สิ่งอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา


สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ได้เสด็จประทับจำพรรษาที่ควงไม้สะเดา อันเป็นที่สิงสถิตอยู่แห่งนเฬรุยักษ์ ใกล้กรุงเวรัญชา ขณะนั้นท้าวปหาราทะจอมอสูร ก็ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ถวายบังคมพระองค์แล้วได้ยืนอยู่ ณ มุมหนึ่ง
พระพุทธองค์ทรงถามยักษ์ว่า
“พวกอสูรอภิรมย์ชมชอบทะเลใหญ่บ้างหรือ”
ท้าวปหาราทะ กราบทูลว่า
“พวกอสูรย่อมอภิรมย์ชมชอบทะเลใหญ่จริง”
พระพุทธองค์ตรัสถามว่า
“ดูก่อนปหาราทะ ในทะเลใหญ่มีธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาสักเท่าไร ที่พวกอสูรเห็นแล้วย่อมอภิรมย์ชมชอบ”
ท้าวปหาราทะ กราบทูลว่า
“ในทะเลใหญ่มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ ๘ ประการ ได้แก่

๑. ทะเลใหญ่ลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ หาได้โกรกชันเหมือนเหวไม่
๒. ทะเลใหญ่เต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง
๓. ทะเลใหญ่ไม่เกลื่อนไปด้วยซากศพ เพราะมีคลื่นซัดเอาซากศพเข้าฝั่งให้ขึ้นบกทันที
๔. แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย แม่น้ำคงคา ยมนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านี้ไหลลงไปถึงทะเลใหญ่แล้ว ย่อมละนามเดิมหมด ถึงการนับว่าเป็นมหาสมุทร ทะเลใหญ่เหมือนกันหมด คือเป็นน้ำทะเล
๕. แม่น้ำทุกสายในโลก ย่อมไหลไปรวมยังทะเลใหญ่ และสายฝนจากอากาศตกลงสู่ทะเลใหญ่ แต่ทะเลใหญ่นั้นก็ไม่ได้เต็มฝั่งหรือพร่องลงไป
๖. ทะเลใหญ่มีรสอันเดียวคือ เค็ม
๗. ทะเลใหญ่มีรัตนะ (แก้วมีราคา) มากมายหลายชนิด คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ แก้วประกาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต สังข์ ศิลา
๘. ทะเลใหญ่ เป็นที่พำนักอาศัยของเหล่าสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ และสัตว์ทะเลทั้งหลายดังนี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคลา ปลาติรมิงคลา พวกอสูร นาค คนธรรพ์ มีร่างกายใหญ่ …มีอยู่ในทะเลใหญ่

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ ในทะเลใหญ่พวกอสูรเห็นแล้วจึงอภิรมย์ชมชอบอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุทั้งหลายย่อมอภิรมย์ในพระธรรมวินัยนี้บ้างหรือ
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ย่อมอภิรมย์ชมชอบในพระธรรมวินัยนี้”
ท้าวปหาราทะ ต้องการจะทราบว่าในพระธรรมวินัยนี้ (ศาสนาพุทธนี้) ธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาสักเท่าไร ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว ย่อมอภิรมย์ชมชอบอยู่
พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า

“ธรรมที่น่าอัศจรรย์ในพระธรรมวินัยนี้มี ๘ ประการ เหมือนกัน กล่าวคือ
๑. ทะเลใหญ่ลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนเหว ฉันใด ในพระธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือมีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุพระอรหัตผลโดยตรง

๒. ทะเลใหญ่เต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง ฉันใด พระสาวกทั้งหลายของเราตถาคต ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่เราตถาคตบัญญัติไว้แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต

๓. ทะเลใหญ่ไม่เกลื่อนด้วยซากศพ เพราะในทะเลใหญ่มีคลื่นซัดเอาซากศพเข้าฝั่งให้ขึ้นบก ฉันใด พระสงฆ์สาวกทั้งหลายของเราตถาคตในพระธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ บุคคลผู้ทุศีล มีบาปกรรม มีสมาจาร (ความประพฤติ) ไม่สะอาด น่ารังเกียจ ปกปิดความชั่วมิใช่สมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ มีใจชุ่มด้วยราคะเป็นดั่งหยากเยื่อ สงฆ์ย่อมไม่อยู่ทำสังฆกรรมร่วมกับบุคคลนั้น ประชุมกันยกวัตรเธอเสียทันที คือตัดออกไปจากความเป็นพระสงฆ์ แม้เขาจะนั่งอยู่ท่ามกลางสงฆ์ก็จริง ถึงกระนั้นเขาก็ชื่อว่าห่างไกลจากสงฆ์ (จากความเป็นสงฆ์)

๔. แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย แม่น้ำคงคา ยมนา อจิรวดี สรภู มหี แม่น้ำเหล่านี้ไหลลงไปถึงทะเลใหญ่แล้ว ย่อมละนาม (ทิ้งชื่อ) เดิมหมด ถึงการนับว่าเป็นทะเลใหญ่หรือมหาสมุทรนั่นเอง ฉันใด พระสงฆ์สาวกของเราตถาคตในพระธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ วรรณะ ๔ เหล่านี้ ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่เราตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนาม (ทิ้งชื่อ) เดิมเสีย ถึงการนับว่าสมณศากยบุตรทั้งสิ้น

๕. แม่น้ำทุกสายในโลก ย่อมไหลไปรวมยังทะเลใหญ่ และสายฝนจากอากาศตกลงสู่ทะเลใหญ่ แต่ทะเลใหญ่นั้นก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้น ฉันใด พระสงฆ์สาวกของเราตถาคต ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ ถึงแม้พระสงฆ์สาวกเหล่านั้นเป็นอันมากจะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มด้วยภิกษุนั้น

๖. ทะเลใหญ่มีรสอันเดียวคือ รสเค็ม ฉันใด พระธรรมวินัยของเราตถาคตนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ พระธรรมวินัยมีรสเดียว ได้แก่ วิมุตติรส (รสคือความหลุดพ้น)

๗. ทะเลใหญ่มีรัตนะ (แก้วมีราคา) มากมายหลายชนิด รัตนะในทะเลใหญ่มีดังนี้คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ แก้วประกาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต สังข์ ศิลา ฉันใด พระธรรมวินัยของเราตถาคตนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ พระธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในพระธรรมนี้มีดังนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘

๘. ทะเลใหญ่ เป็นที่พำนักอาศัยของเหล่าสิ่งมีชีวิตใหญ่ สิ่งมีชีวิตในทะเลใหญ่นั้นมีดังนี้ ปลาติมิ ปลาติมิงคลา ปลาติรมิงคลา พวกอสูร นาค คนธรรพ์ มีร่างกายใหญ่ …ฉันใด พระธรรมวินัยของเราตถาคตนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ พระธรรมวินัยนี้ก็เป็นที่พำนักอาศัยแห่งสิ่งมีชีวิตยิ่งใหญ่ๆ
สิ่งมีชีวิตในพระธรรมวินัยนี้ ได้แก่

๑. พระโสดาบัน ผู้ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
๒. พระสกทาคามี ผู้ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส และ
บรรเทาราคะ โทสะ โมหะ
๓. พระอนาคามี ผู้ละสังโยชน์อีก ๒ ข้อ คือ กามราคะ และปฏิฆะ
๔. พระอรหันต์ ผู้ละสังโยชน์เพิ่มขึ้นอีก ๕ ข้อ คือ รูปราคะ อรูป
ราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา

พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ปริพาชกสุภัททะว่า “ดูก่อนสุภัททะ ในพระธรรมวินัยใดไม่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ในพระธรรมวินัยนั้นย่อมไม่มีสมณะที่ ๑ (พระโสดาบัน) ไม่มีสมณะที่ ๒ (พระสกทาคามี) ไม่มีสมณะที่ ๓ (พระอนาคามี) ไม่มีสมณะที่ ๔ (พระอรหันต์) ในพระธรรมวินัยใดมีอริยมรรคมีองค์ ๘ ในพระธรรมวินัยนั้นย่อมมีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ ดูก่อนสุภัททะ ในพระธรรมวินัยของเรานี้มีอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้นในพระธรรมวินัยนี้จึงมีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ อิเม จ สุภทฺท ภิกฺขุ สมฺมา วิหเรยฺยํ อสุญโญ โลโก อรหนฺเตหิ อสฺส

ดูก่อนสุภัททะ ถ้าภิกษุเหล่านี้พึงมีชีวิตอยู่โดยชอบ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย”
(ที.ม. ๑๐/๑๗๖)