงของทหาร และในด้านการพัฒนาสร้างสรรค์ให้ประชาชนมีชีวิตที่ร่มเย็นเป็นปกติสุข ตลอดจนช่วยเหลือบำบัดบรรเทาทุกข์ในยามที่เกิดภัยพิบัติเดือดร้อน ผลงานที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ ได้รับความศรัทธาเชื่อถือ และร่วมมือสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวางควรเป็นที่ประจักษ์ว่า แนวทางที่ทหารปฏิบัติตนปฏิบัติงานมานั้นเป็๋นแนวทางที่ถูกต้อง จึงสมควรอย่างยิ่งที่ทหารทุกคนทุกตำแหน่ง จะได้ถือเป็นกรณียกิจสำคัญที่จะต้องพยายามปฏิบัติให้ต่อเนื่องตลอดไป ทั้งตั้งใจพยายามปฏิบัติปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น..."
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานกระบี่แก่ผู้สำการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย ฯลฯ
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐
"...แต่ละคนควรจะได้รับทราบตระหนักแต่เบื้องแรกว่านายทหารเป็นผู้มีภารกิจต้องปฏิบัติ และรับผิดชอบในด้านการปกครองบังคับบัญชาและบริหาร ซึ่งจำเป็นจะต้องปฏิบัติให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีทุก ๆ ด้าน เพราะงานของทหารนั้น ล้วนผูกพันอยู่กับความมั่นคงปลอดภัยของชาติทั้งสิ้น อีกประการหนึ่ง จะต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่างานด้านทหารก็ตาม งานด้านพลเรือนก็ตามแท้จริงแล้วคืองานส่วนรวมของชาติ ซึ่งมีความสำคัญและเกี่ยวพันเชื่อมโยงถึงกันหมด จะแยกออกจากกันให้เด็ดขาดไม่ได้ หากจะต้องดำเนินไปพร้อมกัน และประสานสอดคล้องกันเป็นอย่างดีด้วย ทหารทุกคนจึงต้องสำเหนียกตระหนักอยู่เสมอ ในความรับผิดชอบที่จะต้องปฏิบัติงานของตัว ร่วมงานกับผู้อื่นให้ได้ผลสมบูรณ์ทุกส่วน เพื่อนำพาประเทศชาติของเราให้ก้าวไปถึงความวัฒนาสถาพร และธำรงมั่นคงอยู่ในความร่มเย็นเป็นอิสระตลอดไป..."