พุทธประวัติ
พระมหากัสสปเถระทราบข่าวพุทธปรินิพพาน
เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้วถึงวันที่เจ็ด ครั้งนั้นพระมหากัสสปะพร้อมด้วยภิกษุบริวาร กำลังเดินทางจากเมืองปาวา จะไปยังเมืองกุสินารา เพื่อเฝ้าพระบรมศาสดา ระหว่างได้แวะพักร้อนที่ร่มไม้ ขณะที่กำลังนั่งพักอยู่นั้น ได้มีอาชีวกะผู้หนึ่ง ถือดอกมณฑารพที่ผูกติดกับกิ่งไม้ต่างร่มเดินมา จึงคิดว่าดอกไม้นี้ไม่มีในแดนมนุษย์ เป็นดอกไม้สวรรค์ จะมีในแดนมนุษย์ก็ต่อเมื่อผู้มีฤทธิ์บันดาล และพระโพธิสัตว์เสด็จปฏิสนธิในครรภ์พระมารดาเป็นต้น แต่ว่าพระบรมศาสดาของเรานั้น ทรงพระชรามากอยู่แล้ว พระองค์คงเสด็จดับขันธปรินิพพานเสียแล้วเป็นแน่
ดำริห์ฉะนี้แล้ว ท่านจึงได้ลุกขึ้นจากที่นั่ง เข้าไปหาอาชีวกะผู้นั้น ยกหัตถ์ขึ้นอัญชลีทัศนสโมธานขึ้นเหนือเศียรเกล้า ถวายคารวะในพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วจึงถามว่า ท่านยังทราบข่าวพระบรมศาสดาของเราบ้างหรือไม่ อาชีวะจึงตอบว่า พระสมณโคดมได้ปรินิพพานเสียได้เจ็ดวันเช้าวันนี้ ดอกไม้นี้ข้าพเจ้าได้เก็บมาจากบริเวณที่เสด็จปรินิพพานนั้น
พอทราบข่าวว่าพระบรมศาสดาเสด็จปรินิพพาน บรรดาภิกษุที่ที่เป็นปุถุชน และพระอริยบุคลที่ยังไม่บรรลุอรหัตผล ก็พากันร้องไห้ปริเทวนาการถึงองค์พระบรมศาสดา ส่วนท่านที่เป็นพระอรหันต์ ก็ได้เกิดธรรมสังเวช ในความที่สังขารเป็นอนิจจตาทิธรรม
ในพวกภิกษุบริวารนั้นมีพระสุภัททะ ซึ่งบวชเมื่อแก่รูปหนึ่ง ได้เที่ยวห้ามปรามมิให้บรรดาภิกษุทั้งหลาย ร้องไห้เศร้าโศก กลับแสดงความดีใจที่พระผู้มีพระภาคได้เสด็จปรินิพพาน เพราะจะได้ไม่มีผู้ที่คอยเคี่ยวเข็ญพวกตนอีกต่อไป การแสดงออกของพระสุภัททะ ทำให้พระมหากัสสปะได้ถือเป็นเหตุสำคัญ กระทำการสังคายนาพระธรรมวินัย เป็นครั้งแรก
พระสุภัททะภิกษุ กล่าวลบหลู่พระธรรมวินัย
ครั้งนั้น พระมหากัสสปะ
พร้อมด้วยภิกษุบริวารเป็นจำนวนมาก เดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดา ในระหว่างทาง ได้ทราบข่าวปรินิพพาน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า บรรดาพระภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ ก็พากันปลงธรรมสังเวช แต่ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ต่างก็คร่ำครวญร่ำไห้กันไปมา
มีภิกษุที่บวชเมื่อแก่รูปหนึ่งชื่อสุภัททะ ได้ร้องห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้เศร้าโศกร่ำไรถึงพระสมณะนั้นเลย เราทั้งหลายพ้นจากพระสมณนั้นได้ยิ่งดี เพราะท่านย่อมสั่งสอนถึงสิ่งควรทำไม่ควรทำ เราลำบากใจนัก บัดนี้เราจะทำสิ่งใดก็ได้ตามความพอใจ ไม่ต้องเกรงบัญชาผู้ใด
แม้การปรินิพพานของพระบรมศาสดาได้เพียง 7 วัน เท่านั้น ก็ยังมีผู้กล่าวร้ายได้ถึงเพียงนี้
ถวายพระเพลิงพระสรีระพระพุทธเจ้า
หลังจากพระบรมศาสดาเสด็จปรินิพพานได้เจ็ดวัน
เหล่ามัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา พร้อมทั้งชาวพระนครทั้งหลาย ได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ มกุฎพันธนเจดีย์
ในวันนั้นพระมหากัสสปะ พร้อมภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่มาจากเมืองปาวา ได้ทราบข่าวจากอาชีวกะผู้หนึ่งในระหว่างทางว่า พระบรมศาสดาได้เสด็จปรินิพพานได้เจ็ดวันแล้ว จึงได้พากันไปยังมกุฎพันธนเจดีย์ เมื่อไปถึงได้กระทำปทักษิณสามรอบ ถวายบังคมแล้วได้กล่าวรำพึงถึงความกตัญญูกตเวทีและความจงรักภักดีที่ตนมีต่อพระพุทธองค์ แล้วตั้งสัตยาธิษฐานให้พระบาททั้งสองของพระพุทธองค์ ชำแรกออกมาให้ได้ถวายบังคมพระพุทธบาท เป็นครั้งสุดท้าย
หลังจากนั้นไฟก็ได้ลุกขึ้นติดพระศพเองและไหม้อยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน ครั้นแล้วเหล่ามัลลกษัตริย์จึงได้เก็บพระบรมธาตุ อัญเชิญเข้าสู่สันฐาคารศาลา กระทำการบูชาสมโภชน์อีกเจ็ดวัน
โทณพราหมณ์ห้ามทัพ
ขณะนั้น กษัตริย์ทั้งเจ็ดนคร
ได้ยกกองทัพมายังเมืองกุสินารา เพื่อขอแบ่งปันพระบรมธาตุ พวกมัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราแจ้งว่า พระบรมศาสดาได้เสด็จมาปรินิพพาน ณ ที่นี้จึงไม่ยอมแบ่งพระบรมธาตุให้ จึงเกิดความขัดแย้งใกล้จะเกิดความรุนแรงถึงขั้นต้องใช้กำลังกัน
ครั้งนั้นโทณพราหมณ์ซึ่งเคยเป็นอาจารย์สั่งสอนผู้คนมาหลายนคร ได้สดับเหตุการณ์วิวาท อันจะก่อให้เกิดการใช้กำลังกัน อันเนื่องมาจากการเสด็จปรินิพพานของพระบรมศาสดา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควร จึงได้ปรากฎตัวขึ้นท่ามกลางบรรดากษัตริย์เหล่านั้น แล้วประกาศให้ยุติการวิวาท และได้ตกลงแบ่งพระบรมธาตุออกเป็นแปดส่วน เพื่อแบ่งให้นครต่าง ๆ นำไปสักการะบูชาสืบต่อไป
โทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุ
เมื่อมัลลกษัตริย์ ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว
ก็ให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ไปประดิษฐานไว้ในสัณฐาคารศาลา กลางนครกุสินารา จัดการรักษาไว้เป็นอย่างดี ให้มีดุริยางค์ดนตรีประโคมตลอดเวลาเจ็ดวัน
ครั้งนั้น เหล่ากษัตริย์และพราหมณ์เจ็ดนคร คือ พระเจ้าอชาติศัตรู แห่งกรุงราชคฤห์ เจ้าลิจฉวีแห่งเมืองไพสาลี เจ้าศากยะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ถูลีกษัตริย์แห่งอัลลกัปปนคร โกลิยกษัตริย์แห่งเมืองรามคาม มหาพราหมณ์แห่งเมืองเวฏฐีปถะ และเจ้ามัลละแห่งเมืองปาวา ต่างก็พากันมาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ พวกมัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา ไม่ยอมให้จนเกือบจะเกิดสงครามกัน
ครั้งนั้นโทณพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่เป็นที่นับถือของคนส่วนใหญ่ ได้พูดจาเกลี้ยกล่อมบรรดากษัตริย์ทั้งหลาย ให้ปรองดองกัน ตกลงแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุ ไปสักการะบูชาอย่างทั่วถึง แล้วโทณพราหมณ์ก็ได้ใช้ทะนานทอง ตวงพระบรมสารีริกธาตุ โดยแบ่งเป็นแปดส่วนเท่า ๆ กัน ในส่วนของตนก็ได้ขอทะนานทองที่ใช้ตวงไว้เป็นที่สักการะบูชา
กษัตริย์ทั้งแปดพระนคร มี นครราชคฤห์ ไพศาลี กบิลพัสดุ์ อัลลกัปปนคร รามคาม เวฏฐปถะ ปาวา และ นครกุสินารา เมื่อได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุโดยเท่าเทียมกันแล้ว ก็มีความปิติโสมนัสชื่นชมยินดีเป็นที่ยิ่ง ได้พากันอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ แห่แหนกลับไปสักการะบูชา ยังบ้านเมืองของตน
|