งานกู้ชาติในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
การรบพม่าที่บางแก้ว
พระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จยกทัพหลวงกลับลงมาจากเชียงใหม่ถึงเมืองตาก เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 พอดีกองทัพพม่าที่ยกตามครัวมอญมาทางด่านแม่ละเมา ใกล้จะยกมาถึงเมืองตาก จึงมีรับสั่งให้หลวงมหาเทพ กับจมื่นไวยวรนาถ คุมกำลัง 2,000 คน ยกไปตีทัพพม่า และได้ปะทะกันในวันนั้น พอตกค่ำฝ่ายพม่าก็ถอยหนีไป จึงมีรับสั่งให้ยกกำลังสวนทางที่พม่าถอยหนีไปนั้น ให้พระยากำแหงวิชิตรีบยกกำลังออกไปก้าวสกัดตัดหลังกองทัพพม่า เพื่อตัดรอนกำลังส่วนนี้ให้หมดสภาพไป เมื่อทรงทราบว่า กองทัพพระยากำแหงวิชิต ตีทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา ให้ถอยหนีกลับไปโดยสิ้นเชิงแล้ว พอกรุงธนบุรีมีใบบอกขึ้นไปว่า มีครัวมอญเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์เป็นอันมาก ก็ทรงประมาณสถานการณ์ได้ว่า คงมีกองทัพพม่า ติดตามครัวมอญเข้ามาทางนั้นอีก ก็เสด็จยกกองทัพหลวงโดยชลมารค ลงมาจากบ้านระแหง เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 รีบมาทั้งกลางวันกลางคืน สิ้นเวลา 5 วันก็ถึงกรุงธนบุรี เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง พวกครัวมอญได้อพยพมาถึงกรุงธนบุรี ก่อนหน้านั้นแล้ว พระยามอญที่เป็นหัวหน้ามี 4 คน คือ พระยาเจ่ง พระยากลางเมือง ตละเซี่ยง และตละเกล็บ พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้ครัวมอญ ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ปากเกร็ด แขวงเมืองนนทบุรี และที่สามโคก แขวงเมืองปทุมธานี และสำรวจได้ชายฉกรรจ์ที่เข้ามาครั้งนั้น จำนวน 3,000 คนเศษ แล้วทรงตั้งพระยาบำเรอภักดิ์ครั้งกรุงเก่า มีเชื้อสายมอญ ให้เป็นที่พระยารามัญวงศ์ มียศเสมอจตุสดมภ์ เป็นหัวหน้าควบคุมกองมอญทั่วไป ส่วนพระยามอญ และพวกหัวหน้า ก็ทรงตั้งให้มียศศักดิ์เป็นข้าราชการทุกคน
ทางด้านพม่า อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพตามพวกมอญมาถึงเมืองเมาะตะมะ เมื่อเดือนอ้าย ปีมะเมีย พ.ศ. 2317 แล้วให้งุยอคงหวุ่น คุมกำลังพล 5,000 คน ยกกำลังตามครัวมอญมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ด้วยเห็นว่า เมื่อครั้งเป็นที่ฉับกุงโบ เคยรบชนะไทยครั้งที่เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ครั้งยกมาถึงท่าดินแดงเห็นไทยตั้งค่ายอยู่ ก็เข้าตีค่ายไทย กองทัพของพระยายมราชมีกำลังน้อยกว่า ก็แตกถอยหนีมาอยู่ที่ปากแพรก พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้รีบเกณฑ์กองทัพในกรุงธนบุรี ให้พระองค์เจ้าจุ้ยลูกเธอ กับพระยาธิเบศร์บดีจางวางมหาดเล็ก นำกำลังพล 3,000 คน ออกไปตั้งรักษาเมืองราชบุรี แล้วให้เจ้ารามลักษณ์หลานเธอนำกำลังพล 1,000 คน ยกขึ้นไปหนุน และให้มีตราขึ้นไปยังกองทัพหัวเมืองเหนือ ให้ยกลงมาด้วย แล้วมีรับสั่งให้เรือเร็ว ขึ้นไปเร่งกองทัพกรุงธนบุรี ที่กำลังเดินทางกลับจากเมืองเหนือ ให้รีบเดินทางกลับมาโดยเร็ว เนื่องจากยังไม่รู้ว่า กองทัพพม่าจะยกกำลังเข้ามามากน้อยเพียงใด
ครั้นถึงวันจันทร์ แรม 4 ค่ำ เดือน 3 พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่า กองทัพกรุง ฯ จะลงมาถึงในวันนี้ จึงเสด็จลงประทับอยู่ที่ตำหนักแพ แล้วให้ตำรวจลงเรือเร็วขึ้นไปคอยสั่งกองทัพ ให้เลยออกไปเมืองราชบุรีทีเดียว อย่าให้ผู้ใดแวะบ้านเป็นอันขาด เรือในกองทัพเมื่อมาถึง ได้ทราบกระแสรับสั่ง ก็เลยมาหน้าตำหนักแพ ถวายบังคมลา แล้วเลี้ยวเข้าคลองบางกอกใหญ่ไปทุกลำ มีพระเทพโยธาคนเดียวที่แวะเข้าที่บ้าน เมื่อทรงทราบก็ทรงพิโรธ และได้ทรงประหารชีวิตพระเทพโยธาด้วยพระหัตถ์ พวกกองทัพทั้งปวงก็เกรงพระราชอาชญา พากันรีบยกกำลังออกไปเมืองราชบุรีตามรับสั่ง
การที่พม่ายกกำลังเข้ามาครั้งนี้ อะแซหวุ่นกี้ประสงค์จะให้ตามมานำครัวมอญกลับไป แต่งุยอคงหวุ่นถือตัวว่าเคยชนะไทยมาก่อน ดังนั้น เมื่อตีกองทัพพระยายมราชแขกแตก ถอยลงมาทางท่าดินแดงแล้ว ก็ยกกำลังเข้ามาถึงปากแพรก พระยายมราชก็ถอยร่นมาตั้งอยู่ที่ดงรังหนองขาว งุยอคงหวุ่นจึงแบ่งกำลังออกเป็นสองส่วน ให้มองจายิด คุมกำลัง 2,000 คน ตั้งค่ายอยู่ที่ปากแพรก เที่ยวปล้นทรัพย์จับผู้คนในแขวงเมืองกาญจนบุรี เมืองสุพรรณบุรีและเมืองนครชัยศรี ตัวงูยอคงหวุ่นเองมีกำลัง 3,000 คน ยกลงมาทางฝั่งตะวันตก เพื่อไปปฏิบัติการในแขวงเมืองราชบุรี เมืองสมุทรสงคราม และเมืองเพชรบุรี ครั้นยกกำลังมาถึงบางแก้ว ทราบว่ามีกำลังของฝ่ายไทย ยกออกไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี จึงให้ตั้งค่ายมั่นลงที่บางแก้ว 3 ค่าย ชัยภูมิที่ตั้งค่ายนี้เป็นที่ดอน อยู่ชายป่าด้านตะวันตก ไม่ได้ลงมาตั้งทางริมแม่น้ำ เช่นที่บ้านลุกแก หรือตอกละออม เช่นที่พม่าเคยมาตั้งครั้งตีกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ เพื่อให้สะดวกต่อการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ และยังป้องกันตัวจากฝ่ายไทยได้ดีกว่า นอกจากนั้น ก็ยังสามารถตั้งอยู่ได้จนถึงฤดูฝน
ฝ่ายไทย พระองค์เจ้าจุ้ยตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี เมื่อทราบว่าพม่าตั้งค่ายอยู่ที่บางแก้ว ด้วยกำลังพล 3,000 คน จึงยกกำลังไปตั้งที่ตำบลโคกกระต่าย ในทุ่งธรรมเสน ห่างจากค่ายพม่าประมาณ 80 เส้น แล้วให้หลวงมหาเทพ คุมกองหน้า ไปตั้งค่ายโอบพม่าทางด้านตะวันตก และให้เจ้ารามลักษณ์นำกำลังยกไปตั้งค่าย โอบทางด้านตะวันออก แล้วบอกความเข้ามายังกรุงธนบุรี
ครั้นถึงวันอังคาร แรม 6 ค่ำ เดือน 3 เมืองนครชัยศรีบอกมาว่า มีพวกพม่ามาปฏิบัติการถึงแขวงเมืองสุพรรณบุรี เมืองนครชัยศรี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้พระยาพิชัยไอศวรรย์ ผู้ว่าที่โกษาธิบดียกกำลัง 1,000 คน ไปรักษาเมืองนครชัยศรี จากนั้นให้เตรียมทัพหลวงมีกำลังพล 9,000 คน เมื่อทรงทราบว่า พม่ายกกำลังมาตั้งค่ายอยู่ที่แขวงเมืองราชบุรี จึงเสด็จยกกำลังออกจากพระนคร เมื่อวันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเมีย พ.ศ. 2317 เมื่อเสด็จถึงเมืองราชบุรี ทรงทราบว่า พม่ากระทำการดูหมิ่นไทย ก็ทรงขัดเคือง เมื่อได้ข่าวว่า มีกำลังพม่าเพิ่มเติมมาที่ปากแพรกอีก 1,000 คน จึงมีรับสั่งให้พระยาสีหราชเดโชชัย กับพระยาวิเศษชัยชาญ ยกกำลัง 2,000 คน ขึ้นไปช่วย พระยายมราชแขกที่หนองขาว จากนั้นจึงเสด็จยกกองทัพหลวงจากเมืองราชบุรี ไปตามทางฟากตะวันตก ไปตั้งค่ายหลวงที่ตำบลเขาพระ เหนือค่ายโคกกระต่ายขึ้นไปประมาณ 40 เส้น ครั้นทราบว่ามีกำลังพม่ายกเข้ามาทางด่านประตูสามบาน ด่านประตูเจ้าขว้างอีกทางหนึ่ง จึงเกรงว่าข้าศึกจะตีตัดทางลำเลียงด้านหลัง จึงมีรับสั่งให้พระองค์เจ้าจุ้ย กับพระยาราชาเศรษฐี ยกกำลังลงมารักษาเมืองราชบุรี
ครั้นถึงวันพฤหัสบดี ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4 พระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จไปทอดพระเนตรค่ายทหารไทย ที่ตั้งโอบทหารพม่าที่บางแก้ว เมื่อทรงพิจารณาภูมิประเทศแล้ว จึงมีรับสั่งให้ไปตั้งค่ายล้อมพม่าเพิ่มเติมอีกจนรอบ แล้วให็เจ้าพระยาอินทรอภัย ไปตั้งรักษาหนองน้ำที่เขาช่องพราน อันเป็นที่ข้าศึกอาศัยเลี้ยงช้างม้าพาหนะ และเป็นเส้นทางเดินลำเลียงเสบียงอาหารของข้าศึกแห่งหนึ่ง ให้พระยารามัญวงศ์คุมกองมอญที่เข้ามาใหม่ ไปรักษาหนองน้ำที่เขาชะงุ้ม ซึ่งอยู่ในเส้นทางลำเลียงของข้าศึก ด้านเหนือขึ้นไป ระยะทางประมาณ 100 เส้น
ฝ่ายงุยอคงหวุ่น เห็นการปฏิบัติการของฝ่ายไทยเข้มแข็งรัดกุม จะนิ่งเฉยอยู่ต่อไปไม่ได้ จึงให้ยกกำลังมาปล้นค่าย เจ้าพระยาอินทรอภัยที่เขาช่องพรานถึงสามครั้ง แต่ก็แตกกลับไปทุกครั้งในคืนเดียวกัน เห็นจะเป็นอันตราย จึงให้คนเร็วเล็ดลอดไปบอกกองทัพที่ปากแพรก ให้ยกมาช่วย
พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชดำริว่า ถ้าล้อมค่ายบางแก้วไว้ ให้พม่าสิ้นเสบียงอาหาร ก็จะยอมแพ้ ออกมาให้จับเป็นเชลยทั้งหมด จึงมีรับสั่งมิให้เข้าตีค่ายพม่า แต่ให้ล้อมไว้ให้มั่น แล้วให้พระยาเทพอรชุน กับพระดำเกิงรณภพ คุมกองอาจารย์ และทนายเลือก รวม 745 คน เป็นกองโจร ไปช่วยเจ้าพระยาอินทรอภัย ตีตัดกำลังข้าศึกที่เขาช่องพรานอีกกองหนึ่ง
ด้านพม่า อะแซหวุ่นกี้คอยอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ เห็นกองทัพงุยอคงหวุ่นหายไปนาน จึงให้ตะแคงมรหน่อง ยกกำลัง 3,000 คน ตามเข้ามา เมื่อมาถึงปากแพรก ได้ทราบว่า งุยอคงหวุ่นถูกฝ่ายไทยล้อมไว้ที่บางแก้ว จึงให้มองจายิดยกกำลัง 2,000 คน ลงมาช่วยงุยอคงหวุ่นที่บางแก้ว ส่วนตนเองยกกำลังลงมาตีค่าย พระยายมราชแขกที่หนองขาว ไม่สามารถเอาชนะฝ่ายไทยได้ จึงถอยกำลังไปตั้งอยู่ที่ปากแพรก
ฝ่ายมองจายิด เมื่อมาถึงเขาชะงุ้ม เห็นกองมอญมีกำลังน้อยกว่า ก็เข้าล้อมไว้ พอตกค่ำ งุยอคงหวุ่นทราบว่า มีกำลังฝ่ายตนยกมาช่วย ก็ยกกำลังออกปล้นค่ายหลวงมหาเทพ หมายจะตีหักออกไป แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ต้องถอยกลับเข้าค่าย พระยาธิเบศร์บดีซึ่งตั้งอยู่ทางด้านเหนือ ก็ยกไปช่วยแก้กองมอญ ออกมาจากที่ล้อมได้ แต่กำลังไม่พอจะต่อสู้พม่าได้ ก็พากันล่าถอยลงมา มองจายิดจึงเข้าไปรวมกำลังกับฝ่ายตน ที่ค่ายเขาชะงุ้มได้ ในวันนั้น พระยานครสวรรค์ยกกำลังไปถึงเมืองราชบุรี จึงมีรับสั่งให้ขึ้นไปช่วยพระยาธิเบศร์บดีในค่ำวันนั้น แล้วให้กำลังทั้ง 3 กอง ไปตั้งค่ายล้อมพม่าทางด้านเหนือ ป้องกันพม่าทั้งสองพวกมิให้เข้าถึงกันได้
ในเดือน 4 เจ้าพระยาจักรียกกองทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่ และได้ตามออกไป พร้อมทั้งพาทูตเมืองน่าน มาถวายต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการของเจ้าฟ้าเมืองน่าน ซึ่งมาอ่อนน้อม ยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมา ออกไปเฝ้าด้วย พระเจ้ากรุงธนบุรีสรรเสริญความชอบเจ้าพระยาจักรี พระราชทานบำเหน็จ แล้วมีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรี ถืออาญาสิทธิ์ไปบัญชาการล้อมพม่าที่บางแก้ว เจ้าพระยาจักรีจึงยกกำลังไปตั้งค่ายมั่นอยู่ที่เหนือพระมหาธาตุเขาพระ อยู่เหนือค่ายหลวงขึ้นไป ส่วนพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จถอยมาประทับอยู่ที่ค่ายโคกกระต่าย ด้วยเหมาะที่จะให้การสนับสนุนได้ทุกด้าน แล้วมีรับสั่งให้หลวงบำเรอภักดิ์ คุมกองกำลังทหารกองนอก 400 คน เป็นกองโจรไปคอยตีสะกัด ไม่ให้พม่าที่เขาชะงุ้ม ออกลาดตระเวณหาอาหารและน้ำใช้ได้สะดวก
ในคืนวันข้างขึ้น เดือน 4 พม่าในค่ายบางกุ้ง ยกกำลังออกปล้นค่ายพระยาพิพัฒน์โกษา แล้วปล้นค่ายหลวงราชนิกุลอีก แต่ก็ไม่เป็นผลเช่นเคย พม่าขัดสนเสบียงอาหาร ต้องกินเนื้อสัตว์พาหนะแต่น้ำในบ่อยังมีอยู่ พม่าต้องอาวุธปืนใหญ่น้อยของไทย เจ็บป่วยล้มตาย จนต้องขุดหลุมลงอาศัยกันโดยมาก ครั้นถึงวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เวลาบ่าย พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จทรงม้าไปที่ค่ายหลวงมหาเทพ ซึ่งตั้งล้อมพม่าอยู่ทางด้านตะวันตก มีรับสั่งให้จักกายเทวะมอญเข้าไปร้องบอกแก่พม่าในค่าย ให้ออกมายอมอ่อนน้อมแต่โดยดี งุยอคงหวุ่นจึงขอเจรจากับ ตละเกล็บหัวหน้ามอญที่มาอยู่กับไทย และได้เป็นที่พระยาราม แต่ก็ยังไม่เป็นผล
เมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์กับพวกผู้ว่าราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ คุมกองทัพหัวเมืองลงไปถึง จึงรับสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์ คุมกองทัพหัวเมืองทั้งปวง ไปตั้งประชิดค่ายพม่าที่เขาชะงุ้มกันไว้ ไม่ให้เข้ามาช่วยพม่าที่ค่ายบางแก้วได้ ทั้งนี้เพื่อคิดจะจับพวกพม่าที่ค่ายบางแก้ว ให้ได้เสียก่อนภารกิจอื่น แม้จะมีข่าวคราวความเคลื่อนไหวของข้าศึก ณ ที่แห่งอื่น ๆ เช่น เมืองคลองวาฬหรือเมืองกุย บอกเข้ามาว่า พวกพม่าที่ยกเข้ามาจากเมืองมะริด ตีบ้านทับสะแกได้แล้ว ลงไปตีเมืองกำเนิดนพคุณ ผู้รั้งกรมการเมืองนำกำลังราษฎรเข้าต่อสู้ ข้าศึกได้เผาเมืองกำเนิดนพคุณ แล้วยกเลยไปทางเมืองปะทิว ซึ่งขึ้นแก่เมืองชุมพร ในกรณีนี้ ได้มีรับสั่งให้มีตราตอบไปว่า ให้ทำลายหนองน้ำและบ่อน้ำ ตามเส้นทางที่จะขึ้นมาเมืองเพชรบุรีให้หมด แห่งใดทำลายไม่ได้ ก็ให้เอาของโสโครก และของที่มีพิษ ใส่ในแหล่งน้ำดังกล่าว อย่าให้ข้าศึกอาศัยใช้ได้
ต่อมา เมื่อทราบเรื่องจากเชลยที่จับมาได้ ว่าพม่าที่เขาชะงุ้มพยายามเล็ดลอด ขนเสบียงมาให้พม่าในค่ายบางแก้ว และได้บอกไปยังตะแคงมรหน่อง ขอกำลังมาเพิ่มเติมให้ทางค่ายเขาชะงุ้ม เพื่อจะได้ตีหักมาช่วยที่ค่ายบางแก้ว จึงมีรับสั่งให้เพิ่มเติมกองโจรให้มากยิ่งขึ้น แล้วให้หลวงภักดีสงคราม นายกองนอกซึ่งอยู่ในกองเจ้าพระยาอินทรอภัย คุมกำลังกองนอก ลอบขึ้นไปทำลายหนองและบ่อน้ำ ในเส้นทางที่จะมาจากปากแพรกเสีย อย่าให้ข้าศึกเพิ่มกำลังเข้ามาได้
ต่อมาพม่าในค่ายเขาชะงุ้ม ก็ทำค่ายวิหลั่น บังตัวออกมาปล้นค่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ในเวลาเที่ยงคืน แต่ถูกฝ่ายไทยตีแตกกลับไป จากนั้นก็ไปปล้นค่ายจมื่นศรีสรรักษ์แต่ไม่เป็นผล ต้องถอยกลับเข้าค่ายไป ต่อมาเมื่อวันอังคาร แรม 5 ค่ำ เดือน 4 ก็ยกกำลังออกมาปล้นค่ายพระยานครสวรรค์ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้ ตั้งแต่เวลา 3 นาฬิกาจนรุ่งสว่าง พระเจ้ากรุงธนบุรีรีบเสด็จขึ้นไป มีรับสั่งให้กองอาจารย์และทนายเลือก เข้าช่วยรบ จนถึงเวลา 8 นาฬิกา พม่าจึงถอยหนีกลับเข้าค่ายไป
งุยอคงหวุ่น เห็นสภาพการณ์เช่นนั้น จึงขอเจรจากับฝ่ายไทยอีก โดยให้นายทัพคนหนึ่งออกมาหาพระยาราม พระยารามจึงพาไปที่เจ้ารามลักษณ์ และเจ้าพระยาจักรี วิงวอนขอให้ปล่อยทัพพม่ากลับไป แต่ฝ่ายไทยไม่ยินยอม ฝ่ายพม่า จึงขอกลับไปปรึกษากันก่อน ต่อมาเมื่อวันศุกร์ แรม 8 ค่ำ เดือน 4 งุยอคงหวุ่นให้พม่าตัวนาย 7 คน ออกมาเจรจาอีกว่า พวกพม่าจะยอมอ่อนน้อม ถวายช้างม้าพาหนะ และเครื่องศัตราวุธทั้งหมด ของเพียงให้ปล่อยตัวกลับไป ทางฝ่ายไทยตอบว่า ถ้าออกมาอ่อนน้อมจะยอมไว้ชีวิต แต่จะปล่อยกลับไปไม่ได้ ในวันนั้นอุตมสิงหจอจัว ปลัดทัพของยุงอคงหวุ่น ได้พานายหมวดนายกองพม่ารวม 14 คน นำเครื่องศัตราวุธของตนออกมาส่งให้ไทย จึงได้นำไปเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรี อุตมสิงหจอจัวกราบทูลว่า จะขอถือน้ำทำราชการกับไทยต่อไปจนชีวิตจะหาไม่ จึงมีรับสั่งให้อุตมสิงหจอจัว ออกไปพูดเกลี้ยกล่อม ให้พวกพม่าออกมาอ่อนน้อม พวกพม่าในค่ายก็ขอปรึกษากันก่อน
ครั้นถึงวันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 4 พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้พระยานครราชสีมา ซึ่งยกกำลังเดินทางมาถึง ให้ไปตั้งค่ายประชิดพม่าที่เขาชะงุ้ม และมีการเจรจาอีกครั้งระหว่างยุงอคงหวุ่น กับอุตมสิงหจอจัว แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ จากการประมาณสถานการณ์เห็นว่า พม่าจะยังไม่ยกเข้ามาในปีนี้ ด้วยจวนจะเข้าฤดูฝน ยังไม่จำเป็นต้องเกณฑ์กองทัพหัวเมือง จึงเป็นแต่ให้มีตราเกณฑ์ข้าวสาร เมืองนครศรีธรรมราช 600 เกวียน เมืองไชยา เมืองพัทลุง และเมืองจันทบุรี เป็นข้าวสารเมืองละ 400 เกวียน ให้ส่งมาขึ้นฉางไว้สำรองราชการสงคราม ถ้าหาข้าวได้ไม่ครบตามจำนวนเกณฑ์ ก็ให้ส่งเป็นเงินแทน โดยคิดราคาข้าวสารเกวียนละ 40 บาท ข้าวเปลือกเกวียนละ 20 บาท
ในที่สุดเมื่อวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 งุยอคงหวุ่น และพวกนายทัพนายกองพม่าในค่ายบางแก้ว ก็ออกมายอมอ่อนน้อมทั้งหมด หลังจากที่ฝ่ายไทยล้อมค่ายพม่าได้ 47 วัน ก็ได้ค่ายพม่าทั้ง 3 ค่าย ได้เชลยรวม 1,328 คน ที่ตายไปเสียเมื่อถูกล้อมอีกกว่า 1,600 คน
เมื่อได้ค่ายพม่าที่บางแก้วแล้ว รุ่งขึ้น ณ วันเสาร์ ขึ้นค่ำ 1 เดือน 5 ปีมะแม พ.ศ. 2318 พระเจ้ากรุงธนบุรีก็มีรับสั่งให้ พระยาอนุชิตราชายกกำลังพล 1,000 คน ขึ้นไปทางริมน้ำฟากตะวันตก ให้หลวงมหาเทพยกกำลังพล 1,000 ขึ้นไปทางริมน้ำฟากตะวันออก ให้ไปตีค่ายพม่าที่ปากแพรก พร้อมกับกองทัพของพระยายมราชแขก แล้วมีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรีขึ้นไปตีค่ายพม่าที่เขาชะงุ้ม ในค่ำวันนั้นเวลาเที่ยงคืน พม่าในค่ายเขาชะงุ้ม ยกค่ายวิหลั่นออกมาปล้นค่ายพระมหาสงคราม หมายจะเข้ามาช่วยพวกของตนที่ค่ายบางแก้ว พม่าเอาไฟเผาค่ายพระมหาสงคราม เจ้าพระยาจักรีไปช่วยทันชิงเอาค่ายกลับคืนมาได้ พม่าย้ายไปปล้นค่ายจมื่นศรีสรรักษ์แต่ถูกฝ่ายไทยต่อสู้ จนต้องล่าถอยกลับเข้าค่าย
ต่อมาเมื่อวันอังคาร ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 5 เวลากลางคืน พม่าในค่ายเขาชะงุ้มก็ทิ้งค่ายหนีกลับไปทางเหนือ กองทัพไทยไล่ติดตามไปฆ่าฟันพม่าล้มตาย และจับเป็นเชลยได้เป็นอันมาก เมื่อหนีไปถึงปากแพรก ตะแคงมรหน่องรู้ว่ากองทัพพม่าเสียทีแก่กองทัพไทยหมดแล้ว ก็รีบยกกำลังหนีกลับไปเมืองเมาะตะมะ พระเจ้ากรุงธนบุรีก็มีรับสั่งให้กองทัพยกติดตามไปจนสุดพระราชอาณาเขต แล้วก็ให้กองทัพกลับคืนมาพระนคร พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่แม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ผู้น้อย ตามสมควรแก่ความชอบ ที่มีชัยชนะพม่าครั้งนี้โดยทั่วกัน
การรบครั้งนี้ เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งพระทัยที่จะจับพม่า ให้ได้หมดทั้งกองทัพที่มาตั้งที่บางแก้ว ด้วยเหตุที่พม่าประกาศหมิ่นไทยประการหนึ่ง และทรงประสงค์จะปลุกใจคนไทย ให้กลับกล้าหาญดังแต่ก่อน หายครั้นคร้ามพม่า จึงทรงทนความลำบาก ใช้เวลาล้อมพม่าอยู่นาน โดยไม่รบแตกหัก ซึ่งถ้าจะทำก็ทำได้โ ดยใช้เวลาน้อยกว่านี้ แต่ผลที่ได้จะต่างกัน การจับพม่าเป็นเชลยได้เป็นจำนวนมากเช่นนี้ ให้ผลทางด้านจิตวิทยามากกว่า
|