สงกรานต์ ประเพณีขึ้นปีใหม่ของไทย ที่แปลกและไม่เหมือนชาติใดในโลก ด้วยว่าวันนั้นทั้งเมืองจะมีการเล่นน้ำ ทำบุญ ปล่อยนกปล่อยปลา เยี่ยมเยียนญาติสนิทมิตรสหาย อิ่มอกอิ่มใจ และเปียกกันทั่วหน้า


      
       แต่ ณ ปัจจุบัน อาจนึกถึงแต่ความสนุกอย่างเดียว วันนี้เรามาลองย้อนอดีต ทำความเข้าใจกับประเพณีนี้กันสักนิด เผื่อเวลาจะสาดน้ำใคร อาจแถมรอยยิ้มเพิ่มด้วยก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
      
       สงกรานต์ แปลว่า การย้าย เคลื่อนที่ คือเป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ตามการคำนวณของโหรผู้รู้ทางโหราศาสตร์ ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 แต่ทางจันทรคตินี้ เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติในแต่ละปีจะไม่ตรงกัน จึงถือเอาวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันสงกรานต์ เพื่อเป็นการสะดวกสำหรับการนับวันตามปฏิทิน
      

       ในสมัยโบราณได้ถือวันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่นั้น เนื่องจากประเทศที่อยู่ในแถบร้อนถือว่าช่วงเวลาเริ่มต้นฤดูร้อนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ด้วยว่างเว้นจาก การทำการเกษตร อีกทั้งอากาศที่หนาวเย็นก็ผ่านพ้นไปแล้ว ด้วยในช่วงฤดูหนาวนั้นเป็นช่วงที่ทุก ๆ อย่างนั้น หยุดนิ่งไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ก็หยุดผลิดอกออกผล สัตว์ทั้งหลาย ก็หยุดนิ่งนอนจำศีล ด้วยอากาศที่หนาวเย็นนั้นไม่สะดวกในการใช้ชีวิต หรือการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายนั่นเอง
      
       วันสงกรานต์จึงเป็นประเพณีการขึ้นปีใหม่ในประเทศแถบร้อน ซึ่งแตกต่างจากประเทศแถบหนาวดังที่กล่าวไว้ในเรื่องของวันปีใหม่ วันสงกรานต์มีทั้งหมด 3 วันด้วยกัน ได้แก่ วันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ หมายถึง ก้าวหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ คือ สงกรานต์ปี การที่พระอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ วันที่ 14 เมษายนเป็นเนา หมายถึง อยู่คือวันที่ถัดมาจากวันมหาสงกรานต์ 1 วัน การที่พระอาทิตย์เข้ามาอยู่ในราศีเมษเรียบร้อยแล้ว และวันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก หมายถึง วันขึ้นศกใหม่
      
       แต่ในส่วนของ ตำนานวันสงกรานต์ นั้น มีหลักฐานปรากฏในหลักศิลาจารึกของวัดพระ เชตุพนวิมลมังคลาราม จะกล่าวพอสังเขปดังต่อไปนี้
      
       มีท่านเศรษฐีผู้หนึ่งไม่มีบุตรแต่ต้องการบุตรมาก จึงพาบริวารไปบวงสรวงขอบุตรจากพระไทร พระไทรมีความเมตตาสงสารเศรษฐีผู้นี้ จึงได้ขึ้นไปบนสวรรค์ทูลขอบุตรจากพระอินทร์ให้แก่เศรษฐี ผู้นั้น พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลกุมารเทวบุตรลงมาเกิดเป็นบุตรของท่านเศรษฐี
      
       เมื่อภรรยาของท่านเศรษฐีคลอดบุตร ท่านเศรษฐีได้ปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ใต้ต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำ และตั้งชื่อให้ว่า ธรรมบาลกุมาร เด็กที่มีปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างมาก เรียนรู้ไตรเทพจบเมื่ออายุ 7 ขวบ อีกทั้งยังสามารถเรียนรู้ภาษานกได้อีก ความดังกล่าวได้ล่วงรู้ถึงท้าวกบิลพรหม ท่านจึงต้องการที่จะทดสอบปัญญาของธรรมบาลกุมาร ท้าวกบิลพรหมจึงได้เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ถามปัญหาธรรมบาลกุมาร 3 ข้อคือ
      
       ข้อที่ 1 เช้าราศีสถิตอยู่แห่งใด , ข้อที่ 2 เที่ยงราศีสถิตอยู่แห่งใด , ข้อที่ 3 ค่ำราศีสถิตรอยู่แห่งใด
      
       ตลอดจนตกลงกันว่า ถ้าธรรมกุมารสามารถตอบปัญหา 3 ข้อนี้ได้ ภายใน 7 วัน จะตัดเศียรของตนบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าธรรมบาลกุมารไม่สามารถตอบ ปัญหาได้ ธรรมบาลกุมารต้องตัดศีรษะของตนบูชาท้าวกบิลพรหมเช่นกัน
      
       เวลาล่วงเลยไปถึง 6 วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ ด้วยความกลัวอาญาท้าวกบิลพรหม ธรรมบาลกุมาร จึงได้หนีไปแอบซ่อนอยู่ใต้ต้นตาล และบนต้นตาลนั้นมีนกอินทรี 2 ตัว ผัวเมียทำรังอยู่ นกอินทรีทั้งสองได้สนทนากันอยู่ในเรื่องการทดสอบปัญญาของธรรมกุมาร
      
       ฝ่ายตัวผู้ได้พูดแสดงความเห็นใจธรรมกุมารที่ต้องมาเจอกับคำถามที่ยากเกินกว่าสติปัญญาของมนุษย์จะตอบได้ พร้อมกันนั้นได้เผลอเฉลยคำตอบแก่นกตัวเมียด้วยว่า “ ราศีแห่งมนุษย์นั้นจะสถิตอยู่ที่ร่างกายต่างวาระกัน คือ เวลาเช้าจะสถิตอยู่ที่หน้า มนุษย์จึงต้องล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีสถิตอยู่ที่อก มนุษย์จึงต้องปะพรมน้ำที่หน้าอก และเวลาค่ำสถิตอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้า จึงจะพ้นอัปรีย์จัญไรทั้งปวง ”
      
       ธรรมบาลกุมารเมื่อได้ยินดังนั้น ก็ได้จดจำคำตอบและนำไปบอกแก่ท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงจำต้องตัดเศียรของตนบูชาธรรมบาลกุมาร แต่เศียรของท้าวกบิลพรหมมีพิษมาก คือ ถ้าตัดแล้วตั้งไว้บนแผ่นดิน แผ่นดินก็จะลุกเป็นไฟ ถ้าโยนขึ้นสู่ท้องฟ้าฝนก็จะตกไม่ถูกต้องตามฤดูกาล และถ้าทิ้งลงมหาสมุทรน้ำก็จะเหือดแห้ง ท้าวกบิลพรหมจึงรับสั่งเรียกธิดาทั้ง 7 เพื่อให้นำเศียรของท้าวกบิลพรหมไปแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วจึงนำไปเก็บไว้ในมณฑปถ้ำธุลีเขาไกรลาศ ครั้นครบกำหนด 365 วัน (โลกสมมุติว่าเป็น 1 ปี) เป็นสงกรานต์ ซึ่งหมายถึงขึ้นปีใหม่นั้นเอง นางสงกรานต์ก็จะต้องนำ เศียรของท้าวกบิลพรหมแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุเป็นประจำทุกปี
      
       และนั่นเป็นตำนานการกำเนิดเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลแห่งความชุ่มฉ่ำกาย และเย็นฉ่ำใจถ้าเราคนไทยเล่นน้ำกันด้วยสำนึกของความเป็นไทย มิใช่แค่ความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว
      
       รอบรู้เรื่อง “ สงกรานต์ ” ประเพณีไทยที่ควรปฏิบัติ

ไม่ว่าชาติไหนๆ ก็ชื่นชมและสนุกสนานกับการเล่นสงกรานต์ไทย แล้วเทศกาลสงกรานต์ก็เวียนมาถึงอีกปีจนได้ หลายๆ คนตั้งหน้าตั้งตาคอยว่าเมื่อไหร่จะได้หยุดยาวให้สบายกายสบายใจกันเสียที ว่าแต่สงกรานต์ปีนี้มีที่ไปเที่ยวกันแล้วหรือยัง ?

อันที่จริงแล้วประเพณีสงกรานต์เป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของไทยแต่โบราณ และกิจกรรมของสงกรานต์ไม่ได้มีแต่การเล่นสาดน้ำกันเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจและน่าทำอีกมาก เช่น การทำบุญตักบาตร การไปขอพรจากญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ การทำความสะอาดบ้าน ซึ่งนับเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งด้วย

จุดประสงค์ของการรดน้ำสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์นั้นคือ การอวยพรและขอพรกันด้วยน้ำ มิใช่ตั้งใจให้เป็นการเล่นต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

การรดน้ำสงกรานต์ที่ถูกต้องมี 2 ประเภท คือ

- การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ (ธรรมเนียมดั้งเดิมนิยมว่าอายุ 60 ปีขึ้นไป) เป็นการรดน้ำเพื่อแสดงความเคารพและขอพรจากท่าน เมื่อไปรดน้ำให้กราบและรดน้ำที่มือของท่าน ไม่ต้องไปอวยพรท่าน เพราะเราเป็นเด็ก รอรับพรจากท่านก็พอ ผู้ใหญ่จะเป็นผู้ให้พรเอง

- การรดน้ำผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยเดียวกันหรืออ่อนวัยกว่า เป็นการรดน้ำอวยพร ถ้าจะให้สุภาพขออนุญาตเสียก่อน แล้วจึงรดน้ำที่หัวไหล่ และสามารถกล่าวอวยพรได้ตามต้องการ ถ้าสนิทสนมกันอยู่แล้วก็สามารถรดน้ำและเล่นสนุกสนานกันตามประสาเพื่อน แต่ทั้งนี้ก็ควรอยู่ในขอบเขตของมารยาท ศีลธรรม และความปลอดภัย

น้ำที่นำมาใช้รดน้ำและสาดน้ำกันถือเป็นสิ่งที่เป็นมงคล ดังนั้นจึงต้องเป็นน้ำสะอาด น้ำอบ น้ำหอม น้ำดอกไม้ (ไม่จำเป็นต้องเป็นน้ำอบไทย น้ำอบฝรั่งก็ได้) แต่ไม่ควรใช้น้ำสกปรกหรือน้ำแข็งเด็ดขาด

การประแป้งดินสอพอง แต่เดิมเป็นเพียงการแต่งตัวตามสมัยนิยมของแต่ละคน ดังนั้นใครอยากประแป้งก็ประเอง ไม่ต้องไปประแป้งให้คนอื่น เพราะการถูกเนื้อต้องตัวผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ไม่ใช่มารยาทที่ดีของสุภาพชน เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ

การสรงน้ำพระพุทธรูปหรือรูปเคารพ ไม่ควรรดน้ำลงตรงๆ ที่พระเศียรหรือส่วนศีรษะ ให้รดน้ำลงอื่นๆ จะสุภาพเหมาะสมกว่า

ธรรมเนียมวันสงกรานต์ ที่นับวันจะเลือนหายไป สิ่งเหล่านี้เราทุกคนควรยึดถือปฏิบัติไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้รู้จักสืบทอดต่อกันไป

1. ทำความสะอาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ชำระล้างสิ่งของเครื่องใช้ให้สะอาดหมดจด

2. จัดเตรียมเครื่องนุ่มห่มชุดใหม่ที่สะอาดเรียบร้อย สำหรับสวมใส่เพื่อความเป็นสิริมงคลในวันสงกรานต์

3. ทำบุญตักบาตรและปล่อยนกปล่อยปลา เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว

4. ก่อเจดีย์ทราย ปักธูป เทียน ดอกไม้บูชา ขนทรายเข้าวัด เพื่อให้วัดนำทรายไปใช้ประโยชน์ต่างๆ

5. สรงน้ำพระพุทธรูปและพระภิกษุ แล้วถวายผ้าสบงหรือผ้าไตร

6. รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ด้วยน้ำอบไทย ลอยด้วยดอกไม้สด

7. เล่นสาดน้ำให้เหมาะกับกาลเทศะ และการละเล่นรื่นเริงอื่นๆ ตามประเพณีนิยมในแต่ละท้องถิ่น