ทางแห่งความดี : กลิ่นศีล
เรื่องที่ 40 กลิ่นศีล
พระพุทธภาษิต
น ปุปฺผคนฺโธ ปฏิวาตเมติ
น จนฺทนํ ตครมลฺลิกา วา
สตญฺจ คนฺโธ ปฏิวาตเมติ
สพฺพา ทิสา สปฺปุริโส ปวายติ
จนฺทนํ ตครํ วาปิ อุปฺปลํ อถ วสฺสิกี
เอเตสํ คนฺธชาตานํ สีลคนฺโธ อนุตฺตโร
คำแปล
กลิ่นดอกไม้ ทวนลมไม่ได้, กลิ่นจันทน์, กฤษณา กระลำพักก็ทวนลมไม่ได้ ส่วนกลิ่นของ สัตบุรุษไปทวนลมได้ สัตบุรุษฟุ้งไปได้ทุกทิศ บรรดากลิ่นหอมทั้งหลายเช่นกลิ่นของไม้จันทน์ กฤษณา อุบล และมะลิ เป็นต้น กลิ่นแห่งศีลเป็นเยี่ยม
อธิบายความ
ไม้หอมมีหลายชนิด บางชนิดหอมที่ดอก บางชนิดหอมที่ลำต้น (เช่น จันทน์) บางชนิดหอมที่ราก ความหอมเหล่านั้นไปได้ตามลม ทวนลมไม่ได้ และหอมในขอบเขตเพียงเล็กน้อย คือหอมไปได้ไม่ไกลนัก เมื่อไม่มีลมพัดต้องหยิบมาดมจึงจะหอม แม้ความหอมของดอกแคฝอยในชั้นดาวดึงส์ของพวกเทพก็หอมไปได้ตามลมเพียง 100 โยชน์เท่านั้น แต่กลิ่นศีลของ สัตบุรุษหอมไปได้ไกลทั่วโลก และหอมอยู่ได้นานนับพันปี หรือหมื่นปี ดูกลิ่นศีลของพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง รวมทั้งกลิ่นศีลและเกียรติคุณของคนดีอื่นๆ อันพวกเรายังต้องศึกษาประวัติและผลงานของเขาอยู่จนบัดนี้ คนเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ก่อนพวกเราถึง 2,000-3,000 ปี แต่กลิ่นศีล กลิ่นแห่งความดีของท่าน ก็ยังฟุ้งตลบอยู่ เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่าบรรดากลิ่นทั้งหลาย กลิ่นศีลเป็นเยี่ยม
พระพุทธเจ้าตรัสพระพุทธพจน์เพราะทรงปรารภปัญหาของพระอานนท์ มีเรื่องย่อดังนี้
เรื่องปัญหาของพระอานนท์เถระ
วันหนึ่งพระอานนท์เถระอยู่ในที่หลีกเร้น (ที่สงัด) ในเวลาเย็น คิดว่า พระพุทธเจ้าเคยทรงแสดงกลิ่นของไม้ไว้ 3 อย่างคือ กลิ่นที่เกิดจากดอก เกิดจากแก่น และเกิดจากราก กลิ่นเหล่านั้นฟุ้งไปตามลมได้เท่านั้น ฟุ้งไปทวนลมไม่ได้ กลิ่นอะไรหนอที่ฟุ้งไปทวนลมได้
ท่านเข้าเฝ้าพระศาสดาทูลถามข้อสงสัยนั้น พระศาสดาตรัสตอบว่า กลิ่นศีลฟุ้งไปได้ทั้งตามลมและทวนลม โดยใจความพระ พุทธพจน์ดังนี้
"อานนท์! หญิงหรือชายก็ตาม ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง เว้นจากปาณาติบาต... สุราเมรัย เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีอัธยาศัยน้อมไปในทางเสียสละ คนจนพอขอได้ คนเช่นนั้นย่อมได้รับสรรเสริญ จากสมณพราหมณ์ที่เป็นบัณฑิตทั้งหลาย กลิ่นแห่งความดีของเขาย่อมฟุ้งไปได้ทั้งตามลมและทวนลม..." ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า
"น ปุปฺผคนโธ ปฏิวาตเมติ" เป็น อาทิมีนัยดังอธิบายมาแล้วแต่
|