ฝันเด่นไม่ใช่ฝันดีเสมอไป

 
 
 

ฝันเด่นไม่ใช่ฝันดีเสมอไป

เรื่องความฝันใครๆ ก็ชอบรู้ ชอบฟัง โดยเฉพาะบรรดานักใบ้หวย เพราะอาจนำเอามาตีเป็นเลข 3 ตัวได้ เผลอๆอาจรวยไม่รู้เรื่องหรือเจ๊งตุ๊งก็ได้

ที่จั่วหัวเรื่องว่า "ฝันเด่นไม่ใช่ ฝันดี (เสมอไป)" นั้นขอเรียนให้ทราบ เสียแต่แรกด้วยว่าไม่ใช่จะคุยเรื่องของ นักร้อง นักแสดง นักเล่น
เกมส์โชว์ฝาแฝดที่เห็นตัวบ่อยๆ ในจอโทรทัศน์จนชักเลี่ยนหรอกนะ แต่จะเรื่อยเปื่อยไปตามประสา ถึงเรื่องความฝันให้อ่านกันเล่นๆ (หรือจะอ่านเอาเรื่องก็ไม่ว่ากระไร)

เราทุกคนไม่ว่ารวยว่าจนต่างก็เคยฝันกันทั่วหน้า กรุณาอย่าขัดคอว่าไม่เคยฝันกันหน่อยเลยน่า บางคนที่คิดว่าตนไม่เคยฝันก็เพราะความฝันของเราเป็นเรื่องเบาบางยิ่งกว่าสายลมยามค่ำ สมองไม่ค่อยยอมบันทึกไว้ให้เปลืองที่ นักสรีรวิทยาท่านว่าในระหว่างการหลับตามธรรมดาแต่ละคืน (หรืออาจเป็นกลางวันสำหรับบางคน) คนเราฝันกันนับครั้งไม่ถ้วน ถ้าฝันแล้วตื่นทันทีก็จะยังจำได้ แต่ถ้าเลยไปไม่นานก็จะลืมหมดจนบางคนหลงไปว่าไม่ได้ฝัน ระยะเวลามีความฝันบ่อยที่สุดคือ ตอนก่อนหลับสนิทและตอนก่อนตื่นหรือกำลังจะตื่น พูดง่ายๆ ว่าช่วงเวลาระหว่างหลับตื้นและหลับลึก

จากการศึกษาวิจัยเรื่องการหลับของมนุษย์โดยใช้เครื่องตรวจคลื่นสมองไฟฟ้า (Electro encephalography) ติดกับหนังศีรษะบันทึกคลื่นสมองที่เกิดขึ้นระหว่างหลับ พบว่าคลื่นไฟฟ้าสมองในช่วงเวลาหลับมีลักษณะแตกต่างกัน ซึ่งอาจแบ่งการหลับได้เป็น 4 ระยะ คือ ระยะงัวเงีย, ระยะหลับตื้น, ระยะหลับสนิทหรือหลับลึก และระยะก่อนตื่น

เขาพบว่ามีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างหลับในช่วงรอยต่อระหว่างหลับตื้นกับหลับลึก เป็นการสั่นไหวอย่างเร็วของลูกตา เรียกว่า REM (Rapid Eye Movement) ขณะกำลังมี REM อยู่นี้หากปลุกให้ตื่นก็จะได้คำตอบว่ากำลังฝัน บางคนจึงแบ่งการหลับออกเป็น 2 ชนิด คือ REM Sleep และ Non-REM Sleep
ความฝันแม้เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดแก่ทุกคน แต่สำหรับผู้ที่กินยานอนหลับ จนหลับสนิท จะไม่ฝันเพราะระยะต่างๆ ผ่านไปอย่างรวดเร็วจนเข้าสู่ระยะหลับลึก แต่พอยาหมดฤทธิ์ใกล้ตื่นอาจฝันได้ และส่วนมากเป็นฝันร้ายเสียด้วยยานอนหลับบาง ตัวเมื่อตื่นขึ้นอาจเกิดอาการลืมเลือน ไม่ทราบว่าอยู่ในสถานที่ใดและเวลาใด (Amnesia)

 

ใครเคยมีความฝันที่สวยสดงดงามมีสีสันแบบเดอลุกซ์บ้าง ถ้าเคยถือได้ว่าโชคดี เพราะความฝันโดยทั่วไปมักไม่ค่อยมีสีเป็นคล้ายหนังขาวดำเกือบทั้งสิ้น ภายในฝันก็มักมัวซัวไม่ชัดเจน หน้าของคนที่ฝันเห็นก็เห็นไม่ถนัด ถ้ามีสีก็มักเป็นสีเข้ม เช่นแดงเข้มและน้ำเงินเข้ม นอกจากฝันว่าไฟไหม้เท่านั้น จึงจะเห็นสว่างจ้าน่ากลัวจนตกใจตื่น

ความสามารถในการจำความฝันมีเพียงไหน จากการศึกษาพบว่า ส่วนมากจำไม่ค่อยได้หรือจำได้ก็ไม่นาน ตกๆ หล่นๆ ไม่ปะติดปะต่อกัน ที่ฝันเป็นเรื่องเป็นราวเห็นจะมีแต่ในนิยายจักรๆ วงศ์ๆ หรือโป้ปดเอาเองแทบทั้งสิ้น นักประสาทสรีรศาสตร์กล่าวว่าการบันทึกความจำอะไรก็ตามแต่เกิดขึ้นได้ จากการจับตัวกันของเซลล์สมอง ความฝันพื้นๆ เซลล์สมองจับกันไม่แน่น ประเดี๋ยวประด๋าวก็คลายหลุด เราก็ลืมความฝันนั้น แต่ถ้าเป็นความฝันที่ประทับใจ และตื่นเต้นน่ากลัวเซลล์จะจับกันแน่นทำให้จดจำอยู่ได้นาน พวกที่ฝันเห็นเลข 3 ตัว มักเลือนไปเร็ว บางครั้งก็จำผิดจำถูกจนผู้ฝันโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง

ผู้หลักผู้ใหญ่หรือคนหัวเก่าเชื่อเรื่องความฝันมากบอกว่าเป็นเหมือนลางสังหรณ์ หรือเทพบอกกล่าวอะไรพรรค์นั้น ท่านแบ่งประเภทความฝันออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. บุพนิมิต เป็นเรื่องประสบการณ์เก่าที่ยังฝังใจอยู่
2. จิตอาวรณ์ จิตกระหวัดถึงอะไรบางอย่างวนเวียนจนฝัน
3. เทพสังหรณ์ เทพแจ้งเหตุ มักเกิดตอนเช้ามืด
4. ธาตุพิการ ท้องไส้ผิดสำแดง อาหารไม่ย่อยเลยฝันวุ่นวาย

ทั้ง 4 ประเภทนี้ท่านว่าที่น่าเชื่อถือที่สุดคือ เทพสังหรณ์ ซึ่งบางครั้งต้องหาผู้รู้ มาช่วยทำนายฝันให้จึงจะรู้เรื่อง เช่นถ้าอิสตรีใดฝันว่าถูกงูรัดแสดงว่าจะพบเนื้อคู่ ถ้าผู้ใดฝันว่าฟันกรามหัก ผู้ใหญ่ในครอบครัวจะเสียชีวิต เป็นต้น แต่บางครั้งก็ฝันประหลาด ชนิดที่ไม่มีในตำราก็ต้องตีความกันนานหน่อย

คนโบราณท่านว่าห้ามเล่าเรื่องฝันเวลากินข้าว จะทำให้ฝันนั้นหมดความหมายไป การแก้ฝันบางทีก็มีเงื่อนไข เช่น ถ้าฝันว่าไฟไหม้บ้านให้ไปแก้ฝันกับน้ำ
ความฝันที่เกิดบ่อยมากเห็นจะได้แก่ธาตุพิการ ท้องอืดท้องเฟ้อ จนฝันวุ่นวายไปหมด รองลงไปได้แก่จิตอาวรณ์ มีเรื่องกลัดกลุ้มติดอยู่ในใจ ฝันทีไรก็วกเวียนอยู่แต่เรื่องเดิม

นักสรีรวิทยาเชื่อว่า ความฝันเป็นเรื่องมีประโยชน์ เปรียบเสมือนลิ้น หรือวาล์วระบายความกลัดกลุ้มหรือความเครียดในจิตใจ คนเราเมื่อมีปัญหารุมเร้า แก้ไม่ตกจนเกิดจิตอาวรณ์นอนหลับไม่สนิท ถ้าได้ฝันเสียบ้างจะรู้สึกผ่อนคลายลงได้ ดังเพลงของสุนทราภรณ์ที่ว่า "...ขอให้เจอเธอในฝัน เพราะว่าที่นั่นฝันร่วมกันคงชื่น อยากจะฝันเหมือนกันทุกวันคืน ฝันคงดีกว่าตื่น สดชื่นสุขใจ"

มาเข้าเรื่องฝันเด่น ไม่ใช่ฝันดีเสมอไป เสียที

ในปี 1994 พริทชาร์ด ได้ตีพิมพ์บทความเรื่องผลของ Propanolol ลงในวารสารการแพทย์ว่า มีฤทธิ์ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และลดความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้ดี โปรปาโนลอลเป็นยาในตระกูลสารต้านฤทธิ์เบต้า (Beta Adreuergic Bloching Agent) เรื่องนี้เป็นที่ตื่นเต้นกันมากและเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง

แต่โปรปาโนลอลก็มีผลข้างเคียงหลายอย่าง ที่น่าสังเกตคือ ผู้บริโภคยาตัวนี้หลายรายเกิด "ฝันเด่น" (Vivid Dream) หลายคนเล่าว่าฝันมากขึ้นและภาพในความฝันก็เด่นชัดกว่าที่เคยจำได้ติดตา บ่อยครั้งที่เป็นความฝันที่ตื่นเต้นน่ากลัวจนถึงกับละเมอและเกิดอาการผวา (Night Terror) ฝันที่เกิดจึงเป็นฝันเด่นที่ไม่ใช่ฝันดีเสมอไป

แต่ยาต้านฤทธิ์เบต้าที่สังเคราะห์ขึ้นภายหลังอีกหลายตัวได้มีการพัฒนา ช่วยให้อาการฝันเด่นลดน้อยลงไปมาก ซึ่งผู้ป่วยบางรายกลับไม่ชอบ อ้างว่าฝันมากๆ แหละดี บางทีก็เอาไปให้นักเล่นหวยตีเป็นเลข 3 ตัวได้ ผิดถูกไม่ว่า ขอให้ฝันเถอะ

เป็นงั้นไป...
หมอพัตร