พุทธประวัติ
อสิตดาบสเข้าเฝ้าเยี่ยม
เมื่อพระราชกุมารประสูติใหม่ ๆ อสิตดาบส หรือ เรียกอีกนามหนึ่งว่า กาฬเทวิลดาบส ซึ่งเป็นที่คุ้นเคย และนับถือของราชสกุล ได้ทราบว่าพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะประสูติ จึงเข้าไปเยี่ยม พระเจ้าสุทโธทนะทรงอุ้มพระราชโอรส ออกมาเพื่อให้นมัสการพระดาบส แต่ด้วยอภินิหารแห่งกุศลสมภารที่พระบรมโพธิสัตว์ ได้สั่งสมอบรมมาจนถึงพระชาติสุดท้าย บันดาลให้พระบาททั้งสองของพระราชกุมาร ไปปรากฏเหนือเศียรแห่งดาบสเป็นอัศจรรย์ พระราชบิดาและพระดาบสจึงได้ยกหัตถ์ทั้งสองขึ้นประนตนมัสการ แด่พระราชกุมารบรมโพธิสัตว์ อันธรรมดานิยมว่า พระบรมโพธิสัตว์พุทธางกูร เมื่อถึงพระชาติสุดท้ายที่จะได้ตรัสรู้ พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้บำเพ็ญบารมีมาเต็มบริบูรณ์ เป็นเอกอัครมหาบุรุษรัตน์ อันบุญฤทธิ์กฤษดาภินิหาร หากให้เป็นไป จึงไม่ปรากฎว่าถวายนมัสการผู้หนึ่งผู้ใดเลย
โกณทัญญพราหมณ์ถวายคำพยากรณ์เจ้าชายสิทธัตถะ
เมื่อพราหมณ์ 8 คน เข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะ ณ พระราชนิเวศน์ กรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อถวายพยากรณ์พระศิริลักษณ์ พระสิทธัตถะราชกุมาร ซึ่งเพิ่งประสูติใหม่
ในพราหมณ์ทั้ง 8 คนนั้น มีจำนวน 7 คน ที่เจริญด้วยวัยวุฒิ ได้ถวายพยากรณ์รวมกันเป็น 2 คติว่า พระกุมารนี้ ถ้าอยู่ครองราชสมบัติ จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์มหาราชาธิราช ถ้าออกทรงผนวช จะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก โดยยกนิ้วมือ 2 นิ้วยืนยันพยากรณ์ดังในภาพ
ส่วนพราหมณ์โกณทัญญะยังหนุ่ม (พราหมณ์ผู้นั่งหลังและมีผมดำ) แต่สูงด้วยวิทยาคุณ ได้ถวายพยากรณ์เป็นคติเดียว โดยยกนิ้วมือนิ้วเดียวยืนยันว่า พระราชกุมารพระองค์นี้ จะไม่อยู่ในราชสมบัติ จะเสด็จออกทรงผนวช และตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง
พระฉายของเจ้าชายสิทธัตถะไม่เอนเอียงไป
ในสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมารยังทรงพระเยา มีพระชนมายุได้ 8 พรรษา ครั้นเมื่อนักขัตฤกษ์วัปปะมงคลพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นขัตติยะประเพณีนิยมมาถึง พระเจ้าสุทโธทนะจึงโปรดให้เชิญพระราชโอรสเสด็จไปในพระราชพิธีนั้นด้วย เมื่อเสด็จถึง จึงตรัสสั่งให้ข้าราชบริพาร ประดิษฐ์พระราชอาสน์ เป็นที่ประทับสำหรับพระราชโอรส ณ บริเวณต้นหว้าใหญ่ ส่วนพระราชบิดาก็เสด็จไปทรงประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญ
พระกุมารประทับอยู่โดยลำพัง
จึงทรงประทับนั่งขัดสมาธิบัลลังก์ ดำรงพระสติ กำหนดลมหายใจเข้าหายใจออก เจริญพระอานาปานสติกรรมฐานจนได้บรรลุปฐมญาณ เป็นสัมโพธินิมิตเป็นที่อัศจรรย์ แม้ดวงอาทิตย์จะบ่ายคล้อยลงไป แต่เงาของต้นหว้า ยังตั้งตรงดำรงอยู่ประดุจเวลาเที่ยง มิได้เอนเอียงไปตามแสงอาทิตย์ ครั้นพระพี่เลี้ยงกลับมา เห็นความอัศจรรย์ดังกล่าว จึงรีบกลับไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ เมื่อพระองค์เสด็จมาทอดพระเนตรเห็นปรากฎการณ์นั้น จึงได้ถวายบังคมพระราชโอรส โดยนิยมกำหนดในบุญญาภินิหารบารมี
ทรงแข่งธนูแผลงศร
เป็นขัตติยประเพณี พระศากยกุมารจะต้องศึกษาวิชายุทธศิลป์ อย่างชำนิชำนาญให้สมกับพระนามว่าขัตติยะ ซึ่งแปลว่านักรบ เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงศึกษายุทธศิลป์มาโดยช่ำชอง
จนพระกิติศัพท์เลื่องลือไปทั่วทุกแว่นแคว้นในชมพูทวีป ก่อนที่พระองค์จะทรงอภิเษกสมรส พระองค์ได้ทรงแข่งขันการยิงธนู แผลงศร ซึ่งเป็นยุทธศิลป์ชั้นสูงในสมัยนั้น ปรากฎว่า ทรงชนะเลิศในการแข่งขันอย่างง่ายดายแม้เจ้าชายเทวทัตคู่แข่งสำคัญที่มีฝีมือก็ไม่สามารถสู้ได้ แสดงถึงความเป็นเลิศของพระองค์ แม้ทางโลกียวิสัย สมพระวาจาที่ทรงเปล่งเมื่อตรัสรู้แล้วว่า เราเป็นผู้เลิศในโลก
เจ้าชายสิทธัตถะทรงอภิเษก
เจ้าชายสิทธัตถะทรงอภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงยโสธราพิมพา ที่กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระชนมายุได้ 16 พรรษา
ในภาพ ฝ่ายเจ้าหญิงอยู่ด้านซ้าย เจ้าชายอยู่ด้านขวา ทั้งสองพระองค์ประทับบนพระแท่นพิธี มีพระภูษาลาดเป็นพระราชอาศน์เป็นเครื่องหมาย บรรดาผู้ที่นั่งบนแท่นต่ำลงไป ถัดไปทางเบื้องปฤษฎางค์เจ้าชายและเจ้าหญิง เป็นเพื่อนฝ่ายเจ้าบ่าว และฝ่ายเจ้าสาว มีบายศรีประดิษฐานอยู่ท่ามกลางระหว่างทั้งสองฝ่าย ภายในพระพิธีมณฑล
ชั้นล่างมีคณะพราหมณ์กำลังเบิกแว่นเวียนเทียน นั่งอยู่ทางกลุ่มด้านขวา ส่วนกลุ่มด้านซ้ายเป็นพวกหญิงพนักงานและข้าเฝ้า
เจ้าชายสิทธัตถะทรงประทับราชรถชมบริเวณพระราชวัง
เจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จประพาสอุทยาน
สี่วาระ โดยลำดับกัน ทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง สี่คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ อันเทวดาแสร้งเนรมิตไว้ในระหว่างทาง ทรงสังเวชพระหฤทัยเพราะเหตุได้ทรงเห็น เทวทูตทั้ง สี่ข้างต้น อันพระองค์ยังไม่เคยทรงพบมาเลยในกาลก่อน และทรงพอพระทัยในบรรพชา เพราะได้เห็นสมณะเทวทูต วาระที่สี่ เป็นเหตุให้พระองค์ เสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์บำเพ็ญบารมีธรรม จนได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ
เจ้าชายสิทธัตถะทรงสละราชโอรสและพระชายา เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความจริงค่อยปรากฎชัดแก่เจ้าชายสิทธัตถะ ธรรมชาติแห่งความคิดนึกตรึกตรอง และพระมหากรุณาของพระองค์ ไม่ยอมให้พระองค์เสวยความเพลิดเพลินในราชสำนักต่อไป พระองค์ไม่รู้จักความทุกข์เลย แต่รู้สึกสงสารมนุษยชาติผู้มีความทุกข์ ทรงเบื่อหน่ายต่อความสุขอย่างชาวโลก จึงได้เสด็จหนีจากวังในเวลาดึกเพื่อออกบรรพชา ด้วยทรงเห็นสาวสนมนางใน และพวกเล่นดนตรีทั้งหลาย นอนกลิ้งเกลือกอยู่ ไม่เป็นที่น่ายินดี ทรงเห็นสภาพเหล่านี้ ประกอบกับความสงสารในหมู่ประชา จึงทรงตัดสินพระทัย ทิ้งพระชายาและพระโอรสผู้บรรทมอยู่บนพระแท่น ในราตรีกาลนั้น
|