เครื่องราชกกุธภัณฑ์

 
 
 

เครื่องราชกกุธภัณฑ์

 


เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ เมื่อประมวลได้ห้าชนิด ก็เรียกว่า เบญจราชกกุธภัณฑ์ ตามหลักฐานที่ประมวลได้ นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา พบว่า เครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ที่ประมวลไว้เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ มีดังนี้


พระมหาเศวตฉัตร

เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นพปฎลมหาเศวตฉัตร เป็นฉัตรหุ้มผ้าขาว ๙ ชั้น มีระบาย ๓ ชั้น ขลิบทอง แผ่ลวด และมียอด ถือว่าเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญที่สุด เดิมเป็นเศวตฉัตร ๖ ชั้น อันหมายถึง สวรรค์ ๖ ชั้น ตั้งแต่ชั้นจตุมหาราชิกาจนถึงชั้น ปรนิมมิตวสวัตดี มีที่ใช้คือ ปักที่แท่นราชอาสน์ราชบัลลังก์ กางกั้นเหนือพระแท่นที่บรรทม ปักที่พระยานมาศ และแขวนกางกั้นพระโกศพระบรมศพ เป็นต้น


พระมหาพิชัยมงกุฎ

เป็นราชสิราภรณ์ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทำด้วยทองลงยา ประดับนวรัตน์ มีเพชรเม็ดใหญ่ประดับไว้บนยอดชื่อ มหาวิเชียรมณี พระมหามงกุฎ หมายถึง ยอดวิมานของพระอินทร์ ผู้เป็นประชาบดีของสวรรค์ชั้นสอง คือ ชั้นดาวดึงส์ ในสมัยโบราณถือว่า มงกุฎมีความสำคัญเท่ากับราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ทำตามราชสำนักยุโรปที่ถือว่า ภาวะแห่งความเป็นกษัตริย์ อยู่ที่เวลาได้สวมมงกุฎ แต่นั้นมาจึงถือว่าพระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นสิ่งสำคัญในบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์


พระแสงขรรค์ชัยศรี

เป็นพระแสงศาสตราวุธประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ พระขรรค์ หมายถึงพระปัญญาในการปกครองบ้านเมือง พระแสงองค์นี้มีประวัติว่า เป็นของเก่า เดิมตกจมอยู่ในทะเลสาบเขมร ที่เมืองเสียมราฐ ชาวประมงทอดแหได้ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ เจ้าพระยาอุภัยภูเบศร์ (แบน) เจ้าเมืองเสียมราฐ ได้นำทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อวันที่พระแสงองค์นี้มาถึงพระนคร ได้เกิดอสุนีบาตตกในพระนครถึง ๗ แห่ง เช่นที่ประตูวิเศษไชยศรี และประตูพิมานไชยศรี ซึ่งเป็นทางที่อัญเชิญ พระแสงองค์นี้ผ่านไป ดังนั้น ประตูพระบรมมหาราชวังดังกล่าวจึงมี คำท้ายชื่อว่า "ไชยศรี" ทั้งสองประตู เช่นเดียวกับ ชื่อพระขรรค์องค์นี้
พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นพระแสงศาตราวุธที่สำคัญที่สุด ในพระราชพิธีที่สำคัญคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธี ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา


ธารพระกร

เดิมเรียกว่า ธารพระกรชัยพฤกษ์ เนื่องจากทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ หุ้มทอง หัวและส้นเป็นเหล็ก คร่ำลายทอง ลักษณะเหมือนไม้เท้า พระภิกษุที่ใช้ในการชักมหาบังสุกุล


วาลวิชนี

เป็นชื่อที่ใช้เป็นทั้งพัดและแส้ กล่าวคือ ในอรรถกถา สมันตปาสาทิกา ใช้คำว่า จามร ซึ่งเป็นแส้ทำด้วยขนหางจามรี ส่วนวาลวิชนีเดิมเป็นพัดใบตาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงมีพระราชดำริว่า ชื่อ วาลวิชนีนั้น คำว่าวาล เป็นขนโคชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า จามรี จึงทรงทำแส้ขนจามรีขึ้น มีด้ามเป็นแก้ว และให้ใช้คู่กันไปกับพัดวาลวิชนี ซึ่งทำด้วยใบตาล ด้ามและเครื่องประกอบทำด้วยทองลงยา

ฉลองพระบาทเชิงงอน

ฉลองพระบาทมีที่มาจากเกือกแก้ว ซึ่งหมายถึง แผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุ และเป็นที่อาศัยของ อาณาประชาราษฎร์ทั่วทั้งแว่นแคว้น ฉลองพระบาทเชิงงอนนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตามแบบอินเดียโบราณ

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เก็บรักษาไว้ ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งจักรพรรดิ์พิมาน ในพระบรมมหาราชวัง และมีพิธีสมโภช เครื่องราชูปโภคและเครื่องราชกกุธภัณฑ์เป็นประจำทุกปี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตร และเครื่องราชกกุธภัณฑ์เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ พระราชทานชื่อว่า พระราชพิธีฉัตรมงคล โดยกระทำในวันพระบรมราชาภิเษก สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน