นิทาน เครื่องมือทรงพลังเพื่อสร้าง IQ และ EQ เด็กไทย
โดย : นายแพทย์บวร งามศิริอุดม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย
เชื่อว่าคุณแม่คุณพ่อแทบทุกคนในปัจจุบัน ต้องรู้จักนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกที่ชื่อว่า ไอน์ส-ไตน์ ไอน์สไตน์ มีความฉลาดทางปัญญา (IQ) ประมาณ 180 ขณะที่คนทั่วไปมีไอคิวประมาณ 90-110 เท่านั้น เขาได้ให้ข้อคิดที่สำคัญไว้ว่า ถ้าอยากจะให้ลูกฉลาด คุณแม่คุณพ่อควรจะเล่านิทานให้ลูกฟังเป็นประจำ และถ้าจะให้ลูกฉลาดมากยิ่งขึ้น ทำอย่างไรรู้ไหมครับ ไอน์สไตน์บอกว่า ต้องเล่านิทานให้ลูกฟังหลายๆ เรื่อง คิดว่าคนที่ฉลาดเช่นนี้ พูดไว้แบบนี้ เราคงต้องเชื่อว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ จึงขอขยายความว่าความจริงแล้วนิทานช่วยสร้างสรรค์ให้เด็กฉลาดแบบเบ็ดเสร็จได้อย่างไร
สิ่งแรกสุด เมื่อคุณพ่อคุณแม่เล่านิทานให้ฟัง ลูกต้องได้อยู่ใกล้ชิดคุณแม่คุณพ่อซึ่งเป็นผู้เล่า ทำอย่างนี้ทุกวันความใกล้ชิดในครอบครัวย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เด็กจะรู้สึกอบอุ่น รู้สึกว่าตนเป็นที่รักของคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่จึงเล่านิทานให้ฟัง ขณะเล่านิทานบรรยากาศที่เกิดขึ้นเป็นบรรยากาศแห่งความสุขของทุกคน คุณพ่อคุณแม่และลูกซึ่งนั่งหรือนอนฟังอยู่อย่างใกล้ชิด เป็นภาพแห่งความอบอุ่นตามธรรมชาติของครอบครัวที่มิรู้ลืม
สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว บางครั้งหรือบ่อยครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะทำเสียงเลียนแบบตัวละครตามเนื้อเรื่อง ซึ่งจะสร้างความสุขให้กับเด็กอย่างยิ่ง เป็นความสนุกสนานที่ยากจะลืมเลือน สร้างความผูกพัน มั่นใจ เชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งจะเสริมปัญญาเด็กได้อย่างดี
ประการที่ 2 ขณะเล่านิทานให้ลูกฟัง ลูกอาจจะไม่เข้าใจข้อความบางตอนหรือศัพท์บางคำ ลูกก็อาจจะขอให้เล่าซ้ำ หรือถามคำถามว่าหมายถึงอะไร ตรงนี้แหละจะสร้างให้เด็กเป็นคนกล้าถาม คนกล้าถามแสดงว่ามีใจอยากรู้อยากเห็น และช่วงเวลาอย่างนี้คุณพ่อคุณแม่ก็มักจะมีอารมณ์ในการตอบอย่างสนุกสนานด้วย หากถามมากแล้วได้รู้คำตอบทุกครั้ง ก็ยิ่งสร้างให้เด็กเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัวสะสมมากขึ้นไปเรื่อย เป็นเด็กที่ฉลาดมากขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้น บางครั้งหากคุณแม่เล่าเรื่องเดิม แต่คุณแม่เล่าผิดเพี้ยนไปจากเดิมบ้าง แต่ลูกจำได้ลูกก็จะแสดงความคิดเห็นออกมา ทำให้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็นถูกจังหวะอย่างนี้เรียกว่ามีความฉลาดทั้งปัญญา (IQ) และฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ด้วย
ประการที่ 3 การเล่านิทานเปรียบเหมือนเป็นการสอนภาษาไทยไปในตัว เด็กจะได้ยินได้ฟังถึงรูปประโยค การใช้ภาษาไปในตัวอย่างสนุกสนาน โดยไม่ต้องยัดเยียดแบบการเรียนไวยากรณ์ไทยในสมัยก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ ยิ่งถ้านิทานบางเรื่องเป็นโคลงหรือกลอนหรือฉันทลักษณ์อื่นๆ มีคำสัมผัสต่างๆ เด็กยิ่งจะชอบ ฟังบ่อยๆ พลอยจะเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนในอนาคตได้ เป็นการซึมซับแบบไม่รู้ตัว เด็กคงจะมีทัศนคติที่ดีในการเรียนภาษาไทยต่อไป
|