ศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย

 


หลักปฏิบัติ (อิสลาม) ผู้นับถืออิสลามทุกคนจะต้องถือเป็นหน้าที่ และกิจวัตรจะขาดไม่ได้ การปฏิบัติเบื้องต้นอันเป็นพื้นฐานแรกนั้น แบ่งออกได้เป็นห้าประการคือ

ปฏิญาณตน การปฏิญาณตนเข้ารับนับถืออิสลามนั้น ให้ปฏิญาณในความเชื่อที่มีต่อพระเจ้าและต่อนบี โดยกล่าวออกมาเป็นวาจาจากความเชื่อมั่น และพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสอน ข้อความที่กล่าวคือ

"ข้าพเจ้าขอปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลเลาะฮ์ และข้าพเจ้าปฏิญาณตนว่า นบีมูฮำมัดเป็นศาสนทูตแห่งอัลเลาะฮ์"
เมื่อผู้ใดกล่าวด้วยสำนึกอันจริงใจ และด้วยความศรัทธาอันมั่นคง และพร้อมที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติอิสลาม ก็ถือว่า เป็นมุสลิมแล้ว จากนั้นก็จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับอื่น ๆ เช่น การขลิบปลายผิวหนังส่วนนอกที่หุ้มปลายอวัยวะเพศ การทำความสะอาด การทำนมัสการ การบริจาคทาน และอื่น ๆ

ผู้เข้าอิสลามบางคนที่เข้าโดยเงื่อนไขของการแต่งงานกับมุสลิม มักเข้าใจว่า การกล่าวข้อความปฏิญาณเป็นเพียงเงื่อนไขในการแต่งงาน จึงคิดว่าเมื่อผ่านพิธีปฏิญาณ แล้วก็แล้วกัน ตนไม่ต้องสนใจคำสอนอิสลามแล้ว ปล่อยตัวตามสภาพเดิม การกระทำดังกล่าวไม่เรียกว่า เป็นมุสลิม
ทำละหมาด คือ การนมัสการต่อพระเจ้า ต้องทำเป็นประจำในหลายวาระคือ

- รอบวัน ให้ทำวันละ ๕ ครั้งคือ เวลาเช้าตรู่ (ซุบฮ์) ๒ รอกะอัต เวลาบ่าย (ซุฮุร) ๔ รอกะอัต เวลาเย็น (อัสริ) ๔ รอกะอัต เวลาพลบค่ำ (มักริบ) ๓ รอกะอัต และเวลากลางคืน (อิซา) ๔ รอกะอัต
- รอบสัปดาห์ ให้รวมกันทำในวันศุกร์ ณ มัสยิด จำนวน ๒ รอกะอัต
- รอบปี ให้ทุกคนมาละหมาด ณ มัสยิดหรือสถานชุมนุมซึ่งมีสองครั้งคือ
- ละหมาดเมื่อสิ้นเดือนถือศีลอด (อีดิลพิตร์) เรียกว่า วันออกบวช จำนวน ๒ รอกะอัต
- ละหมาดในวันเชือดสัตว์พลีทานเนื่องในเทศกาลฮัจยี (อีดิลฮัดฮา) ซึ่งเรียกว่า วันออกฮัจยี จำนวน ๒ รอกะอัต
- ตามเหตุการณ์ เมื่อเกิดเหตุการณ์บางประการให้ทำละหมาดด้วย เช่น
- ทำละหมาดขอพรแก่ผู้ตายก่อนนำไปฝัง เรียกว่า ละหมาดยานาซะฮ์
- ทำละหมาดขอฝนในยามแห้งแล้ง เรียกว่า ละหมาดอิสติกออ์
- การทำละหมาดในกลางคืนของเดือนถือศีลอด จำนวน ๒๐ กอระอัต เรียกว่า ละหมาดตารอวีห์
- ทำละหมาดระลึกถึงพระเจ้าเมื่อเกิดเหตุผิดปกติทางธรรมชาติคือ เมื่อเกิดจันทรุปราคา เรียกว่า คุซูฟุลกอมัร จำนวน ๒ รอกะอัต และเมื่อเกิดสุริยุปราคา เรียกว่า กุซูฟุซซัมซี จำนวน ๒ รอกะอัต
- ทำละหมาดขอต่อพระเจ้าให้ชี้ทางเลือก ในการประกอบการงานต่าง ๆ เรียกว่า ละหมาดอิสติคงเราะย์ จำนวน ๒ รอกะอัต
นอกจากนี้ยังมีละหมาดอื่น ๆ อีกที่ปรากฏในตำราศาสนาโดยตรง และการละหมาดยังส่งเสริมให้กระทำ โดยไม่ต้องรอวาระทำ เมื่อระลึกถึงพระเจ้า กระทำครั้งละ ๒ รอกะอัต และทำได้เรื่อยไป เรียกว่า ละหมาดสนัตมุตลัก

วิธีทำละหมาด เริ่มด้วยการชำระร่างกายให้สะอาด และอาบน้ำละหมาด ตามแบบดังนี้คือ ตั้งใจว่าจะอาบน้ำละหมาด ล้างมือให้สะอาด บ้วนปาก และล้างรูจมูกให้สะอาด ล้างหน้าให้สะอาด ล้างมือจรดข้อศอก เช็ดศีรษะ เช็ดหู ล้างเท้า ทำไปตามลำดับ เสร็จแล้วให้สวมเสื้อผ้าที่สะอาด โดยผู้ชายต้องปิดระหว่างสะดือกับหัวเข่า ผู้หญิงปิดทั้งร่าง ยกเว้นใบหน้าและฝ่ามือ แล้วยืนหันหน้าไปทางกิบลัด (กะบะฮุ์บัยตุลเลาะฮ์) ด้วยใจสงบมุ่งตรงต่อพระเจ้า แล้วทำดังนี้

- ตั้งเจตนาอันแน่วแน่
- ยกมือจรดระดับบ่าพร้อมทั้งกล่าวตักบีร (กล่าวอัลลอฮูฮักบัร แปลว่า อัลเลาะฮ์ยิ่งใหญ่ที่สุด) แล้วยกมือลงมากอดอก
- ยืนตรงในท่าเดิมพร้อมกับอ่านบางบทจากกุรอานคือ แม่บทฟาติฮะห์และบทอื่น ๆ ตามต้องการ
- ก้มลงใช้มือทั้งสองข้างจับหัวเข่าไว้ ศีรษะทำแนวตรงกับสันหลัง ไม่ห้อยลงและไม่เงยขึ้น พร้อมกับอ่านว่า "ซุบฮานะริบบิยันอะซีมวะบิฮันดิฮ" สามครั้งเป็นอย่างน้อย
- เงยหน้ามาสู่ที่ยืนตรงพร้อมทั้งกล่าวว่า "สมิอัลลอฮุลิมันฮะมิดะฮ์รอบบะนาละกัลฮั้นดุ"
- ก้มลงกราบโดยให้หน้าผากและจมูกจรดพื้น มือวางแนบพื้นในระดับบ่า หัวเข่าทั้งสองวางบนพื้น และปลายนิ้วเท้าสัมผัสกับพื้น พร้อมกับอ่านว่า "ซุบฮานะรอบบิยัลอะฮ์ลาวะบิฮัมดิฮี" สามครั้งเป็นอย่างน้อย
- ลุกขึ้นมานั่งพักพร้อมกับอ่านบทขอพร
- ก้มลงกราบครั้งที่สองเช่นเดียวกับครั้งแรก การกระทำตามลำดับดังกล่าวถือว่า หนึ่งรอกะอัต
- จากนั้นขึ้นมายืนตรง แล้วย้อนกลับไปเริ่มต้นทำตามลำดับที่กล่าวแล้ว และในรอกะอัตที่สอง ให้กระทำดังนี้คือ เมื่อขึ้นจากการกราบครั้งที่สอง ให้นั่งพร้อมกับอ่าน ตะฮียะฮ์ หากละหมาดนั้นมีเพียงสองรอกะอัต ก็ไม่ต้องลุกไปทำรอกะอัตต่อไป แต่ถ้าเป็นละหมาดที่มี ๓ - ๔ รอกะอัต ก็ให้ลุกขึ้นทำตามลำดับดังกล่าวครบจำนวน
- ให้สลาม คือ อ่านว่า อัสลามุอะลัยกุม วะเราะห์มะตุลลอฮ์ พร้อมกับเหลียวไปทางขวา และว่าอีกครั้ง พร้อมทั้งเหลียวไปทางซ้าย จากนั้นให้ยกมือขวาขึ้นลูบหน้า เป็นอันเสร็จพิธี