แม่ขา........หนูเป็นสาวแล้ว
" แม่จ๋า....เมนส์หนูมาแล้วแหละ " ถั่วแขกแอบกระซิบข้างหูแม่ สีหน้ายิ้มน้อยๆ ไม่ได้บ่งบอกถึงความกังวลใจแม้แต่น้อย
" แล้วลูกมีผ้าอนามัยแล้วหรือ " แม่ถามด้วยความเป็นห่วง ใจนึกกังวลว่า ลูกจะดูแลตัวเองได้ขนาดไหน
" ซื้อแล้วค่ะ...หนูชวนพ่อไปซื้อที่ซุปเปอร์ ตอนที่ไปเซ็นทรัลด้วยกัน "
ท่าทางและการโต้ตอบของลูก ทำให้แม่หมดความกังวลใจกับการที่กลัวว่าลูกจะดูแลตัวเองไม่ได้ จริงๆ
แล้วแม่ก็จำได้ว่าเราสองแม่ลูกคุยกันเรื่องการมีเมนส์(ประจำเดือน) ของสาวน้อยมาหลายเดือนแล้ว เพราะตั้งแต่ลูกขึ้นชั้น ป.5 ลูกมักเล่าให้แม่ฟังว่าเพื่อนๆ ของลูกหลายคนมีเมนส์กันแล้ว ลูกยังถามว่าแล้วของหนูเมื่อไหร่ถึงจะมา แม่ว่า " ถ้าร่างกายของลูกสมบูรณ์พร้อมแล้ว โตเต็มที่ เมนส์ก็จะมาเหมือนแม่ เหมือนเพื่อนๆ "(แม่ได้โอกาสสอนลูก) แม่เลยชวนให้ลูกรู้จักผ้าอนามัย การใช้ผ้าอนามัย รวมถึงการถอดเก็บให้เรียบร้อยหลังการใช้แล้ว
ให้ลูกลองแสดงวิธีใส่ให้ดู ซึ่งเขาก็ดูเขินเล็กน้อยแต่ก็ลองทำอย่างกระตือรือร้น และไม่วายถามด้วยความสงสัยอีกว่า " ทำไมผู้หญิงต้องมีเมนส์ด้วยละแม่ " แม่เงียบไปสักครู่...เอ! เราควรจะตอบลูกอย่างไรดี...แล้วก็บอกลูกว่า " เพราะลูกเริ่มโตเป็นสาวแล้ว ผู้หญิงทุกคนเมื่อเริ่มโตเป็นสาว ก็จะมีเมนส์แสดงว่าเราพร้อมที่จะมีลูกได้แล้ว "
เมื่อลูกเป็นสาวสิ่งที่แม่ห่วงคือ...ลูกยังเด็กนักที่จะรู้จักระมัดระวังตัว แล้วแม่จะสอนให้ลูกรู้จักระมัดระวังตัวได้อย่างไร.
เมื่อวันที่...ลูกมาบอกว่าลูกมีเมนส์แล้ว แม่ไม่ห่วงเรื่องการดูแลความสะอาด เพราะเราคุยกันมาก่อนหน้านั้นแล้ว เพียงแต่คอยดูแลว่าลูกทำได้อย่างที่เคยสอนไว้หรือไม่ ซึ่งลูกก็เข้าใจและทำได้ดี แต่แม่กลับเป็นห่วงว่าจิตใจลูกยังเด็กนัก แต่ร่างกายของลูกพร้อมที่จะมีลูกได้ ยิ่งชวนให้แม่ต้องคิดหาหนทางว่า ควรจะสอนลูกให้ระมัดระวังตัวอย่างไร
เมื่อโอกาสเหมาะแม่จึงคุยกับลูกว่า " ตอนนี้ลูกเริ่มเป็นสาวแล้วนะ จะเล่นอะไรก็ต้องระมัดระวังตัว จะไปเล่นกอดปล้ำกับพ่อเหมือนแต่ก่อนไม่ได้แล้วนะ....กับผู้ชายคนอื่นๆ ก็เหมือนกัน แล้วก็อย่าไปไหนมาไหนกับผู้ชายตามลำพังสองต่อสอง " เจ้าถั่วแขกยังไม่วายสงสัยอีก " แล้วกับพ่อได้ไหมแม่ " " อ้อ!...กับพ่อยกเว้นจ้ะ "..."แหม....นึกว่ากับพ่อก็ไปกันตามลำพังไม่ได้ " เจ้าถั่วแขกทำท่าถอนหายใจอย่างโล่งอก แล้วก็ก้มหน้าก้มตาทำการบ้านต่อไป
และแล้ววันหนึ่ง เจ้าถั่วแขกก็ตั้งคำถามท้าทายมันสมองของแม่อีกจนได้ " แม่....แม่...ถ้าหนูนอนกับน้องตั้ว หนูจะท้องไหม " (เจ้าตั้วนี่เป็นลูกชายของอา อายุ 8 ขวบเท่านั้น) " ลูกคิดว่าเพราะอะไร ถ้าลูกนอนกับน้องแล้วจะท้องละลูก "( แม่ถามลูกก่อนเพราะอยากรู้ว่าลูกคิดต่อเรื่องที่ถามอย่างไร) " ก็ในทีวี พระเอกนอนกับนางเอกแล้วก็ท้อง "....ลูกคิดแค่นั้น..." ถ้าหนูเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่งงานแล้ว อยู่ด้วยกันก็มีลูกได้เหมือนที่พ่อกับแม่แต่งงานกันแล้วก็มีลูกไง "...." แต่บางคนเค้าไม่ได้แต่งงานก็มีลูกได้นะแม่ " " ลูกคิดว่าการท้อง โดยยังไม่ได้แต่งงานกัน เป็นการทำถูกต้องหรือเปล่า
"( แม่ได้โอกาสสอนเรื่องค่านิยมทางสังคมที่ถูกต้องให้กับลูก)... " ใช่...ไม่ถูกนะแม่ " เจ้าถั่วแขกยอมจำนน ไม่ถามต่อและหอบเสื้อผ้าไปอาบน้ำ ทำให้แม่ถอนใจด้วยความโล่งอกเป็นคำรบที่สามเฮ้อ! เอาตัวรอดไปอีกวัน...ดีนะที่แม่ย้อนถามลูกก่อนตอบ
เพราะแม่จะได้รู้ว่าลูกคิดและรับรู้ลึกซึ้งแค่ไหนต่อเรื่องที่ลูกถาม...เพราะบางสิ่งที่ผู้ใหญ่มักคิดมากไปกว่าที่เด็กๆ ถามเสมอ ซึ่งแม่ก็เห็นว่าผู้ใหญ่ควรจะตอบในสิ่งที่เด็กควรรู้เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องอธิบายให้ยืดยาวมากไป แต่ก็คิดว่าถ้าลูกโตกว่านี้ หรืออยากรู้มากกว่านี้ แม่จะอธิบายให้ลูกฟัง แม่จะไม่ยอมให้ลูกเรียนรู้เรื่องเพศผิดๆ จากหนังสือหรือการ์ตูนอย่างแน่นอนจ้ะ...สาวน้อยของแม่....
บทบาทของพ่อแม่
- สอนให้ลูกเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่ถือเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ
- ให้โอกาสลูกในการพบปะเพื่อนต่างเพศ โดยปลูกฝังให้ลูกระมัดระวังตัวเองในการคบเพื่อนต่างเพศ
- รับฟัง ให้ข้อมูลและไม่ตำหนิเมื่อลูกพูดหรือถามถึงเรื่องเพศ
- หาโอกาสปลูกฝังค่านิยมที่ดี เกี่ยวกับบทบาททางเพศให้ลูกรับรู้ด้วยการพูดคุยวิจารณ์ถึงบทความ ละคร หรือภาพยนตร์ที่มีบทแสดงพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม และร่วมกันหาแนวทางในการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม
- แม่ควรแสดงความพึงพอใจในเพศของตนเองให้ลูกเห็น
- พ่อควรให้เกียรติ แสดงความรักและชื่นชมแม่ ให้ลูกรู้สึกมั่นใจว่า เธอจะได้รับความรักและความสุขในชีวิตของความเป็นผู้หญิง
- ถึงแม้ว่าพ่อจะไม่สามารถกอดรัดลูกสาวได้เหมือนเดิม แต่ก็สามารถแสดงความรักด้วยการสัมผัส เช่น ลูบศีรษะ โอบไหล่ลูกบ้าง เพื่อแสดงให้ลูกสาวรู้ว่าเธอยังคงน่ารักและพ่อก็ยังรักเธออยู่เสมอ
ธรรมชาติของสาวน้อย
- ปกติเด็กหญิงจะมีรอบเดือนครั้งแรก เมื่ออายุประมาณ 11-13 ปี
- การมีประจำเดือนแสดงว่ามดลูกและช่องคลอดของเด็กเริ่มเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว
- ในระยะ 1-2 ปี ของการมีประจำเดือนมักจะมีรอบเดือนโดยไม่ตกไข่
- รอบเดือนในช่วงปีแรกจะไม่สม่ำเสมอ หรืออาจหายขาดเป็นช่วงได้ แต่ต่อไปจะมาทุกประมาณ 21-35 วัน
- การเพิ่มขึ้นของน้ำในลำไส้ก่อนมีรอบเดือนอาจทำให้รู้สึกท้องอืดและหงุดหงิดได้บ้าง
- การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเพศ ก่อนมีประจำเดือน อาจกระตุ้นให้เกิดความรู้สึก และแสดงความสนใจหรือเขินอายเพศตรงข้ามได
การปฏิบัติตัวขณะมีรอบเดือน
- ขณะมีรอบเดือนสามารถรับประทานอาหาร น้ำเย็น น้ำมะพร้าว สระผม หรืออกกำลังการได้ตามปกติ
- ขณะมีรอบเดือนให้ทำความสะอาดอวัยวะเพศตามปกติ ไม่จำเป็นต้องสวนล้างช่องคลอด
- ไม่ควรว่ายน้ำในสระหรือลำคลองขณะมีรอบเดือน เพราะอาจติดเชื้อได้
By: เสาวนีย์ พัฒนอมร พยาบาลวิชาชีพ
|