พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา


วันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา ที่พุทธศาสนิกชนนิยมประกอบพิธีกรรม มีการบูชาเพื่อระลึกถึงคุณ พระรัตนตรัยเป็นพิเศษ แต่เดิมกำหนดไว้สามวัน คือ วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันมาฆบูชา ต่อมาได้เพิ่มวันอาสาฬบูชา เข้ามาอีกวันหนึ่ง รวมเป็นสี่วัน

วันวิสาขบูชา

คือวันเพ็ญเดือนหก สำหรับปีที่มีอธิกมาสเลื่อนไปเป็นวันเพ็ญเดือนเจ็ด วันนี้เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งทั้งสามกาลสมัยของพระพุทธองค์ตกอยู่ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชนจึงนิยมทำการบูชาเป็นพิเศษ เมื่อวันดังกล่าวเวียนมาถึงทุกปี และเรียกวันนี้ว่า วันวิสาขบูชา
วันอัฏฐมีบูชา
คือวันแรม ๘ ค่ำ เดือนหก หรือเดือนเจ็ด นับถัดจากวันวิสาขบูชาไปเจ็ดวัน เป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระที่เมืองกุสินารา นับว่าเป็นวันที่ระลึกถึงพระพุทธองค์อีกหนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนจึงนิยมทำการบูชาพิเศษอีกวันหนึ่ง

 

วันมาฆบูชา

คือวันเพ็ญเดือนสาม ถ้าปีใดมีอธิกมาส ก็จะเลื่อนไปเป็นวันเพ็ญเดือนสี่ เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นหลักของพระพุทธศาสนา เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้น ในท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ในปีแรกที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ และเริ่มประกาศพระศาสนาเป็นเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต เพราะเป็นการประชุมที่ประกอบด้วยองค์สี่ คือ พระภิกษุสงฆ์ที่มาประชุม จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เป็นจำนวนที่พระพุทธองค์ได้ในการมาประกาศพระศาสนาในกรุงราชคฤห์ เป็นครั้งแรกและปีแรกที่ทรงตรัสรู้ ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุ ผู้อุปสมบทมาแต่สำนักพระพุทธองค์ ท่านเหล่านั้นได้มาประชุมกันเองโดยมิได้นัดหมาย และวันที่ประชุมเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ

 

วันอาสาฬหบูชา

คือวันเพ็ญเดือนแปดก่อนวันเข้าปุริมพรรษา ๑ วัน เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ชื่อ ธัมมจักกัปวัตตนุสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี หลังจากทรงตรัสรู้ได้สองเดือน ผลแห่งพระธรรมเทศนานี้ ทำให้พระโกณทัญญะ หนึ่งในปัจจวัคคีย์ได้ธรรมจักษุ คือได้ดวงตาเห็นธรรม ทูลขออุปสมบทต่อพระพุทธองค์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา วันนี้นอกจากจะเป็นวันแห่งพระธรรมแล้ว ยังเป็นแห่งพระสงฆ์ด้วย ทำให้เกิดพระรัตนตรัยครบถ้วน จึงนับเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

ระเบียบพิธี

การบูชาพิเศษในวันสำคัญทั้งสี่วันดังกล่าวแล้ว คือ การเวียนเทียน นอกเหนือไปจากจากประชุมทำวัตร สวดมนต์ และฟังเทศน์
การเวียนเทียน คือการที่พุทธศาสนิกชน ถือดอกไม้ธูปเทียนจุดธูปเทียนแล้วประนมมือเดินเวียนขวา ที่เรียกว่า ทำประทักษิณ รอบปูชนียวัตถุในวัด หรือในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง จำนวนสามรอบ ส่งใจระลึกถึงพระรัตนตรัยขณะเดินเวียนเทียนอยู่ เสร็จแล้วนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาปูชนียวัตถุ ที่เดินเวียนรอบนั้น เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงด้วยเครื่องสักการะบูชา

พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทั้งสี่วัน มีระเบียบปฏิบัติเหมือนกัน ต่างกันแต่คำบูชาก่อนเวียนเทียนเมื่อถึงเวลากำหนด ทางวัดจะตีระฆังสัญญาณให้พุทธบริษัท ทั้งภิกษุสามเณร อุบาสก และอุบาสิกา ประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถหรือลานพระเจดีย์ อันเป็นหลักของวัดนั้น ๆ พระภิกษุอยู่แถวหน้า ถัดไปเป็นสามเณร ท้ายสุดเป็นอุบาสก อุบาสิกา เมื่อพร้อมแล้วทุกคนจุดเทียนและธูป จากนั้นถือดอกไม้ธูปเทียนประนมมือ หันหน้าเข้าหาปูชนียสถานที่จะเวียนนั้น ว่านะโมตัสสะ... พร้อมกันสามจบ ต่อจากนั้นว่าคำถวายดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นเดินด้วยอาการประนม มือดอกไม้ธูปเทียน นั้นไปทางขวาของสถานที่ที่เวียน ระหว่างเดินเวียนพึงตั้งใจระลึกถึง พระพุทธคุณ โดยนัยบท อิติปิโส ภควา ในรอบแรก ระลึกถึงพระธรรมคุณ โดยนัยบท สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ฯลฯ ในรอบที่สอง และระลึกถึงพระสังฆคุณ โดยนัยบท สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ในรอบที่สาม

เมื่อครบสามรอบแล้ว นำดอกไม้ธูปเทียนไปวางบูชาไว้ตามที่ที่ได้เตรียมไว้ ต่อจากนั้นจึงเข้าไปประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถ วิหาร หรือศาลาการเปรียญ เริ่มทำวัตรค่ำ และสวดมนต์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ อย่างพิธีกรรมวันธรรมสวนะธรรมดา เสร็จแล้วมีเทศน์พิเศษที่เกี่ยวกับวันสำคัญนั้น ๆ ๑ กัณฑ์ เป็นอันเสร็จพิธี